เรื่องเด่น ไม่ว่าจะเป็นคาถาหรืออะไรก็ตาม สำคัญตรงกำลังใจ ถ้ากำลังใจทรงตัว คิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 27 พฤษภาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    355211CD-9256-4964-A601-672207404B32.jpeg
    ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน

    เด็กรุ่นหลัง ๆ ไม่รู้ว่า ๗ ตำนาน และ ๑๒ ตำนานที่โบราณเขาว่า คืออะไร ? ๗ ตำนานก็เกี่ยวกับพุทธประวัติในวาระต่าง ๆ มีทั้งที่เป็นชาดกและพระสูตร

    ๗ ตำนานขึ้นที่ มงคลสูตร ที่เทวดาทั้งหลายเขาถกเถียงกันว่า อะไรเป็นมงคล ที่เราเรียกกันว่า มงคล ๓๘

    แล้วก็ไป รัตนสูตร รัตนสูตรนี่เขาเรียก น้ำมนต์พระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าให้พระอานนท์ทำน้ำมนต์ด้วยพระสูตรนี้ แล้วไปพรมเมืองไพศาลีที่เกิดโรคระบาด บรรดาอมนุษย์ที่ทำให้เกิดโรคระบาด ทนอำนาจน้ำพระพุทธมนต์ไม่ได้ แย่งหนีออกไปจากเมือง กำแพงพังเป็นแถบ ๆ บทนี้หลวงพ่อฤๅษีท่านบอกไว้เลยว่า ใครต้องการทำน้ำมนต์เองก็ได้ ให้อาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า ท่องรัตนสูตรด้วยความเคารพ หยดเทียนลงบนน้ำมนต์ แล้วอธิษฐานใช้เอา

    หลังจากนั้นจะเป็นพวกชาดกต่าง ๆ เช่น วัฏฏกปริตร อันนี้เป็นเรื่องของลูกนกคุ่ม ที่ท่านเพิ่งจะเกิดไม่นาน เดินก็ยังไม่ได้ บินก็ไม่ได้ แล้วไฟป่าไหม้มา ท่านจึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ตัวท่านเองถึงแม้จะมีพ่อแม่ ท่านก็ออกไปหากิน มีปีกก็ยังบินไม่ได้ มีเท้าก็ยังเดินไม่ได้ ด้วยสัจจะบารมีอันนี้ ขอให้ไฟอย่าได้ทำอันตรายเลย ไฟที่มาแรงขนาดนั้นก็ดับหมด เขาจึงใช้เป็นคาถากันไฟ โบราณเขาวาดเป็นรูปนกคุ่มแล้วเขียนหัวใจคาถา สันติ ปักขา อะปัตตะนา ก็คือ มีปีกก็บินไม่ได้ สันติปาทา อะวัญจะนา มีเท้าก็เดินไม่ได้ มาตา ปิตา จะ นิกขันตา พ่อแม่ก็ออกไปหากิน ทำเป็นรูปนกคุ่มแล้วเขียนคาถานี้ไว้ เอาไว้กันใช้ไฟ

    ต่อไปก็เป็นตำนานของนกยูงทอง เขาเรียก โมรปริตร ที่พญานกยูงทองสวดทุกวัน อันนี้สมัยอาตมายังอยู่กับหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นเอาหัวใจนกยูงทองเป็นคาถาแคล้วคลาดปลอดภัยประจำตัว ให้สวดทุกวันตื่นนอนและก่อนนอนเหมือนกับนกยูง นกยูงท่านตื่นนอนขึ้นมาก็สวดคาถาบทนี้ ก่อนจะเข้านอนก็สวดคาถาบทนี้ ไม่มีพรานคนไหนดักนกยูงได้ตลอด ๗๐๐ ปี

    พอไปเจอนายพรานที่มีความสามารถเข้า รับอาสาพระเจ้าแผ่นดินไปจับ เพราะมีหนังสือเขียนบอกเล่าไว้จากพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งสู่พระองค์หนึ่งว่า ใครได้กินเนื้อนกยูงตัวนี้จะเป็นอมตะ ไม่ตาย พรานเขาฉลาด เขาจึงเอานกยูงตัวเมียที่ฝึกมาอย่างดี บอกให้ส่งเสียงร้องเมื่อไรก็ร้อง แล้วก็เอาไปผูกไว้ใกล้ ๆ ที่พระโพธิสัตว์จะสวดมนต์ทุกเช้า

    พอถึงเวลาเห็นพระโพธิสัตว์บินมาจะสวดมนต์ นายพรานก็ส่งสัญญาณ นกตัวเมียก็ร้อง พอได้ยินเสียงตัวเมียพระโพธิสัตว์ลืมการท่องคาถาหมด ก็เลยติดบ่วง แต่ว่าท่านโดนจับไปแล้ว ก็ไปให้โอวาทพระเจ้าแผ่นดิน ถึงความเป็นจริงว่า แม้แต่ตัวท่านเองก็ตาย เพราะฉะนั้นคนที่กินเนื้อท่านไป ไม่ใช่ว่าจะอายุยืนอย่างที่เขาว่า แต่เกิดจากความอาฆาตที่จะจับนกยูงตัวนี้แล้วจับไม่ได้สักที ก็เลยใช้วิธีจารึกลงแผ่นทองใส่เอาไว้ ถึงเวลาก็เหมือนเป็นทรัพย์สมบัติที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ให้เขาไล่จับกันต่อ ๆ เพราะฉะนั้น..ถ้าจะใช้คาถาบทนี้ ถึงเวลาได้ยินเสียงเพศตรงข้ามก็ท่องให้จบก่อน แล้วค่อยไป

    ต่อไปก็เป็น ขันธปริตร ก็คือ ตำนานเกี่ยวกับภิกษุโดนงูกัด แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ให้ท่องคาถา เจริญเมตตาต่อพระยางูทั้ง ๔ เหล่า ที่ขึ้นด้วย วิรูปักเขหิ เม เมตตัง

    แล้วถัดไปก็เป็น ฉัตทันตปริตร อันนี้เป็นตำนานพระยาฉัททันต์ที่แม้จะโดนศรอาบยาพิษ จะถึงแก่ชีวิต ก็ยังไม่ยอมทำร้ายนายพราน ยอมสละงาของตัวเองให้กับนายพรานไป

    แล้วบทสุดท้ายก็คือ ธชัคคสูตร บางคนเขาเรียกว่า เทวาสุรสงคราม กล่าวถึง สงครามระหว่างอสูรกับเทวดา พระอินทร์ท่านบอกว่า ถ้าหากว่าไปรบกับอสูรแล้วกลัว ขอให้เทวดาทั้งหลายดูธงนายทัพไว้ ถ้าหากว่าดูธงนายทัพไว้แล้วยังเกิดความกลัว ก็ให้ดูธงของพระอินทร์ไว้ ถ้าธงยังอยู่ก็แสดงว่าแม่ทัพยังอยู่ ไม่ต้องกลัว รบกับเขาเข้าไป

    พระพุทธเจ้าท่านนำมาตรัสกับพระว่า ถ้าพระทั้งหลายเกิดความสะดุ้งกลัวก็ให้ทำอย่างนี้ แต่ว่าธงของพระพุทธศาสนาก็คือ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ท่านให้สวดอิติปิ โสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ แล้วความกลัวทั้งหลายจะหายไป นี่แหละคือเจ็ดตำนาน แปลว่าเรื่อง ๗ เรื่องที่เกิดขึ้น มีทั้งที่เป็นพระสูตรและชาดก

    บรรดาคาถาต่าง ๆ ขอยืนยันว่า ถ้าทำจริง ๆ ก็จะได้ผลจริง ๆ อาตมาโตมาด้วยหนังสือเล่มนี้ (มนต์พิธี) เพราะฉะนั้น..เล่มนี้จะบอกได้ทุกหน้า อาตมาไปอยู่วัด ๓๗ วัน ตอนเป็นนาค ท่องได้หมดทั้งเล่มเลย

    หลวงปู่เนียม วัดน้อย ท่านบอกว่า ๗ ตำนานทั้งเล่ม ใช้บทไหนก็ใช้ไปเถอะ ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ สำคัญตรงใจของเรา ถ้าหากกำลังใจทรงตัวจริง ๆ บทไหนก็ใช้ได้ นึกให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    หลวงพ่อสมชาย วัดเขาสุกิม ตอนเด็ก ๆ ไปวัดกับพ่อ พ่อเป็นฮินดูแท้ ๆ แต่ชอบไปคุยกับพระ ก็กลัวว่าลูกจะกวน จึงเอาไปทิ้งไว้ที่ศาลา ตัวเองก็ขึ้นไปคุยธรรมะกับพระ พ่อก็เพลินนะสิ ลืมไปว่าค่ำแล้ว พอมืดแล้วผู้ใหญ่ยังกลัวเลย หลวงพ่อสมชายก็หลับหูหลับตา นั่งกอดเข่าเอาหน้าซุก คิดว่า "กลัวแล้ว ไม่เอาแล้ว ๆ" ท่านนึกอยู่แค่นั้น "กลัวแล้วไม่เอาแล้ว" ไป ๆ มา ๆ เมื่อครู่นี้ยังมืด ทำไมตอนนี้สว่างจัง ? มองไปมองมา แล้วตัวที่นั่งกอดเข่านั่นคือใครหว่า ? คือท่านท่องคำว่า กลัวแล้ว ไม่เอาแล้ว จนกายในหลุดออกไป พอกายในหลุดออกไป เห็นสว่างหมด ไม่มืด ก็เลยไม่กลัว ก็มอง อ้าว..แล้วที่นั่งอยู่นะใคร ? ความจริงก็ตัวของท่านเอง

    ดังนั้น..ไม่ว่าจะเป็นคาถาหรืออะไรก็ตาม สำคัญตรงกำลังใจ ถ้ากำลังใจทรงตัว คิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แค่กลัวแล้ว..ไม่เอาแล้ว ยังถอดจิตออกไปได้เลย พวกเราขนาดได้คาถาที่ถูกต้องมายังใช้งานไม่ได้นี่นับว่าแย่มากนะ
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...