พระพุทธศาสนา...พระโบราณ...พระในตำนาน...

ในห้อง 'งานบุญอื่นๆ' ตั้งกระทู้โดย บรรพชนทวา, 12 กันยายน 2012.

แท็ก: แก้ไข
  1. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๑๕

    พระองค์ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ หลายครั้งก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใบหนาแห่งหนึ่ง ขณะที่พระองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่าปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากกุสินารา เพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมนำผ้าคู่งาม ซึ่งมีสีเหมือนทองสินทบเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระองค์ผืนหนึ่ง แก่พระอานนท์ผืนหนึ่ง พระอานนท์เห็นว่าผ้านั้นไม่สมควรแก่ตน จึงน้อมนำผ้านั้นเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงปราศจากควัน และเปลวพระฉวีของพระองค์เล่า ก็ช่างผุดผ่องงดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใดเปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ ! บัดนี้พระองค์ทรงมีพระขนม์มายุถึงแปดสิบแล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่าเวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก ร่างกายเป็นผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุใดผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก"

    "อานนท์ !" พระศาสดาตรัสตอบ

    "เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ ในคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกคราวหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงามประดุจรัศมีแห่งสุริยาเมื่อแรกรุ่นอรุณและจวนจะอัสดง ดูกรอานนท์ ! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนา มีดอกเป็นช่อชั้น"

    ตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงทรงสำราญตามพระพุทธอัธยาศัย แล้วเสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร ปูลาดสังฆาฏิเป็นสี่ชั้น แล้วบรรทมด้วยสีหะไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียร ซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้น จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

    "อานนท์ ! เมื่อเรานิพพานไปแล้วอาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปปฏิสาร เดือดร้อนใจตัวเองว่าเพราะเสวยสูกรมัทวะอันตนถวาย พระตถาคตจึงนิพพาน ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่อานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกันคือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองแล้วเราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือ ดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา"

    ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวญวดีถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาละวโนทยานคืออุทยานซึ่งสะพรึกพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  2. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๑๖

    ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นจำนวนมาก จากสารทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุการณ์ดังนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

    "อานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง สี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์ เอ๋ย ! ผู้ใด ปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม"

    พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลาย จะพึงไป ณ ที่ใด ?"

    "อานนท์ ! สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่คือ สถานที่ที่เราประสูติแล้วคือ ลุมพินีวันสถาน สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก คือป่าอิสิปตนะมิคทายะแขวงเมืองพาราณสีสถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิ ฐาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐทำกิเลสให้สิ้นไป คือ โพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และสถานที่ที่เราจะปรินิพพาน ณ บัดนี้ คือป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอ๋ย ! สถานที่ทั้งสี่แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถาน สำหรับให้ระลึกถึงเราและเดินตามรอยพระบาทแห่งเรา"

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้างและเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้างภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร?"

    "อานนท์ ! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี"

    "ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็นเล่าพระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก

    "ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วยนั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ

    "ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่าพระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"

    "ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์วาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงไหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์ ! เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"

    "แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่าพระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่ ?"

    "ไม่เป็นซิ อานนท์ ! เธอระลึกได้อยู่หรือ เราเคยพูดไว้ว่าอารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดที่เกิดขึ้น เพราะการดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคนเมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรสวยงามก็อยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  3. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๑๗

    พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองพุทธวจะนะที่ตรัสจบลงสักครู่นี้ ความเงียบสงัดปกคลุมอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพระอานนท์ก็ทูลว่า

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพุทธสรีระอย่างไร"

    "อย่าเลยอานนท์ ! " พระศาสดาทรงห้าม

    "เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาป ให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย"

    "พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล

    "เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกเขาอย่างไร"

    "อานนท์ ! ชนทั้งหลายเมื่อปฏิบัติต่อสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด"

    "ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า"

    "อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ ด้วยผ้าใหม่ และซับด้วยสำลี แล้วมัดด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึงห้าร้อยคู่ หรือห้าร้อยชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธานด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้น ไปบรรจุสถูปซึ่งสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง สรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน"

    และแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในพระสถูปสี่จำพวก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ์ ตรัสแล้วบรรทมนิ่งอยู่ พระอานนท์ถอยออกจากที่เฝ้าเพราะความเศร้าสลดสุดที่จะอดกลั้นได้ ท่านไปยืนอยู่ที่สงัดเงียบแห่งหนึ่งน้ำตาไหลพรากจนอาบแก้ม แล้วเสียงสะอื้นเบาๆ ก็ตามมา บัดนี้ท่านมีอายุอยู่ในวัยชรานับได้แปดสิบแล้วเท่ากับพระชนม์มายุของพระผู้มีพระภาคเจ้า อุปสมบทมานานถึงสี่สิบสี่พรรษา ได้ยินได้ฟังพระธรรมเทศนา อบรมจิตใจอยู่เสมอ ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต้นเป็นโสดาบันบุคคล ผู้มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ถ้าไม่มีเรื่องสะเทือนใจอย่างแรงคงจะไม่เศร้าโศกปริเวทนาการถึงเพียงนี้ ท่านสะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งองค์ บางคราวจะมองเห็นผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกายสั่นน้อยๆ ตามแรงสั่นแห่งรูปกาย แน่นอนท่านรู้สึกสะเทือนใจและว้าเหว่อย่างยิ่ง เป็นเวลานานเหลือเกินที่ท่านรับใช้พระศาสดา ได้ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐาก และเอื้อเฟื้อต่อกัน การจากไปของพระผู้มีพระภาคจึงเป็นเสมือนกระชากดวงใจของท่านให้หลุดลอย

    "โอ ! พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลกและของข้าพระองค์" เสียงคร่ำครวญออกมากับเสียงสะอื้น

    "ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดุจห้วงมหรรณพมาด่วนจากข้าพระองค์ ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่เหมือนพี่เลี้ยงสอนให้เด็กเดิน เมื่อเด็กน้อยพอจะหัดก้าวเท่านั้น พี่เลี้ยงก็มีอันพลัดพรากจากไป ข้าพระองค์เหมือนเด็กน้อยผู้นั้น" พระอานนท์คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

    เมื่อพระอานนท์หายไปนานผิดปกติ พระศาสดาจึงตรัสถามว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์หายไปไหน?"

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  4. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๑๘

    "ไปยืนร้องไห้อยู่โคนต้นไม้โน้น พระเจ้าข้า" ภิกษุทั้งหลายทูล

    "ไปตามอานนท์มานี่เถิด" พระศาสดา ตรัสสั่ง

    พระอานนท์เข้าสู่ที่เฝ้าด้วยใบหน้าที่ยังชุ่มด้วยน้ำตา พระศาสดาตรัสปลอบใจว่า

    "อานนท์ ! อย่าคร่ำครวญนักเลย เราเคยบอกไว้แล้วมิใช่หรือ บุคคลย่อมต้องพลัดพราก จากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา ในโลกนี้หรือโลกไหนๆ ก็ตาม ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรเลย สิ่งทั้งหลายมีการเกิดย่อมมีการดับเป็นธรรมดา เป็นที่สุดไม่มีอะไรยับยั้งต้านทาน"

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นประดุจดวงตะวัน" พระอานนท์ทูลด้วยเสียงสะอื้นน้อยๆ

    "ข้าพระองค์มารำพึงว่าตลอดเวลาที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ข้าพระองค์เที่ยวติดตามประดุจฉายา ต่อไปนี้ข้าพระองค์จะพึงติดตามผู้ใดเล่า จะพึงตั้งนำใช้น้ำเสวยเพื่อผู้ใด จะพึงปัดกวาดเสนาสนะที่หลับที่นอนเพื่อผู้ใด อนึ่ง เวลานี้ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่ พระองค์มาด่วนปรินิพพาน ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์กำจัดกิเลสให้หมดสิ้น ข้าพระองค์คงอยู่อย่างว้าเหว่และเดียวดาย เมื่อคำนึงอย่างนี้แล้ว ก็สุดจะหักห้ามความโศกสลดได้"

    "อานนท์ ! เธอเป็นผู้มีบารมีธรรมที่สั่งสมมาไว้แล้วมาก เธอเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมไว้แล้วมาก อย่าเสียใจเลย กิจอันใดที่ควรทำแก่ตถาคต เธอได้ทำกิจนั้นอย่างสมบูรณ์ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตาอย่างยอดเยี่ยม จงประกอบความเพียรเถิด เมื่อเราล่วงลับไปแล้วเธอจะต้องประสพอรหันตผลเป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า"

    ตรัสดังนี้แล้วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายเข้ามาสู่ที่ใกล้ แล้วทรงสรรเสริญพระอานนท์ เป็นอเนกปริยาย เป็นต้นว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์เป็นบัณฑิตเป็นผู้รอบรู้และอุปัฏฐากเราอย่างยอดเยี่ยม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ซึ่งมีภิกษุเป็นผู้อุปัฏฐากนั้น ก็ไม่ดีเกินไปกว่าอานนท์ อานนท์เป็นผู้ดำเนินกิจด้วยปัญญารู้กาลที่ควรไม่ควร รู้กาลที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มาเฝ้าเรา ว่ากาลนี้สำหรับกษัตริย์ กาลนี้สำหรับราชามหาอำมาตย์ กาลนี้สำหรับคนทั่วไป แล้วได้รับการยกย่องนานาประการ มีคุณธรรมน่าอัศจรรย์ ผู้ที่ยังไม่เคยเห็นไม่เคยสนทนา ก็อยากเห็นอยากสนทนาด้วย อยากฟังธรรมของอานนท์ เมื่อฟังก็มีจิตใจเพลิดเพลิน ยินดีในธรรมที่อานนท์แสดง ไม่อิ่มไม่เบื่อด้วยธรรมวารีรส…ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์เป็นบุคคลที่หาได้ยากผู้หนึ่ง"

    พระอานนท์ผู้มีความห่วงใยในพระศาสดาไม่มีที่สิ้นสุด กราบทูลด้วยน้ำเสียงที่ยังเศร้าอยู่ว่า

    "พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์เป็นประดุจพระเจ้าจักรพรรดิ์ในทางธรรม ทรงสถาปนาอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นทรงเป็นธรรมราชาสูงยิ่งกว่าราชาใดๆ ในพื้นพิภพนี้ ข้าพระองค์เห็นว่าไม่สมควรแก่พระองค์เลย ที่จะปรินิพพานในเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ขอพระองค์ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ ๆ เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี จำปาสาเกตโกสัมพี พาราณสี เป็นต้นเถิดพระเจ้าข้า ในมหานครเหล่านั้น กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี คหบดีและชาวนครทุกชั้นที่เลื่อมใสในพระองค์ก็มีอยู่มาก จักได้ทำมหาสักการะแด่สรีระแห่งพระองค์เป็นมโหฬาร ควรแก่การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งอุดมรัตน์ในโลก"



     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  5. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๑๙

    "อานนท์ ! เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด อานนท์เอ๋ย ! ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์แห่งสุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแขวงเมืองราชคฤห์มหานคร เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกได้สาวกเพียงห้าคน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายะ เขตเมืองพาราณสี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน"

    "อนึ่ง กุสินารานี้ แม้บัดนี้จะเป็นเมืองน้อย แต่ในโบราณกาลกุสินารานี้เคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิ์นามว่า มหาสุทัสสนะ นครนี้เคยชื่อกุสาวดี เป็นราชธานีที่สมบูรณ์ มั่งคั่ง มีคนมาก มีมนุษย์นิกรเกลื่อนกล่น พรั่งพร้อมด้วยธัญญาหาร มีรมณียสถานที่บันเทิงจิต ประดุจดังราชธานีแห่งทิพยนคร กุสาวดีราชธานีนั้น กึกก้องทั่วคฤหาสน์ทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยเสียงสิบประการ คือ เสียงคชสาร เสียงภาชี เสียงเภรีและรถ เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงสังข์ รวมทั้งสรรพสำเนียงประชาชนเรียกกันบริโภคอาหารด้วยความสำราญเบิกบานจิต"

    "พระเจ้ามหาสุทัสสนะองค์จักรพรรดิ์เล่า ก็ทรงเป็นอิสราธิบดีในปฐพีมณฑล ทรงชำระปัจจามิตรโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์และศาสตรา ชนบทสงบราบคาบปราศจากโจรผู้ร้าย มารดาและบุตรธิดา มีความอิ่มอกด้วยความเพลิดเพลิน ประตูบ้านปราศจากลิ่มสลัก เป็นนครที่รื่นรมย์ร่มเย็น สมเป็นราชธานีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่างแท้จริง"

    "อีกอย่างหนึ่ง อานนท์เอ๋ย ! เมื่อมองมาทางธรรมให้เกิดสังเวช สลดจิต ก็พอคิดได้ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มุ่งไปสู่จุดสลายตัว อานนท์จงดูเถิด พระเจ้าจักรพรรดิ์มหาสุทัสสนะก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เมืองกุสาวดีก็เปลี่ยนมาเป็นกุสินาราแล้ว ประชาชนชาวกุสาวดีก็ตายกันไปหมดแล้ว นี่แลไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืน ตถาคตเองก็จะนิพพานในไม่ช้านี้"

    แล้วพระศาสดา ก็รับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์ว่า พระตถาคตเจ้า จักปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรี เมื่อมัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินาราสดับข่าวนี้ ต่างก็ทรงกำสรดโศกาดูรทุกข์โทมมนัสทับทวี สยายพระเกศา ยกพระพาหาทั้งสองขึ้นแล้วคร่ำครวญล้มกลิ้งเกลือกประหนึ่งบุคคลที่เท้าขาด ร่ำไรรำพันถึงพระโลกนาถว่า

    "พระโลกนาถ ด่วนปรินิพพาน นักดวงตาของโลกดับลงแล้ว ประดุจสุริยาซึ่งให้แสงสว่างดับวูบลง"

    ด้วยอาการโศกาดูรดั่งนี้ มัลลกษัตริย์ตามพระอานนท์ไปเฝ้าพระศาสดา ณ สาละวโนทยาน พระอานนท์ จัดให้เข้าเฝ้าเป็นตระกูลๆ ไป แล้วกลับสู่สัณฐาคาร คืนนั้นมัลลกษัตริย์ประชุมกันอยู่จนสว่าง มิได้บรรทมเลย

    ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าวนี้ นักบวชปริพาชกหนุ่มคนหนึ่งขออนุญาตผ่านฝูงชนขอเฝ้าพระศาสดา พระอานนท์ได้สดับสำเนียงนั้นจึงออกมารับและขอร้องวิงวอนว่า อย่ารบกวน พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

    ข้าแต่ท่านอานนท์ ! "ปริพาชกผู้นั้นกล่าว

    "ข้าพเจ้าขออนุญาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ ขอท่านได้โปรดอนุญาตเถิด ข้าพเจ้าสุภัททะปริพาชก"

    "อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ทรงประชวรหนักจะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน"

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  6. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๒๐

    "ท่านอานนท์ !" สุภัททะวิงวอนต่อไป

    "โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดู โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเฝ้าพระศาสดาเถิด"

    พระอานนท์คงทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ยอมย่อท้อ จนกระทั่งได้ยินถึงพระศาสดา พระมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด รับสั่งกับพระอานนท์ว่า

    "อานนท์ ! ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคตเถิด"

    เพียงเท่านี้สุภัททะปริพาชกก็ได้เข้าเฝ้าสมประสงค์ เขากราบลงใกล้แท่นบรรทมแล้วทูลว่า

    "ข้าแต่พระจอมมุนี ! ข้าพระองค์นามว่าสุภัททะถือเพศเป็นปริพาชกมาไม่นาน ได้ยินกิตติศักดิ์เล่าลือเกียรติคุณแห่งพระองค์ แต่ก็หาได้เคยเข้าเฝ้าไม่ บัดนี้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ขอประทานโอกาสซึ่งมีอยู่น้อยนี้ ทูลถามข้อข้องใจบางประการเพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง"

    "ถามเถิดสุภัททะ" พระศาสดาตรัส

    "พระองค์ผู้เจริญ คณาจารย์ทั้งหกคือ ปูรณะกัสสะปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะกัจจะยนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตรเป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสหรือประการใด"

    "เรื่องนี้หรือสุภัททะที่เธอดิ้นรนขวนขวายมาหาเราด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด" พระศาสดาตรัสทั้งยังหลับพระเนตรอยู่

    "เรื่องนี้เองพระเจ้าข้า" สุภัททะทูล

    พระอานนท์รู้สึกกระวนกระวายทันที เพราะเรื่องที่สุภัททะมารบกวนพระศาสดานั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระเหลือเกิน ขณะที่พระอานนท์จะเชิญสุภัททะออกจากที่เฝ้านั้นเอง พระศาสดาก็ตรัสขึ้นว่า

    "อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด"

    "ข้าแต่ท่านสมณะ ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาสามข้อ คือ รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่ สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่?"

    "สุภัททะ ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์แปด สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ?"

    "มีเท่านี้พระเจ้าข้า" สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่

    พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า

    "สุภัททะ ! ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูกรสุภัททะ ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูกรสุภัททะ ! ถ้าภิกษุหรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  7. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๒๑

    สุภัททะฟังพระพุทธดำรัสนี้แล้วเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ติดถิยปริวาส คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจเป็นเวลาสี่เดือนก่อน แล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ สุภัททะทูลว่าเขาพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติภิกษุทั้งหลายสักสี่ปี พระศาสดาทรงเห็นความตั้งใจจริงของสุภัททะ ดังนั้นจึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วนำสุภัททะไป ณ ที่ส่วนหนึ่ง ปลงผมและหนวดแล้วบอกกรรมฐานให้ ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และศีล สำเร็จเป็นสามเณรบรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระศาสดาพระผู้ทรงมหากรุณาให้อุปสมบทแก่สุภัททะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง

    สุภัททะภิกษุใหม่ ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะพยายามให้บรรลุพระอรหัตตผลในคืนนี้ก่อนที่พระศาสดาจะนิพพาน จึงออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง ในบริเวณอุทยานสาละวโนทยาน บัดนี้ร่างกายของ สุภัททะภิกษุ ห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เมื่อต้องแสงจันทร์ในราตรีนั้นดูผิวพรรณของท่าน เปล่งปลั่งงามอำไพ มัชฌิมยามแห่งราตรีจวนจะสิ้นอยู่แล้ว ดวงรัชนีกลมโตเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางท้องฟ้าด้านตะวันตก สุภัททะภิกษุตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะบำเพ็ญเพียรคืนนี้ตลอดราตรีเพื่อบูชาพระศาสดาผู้จะนิพพานในปลายปัจฉิมยาม ดังนั้นแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้า เมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนักเมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโฉมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม

    ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบกับดวงจันทร์

    "อา !" ท่านอุทานเบาๆ

    "จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสมีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง"

    แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปธรรมทั้งมวลที่ห่อหุ้มดวงจิตร แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่ายด้วยศาสตรา คือวิปัสสนาชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสอาสวะทั้งมวล บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วลงจากที่จงกรมมาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วนิ่งอยู่

    ภายใต้แสงจันทร์สีนวลยองใยนั้น พระผู้มีพระภาคบรรทมเหยียดพระวรกายในท่าสีหะไสยา แวดล้อมด้วยพุทธบริษัทมากหลายแผ่นเป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา ประดุจดวงจันทร์ที่ถูกแวดล้อมด้วยกลุ่มเมฆก็ปานกัน

    พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า

    "อานนท์ ! เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่าบัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง"

    "อานนท์เอ๋ย ! พึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ธรรมวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป เธอทั้งหลายจงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่งเถิด อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย"


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  8. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๒๒

    เมื่อพระอานนท์มิได้ทูลถามอะไร พระธรรมราชาจึงตรัสต่อไปว่า

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ผู้ใดมีความสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือปฏิปทาใดๆ ก็จงถามเสียบัดนี้ เธอทั้งหลายจะได้ไม่เสียใจภายหลังว่า มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้ว มิได้ถามข้อสงสัยแห่งตน"

    ภิกษุทุกรูปเงียบกริบ บริเวณปรินิพพานมณฑลสงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ทุกคนปรารถนาจะฟังแต่พระพุทธดำรัสเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเป็นครั้งสุดท้าย

    บัดนี้ พละกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว ประดุจน้ำที่เทราดลงไปในดินที่แตกระแหง ย่อมพลันเหือดแห้งหายไป มิได้ปรากฏแก่สายตา ถึงกระนั้นพระบรมโลกนาถก็ยังประทานปัจฉิมโอวาท เป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายว่า

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่าสิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

    ย่างเข้าสู่ปัจฉิมสยาม พระจันทร์โคจรไปทางขอบฟ้าทิศตะวันตก แสงโสมสาดส่องผ่านทิวไม้ลงมา ท้องฟ้าเกลี้ยงเกลาปราศจากเมฆหมอก รัชนีแจ่มจรัสดูเหมือนจะจงใจส่องแสงเปล่งปลั่งเป็นพิเศษครั้งสุดท้าย แล้วสลัวลงเล็กน้อย เหมือนจงใจอาลัยในพระศาสดาผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์

    พระผู้มีพระภาคมีพระกายสงบ หลับพระเนตรสนิท พระอนุรุทธเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้น และได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุได้เข้าฌานตาม ทราบว่า พระพุทธองค์เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าสู่อรูปสมาบัติคือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ตามลำดับแล้วถอยออกมาจากสัญญาเวทยิตนิโรธ จนถึงปฐมฌานแล้วเข้าสู่ปฐมฌาน จนถึงจตุตถฌานอีกเมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังไม่ทันเข้าสู่อากาสานัญจายตนะ พระองค์ก็ปรินิพพานในระหว่างนี้เอง

    ในที่สุดแม้พระองค์ก็ต้องประสบอวสาน เหมือนคนทั้งหลาย พระธรรม ที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนม์ชีพว่า สัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนั้น เป็นสัจธรรมที่ไม่ยกเว้น แม้แต่พระองค์เอง

    นึกย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบห้าปีก่อนปรินิพพาน พระองค์เป็นผู้โดดเดี่ยว เมื่อปัญจวัคคีย์ทอดทิ้งไปแล้วพระองค์ก็ไม่มีใครอีกเลย ภายใต้โพธิบัลลังก์ครั้งกระนั้น แสงสว่างแห่งการตรัสรู้ได้โชติช่วงขึ้นพร้อมด้วยแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ พระองค์มีเพียงหยาดน้ำค้างบนใบโพธิพฤกษ์เป็นเพื่อน ต้องเสด็จจากโพธิ มณฑลไปพาราณสีด้วยพระบาทเปล่าถึงสิบวัน เพียงเพื่อหาเพื่อนผู้รับคำแนะนำของพระองค์สักห้าคน แต่มาบัดนี้พระองค์มีภิกษุสงฆ์สาวกเป็นจำนวนแสน จำนวนล้าน มีหมู่ชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศานุทิศ เพียงเพื่อได้เข้าเฝ้าพระองค์ บุคคลทั้งหลายรู้สึกว่าการได้เห็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  9. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๒๓

    เมื่อสี่สิบห้าปีมาแล้ว พระองค์ทรงมีเพียงหญ้าคามัดหนึ่ง ที่นายโสตถิยะนำมาถวาย และทรงทำเป็นที่รองประทับมาบัดนี้ มีเสนาสนะมากหลายที่สวยงามซึ่งมีผู้ศรัทธาสร้างอุทิศถวายพระองค์เช่น เชตวัน เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มหาวันปุพพาราม นิโครธาราม โฆสิตาราม ฯลฯ เศรษฐี คหบดี ต่างแย่งชิงกันจอง เพื่อให้พระองค์รับภัตตาหารของเขา แน่นอนทีเดียวหากพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คงจะไม่ได้รับความนิยม เลื่อมใสถึงขนาดนี้และไม่ยืนนานถึงปานนี้ เมื่อสี่สิบห้าปีมาแล้ว ภายใต้โพธิพฤกษ์อันร่มเย็นริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ได้บรรลุแล้วซึ่งกิเลสนิพพาน กำจัดกิเลสและความมืดให้หมดไป และบัดนี้ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ และความเย็นเยือกแห่งปัจฉิมยาม พระองค์ก็ดับแล้วด้วยขันธ์นิพพาน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระรูปอันวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะสามสิบสองประการ ประดับด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ มีพระธรรมกายอันสำเร็จแล้วด้วยนานาคุณรัตนะ มีศีลขันธ์อันบริสุทธิ์ ด้วยอาการทั้งปวงเป็นต้น ถึงฝั่งแห่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยยศ ด้วยบุญ ด้วยฤทธิ์ ด้วยกำลังและด้วยปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นยังต้องดับมอดลงแล้วด้วยการตกลงแห่งฝนมรณะ เหมือนกองอัคคีใหญ่ต้องดับมอดลง เพราะฝนห่าใหญ่ตกลงมาฉะนั้น

    พระองค์เคยตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพาลหรือบัณฑิต ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร หรือจัณฑาล ในที่สุดก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนภาชนะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในที่สุดก็ต้องแตกสลายเหมือนกันหมด" นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร อันว่าความตายนี้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่นัก ไม่มีใครสามารถต้านทานต่อสู้ด้วยวิธีใดๆ ได้เลย ก้าวเข้าไปสู่ปราสาทแห่งกษัตริยาธิราชและแม้ในวงชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสง่าผ่าเผยปราศจากความสะทกสะท้านใดๆ เช่นเดียวกับก้าวเข้าไปสู่กระท่อมน้อยของขอทาน พระยามัจจุราชนี้เป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมยิ่งนัก ไม่เคยลำเอียงหรือกินสินบนของใครเลย ย่อมพิจาณาคดีตามบทพระอัยการและอ่านคำพิพากษาด้วยถ้อยคำอันหนักแน่นเด็ดเดี่ยว ไม่ฟังเสียงคัดค้านและขอร้องของใคร ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญอันระคนด้วยกลิ่นธูปควันเทียนนั้น ท่านได้ยื่นพระหัตถ์ออกกระชากให้ความหวังของทุกคนหลุดลอย และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามพระบัญชาของพระองค์ เมื่อมาถึงจุดนี้ ความยิ่งใหญ่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นเพียงนิยายที่ไว้เล่าสู่กันฟังเท่านั้น มงกุฎประดับเพชรก็มีค่าเท่ากับหมวกฟาง พระคทาอันมีลวดลายวิจิตรก็เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า เมื่อความตายมาถึงเข้า พระราชาก็ต้องถอดมงกุฎเพชรลงวาง ทิ้งพระคทาไว้ แล้วเดินเคียงคู่ไปกับชาวนาหรือขอทาน ผู้ได้ทิ้งจอบ เสียม หมวกฟาง และคันไถ หรือ ภาชนะขอทานไว้ให้ทายาทของตน

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  10. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ตอนที่ ๒๔
    พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระกายของพระองค์เหมือนของคนทั้งหลาย ซึ่งจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ความดีและเกียรติคุณของพระองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานเท่าใด ไม่อาจจะกำหนดได้ ความดีนี่เองที่เป็นสาระอันแท้จริงของชีวิต "โอ ! พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณากว้างใหญ่ดุจห้วงมหรรณพ มีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์ดุจน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ ทรงมีพระทัยหนักแน่นดุจมหิดล รับได้ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ ขวนขวายเพื่อความสงบร่มเย็นของปวงชน พระองค์เป็นผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกภายใน คือดวงจิตประดุจพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลกภายนอกคือ ท้องฟ้า ปฐพี บัดนี้พระองค์ปรินิพพานเสียแล้วมองไม่เห็นแม้แต่เพียงพระสรีระซึ่งเคยรับใช้ พระองค์โปรยปรายธรรมรัตน์ประหนึ่งม้าแก้วแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นพาหนะนำ เจ้าของ ตรวจความสงบสุขแห่งประชากร"

    "โอ ! พระมหามุนีผู้เป็นจอมชน บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นประดุจนกในเวหา ไร้โพธิ์หรือไทร ที่จะจับเกาะ ประดุจเด็กน้อยผู้ขาดมารดา เหมือนเรือที่ลอยคว้างอยู่ในมหาสมุทร อ้างว้างว้าเหว่สุดประมาณ จะหาใครเล่าผู้เสมอเสมือนพระองค์" แม้พระอานนท์พุทธอนุชาเอง ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ เป็นเวลายี่สิบห้าปี จำเดิมแต่รับหน้าที่พุทธอุปัฏฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนเงาตามองค์ บัดนี้พระพุทธองค์เสด็จจากไปเสียแล้ว ท่านรู้สึกว้าเหว่และเงียบเหงา ไม่ได้เห็นพระองค์อีกต่อไป เวลายี่สิบห้าปี นานพอที่จะก่อความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อมีการพลัดพราก แต่แล้วเรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด บัดนี้พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์และกิเลสานุสัยทั้งปวง ประดุจกองไฟดับลงแล้วเพราะหมดเชื้อฉะนั้นแล ฯ

    จบบริบูรณ์


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  11. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    ทรงประทานปัจฉิมโอวาท


    ๓. ปรินิพพาน เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)

    เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก

    ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่งชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า

    หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
    ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย, บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า

    วะยะธัมมา สังขารา
    สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

    อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
    ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด

    หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพานในราตรีวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  12. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พระพุทธองค์เคยตรัสให้ยึดพระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาหลังการเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังนั้นคณะทำงานบรรพชนทวา จึงได้นำเอาหนังสือ "พุทโธวาท" ที่เป็นการเรียบเรียงจากพุทธโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระกิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จำนวนมากกว่า ๓๐๐ หัวข้อ น้อมนำมาเก็บรวมรวมเอาไว้ที่ความเห็นที่ 122 นี้เป็นต้นไป หวังว่าศาสนิกชนจะได้ศึกษาพุทธโอวาทดังที่พระพุทธองค์เคยได้ตรัสเอาไว้...

    การแสวงหาของคนในโลก ๒ อย่าง

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่างคือ การแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง

    การแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐ
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐนั้นเป็นไฉนฯ

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ โดยที่ตนเองเป็นผู้มีชาติคือ ความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีชาติคือ ความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ตนเองเป็นผู้มีความชราเป็นธรรมดา แต่ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ตนเองเป็นผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา แต่ก็ยังแสวงหาความเจ็บอันเป็นของธรรมดาอยู่นั่นแหละ ตนเองเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา แต่ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นของธรรมดาอยู่นั่นแหละ ตนเองเป็นผู้มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา แต่ก็ยังแสวงหาความเศร้าโศกเป็นของธรรมดาอยู่นั่นแหละ ตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา แต่ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าที่เรียกว่า สิ่งที่มีชาติคือ ความเกิดเป็นธรรมดา บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน นี้แหละ เรียกว่า สิ่งที่มีชาติเป็นธรรมดา

    ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่มีชีวิตเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ใดที่เกี่ยวข้อง ผูกพัน ลุ่มหลง อยู่ในสิ่งที่มีชาติเป็นธรรมดาเหล่านี้ ชื่อว่าตนเองก็มีชาติเป็นธรรมดา แล้วยังแสวงหาสิ่งที่มีชาติธรรมดาอยู่นั่นแหละ

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าที่เรียกว่า เป็นสิ่งที่มีความชราเป็นธรรมดา...ความเจ็บเป็นธรรมดา...ความตายเป็นธรรมดา...ความเศร้าโศกเป็นธรรมดา...สังกิเลสเป็นธรรมดา

    ภิกษุทั้งหลาย บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน นี้แหละ เรียกว่า สิ่งที่มีความชรา ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก สังกิเลสเป็นธรรมดา

    ภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชรา พยาธิ มรณะ โศกะ สังกิเลสเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ใดที่เกี่ยวข้อง ผูกพัน ลุ่มหลง อยู่ในสิ่งเหล่านี้แหละ ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา มีสังกิเลสเป็นธรรมดา แล้วยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ความเจ็บเป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดา ความเศร้าโศกเป็นธรรมดา สังกิเลสเป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ

    ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาอย่างนี้ เป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเลย


    การแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ
    ภิกษุทั้งหลาย ก็การแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐเป็นไฉนฯ

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยที่ตนเองมีชาติเป็นธรรมดา มีชราเป็นธรรมดา...มีพยาธิเป็นธรรมดา...มีมรณะเป็นธรรมดา...มีโศกะเป็นธรรมดา...มีสังกิเลสเป็นธรรมดา...ก็ทราบชัดในโทษของสิ่งที่มีชาติเป็นธรรมดา มีชราเป็นธรรมดา มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโศกะเป็นธรรมดา มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ย่อมแสวงหาพระนิพพาน อันมีความไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาอย่างนี้แลคือ การแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐฯ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  13. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    ทรงแสวงหาทางอันประเสริฐมาช้านาน

    ได้ยินว่า ในที่สุดแห่ง ๔ อสงไขยแสนกัปป์นับแต่ภัททกัปป์นี้ไป มีนครแห่งหนึ่งชื่อว่า “อมรวดี” ในพระนครนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า “สุเมธ” อาศัยอยู่ เขาเป็นผู้มีกำเนิดดีทั้ง ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายมารดา และบิดา มีมาตุคัพโภทรอันบริสุทธิ์ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ อันใครๆจะดูหมิ่นติเตียนโดยชาติหาได้ไม่ เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยรูปสมบัติเป็นเยี่ยม ท่านสุเมธนี้ไม่ทำการงานอย่างอื่น เรียนแต่ศิลปของพราหมณ์อย่างเดียวเท่านั้น อยู่ต่อมามารดาบิดาของท่านถึงแก่กรรมลงตั้งแต่อายุของท่านยังเยาว์อยู่ ครั้นต่อมาเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว อำมาตย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานคลังของท่านได้นำเอาบัญชีทรัพย์สมบัติมา แล้วเปิดห้องอันเต็มไปด้วยรัตนะมีทอง เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา เป็นต้น ได้ชี้แจงเรื่องทรัพย์สมบัติต่างๆ ให้ท่านตลอดชั่ว ๗ บรรพบุรุษว่า

    ดูก่อนกุมาร สมบัติที่เป็นส่วนแห่งมารดา และบิดาของท่านมีประมาณเท่านี้ เป็นส่วนแห่งปู่ และทวดของท่านมีประมาณเท่านี้ เชิญท่านปกครองทรัพย์สมบัติเหล่านี้เถิด

    ท่านสุเมธบัณฑิตเห็นเช่นนั้นก็ดำริว่า บรรพบุรุษของเราปู่ทวดเป็นต้น ได้รวบรวมทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไว้ เมื่อไปสู่ปรโลกแล้วเขาเหล่านั้นจะได้นำเอาติดตัวไปแม้แต่เพียง ๑ กหาปณะ ก็ไม่มีเลย ส่วนเราจะหาอุบายนำเอาทรัพย์เหล่านี้ไปให้จงได้ เมื่อดำริฉะนี้แล้ว จึงได้ไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบแล้วให้คนตีกลองเที่ยวประกาศทั่วพระนคร นำทรัพย์เหล่านั้นบริจาคเป็นทานให้แก่มหาชนจนหมด แล้วท่านก็ออกบวชเป็นดาบส

    ก่อนออกบวชเป็นดาบสนั้น ท่านสถิตอยู่ในที่อันรโหฐานในปราสาทอันประเสริฐชั้นบนนั่งขัดสมาธิดำริว่า อันการถือปฏิสนธิคือ การเกิดต่อไปเป็นทุกข์ การที่สรีระแตกทำลายในฐานะที่เกิดแล้วก็เหมือนกัน อันตัวเรามีชาติ ชรา พยาธิ และมรณะเป็นธรรมดา เมื่อเราเป็นอยู่อย่างนี้ ควรแสวงหาอมตะมหานฤพานอันหาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์มิได้ เป็นธรรมชาติสงบเย็น หนทางอันใดอันหนึ่งซึ่งจะให้เราดำเนินไปสู่พระนิพพานนั้นต้องมีแน่ฯ

    พระพุทธองค์ตรัสเป็นคาถาว่า “เราอยู่ในที่รโหฐาน เวลานั้นนั่งดำริอยู่อย่างนี้ว่า อันความเกิดต่อไปเป็นทุกข์ สรีระต้องแตกทำลายไปเช่นเดียวกัน และเราก็เป็นคนมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะเป็นธรรมดาอยู่แล้ว จะแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นธรรมชาติปลอดภัย เอาละเราพึงทิ้งร่างกายเปื่อยเน่าอันนี้เสีย ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพต่างๆนี้แล้ว ไม่อาลัยใยดีไปเสีย ทางนั้นมีอยู่ ทางนั้นจักมี ทางนั้นใครไม่พึงอาจเพื่อไม่ให้มี เราจักแสวงหาทางนั้น เพื่อปลดตนให้พ้นจากภพดังนี้”

    ท่านสุเมธบัณฑิตดำริต่อไปอีกว่า “อันความสุขที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์ในโลกนี้มีอยู่ฉันใด เมื่อภพมีอยู่ แม้สภาพที่ปราศจากภพอันเป็นปฏิปักษ์ต่อภพนั้นต้องมีอยู่ฉันนั้น อนึ่งแม้ความร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันเป็นเครื่องดับความร้อนนั้นต้องมีฉันใด แม้พระนิพพานอันเป็นที่ดับแห่งไฟมีราคะ เป็นต้น ก็ต้องมีเหมือนกันฉันนั้น ธรรมที่เป็นกุศลอันงามหาโทษมิได้ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมที่เป็นบาปลามกมีอยู่ฉันใด เมื่อชาติคือ ความเกิดอันลามกมีอยู่ แม้พระนิพพานคือ สภาพที่หาชาติมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งชาติทั้งมวลต้องมีเหมือนกันฉันนั้น”

    ท่านสุเมธบัณฑิตดำริต่อไปอีกว่า “ธรรมดาคนที่จมอยู่ในกองคูถ เมื่อเห็นสระใหญ่อันดารดาษไปด้วยปทุมชาติเบ็ญจพรรณแต่ไกล ก็ควรจะคิดหาทางเข้าหาสระนั้นว่า เราจะพึงไปถึงสระนั้นได้โดยทางไหนหนอ การที่ผู้นั้นไม่เข้าหาสระนั้นไม่ใช่เป็นความผิดของสระ เป็นความผิดของผู้นั้นเองฉันใด เมื่อสระใหญ่คือ อมตมหานฤพาน อันเป็นที่ชำระล้างมลทินคือ กิเลสมีอยู่ การไม่แสวงหาสระใหญ่คือ อมตมหานฤพานนั้น ก็ไม่ใช่ความผิดของสระใหญ่คือ พระอมตมหานฤพาน แต่เป็นความผิดของคนนั้นเองเหมือนกันฉันนั้น คนที่ถูกโจรล้อมไว้ เมื่อหนทางที่จะหนีมีอยู่ ถ้าผู้นั้นไม่หนี ก็ไม่ใช่เป็นความผิดของหนทาง เป็นความผิดของคนนั้นเองฉันใด อันคนที่ถูกกิเลสห่อหุ้มไว้ เมื่อทางซึ่งปลอดภัยอันจะดำเนินไปยังนิพพานมีอยู่ การไม่แสวงหาทาง ไม่ใช่เป็นความผิดของทาง แต่เป็นความผิดของคนนั้นเองเหมือนกันฉันนั้น อนึ่ง คนที่ถูกพยาธิบีบคั้น เมื่อหมอผู้รักษาพยาธิมีอยู่ แต่ไม่หาหมอนั้นให้รักษาพยาธินั้น ไม่ใช่เป็นความผิดของหมอ เป็นความผิดของคนนั้นเองฉันใด คนใดถูกพยาธิคือ กิเลสบีบคั้น แต่ไม่แสวงหาอาจารย์ผู้สามารถทำกิเลสให้สงบ ซึ่งมีอยู่อย่างแท้จริง นั้นก็เป็นความผิดของคนนั้นเอง ไม่ใช่เป็นความผิดของอาจารย์ผู้สามารถปราบกิเลสให้พินาศได้ เหมือนกันฉันนั้น”

    ท่านสุเมธบัณฑิตดำริต่อไปอีกว่า “คนที่แต่งตัวสะอาดหมดจดดีแล้วสลัดทิ้งซากศพอันติดอยู่ที่คอได้แล้ว ย่อมเดินเป็นสุขฉันใด แม้เราก็ควรทิ้งกายอันเปื่อยเน่านี้เสีย เป็นผู้ไม่อาลัยเข้าสู่ประตูอมตมหานฤพานฉันนั้น อนึ่งประชาชนทั้งหลายทั้งชายหญิง ถ่ายอุจจาระปัสสาวะในกองขยะมูลฝอยแล้ว ย่อมไม่นำเอาอุจจาระปัสสาวะนั้นใส่พกไป หรือห่อชายพกไป ย่อมสะอิดสะเอียนถ่ายแล้วก็ไปฉันใด แม้เราก็ควรเป็นผู้ไม่อาลัย ทิ้งกายอันเปื่อยเน่านี้เสียแล้ว ไปสู่นครคือ อมตมหานฤพานฉันนั้น อนึ่ง ชาวเรือเป็นผู้ไม่ใยดีเรือที่เก่าคร่ำคร่า ย่อมทิ้งไปฉันใด แม้เราก็จักทิ้งกายอันคายอสุจิทางปากแผลทั้ง ๙ แห่งนี้เสีย เป็นผู้ไม่อาลัยเข้าสู่เมืองคือ นิพพานฉันนั้น อนึ่งคนที่ขนเอารัตนะต่างๆเดินทางร่วมไปกับโจร ย่อมทิ้งพวกโจรเหล่านั้นเสียแล้วหาทางที่ปลอดภัย เพราะกลัวรัตนะของตนจะพินาศฉันใด แม้กรัชกายนี้ก็เหมือนกับโจรที่ปล้นรัตนะ ถ้าเรามัวติดอยู่ในกรัชกายนี้ รัตนะคือกุศลกรรมได้แก่ อริยมรรค ก็จักพินาศเป็นแน่ เพราะฉะนั้นเราควรจะทิ้งกายซึ่งเทียบกันได้กับโจรนี้เสียเข้าสู่นครคือ นิพพานฉะนี้แล”

    เมื่อท่านสุเมธบัณฑิต คิดถึงประโยชน์เกี่ยวกับเนกขัมมะนี้ด้วยอุปมามีประการต่างๆอย่างนี้แล้วสละโภคสมบัติอันจะนับประมาณมิได้ในนิเวศน์ของตนเป็นมหาทานแก่มหาชนแล้ว อันมีคนกำพร้าและคนเดินทาง เป็นต้น ละวัตถุกาม และกิเลสกามแล้วออกจากอมรนครแต่ผู้เดียว ไปทำอาศรมอาศัยธรรมมิกบรรพตอยู่ในป่าหิมพานต์ สร้างบรรณศาลา และที่จงกรมในที่นั้นด้วยกำลังบุญของตน เพื่อละเว้นจากโทษคือ นิวรณ์ทั้ง ๕ นำมาซึ่งกำลังคือ อภิญญาอันประกอบด้วยองค์คุณ ๘ ประการ ละผ้าสาฏกอันประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ(คือ ๑ ผ้าที่มีราคามาก ๒ เกิดขึ้นเพราะเนื่องด้วยคนอื่น ๓ ผ้าที่เศร้าหมองเร็ว เพราะการใช้สอย ๔ ผ้าที่เศร้าหมองแล้วต้องสุต้องย้อม ๕ เมื่อผ้าเก่าต้องชุนต้องปะจะต้องลำบากในการแสวงหาใหม่ ๖ ผ้าที่ไม่เหมาะสมแก่เพสดาบส ๗ ผ้าที่เป็นสาธารณะแก่พวกโจร ๘ ผ้าอย่างดีเกินไป จะต้องคอยรักษามิให้โจรเอาไป ๙ ผ้าที่หนักกายหนักใจแก่ผู้ครองเที่ยวไป) นุ่งผ้าปออันประกอบด้วยคุณสมบัติ ๑๒ ประการ (๑ ผ้าปอราคาน้อยเป็นกัปปิยอย่างงาม ๒ ผ้าที่อาจทำขึ้นได้ด้วยฝีมือของตน ๓ ผ้าที่ค่อยๆเศร้าหมอง เพราะใช้สอย แม้ต้องสุก็ไม่ป่วยการนัก ๔ แม้เก่าก็ไม่ต้องเย็บ ๕ เมื่อเปลี่ยนใหม่ก็ทำได้สะดวก ๖ เหมาะสมกับเพสดาบส ๗ ไม่เป็นที่ต้องการของโจร ๘ ไม่ทำให้ผู้ใช้สอยโอ่โถง ๙ เป็นของเบาสำหรับผู้ครอง ๑๐ เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในจีวร ๑๑ เป็นธรรม และหาโทษไม่ได้เพราะเกิดแต่ปอ ๑๒ ถึงหายก็ไม่เสียดาย) บวชเป็นฤาษีอยู่ในอาศรมนั้นครั้นบวชแล้วอย่างนี้ ได้ละบรรณศาลานั้นอันอาเกียรด้วยโทษ ๘ ประการ(คือ ๑ ศาลาที่จะต้องแสวงหาทัพพสัมภาระรวบรวมกันทำขึ้น ๒ ต้องซ่อมเป็นนิตย์ ๓ เสนาสนะที่ต้องย้ายในกาลอันควร ๔ เสนาสนะที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เพราะการกระทบกับความหนาวความร้อน ๕ เป็นที่ปกปิดซึ่งครหา ๖ เป็นเหตุให้เกิดความหวงแหน ๗ ระคนด้วยผู้คนที่อยู่ด้วยกัน ๘ เป็นของสาธารณะแก่สัตว์มากมาย มีเร็น เรือด และตุ๊กแก เป็นต้น) ละธัญญวิกัติ(คือธัญญาหารที่เขาหว่านเขาปลูกโดยหาส่วนเหลือมิได้) บริโภคธัญญาหารที่หล่นเป็นอาหาร เริ่มต้นความเพียรโดยการนั่ง การยืน และเดินจงกรมในอาศรมนั้น ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ภายใน ๗ วันนั้นแล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  14. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก

    เมื่อเราถึงความสำเร็จ เป็นผู้มีความชำนาญในศาสนาอย่างนี้แล้ว พระชินเจ้าพระนามว่า “ทีปังกร”ผู้เป็นนายกแห่งโลก ได้เสด็จอุบัติขึ้น เมื่อพระองค์ทรงปฏิสนธิ ประสูติ ตรัสวู้ ทรงแสดงธรรม เรามัวอิ่มเอิบอยู่ในฌาน จึงมิได้เห็นนิมิตทั้ง ๔ คราว

    ในกาลนั้น พระทศพลพระนามว่า “ทีปังกร” พร้อมด้วยพระขีณาสพสี่แสนแวดล้อมอยู่เสด็จจาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงรัมมนครประทับ ณ สุทัสสนมหาวิหาร ชาวรัมมนครได้สดับว่า พระจอมสมณะพระนามว่าทีปังกร ได้ทรงบรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว เสด็จมาตามลำดับถึงรัมมนคร ประทับอยู่ ณ สุทัสสนมหาวิหารดังนี้ ต่างก็ถือเภสัชชบริขาร และผ้านุ่งห่ม เครื่องสักการะมีของหอม และดอกไม้ เป็นต้น พากันหลั่งไหลไปยังที่ประทับอยู่ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเข้าเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้ว บูชาด้วยสักการะมีของหอม และดอกไม้ เป็นต้น เหล่านั้นนั่งอยู่ ณ ที่ควรแก่ตนเพื่อฟังพระธรรมเทศนา แล้วทูลอาราธนาเพื่อภัตตกิจในวันรุ่งขึ้น แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

    เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ได้ตระเตรียมมหาทาน แต่งเมือง แต่งทางที่พระทศพลจะเสด็จมา ถมดินในที่เป็นหล่ม ทำภาคพื้นให้สม่ำเสมอ เกลี่ยทรายที่มีวรรณะเหมือนเงิน โปรยข้าวตอกดอกไม้ ยกธงชาย และธงปฏากด้วยผ้าสีต่างๆ ตั้งต้นกล้วย และระเบียบแห่งหม้อดอกไม้ เวลานั้นพระสุเมธดาบสเหาะมาจากอาศรมของตน เหาะไปในท้องฟ้า ในกาลนั้นได้เห็นคนเหล่านั้นร่าเริงบันเทิงใจดำริว่าเรื่องอะไรกัน จึงลงมาจากอากาศยืนอยู่ ณ ที่ควรสวนข้างหนึ่ง ถามเขาว่า คนเป็นอันมากปรีดาปราโมทย์ชื่นบาน แต่งทางอันเป็นมรรคาเพื่อใคร

    เขาตอบว่า ท่านสุเมธ ท่านยังไม่รู้หรือ พระทศพลพระนามว่า ทีปังกรได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว ได้เสด็จจาริกมาถึงเมืองเรา เวลานี้ประทับอยู่ ณ พระสุทัสสนมหาวิหาร พวกเราได้เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงพร้อมกันแต่งหนทางเป็นที่เสด็จพระดำเนิน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  15. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พระโพธิสัตว์ทอดกายเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าเสด็จ

    เมื่อเราถามคนเหล่านั้นแล้ว เขาแจ้งว่า พระพุทธชินเจ้าผู้ยอดเยี่ยมพระนามว่า ทีปังกร เป็นนายกแห่งโลก ได้เสด็จอุบัติเกิดขึ้นในโลกแล้ว มรรคาอันเป็นที่เสด็จพุทธดำเนินนี้ เขาตบแต่งเพื่อพระชินเจ้าพระองค์นั้น เพราะได้ยินเสียงว่า “พุทโธ” พระพุทธเจ้า ความชื่นใจโสมนัสได้เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง เราได้ยืนอยู่ในที่นั้น ได้ความชื่นใจ และความสลดใจ จึงคิดว่า เราจักปลูกพืชในพระศาสนานี้ กาลเวลาอย่าได้ล่วงเลยไปเสีย จึงแจ้งกะเขาว่า ถ้าพวกท่านแต่งทางเพื่อพระพุทธเจ้า จงแบ่งให้เราสักส่วนหนึ่งเถิด เราจะตบแต่งมรรคาอันเป็นทางเสด็จพุทธดำเนินด้วย เขาได้ให้โอกาสแก่เราเพื่อตบแต่งทางในเวลานั้น เรากำลังนึกอยู่ว่า พุทโธ พุทโธ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ดังนี้ อยู่ตบแต่งทางอยู่ในเวลานั้น เมื่อส่วนของเรายังไม่ทันเสร็จ พระชินเจ้าพระนามว่าทีปังกรผู้เป็นมหามุนี พร้อมด้วยพระขีณาสพประมาณสี่แสน ล้วนปราศจากมลทิน ทรงอภิญญา ๖ เป็นผู้คงที่ เสด็จพุทธดำเนินไปทางนั้น การต้อนรับกำลังเป็นไปอย่างโกลาหล กลองก็บันลือลั่นทั่วไป ทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาต่างก็มีจิตหรรษาแซ่ซ้องสาธุการ พวกเทวดาก็เห็นมนุษย์แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา ทั้ง ๒ พวกนั้นต่างประนมมือตามเสด็จพระตถาคตเจ้า พวกเทวดาก็ประโคมด้วยดนตรีทิพย์ พวกมนุษย์ก็ประโคมด้วยดนตรีมนุษย์ ประโคมตามเสด็จพระตถาคตเจ้าทั้ง ๒ พวก

    พวกเทวดาเหาะไปในอากาศโปรยดอกมณฑารพ ดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะอันเป็นทิพย์ลงมาทั่วทิศ พวกมนุษย์ที่เดินไปบนพื้นดิน ก็โปรยดอกจำปา ดอกสน ดอกจิก ดอกกากทิง ดอกบุนนาค และดอกการเกตุขึ้นทั่วทิศ เราได้สยายผมลาดผ้าปอ และหนังเสือนอนคว่ำอยู่ในที่นั้น ตั้งใจว่า ขอพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวก จงทรงเหยียบหลังเราดำเนินไปเถิด อย่าได้ทรงเหยียบเปือกตมเลย นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา

    ท่านสุเมธบัณฑิตนั้นนอนอยู่บนเปือกตมเหลือบตาขึ้นดูพระพุทธสรีระของพระทีปังกรทศพล แล้วดำริอย่างนี้ว่า วันนี้เมื่อเราปรารถนาก็จักสามารถเผากิเลสให้ประลัยหมดไปได้ แต่การกระทำธรรมให้แจ้งด้วยเพศที่คนเขาไม่รู้จักในที่นี้ จะมีประโยชน์อันใดแก่เราเล่า ถ้ากระไรเราจักพึงบรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเหมือนอย่างพระทศพลทีปังกรพุทธเจ้า ยกมหาชนขึ้นสู่ธรรมนาวา ให้ข้ามจากสงสารสาครแล้วจึงปรินิพพานในภายหลัง นี้เป็นการสมควรแก่เรา ลำดับนั้นได้หมอบตั้งธรรมสโมธาน ๘ ประการ บำเพ็ญอภินิหารเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอยู่

    ผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต้องประกอบด้วยสโมธาน ๘ คือ
    ๑) ต้องเป็นมนุษย์ จึงตั้งความปรารถนาสำเร็จ เป็นนาค เป็นเทวดา ย่อมไม่สำเร็จได้
    ๒) ต้องมีความสมบูรณ์แห่งเพศ คือ จะต้องเป็นเพศชายจึงปรารถนาสำเร็จ เป็นหญิงกะเทยไม่สำเร็จ
    ๓) ต้องสมบูรณ์แห่งเหตุ คือ สามารถที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แม้ในชาตินั้น จึงจะสำเร็จ
    ๔) ต้องได้พบพระพุทธเจ้า เพราะต้องตั้งความปรารถนาในสำนักพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์
    ๕) ต้องได้บรรพชา คือ ต้องอยู่ในเพศบรรพชิตจึงจะปรารถนาสำเร็จ
    ๖) ต้องสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ ต้องได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘
    ๗) ต้องบริจาคอันยิ่ง มีการบริจาคชีวิตของตนแก่พระพุทธเจ้า เป็นต้น
    ๘) ต้องมีความตั้งใจจริง คือ ต้องมีความพอใจอุตสาหะ พยายามแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่พุทธการกธรรม จึงจะสำเร็จ

    สุเมธดาบสได้นอนหมอบตั้งธรรมสโมธาน ๘ ประการเหล่านี้ บำเพ็ญอภินิหารเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  16. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า

    พระผู้มีพระภาคพระนามว่าทีปังกร ได้เสด็จพุทธดำเนินประทับยืน ณ ภาคศีรษะแห่งท่านสุเมธดาบส ทรงเหลือบพระเนตรอันสมบูรณ์ด้วยประสาทมีวรรณะ ๕ ดุจเผยช่องสีหบัญชรอันล้วนแล้วด้วยแก้วมณี ทอดพระเนตรดูท่านสุเมธดาบสผู้นอนอยู่บนเปือกตม ทรงส่องพระอนาคตังสญาณดูว่า ดาบสนี้นอนหมอบบำเพ็ญอภินิหารเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จหรือไม่ ก็ทรงทราบชัดว่า ล่วง ๔ อสงไขยแสนกัปป์แต่ภัททกัปป์นี้ไป เธอจักเป็นพระพุทธนามว่า “โคตมะ” ประทับยืนท่ามกลางบริษัทแล้วตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดูดาบสผู้มีเดชสูงซึ่งนอนอยู่บนเปือกตมนี้

    เมื่อพุทธบริษัทเหล่านั้นทูลรับพระบัญชาแล้ว จึงทรงพยากรณ์ว่า ดาบสผู้นี้นอนบำเพ็ญอภินิหาร เพื่อเป็นพระพุทธ ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จในที่สุดแห่ง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ แต่กัปป์นี้ไป เธอจักเป็นพระพุทธ นามว่า “โคตมะ” ในอัตภาพนั้น พระนครกบิลพัสดุ์จักเป็นนิวาสสถานของเธอ พระมหามายาเทวีจักเป็นพระมารดา พระเจ้าสุทโธทนะราชาแห่งนครนั้นจักเป็นพระบิดา พระอุปติสสเถระจักเป็นพระอัครสาวก พระโกลิตเถระจักเป็นอัครสาวกที่ ๒ พระอานนทเถระจักเป็นพระพุทธอุปฐาก พระเขมาเถรีจักเป็นอัครสาวิกา พระอุบลวัณณาเถรีจักเป็นอัครสาวิกาที่ ๒ เธอมีญานแก่รอบแล้ว จะออกมหาภิเนษกรม บำเพ็ญความเพียรอย่างใหญ่ รับข้าวปายาส ณ โคนต้นนิโครธ(ต้นไทร) เสวย ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขึ้นสู่บัลลังก์เป็นที่ผ่องใสแห่งโพธิญาณ ได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้อัสสัตถะดังนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  17. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    พระโพธิสัตว์ได้รับการบูชา

    ท่านสุเมธดาบสได้เกิดโสมนัสว่า ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ มหาชนเมื่อได้สดับพระพุทธพจน์ของพระทศพลแล้ว ต่างก็พากันร่าเริงบันเทิงใจว่า ท่านสุเมธดาบสเป็นพุทธางกูรหน่อพระพุทธเจ้าดังนี้ แล้วพากันตั้งความปรารถนาว่า ธรรมดาบุรุษเมื่อจะข้ามแม่น้ำ ไม่อาจที่จะข้ามโดยท่าทีตรงได้ ต้องข้ามโดยท่าที่ต่ำลงไปฉันใด แม้พวกข้าพเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อไม่ได้บรรลุมรรคผลในศาสนาของพระทีปังกรทศพลแล้ว ท่านสุเมธดาบสจักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็ขอให้ข้าพเจ้าสามารถทำให้แจ้งมรรคผลในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งท่านในกาลนั้นเถิด

    ส่วนพระทีปังกรทศพล เมื่อทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงบูชาด้วยดอกไม้ ๘ กำมือ ทรงทำปทักษิณแล้วเสด็จเลยไป แม้พระขีณาสพสี่แสนเหล่านั้น ก็พากันบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยของหอม และดอกไม้ ทำปทักษิณแล้วเดินเลยไป แม้พวกเทวดา และมนุษย์ก็พากันบูชาเหมือนกันแล้วเดินเลยไป

    เมื่อคนเดินไปหมดแล้ว พระโพธิสัตว์ลุกจากที่นอนนั่งขัดบัลลังก์บนกองดอกไม้ ตั้งใจเลือกคัดพระบารมี เมื่อพระโพธิสัตว์นั่งด้วยอาการอย่างนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น ได้พากันเปล่งสาธุการแล้วชมเชยพระโพธิสัตว์โดยประการต่างๆ เป็นต้นว่า “ข้าแต่ท่านสุเมธดาบส ในกาลที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายในกาลก่อนๆ นั่งขัดบัลลังก์ด้วยตั้งใจว่าจะคัดเลือกพระบารมี เหตุที่น่าอัศจรรย์ที่ชื่อว่า “บุพพนิมิต” เหล่าใดได้ปรากฎนิมิตเหล่านั้นทั้งหมดได้ปรากฎในวันนี้ ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยแน่นอน พวกข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า นิมิตเหล่านี้ปรากฎแก่ผู้ใด ผู้นั้นจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ขอท่านจงประคองความเพียรของตนให้มั่นคงเถิด"

    นิมิตที่ปรากฎแก่ผู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว
    ๑) ความหนาวย่อมไม่ปรากฎ และความร้อนย่อมสงบในเวลานั้น(คือ เวลาที่พระโพธิสัตว์นั่งขัดบัลลังก์ตั้งใจคัดเลือกบารมี

    ๒) หมื่นโลกธาตุย่อมเงียบสงัดไม่อลหม่าน

    ๓) มหาวาตะย่อมไม่พัด แม่น้ำทั้งหลายย่อมไม่ไหล

    ๔) ดอกไม้ที่เกิดบนบก และในน้ำ ย่อมบานทั่วกันหมดในเวลานั้น

    ๕) เถาวัลย์ และต้นไม้ได้ทรงผลในเวลานั้น

    ๖) รัตนะทั้งหลายย่อมส่องแสงสว่างทั้งในอากาศ และแผ่นดินในเวลานั้น

    ๗) ดนตรีทั้งที่เป็นของมนุษย์ และของเทวดา ย่อมส่งเสียงในเวลานั้น

    ๘) ดอกไม้ที่มีสีอันงาม ย่อมตกลงมาจากอากาศในเวลานั้น

    ๙) มหาสมุทรย่อมกระฉอกฉ่อน หมื่นโลกธาตุย่อมหวั่นไหวในเวลานั้น

    ๑๐)ไฟนรกทั้งหมื่นโลกธาตุก็ดับหมดในเวลานั้น

    ๑๑)ดวงตะวันย่อมปราศจากมลทิน ดวงดาวทุกดวงย่อมปรากฎแจ่มจ้า

    ๑๒)น้ำย่อมพุ่งขึ้นจากแผ่นดินโดยที่ฝนมิได้ตกในเวลานั้น

    ๑๓)ดวงดาส วิสาขนักษัตรประกอบด้วยดวงจันทร์ ย่อมไพโรจน์ในท้องฟ้า

    ๑๔)ฝูงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรงอยู่ในซอก ย่อมออกจากที่อยู่ของตน

    ๑๕)สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่มีความเดียจฉันท์กัน ย่อมมีไมตรีจิตสนิทสนมในเวลานั้น

    ๑๖)โรคภัยย่อมสงบหมด แม้ความหิวก็ไม่มีในเวลานั้น

    ๑๗)ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมเบาบางในขณะนั้น

    ๑๘)สิ่งที่น่ากลัวย่อมไม่มีในเวลานั้น

    ๑๙)ธุลีย่อมไม่ฟุ้งขึ้นในเวลานั้น

    ๒๐)กลิ่นที่ไม่ชอบใจย่อมหายหมดไปในเวลานั้น กลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งตลบขึ้นแทนที่

    ๒๑)พวกเทวดาทั้งหลาย ยกเว้นอรูปพรหมย่อมปรากฎในเวลานั้น(ที่เว้นอรูปพรหมก็เพราะอรูปพรหมนั้นไม่มีรูปขันธ์ มีแต่นามขันธ์ ๕ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่านั้น รูปจึงไม่ปรากฎ)

    ๒๒)นรกทั้งหลายย่อมปรากฎในขณะนั้น

    ๒๓)ฝาเรือนก็ดี บานประตูก็ดี ภูเขาก็ดี ย่อมไม่เป็นเครื่องบังสายตาในเวลานั้น สัมภาระเหล่านั้นย่อมเปิดโล่ง

    ๒๔)จุติ และปฏิสนธิย่อมไม่มีในเวลานั้น


    นิมิตทั้งหลายเหล่านี้ย่อมปรากฎเกิดขึ้นแก่ประชาสัตว์ในหมื่นจักรวาล เมื่อพระโพธิสัตว์นั่งขัดบัลลังก์นึกคัดพระบารมีที่พระองค์จะบำเพ็ญ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า

    พระโพธิสัตว์ได้สดับถ้อยคำของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า และทวยเทพในหมื่นจักรวาลแล้ว ยิ่งเกิดความอุตสาหะทวีขึ้น แล้วดำริในเวลานั้นอย่างนี้ว่า

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีถ้อยคำไม่เป็นสอง พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีถ้อยคำไม่เปล่าประโยชน์ ถ้อยคำที่ไม่จริงย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เราต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ก้อนดินที่โยนไปในอากาศ ต้องตกลงในภาคพื้นเป็นแน่ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าอันประเสริฐสุด ต้องเป็นคำแน่นอนเหมือนกันฉันนั้น มรณะต้องเป็นการแน่นอนของสรรพสัตว์ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดต้องเป็นคำแน่นอนเหมือนกันฉันนั้น เมื่อราตรีสิ้นไป ดวงตะวันต้องขึ้นเป็นแน่นอนฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนฉันนั้น สีหะเมื่อออกจากที่นอนแล้วต้องบรรลือสีหนาทเป็นแน่นอนฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดต้องเป็นคำแน่นอนเหมือนกันฉันนั้น หญิงที่มีครรภ์หนักต้องปลงภาระเป็นแน่นอนฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดต้องเป็นคำแน่นอนเหมือนกันฉันนั้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  18. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    บำเพ็ญพุทธการกธรรม ๑๐ ประการ

    ๑) บำเพ็ญทานบารมี
    พระโพธิสัตว์ทำความตกลงใจว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอนอย่างนี้แล้ว ประสงค์จะใคร่ครวญถึงธรรมอันจะกระทำซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้า จึงพิจารณาว่า ธรรมทั้งหลายอันกระทำซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนหนอ อยู่ในเบื้องบน หรือเบื้องต่ำ ในทิศใหญ่ หรือทิศน้อย เมื่อเลือกเฟ้นธรรมธาตุตามลำดับฉะนี้แล้วได้พบทานบารมีซึ่งเป็นมหาวิถีอันพระโพธิสัตว์องค์ก่อนๆบำเพ็ญกันมา เป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้เธอพึงบำเพ็ญทานบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อต้นนี้ หม้อน้ำที่เขาคว่ำไว้ย่อมคายน้ำจนไม่เหลือ ย่อมไม่นำกลับมาอีกฉันใด แม้เธอก็จงเป็นเหมือนอย่างนี้ เธอจักต้องไม่ไยดีในทรัพย์สมบัติ ยศ ลูกเมีย หรือองคาพยพ ให้ของรักแก่พวกยาจกที่มาถึงแล้วตามความปรารถนาจนไม่เหลือ ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ จงสมาทานไว้ให้มั่น จักได้นั่ง ณ ควงไม้โพธิ์ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


    ๒) บำเพ็ญศีลบารมี
    ลำดับนั้น ท่านสุเมธบัณฑิตดำริว่า อันพุทธการกธรรมนั้น มิใช่จะมีแต่เพียงเท่านี้ จึงใคร่ครวญต่อไปอีก ก็ได้พบสีลบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๒ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไปเธอพึงบำเพ็ญศีลบารมี มฤคชนิดหนึ่งชื่อว่า จามรี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่ใยดีแม้แต่ชีวิต เพื่อรักษาขนหางของตนเท่านั้นฉันใด แม้เธอก็จักต้องเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่นี้ไปต้องไม่ใยดีแม้แต่ชีวิค รักษาแต่ศีลเท่านั้น อันจามรีเมื่อขนหางของมันติดอยู่ในที่ไหนๆย่อมยอมตายในที่นั้นๆไม่ยอมเสียหางฉันใด จงรักษาศีลให้มั่นทุกเมื่อ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๓) บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะแต่เพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบเนกขัมมบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คนที่ได้รับความลำบากอยู่ในเรือนจำ ย่อมไม่ใยดีในเรือนจำนั้น ระอิดระอาไม่อยากอยู่เลยฉันใด แม้เธอก็จงเป็นเหมือนอย่างนั้น จงเห็นภพทั้งปวงดุจเรือนจำ เป็นผู้ระอิดระอาใคร่ที่จะพ้นไปจากภพ มุ่งต่อเนกขัมมบารมีไว้ให้มั่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๔) บำเพ็ญปัญญาบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบปัญญาบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๔ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญปัญญาบารมี พึงเข้าไปถามปัญหากะท่านที่เป็นบัณฑิต จะเป็นคนชั้นต่ำ ชั้นกลาง หรือชั้นสูง ไม่เว้นใครทั้งหมด เหมือนอย่างภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับ ไม่เว้นตระกูลทั้งตระกูลสูง ตระกูลกลาง ตระกูลต่ำ ย่อมได้อาหารพอเลี้ยงชีวิตได้เร็วฉันใด แม้เธอก็จงเป็นเหมือนอย่างนั้น จงหมั่นเข้าไปถามพวกบัณฑิต จงสมาทานบำเพ็ญปัญญาบารมีไว้ให้มั่น จงหมั่นเข้าไปถามพวกบัณฑิต จงสมาทานบำเพ็ญปัญญาบารมีไว้ให้มั่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๕) บำเพ็ญวิริยบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบวิริยบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๕ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญวิริยบารมี ราชสีห์ย่อมมีความเพียรมั่นทุกอิริยาบถฉันใด แม้เธอก็จงเป็นเหมือนอย่างนั้น จงประคองความเพียรให้มั่น ไม่ท้อถอย ทุกอิริยาบถ ทุกภพจักได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

    ๖) บำเพ็ญขันติบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบขันติบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๖ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญขันติบารมี พึงเป็นผู้อดทนทั้งในการนับถือ ทั้งในการดูหมิ่นเหมือนอย่างแผ่นดิน อันธรรมดาแผ่นดินนั้น ย่อมไม่ยินดียินร้าย อดทนต่อสิ่งที่สะอาด และไม่สะอาดทุกชนิด ที่เขาทิ้งลงไปฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน ต้องเป็นผู้อดทนต่อความนับถือ และความดูหมิ่นของคนทุกคน เมื่อบำเพ็ญขันติบารมีแล้ว จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๗) บำเพ็ญสัจจบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบสัจจบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๗ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญสัจจบารมี แม้จะถูกอสนีตกลงบนกระหม่อม ก็อย่าได้ทำการพูดเท็จด้วยอำนาจของความรักมีทรัพย์ เป็นต้น เหมือนอย่างดาวประจำรุ่ง ย่อมไม่ละทางเดินของตน ไม่เดินในวิถีอื่น ย่อมเดินในวิถีของตนทุกฤดู หรือทุกปีฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน อย่าเดินละลงจากวิถีในความสัตย์ เมื่อไม่ละความสัตย์ ไม่กระทำมุสาวาทได้จริง จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๘) บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบอธิษฐานบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๘ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เมื่ออธิษฐานอย่างใด พึงเป็นผู้คงที่ในอธิษฐานนั้น เหมือนอย่างภูเขาศิลาล้วน เมื่อลมพัดอยู่ทุกทิศย่อมไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในฐานของตนเทียวฉันใด แม้เธอก็จงเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นผู้คงที่ในความอธิษฐานของตน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๙) บำเพ็ญเมตตาบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบเมตตาบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๙ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญเมตตาบารมี ชื่อว่าน้ำย่อมแผ่ความเย็น ย่อมล้างมลทินคือธุลีในทั้งคนดี และคนชั่วสม่ำเสมอกันฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเจริญเมตตาสม่ำเสมอในคนทั้งที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูลฉันนั้น เธอเจริญเมตตาบารมีสำเร็จแล้ว จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ๑๐)บำเพ็ญอุเบกขาบารมี
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ดำริต่อไปว่า อันพุทธการกธรรมมิใช่จะมีเพียงเท่านี้ เมื่อใคร่ครวญสูงขึ้นไปอีก ก็ได้พบอุเบกขาบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑๐ จึงสอนตนอย่างนี้ว่า
    ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ตั้งแต่นี้ไป เธอพึงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี พึงเป็นผู้มัธยัสถ์ทั้งในสุข และทุกข์ ชื่อว่าแผ่นดินย่อมมัธยัสถ์ในบุคคลทั้งที่ทิ้งของสะอาด และไม่สะอาดฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน พึงเป็นผู้มัธยัสถ์ในสุข และทุกข์ทุกเมื่อ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า


    พระโพธิสัตว์ดำริว่า พุทธการกธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณที่พระโพธิสัตว์ทั้งปวงพึงบำเพ็ญในโลกนี้ มีจำนวนเท่านี้ นอกจากบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว บารมีธรรมอย่างอื่นก็ไม่มี บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ย่อมไม่มีแม้ในเบื้องบน แม้ในอากาศ แม้ในภายใต้แห่งแผ่นดิน แม้ในทิศมีทิศปราจีน เป็นต้น ย่อมตั้งอยู่ในระหว่างแห่งมังสะคือ หทัยของเรานี้เอง ครั้นเห็นความที่บารมี ๑๐ เหล่านั้นตั้งอยู่ในระหว่างแห่งมังสะคือ หทัยอย่างนี้แล้ว จึงอธิษฐานบารมีเหล่านั้นทั้งหมดให้มั่น เมื่อพิจารณาไปๆมาๆโดยอนุโลมปฏิโลม จับเบื้องปลายให้ถึงเบื้องต้น จับเบื้องต้นหยุดไว้ในเบื้องปลาย และทำส่วนเบื้องกลางให้สิ้นสุดทั้ง ๒ จับในที่สุดทั้ง ๒ ให้สุดลงส่วนเบื้องกลาง จึงเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐

    การบริจาคภัณฑะภายนอก ชื่อว่า ทานบารมี การบริจาคอวัยวะชื่อว่า ทานอุปบารมี การบริจาคชีวิตชื่อว่า ทานปรมัตถบารมี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  19. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    มหาปฐพีหวั่นไหวเพราะแรงอธิษฐาน

    เมื่อพระโพธิสัตว์เลือกเฟ้นบารมีธรรม ๑๐ ประการ ด้วยเดชแห่งธรรมพสุธาได้ไหวไปทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ เสียงแผ่นดินที่หวั่นไหวดุจเครื่องยนต์หีบอ้อยที่ถูกบีบฉะนั้น ทั้งหมุนดุจเครื่องจักรทำหม้อ หรือเครื่องจักรยนต์ที่ทำน้ำมันฉะนั้น

    ได้รับความชมเชยจากเทวดา และมนุษย์

    พวกเทวดา และมนุษย์ได้โปรยบุปผชาติทั้งเป็นทิพย์ และเป็นของมนุษย์ เทวดา และมนุษย์ต่างแสดงความยินดีให้พระโพธิสัตว์ทราบว่า

    ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้เป็นประการใหญ่ ท่านจงได้พระโพธิญาณนั้นตามความปรารถนา ขอเสนียดทั้งปวงจงพินาศ ขอสรรพโรคาพาธจงเสื่อมสูญขออันตรายจงอย่ามีแก่ท่าน ขอท่านจงตรัสรู้พระโพธิญาณอันสูงสุดฉับพลันเถิด

    ต้นไม้ดอกย่อมผลิดอกในเมื่อถึงฤดูกาลฉันใด ข้าแต่มหาวีระบุรุษ ขอท่านจงบานด้วยพุทธญาณเหมือนกันฉะนั้นเถิด

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้บำเพ็ญบารมีธรรม ๑๐ ประการฉันใด ข้าแต่มหาวีระบุรุษ ขอท่านจงบำเพ็ญบารมีธรรม ๑๐ ประการเหมือนกันฉะนั้นเถิด

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ตรัสรู้ ณ ควงไม้อันเป็นที่ผ่องใสแห่งพระโพธิญาณฉันใด ข้าแต่มหาวีระบุรุษ ขอท่านจงได้ตรัสรู้พระโพธิญาณของพระชินะเหมือนกันฉันนั้น

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงประกาศพระธรรมจักรฉันใด ข้าแต่มหาวีระบุรุษ ขอท่านจงประกาศพระธรรมจักรเหมือนกันฉันนั้น

    ดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ย่อมบริสุทธิ์ไพโรจน์ฉันใด ขอท่านจงมีใจเต็มเปี่ยมไพโรจน์ในหมื่นโลกธาตุเหมือนกันฉันนั้น

    พระสุริยะพ้นจากราหูแล้ว ย่อมเปล่งปลั่งด้วยเดชฉันใด ขอท่านจงเปลื้องโลกให้ไพโรจน์ด้วยสิริเหมือนกันฉันนั้น

    แม่น้ำทุกประเภท ย่อมไหลลงสู่มหาสมุทรฉันใด ขอโลกกับทั้งเทวดาจงรวมอยู่ ณ สำนักของท่านเหมือนกันฉันนั้น"

    สุเมธบัณฑิตดาบส ได้รับความชมเชยสรรเสริญจากเทวดา และมนุษย์เหล่านั้นแล้ว เพื่อจะบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง ๑๐ ประการนั้นให้ครบทั้ง ๑๐ ทิศเต็มบริบูรณ์ จึงกลับไปยังป่าหิมพานต์ในกาลนั้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013
  20. บรรพชนทวา

    บรรพชนทวา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    2,025
    ค่าพลัง:
    +167
    ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมเหล่านั้นตราบเท่าได้เสวยพระชาติเป็นเวสสันดร ไม่ไปสู่อภัพพฐาน ๑๘

    นรชนผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณเห็นปานฉะนี้ ก็เที่ยงแท้ในการที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า (เรียกว่านิตยโพธิสัตว์ คือเที่ยงที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า) ขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏฏ์อันยืดยาวนาน สิ้นกาลหลายร้อยโกฏกัปป์ก็ไม่ไปเกิดในอภัพพฐานดังนี้คือ
    ๑) ไม่เกิดในอเวจีมหานรก
    ๒) ไม่เกิดในโลกันตนรก
    ๓) ไม่เกิดเป็นนิชฌานตัณหิกเปรค
    ๔) ไม่เกิดเป็นขุปปิปาสิกเปรค
    ๕) ไม่เกิดเป็นกาลกัญชิกาสูร
    ๖) ไม่เกิดเป็นสัตว์ที่ตัวเล็กเกินไป ปานกลางไม่ใหญ่กว่าช้าง ไม่เล็กกว่านกกระจาบ
    ๗) ไม่เกิดในทุคติ
    ๘) เมื่อเกิดในมนุษย์ก็ไม่เป็นคนบอดมาแต่กำเนิด
    ๙) ไม่เป็นคนหูหนวก
    ๑๐)ไม่เป็นคนใบ้
    ๑๑)ไม่เป็นคนง่อย
    ๑๒)ไม่เกิดเป็นสตรีเพศ
    ๑๓)ไม่เกิดเป็นอุภโตพยัญชนก
    ๑๔)ไม่เป็นบัณเฑาะก์
    ๑๕)พ้นจากอนันตริยกรรม มีโคจรอันบริสุทธิ์ในที่ทั้งปวง
    ๑๖)ไม่เสพมิจฉาทิฏฐิ เห็นกรรมกิริยา
    ๑๗)ไม่เกิดในอสัญญีภพ เหตุที่จะให้เกิดในสุทธาวาสมหาพรหมก็ไม่มี
    ๑๘)ไม่เกิดในอรูปภพ


    เป็นผู้มีใจน้อมไปในเนกขัมมะ(คือ การออกบวช) ไม่ติดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่โลก บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งปวงอยู่อย่างนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 ตุลาคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...