โพชฌงค์สำคัญอย่างไร?

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 28 กรกฎาคม 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้

    "ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมทําให้มีจักษุ ทําให้มีญาณ

    ส่งเสริมความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นข้างความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน"

    (สํ.ม. ๑๙/๕๐๒/๑๓๗)

    กุณฑลิยะ : ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์?

    พระพุทธเจ้า : ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.

    กุณฑลิยะ : ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็(แล้วยังมี)ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?

    พระพุทธเจ้า : ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

    (กุณฑลิยสูตร)

    โพชฌงค์ ๗

    โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ หมายถึง ธรรมหรือข้อปฏิบัติเพื่อยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ กล่าวคือ ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์หรือการตรัสรู้ อันมี ๗ ประการ ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามก็ดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบันธรรม อันเป็นไปดังนี้

    ๑. สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆในกิจ(สิ่งที่ควร)ที่ทำมาไว้แล้ว ความไม่เผลอเรอ ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ ดังเช่น การปฏิบัติธรรมวิจัย, การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต ที่หมายถึงจิตตสังขาร เช่นความคิดปรุงแต่งคืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรม อันสติจักเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังเช่น สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นการมีสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอานิสงส์ที่เนื่องสัมพันธ์กับโพชฌงค์ ๗ จึงเป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย)ให้มีสติไปน้อมกระทำการธัมมวิจยะ

    ๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธรรมวิจยะ) หรือธรรมวิจัย ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือการโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่างแท้จริง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรม(สภาวธรรมชาติ โดยเฉพาะของทุกข์ ก็เพื่อใช้ในการดับทุกข์) กล่าวคือธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

    เมื่อ มีสติรู้เท่าทัน พร้อมทั้งวิจัยค้นคว้าพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่สติเท่าทันนั้นๆ ย่อมยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงในสภาวธรรมหรือธรรมต่างๆขึ้น เป็นลำดับ จึงไม่ได้เห็นเป็นไปตามความอยาก,ความเชื่อ การอ่าน การฟังแต่อย่างเดียวดังเช่นแต่กาลก่อน, ดังเช่น การเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท พระไตรลักษณ์ อริยสัจ๔ ขันธ์๕ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ. เมื่อเกิดความเข้าใจจากการธัมมวิจยะ ปัญญาย่อมสว่างกระจ่าง จึงย่อมรู้คุณ จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมให้เกิดวิริยะ

    ๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ความ เพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่น สู้กิจ ไม่ย่อหย่อนท้อแท้ต่อการปฏิบัติและการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) ตลอดจนการ เพียรยกจิตไม่ให้หดหู่ ท้อแท้, เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม ย่อมเป็นสุข เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ อุปาทานทุกข์น้อยลงหรือเบาบางลง จึงย่อมทำให้เกิดความเพียรขึ้นเป็นธรรมดา

    เมื่อเห็นคุณย่อมปฏิบัติด้วยความเพียร เมื่อปฏิบัติด้วยความเพียร อย่างแน่วแน่ในระยะหนึ่ง ไม่ซัดส่ายสอดแส่ ย่อมเป็นปัจจัยครื่องสนับสนุนให้เกิดปีติ

    ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติพิจารณาในธรรม ด้วยความเพียรย่อมเกิดความอิ่มเอิบ อิ่มใจ ความดื่มดํ่า ใจฟู ความแช่มชื่น ความปลาบปลื้ม อันปราศจากอามิส(ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นธรรมดา (จึงมิได้หมายถึง ปีติ ชนิดมีอามิส ความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่การปฏิบัติฌานสมาธิอันมีองค์ฌาน ชนิดที่เกิดแต่การติดเพลิน, ติดสุข ทั้งโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี อันมักแสดงออกโดยอาการจิตส่งใน เพราะปีติชนิดนี้ยังให้โทษในภายหน้าแต่อย่างเดียว)

    เมื่อวิริยะ อย่างแน่วแน่ในธรรมที่พิจารณา ไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปปรุงแต่งในสิ่งอื่นๆได้ระยะหนึ่ง ย่อมบังเกิดอาการปีติความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นขึ้นนั้นๆ ซึ่งเมื่อความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นจางคลายไป ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัสสัทธิ

    ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจ อันเกิดแต่ปีติสุขที่ระงับไป, เมื่อปีติความแช่มชื่น อิ่มเอิบแช่มชื่น อันเกิดแต่ความเข้าใจกระจ่างสว่างในธรรมสงบระงับลงแล้ว ย่อมยังผลให้เกิดการผ่อนคลาย กล่าวคือ เกิดความสงบกายสงบใจตามมา จึงไม่เครียด ไม่กระวนกระวาย กายใจโปร่งเบาสบาย กล่าวคือ เมื่อกายสงบระงับย่อมเกิดความสุข จึงเกิดการเสวยสุข ขยายความ

    เมื่อกายสงบระงับแล้วย่อมเป็นสุข เมื่อเป็นสุขแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมนำให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์จิตตั้งมั่น

    ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีจิตตั้งมั่น เพราะเมื่อกายสงบ ย่อมพบสุข เมื่อพบสุข จิตย่อมตั้งมั่น เพราะย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่ง จึงมีจิตหรือสติตั้งมั่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทํา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ นั่นเอง เช่น มีสติอย่างต่อเนื่องกับธรรมที่พิจารณา หรือการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวก ดังเช่น มีสติเห็นเวทนา หรือมีสติระลึกรู้เท่าทันอาการของจิต เช่นรู้เท่าทันอาการปรุงแต่งหรือรู้เท่าทัน ว่าฟุ้งซ่านไปภายนอกอยู่เนืองๆ และสมาธินั้นยังเป็นกําลังแห่งจิต ที่ทําให้จิตเข้มแข็งขึ้น ก็เนื่องเพราะความไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ให้เกิดทุกข์ ในเรื่องอื่นๆอีกด้วยนั่นเอง จึงย่อมยังให้การปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นเป็นไปอย่างมีกําลัง ดังนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์จึงหมายถึง การมีจิตตั้งมั่น อยู่ได้อย่างต่อเนื่องหรือแนบแน่นในการปฏิบัตนั่นเอง เป็นจิตชนิดที่มีสติปราดเปรียวว่องไว ที่เมื่อระลึกรู้เท่าทันในสิ่งใดแล้ว ก็ปล่อยวางโดยการ อุเบกขาในสัมโพชฌงค์องค์สุดท้าย

    สมาธิในโพชฌงค์ จึงเป็นสมาธิเพื่อการวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่มีสติแนบแน่นหรือแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น อย่างไม่ปล่อยวาง ที่เมื่อสติจางคลายหรือขาดไปแล้ว มีองค์ฌานหรือสมาธิเป็นผลให้เกิดความสุขสงบสบายขึ้น แต่ย่อมเป็นไปในขณะหรือระยะหนึ่งๆเท่านั้น จึงยังจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สมถสมาธิหรือฌานที่ปฏิบัติกันทั่วไป อันมีมาแต่โบราณนั้น ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เพื่อเป็นไป เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิในขั้นวิปัสสนาต่อๆไปเท่านั้น กล่าวคือ สมาธิในโพชฌงค์คือสมาธิชนิดสัมมาสมาธิในองค์มรรคที่มีจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย อย่างต่อเนื่อง

    เมื่อจิตตั้งมั่น แน่วแน่อย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างเนืองๆ ย่อมประกอบด้วยกำลัง และยังประกอบด้วยปัญญาที่เห็นเป็นไปตามจริงตามที่ได้สั่งสมมา จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการน้อมนำไปในการอุเบกขา

    ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย รู้ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง แล้วละเสียโดยการตั้งมั่นวางเฉย หรือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ,สมาธิและปัญญานั่นเอง วางเฉย ที่หมายถึง รู้สึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดาไม่ต้องฝืน แต่ตั้งใจกระทำหรือปฏิบัติ ด้วยการไม่(คิดนึก)ปรุงแต่ง ไม่สอดแส่ไปในเรื่องหรือกิจนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย) กล่าวคือไม่คิดเอนเอียง ไม่สอดแส่ ไม่ซัดส่าย ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด เช่น ไม่ไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต ในเวทนา(ความรู้สึกรับรู้เมื่อกระทบสัมผัสอันอาจชอบใจหรือไม่ชอบใจ) หรือสังขารขันธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น จิตฟุ้งซ่าน ,จิตมีโทสะ ฯ. ถ้อยคิดหรือความคิดนึกที่เกิดขึ้น เช่น การคิดปรุงแต่งหรือการเอนเอียงไปคิดเห็นว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด, ไม่ปรุงแต่งทั้งในบุญหรือบาป, ไม่ปรุงแต่งไปทั้งดีหรือชั่ว, ไม่ปรุงแต่งว่าเราถูกหรือเขาผิด, เกิดความรู้สึกอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องเป็นธรรมดา เพียงวางจิตหรือสติหรือความคิดให้เป็นกลางด้วยการกระทำ วางทีเฉย เพราะการที่ไปปรุงแต่งแม้จะเป็นดีหรือสิ่งที่ถูกก็เป็นทุกข์ (แยกแยะให้เข้าใจความหมายถูกต้องด้วย มิได้หมายถึงไม่ทําความดี ไม่ทําบุญ แต่หมายถึงการไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วยึดว่าถูก ว่าดี อย่างนั้น อย่างนี้ อันล้วนยังให้เกิดเวทนา คือความคิดขึ้นใหม่ๆอันย่อมเกิดเวทนาขึ้นอีกทั้งสิ้น อันล้วนอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน ชาติอันเป็นทุกข์ขึ้น ในที่สุด) ดังเช่น เรานั้นเป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือเกื้อหนุนบุคคลคนหนึ่งอย่างมากๆ เป็นความดีชนิดบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วบุคคลคนนั้นกลับกระทำการสิ่งที่ไม่ดีต่างๆนาๆต่อเรา เพียงแต่เราคิดปรุงแต่งหรือกระทำโดยอาการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญในความดีของ เราหรือความชั่วของเขาในเรื่องนี้ขึ้นมา ที่แม้เป็นจริงอย่างที่สุดก็ตาม ท่านก็ย่อมต้องเสวยทุกข์ขึ้นทันที ความดีที่เรากระทำอยู่นั้นเราย่อมได้รับอยู่แล้วเพียงแต่อาจโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อใดที่เราไปคิดยึดมั่นในความดีด้วยกิเลส คือไปอยากให้ความดีนั้นตอบแทน ก็เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นทันที ด้วยเหตุฉะนี้ พระอริยเจ้าท่านจึงมีคำกล่าวอยู่เนืองๆว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว เป็นกลางวางทีเฉย

    อุเบกขา จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาขึ้นเท่านั้น จึงต้องหมั่นสั่งสมอบรมปฏิบัติ ไม่ใช่การวางใจเป็นกลางชนิดที่ต้องทําใจเป็นกลางเฉยๆ ชนิดจะไม่ให้รู้สึกรู้สาต่อทุกขเวทนา,สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ อยากจะไม่ให้มีทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจใดๆมากระทบได้ เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยอวิชชา อันอาจกระทําได้แค่เป็นครั้งคราวด้วยฌาน,สมาธิเท่านั้น อันยังเป็นเพียงโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์) เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้) และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่) เพราะตามความเป็นจริงแล้วทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่เป็นธรรมดาแม้ในองค์พระอริยเจ้า แต่ท่านเหล่านี้ไม่มีอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕, จึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวาง หรือทําใจเป็นอุเบกขา กล่าวคือรู้ตามความเป็นจริงแล้ว รู้สึก(เวทนา)อย่างไร ก็เป็นเยี่ยงนั้นนั่นเอง แต่ต้องเข้มแข็ง ไม่คิดนึกปรุงแต่งด้วยการไม่เอนเอียงหรือแทรกแซงไปด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย), อุเบกขาจึงไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนาหรือที่บางทีเรียกกันว่าอุเบกขาเวทนา อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไปยึดไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอุเบกขา, อันอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดการรับรู้ขึ้นจากการผัสสะเป็นธรรมดา กล่าวคือเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรม ส่วนการอุเบกขาหรือตัตรมัชฌัตตตาเป็นสังขารขันธ์จึงต้องมีสัญเจตนาหรือเจตนาขึ้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมด้วยความเพียรยิ่ง จนสามารถกระทำอุเบกขานั้นเป็นมหาสติ กล่าวคือ กระทำเองโดยอัติโนมัติ เป็นเฉกเช่นสังขารในปฏิจจสมุปบาท แต่ปราศจากเสียซึ่งอวิชชา (มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง อุเบกขา)

    โพชฌงค์ ๗ จึงล้วนเป็นธรรมเหล่าใดที่บุคคลเจริญแล้ว

    กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิดวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

    หรือถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์
    โพชฌงค์ ๗

    จาก อานาปานสติสูตร

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

    ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์

    สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

    เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

    ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
    สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

    เธอ เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

    ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
    สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

    ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

    ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์

    สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

    ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
    ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

    สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

    ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

    ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

    สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

    ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

    ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

    สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ......... ฯลฯ ...........
    [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร

    จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์

    อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

    ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...

    ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

    อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

    ๑๐. โพชฌงควิภังค์

    พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๓๕

    สุตตันตภาชนีย์

    โพชฌงค์ ๗ นัยที่ ๑

    [๕๔๒] โพชฌงค์ ๗ คือ ๑. สติสัมโพชฌงค์ ๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๓. วิริยสัมโพชฌงค์

    ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    [๕๔๓] ในโพชฌงค์ ๗ นั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน ภิกษุในศาสนานี้

    เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้บ่อยๆ ซึ่งกิจที่ทำไว้นานๆ หรือวาจาที่กล่าวไว้นานๆ นี้เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์

    ภิกษุนั้น มีสติอย่างนั้นอยู่ วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

    ความเพียร ความไม่ย่อหย่อน อันภิกษุนั้นผู้วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภแล้วนี้เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์

    ปีติ อันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่พระภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว นี้เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์

    กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจปีติ ย่อมสงบระงับ นี้เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

    จิตของภิกษุผู้มีกายสงบระงับแล้ว มีความสุขสบาย ย่อมตั้งมั่น นี้เรียก ว่า สมาธิสัมโพชฌงค์

    ภิกษุนั้น เป็นผู้เพ่งเล็งอยู่ด้วยดี ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นอย่างนั้น นี้เรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ----------



    การเจริญโพชฌงค์ตามกาล

    มีพุทธพจน์ตรัสแสดงถึงวิธีแก้ไข ความรู้สึกหดหู่ใจ ท้อแท้ใจ ทรงสอนให้แก้ไขโดยการเจริญโพชฌงค์ในธรรม ๔ ข้อ ของ โพชฌงค์ ๗ อันมี

    ๑. สติสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๑) สติ ความระลึกได้กํากับใจ,กาย มีสติระลึกรู้ตัวในจิตสังขารว่า หดหู่ ,เหี่ยวแห้ง,ท้อแท้,เสียใจ,อาลัย แล้วปล่อยวาง แล้วดำเนินไปในองค์โพชฌงค์ต่อไป

    ๒. ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๒) โดยการโยนิโสมนสิการ พิจารณาธรรมที่บังเกิดแก่ใจ, หรือเฟ้นธรรมที่ถูกจริต หรือสงสัยไม่เข้าใจ ขึ้นมาไตร่ตรองอย่างเบิกบานให้ เข้าใจ หรือมองเห็นสิ่งที่พิจารณานั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป(ไตรลักษณ์), ปัญญามองเห็นอริยสัจ เป็นการอาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือเป็นเครื่องกำหนดของจิต เพื่อไม่ให้จิตคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งในเรื่องที่หดหู่ เหล่าใดเหล่านั้นนั่นเอง และยังเป็นการสั่งสมภูมิรู้ภูมิญาณขึ้นในภายหน้าอีกด้วย

    ๓. วิริยะสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๓) ความเพียร, ความพยายาม เข้มแข็ง ในธรรมทั้ง ๒ ข้างต้น และหมายรวมถึงการเพียรยกจิต ไม่ให้หดหู่ถดถอย(ถีนะมิทธะ) ไม่ปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามสถานะการณ์แห่งความหดหู่ใจในภายใน ซึ่งผู้ปฏิบัติมักมองไม่เห็นหรือนึกไม่ถึง

    ๔. ปิติสัมโพชฌงค์ (ข้อ๔)ความอิ่มใจ ซาบซ่านใจ ใจฟู ความแช่มชื่นใจ อันเกิดมาแต่ความเข้าใจธรรม หรือปีติในองค์ฌานที่สามารถทรงขึ้นมาได้ แต่ต้องปราศจากอามิส กล่าวคือ ไม่ใช่ปีติอันมีรากฐานมาจากความติดเพลิน(จึงติดสุข ฯ.)ในองค์ฌานหรือสมาธิ

    กล่าวสรุปโดยย่อ มีสติระลึกรู้เท่าทันว่า "จิตหดหู่ใจ" ก็ให้พิจารณา(ธรรมวิจยะ)เช่นว่า เกิดมาแต่เหตุปัจจัยใด? เป็นอนุสัย? เป็นอาสวะกิเลส? ฯลฯ. ด้วยความเพียร(วิริยะ)ไม่ปล่อยให้ไหลเลื่อนไปตามยถากรรมในจิตหดหู่นั้น เมื่อเห็นเข้าใจในธรรมหรือเหตุปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดปีติความสบายใจความยินดีหรือความอิ่มเอิบใจ จึงคลายจากความหดหู่ใจ เหี่ยวแห้งใจนั้นได้ และจิตหดหู่อันเกิดจากเหตุนั้นก็เป็นอันรู้แล้ว ก็จะไม่ยังผลดังนั้นขึ้นอีก

    และอยู่กับปัจจุบันจิต อย่าคิดนึกปรุงแต่งถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว และอนาคตที่ยังไม่ถึงและไม่แน่นอน หมายถึงทําสิ่งในปัจจุบันที่เกิดที่เป็น หรือทําหน้าที่ให้ดีที่สุด แล้วอุเบกขา ไม่ปรุงแต่งทั้งทางดีหรือชั่วอันยังให้เกิดเวทนา..ตัณหา..อุปาทาน อันเป็นทุกข์

    และยังทรงกล่าวถึงวิธีระงับความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ จากการคิดปรุงแต่งต่างๆนาๆทั้งด้านสุขหรือทุกข์, โดยใช้ ธรรม ๔ ข้อของสัมโพชฌงค์ ๗ อันมี

    ๑. สติสัมโพชฌงค์ (ข้อ๑) มีสติระลึกรู้เท่าทันว่า ฟุ้งซ่าน คิดปรุงแต่งต่างๆนาๆ

    ๒. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ข้อ๕) คือผ่อนคลายทั้งกายและใจ ไม่ตั้งจิตหรือกายอย่างเคร่งเครียด ให้สงบกายใจ

    ๓. สมาธิสัมโพชฌงค์ (ข้อ๖) จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กําหนด ไม่วอกแวก อยู่กับกิจหรืองานที่ทํา หรือสมาธิ หรืออยู่ในการพิจารณาธรรมอย่างตั้งมั่น(สมาธิที่ใช้ในวิปัสสนา) อันเป็นอุบายวิธีเพื่อละความฟุ้งซ่านซัดส่ายส่งไปภายนอก ไปคิดนึกปรุงแต่งให้เกิดเวทนาอันอาจเกิดตัณหา ที่ก่อให้เกิดทุกข์ต่อเนื่องวนเวียนอยู่ในชรานั่นเอง

    ๔. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ข้อ๗) รู้ตามความเป็นจริงในสิ่ง(ธรรม)นั้น เมื่อปรุงแต่งต่างๆนาๆขึ้นมาแล้ว ก็ต้องวางใจเป็นกลางวางเฉย, วางเฉยโดยการไม่เอนเอียงแทรกแซงไปคิดนึกปรุงแต่งต่อไปอีกทั้งในด้านดีหรือชั่ว กล่าวคือ ย่อมเกิดผลใดขึ้น เช่น เป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตามที ก็ไม่ไปปรุงแต่งให้เกิดเวทนาต่างขึ้นอีก อันจักเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความอยาก และอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ กล่าวคือไม่ปรุงแต่งไม่ว่าจะ ดีก็ไม่ ชั่วก็ไม่ / บุญก็ไม่ บาปก็ไม่ / สุขก็ไม่ ทุกข์ก็ไม่ คือไม่ปรุงแต่งยึดถือนั่นเอง เช่น ยึดว่าเราถูกก็ไม่ / ยึดว่าเขาผิดก็ไม่ แล้วมันก็ดับไปเอง

    กล่าวสรุปการปฏิบัติโดยย่อ มีสติระลึกรู้เท่าทัน(สติ)ว่า "ฟุ้งซ่าน คิดนึกปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน" เมื่อรู้ตัวมีสติดังกล่าวแล้วก็ให้ผ่อนคลายกายใจให้สงบลงเสียก่อน(ปัสสัทธิ) เมื่อสงบลงแล้ว ก็มี "สติ ที่ตั้งมั่น"(สติที่ประกอบด้วยสมาธิคือมีความต่อเนื่องหรือตั้งมั่น) อยู่ใน"อุเบกขา" กล่าวคือ เป็นกลางต่อสังขารนั้น ด้วยการกระทำที่ไม่แทรกแซงไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในเรื่องนั้นๆ.
     
  2. eutayan

    eutayan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    71
    ค่าพลัง:
    +166
    ลงรายละเอียดบทสวดให้ได้ไหม คนธรรมดาสวดให้คนป่วยได้หรือไม่
     
  3. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439
    ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องโพชฌงค์ ๗
     
  4. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    รายละเอียดบทสวดที่กระทู้นี้นะจ๊ะ..คลิ๊กที่ลิ๊งค์เลยจ๊ะ

    http://www.palungjit.org/board/showthread.php?t=33150
     
  5. varanyo

    varanyo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    925
    ค่าพลัง:
    +3,373
    โมทนาบุญในธรรมทานครับสาธุ...
     
  6. นะมัตถุ โพธิยา

    นะมัตถุ โพธิยา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    618
    ค่าพลัง:
    +2,268
    บทสวดมนต์ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และต่ออายุ

    </B>
    อ้างอิง หนังสือ มนต์พิธี ฉบับ </B>พระครูอรุณธรรมรังษี(เอี่ยม สิริวณฺโณ)
    วัดอรุณราชวราราม(คณะ๓) </B>
    เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ดังนี้

    - หน้าที่ 52บท "พุทธัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง..................." จนจบหน้า


    - หน้าที่ 28 บท คาถาบูชาดวงชะตา


    - หน้าที่ 39 บท อุณหิสวิชัยคาถา
    แล้วต่อด้วย หน้าที่ 75 บท "สักกัตตะวา พุทธะรัตนัง โอสะถัง........."
    จนจบหน้า (บทนี้เป็นท่อนหนึ่งของบทอาฏานาฏิยปริตร)

    - หน้าที่ 77 บท โพชฌังคปริตร

    </B>
    คาถาต่างๆ ที่แนะนำมานี้ เป็นคาถาที่มีค่ายิ่งนัก
    พระครูบาอาจารย์ นิยมสวดมาตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน
    </B>
    ใช้สวดเพื่อ :
    - ป้องกัน/รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ทุกโรค
    - ป้องกัน/ขจัด ทุกข์-ภัย ทั้งปวง
    - สะเดาะเคราะห์
    - ต่ออายุ ต่อชะตา
    - อายุยืน สุขภาพแข็งแรง

    </B>
    จึงเป็นคาถาสำคัญที่ชาวพุทธทุกท่านควรรู้ไว้ติดตัว และหมั่นสวดทุกวัน [​IMG]

    (verygood)
     
  7. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,948
  8. Toniz

    Toniz เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    321
    ค่าพลัง:
    +2,065
    โมทนา ครับ
     
  9. 108man

    108man เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    208
    ค่าพลัง:
    +1,794
    "โพชฌงคปริตร" มีอานุภาพจริงครับ

    ผมมีเรื่องที่อ้างอิงได้จริง ดังนี้ครับ

    ผมจะสนิทกับพี่คนหนึ่งในที่ทำงาน อายุก็ เกือบ 50 ปี แล้ว เค้าเป็นคนจีน เคยอยู่ ศาลเจ้า การทำบุญก็ไปแบบทางไหว้เจ้าต่าง ๆ และ แฟนพี่เค้าก็ ปฏิบัติธรรมพอสมควร แต่เน้นเข้าวัดป่า ครับ

    ผมกินข้าวกับพี่เค้าทุก ๆ วัน ก็มีโอกาศได้สอดแทรกธรรมะ เข้า ไปทีละนิด ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่ลึกซึ้งและแปลกประหลาดที่พี่เค้าไม่เคยได้ยิน แต่ก็แบบอั้น ๆ ไว้ เพราะรู้ว่าพี่เค้าไม่ใช้ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างลึกซึ้ง ก็กลัวว่าจะปรามาศอาจารย์ของเราก็จะไม่ดี .......

    วันหนึ่งระหว่ากินข้าว กันอยู่ พี่เค้าก็พูดขึ้นมาว่า

    "ตุ๊ ช่วยพี่หน่อยได้มั้ย พี่ต้องการ คาถาที่รักษาอาการเจ็บป่วยหรือลดอาการเจ็บ มีมั้ย"

    ผมก็เลยถามรายละเอียด .... เค้า โดยสรุปได้ดังนี้

    พี่เค้ามี น้องสะใภ้ ที่อยู๋ที่บ้านปัจจุบันนี้ อายุ ก็น่าจะไม่เกิน 30 เป็นมะเร็งในเลือดและในร่างกายคือเป็นไปทั่วร่างกาย ตั้งแต่เกิด ก็รักษามา จนวันที่มาถามผม น้องเค้า อยู่ในโรงพยาบาล และ กำลังเข้าขั้นสุดท้าย แต่ ร่างกายจะปวดทั่ว ๆ ตัวตลอดเวลา พี่เค้าทนดูไม่ได้ เพราะเหมือนกับมะเร็งมันวิ่งไปทั่วร่าง ปวดไปทุก ๆ ที่ ....

    พี่เค้าสงสารน้องคนนี้ มาก ก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ก็เลยมาถามผม ก็เพราะคาดว่าผมคงสามารถช่วยเค้าได้ ........

    พอผม ได้รับข้มูลมาแล้ว ในใจก็คิด และ กังวลอยู่ว่าถ้าช่วยไม่ได้ ก็จะทำให้ศรัทธาพี่เค้าเสียไปจากพระศาสนา เพราะพี่เค้า ตั้งความหวังไว้มาก แต่ เมื่อตั้งสติดี แล้ว ก็ย้อนกลับไปว่า เคยอ่านในพระไตรปิฏกว่า มีพระปริตร ที่สามารถใช้ในการรักษาหรือบรรเทาการเจ็บปวดได้ ก็เลยไปค้นดู ก็คือ "โพชฌงคปริตร" นั่งเอง....

    วันต่อมาผมก็เลย พิมพ์บทสวด "โพชฌงคปริตร" ให้พี่เค้า ตอนที่ให้ผมก็กล่าวออกไปว่า
    พี่คิดว่า น้องพี่ระหว่างอยู่อย่างนี้ กับ ไปอย่างสงบ พี่ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน พี่เค้าคิดสักพักก็บอกว่า ไปอย่างสงบน่าจะดีกว่า ผมก็เลยให้บทนี้ แล้ว บอกว่า บทนี้ "โพชฌงคปริตร" จะช่วยให้น้องพี่สงบและหายเจ็บ แต่ ให้น้องเค้า นึกถึงพระพุทธเจ้า ให้ไปกับพระพุทธเจ้า เวลาสวด แต่เวลาให้ไปหาเค้าก็ไปด้วยอารมณ์ที่ดี อย่าให้คนอื่น ๆ ที่ไปหาไปด้วยอารมณ์เศร้า (ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเก่งมาจากไหน และพูดไปแบบนี้ได้อย่างไง แต่รู้ว่าต้องบอกแบบนี้ ห้ามอ้อม) .....

    พอเช้าวันต่อมา พอเจอหน้า คำพูดแรกที่ทำให้ผมปิติมากที่สุดครั้งหนี่งในชิวิต ก็คือ ตุ๊ ขอบคุณ มากแปลกมาก พอน้องเค้าท่อง "โพชฌงคปริตร" แล้วน้องเค้าหายเจ็บทั้นที คาถาใช้ได้ผลมาก ๆ ไม่น่าเชื่อเข้าดี่ใจมาก

    ที่ผมปลื้มมาก ๆ ครั้ง ก็เพราะว่า พระบารมีของพระพุทธเจ้า และ พระไตรปิฏกนั้น เป็นจริงแท้ และ พิสูจน์กับผมอีกครั่งหนึ่ง....

    และในที่สุดน้องเค้า ก็จากไปอย่างสงบ หลังจากนั้นประมาณหนึ่งอาทิตย์ .....


    ก็เห็นว่าเข้ากันได้จากเรื่อง ก็ขอยืนยัน พระอานุภาพของ "โพชฌงคปริตร" ไว้เป็นตัวอย่าง เรื่องยาวไปก็ขออภัย ต่อผู้อ่าน ครับ...
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 สิงหาคม 2006
  10. jasminine

    jasminine เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    5,385
    ค่าพลัง:
    +22,312
    ขอขอบคุณ และ โมทนาด้วยเป็นอย่างมาก
    นู๋ตา คุณ wit คุณ นะมัตถุ โพธิยา และ คุณ 108man

    เป็นประโยชน์มากๆ ค่ะ
     
  11. tatoo

    tatoo สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    2
    ค่าพลัง:
    +12
    บท "โพชฌงคปริตร ใช้ได้กับความเจ็บปวดธรรมดา...คือสวดเพื่อบรรเทาได้มั๊ยค่ะ
    เช่น อาการปวดเมือยตัวของแม่ที่อายุ 65 อ่ะค่ะ ถ้าได้รบกวนขอด้วยค่ะ ไม่อยากให้แม่ปวดมากกกค่ะ แต่คงไม่ใช่สวดให้ไปอย่างสงบน่ะค่ะ
     
  12. tatoo

    tatoo สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    2
    ค่าพลัง:
    +12
  13. เจ้าสัว

    เจ้าสัว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    522
    ค่าพลัง:
    +353
    สาธุ...ศักดิ์สิทธิ์จริงครับ บทนี้อ่า ผมเคยลองแล้วตอนตัวเองไม่ค่อยสบายอ่าครับ พอสวดแล้วรู้สึกว่าโล่งกว่าเดิมเยอะ เป็นหวัดอ่าคับ หายใจไม่ออก สวดเสร็จแล้วหายใจเป็นธรรมดาเลยครับ


    สาธุ...
     
  14. ธาตุธรรมดำ

    ธาตุธรรมดำ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    6
    ค่าพลัง:
    +45
    ความรู้ใหม่ครับ ขอบคุณมาก
     
  15. โมเย

    โมเย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    877
    ค่าพลัง:
    +3,210
    [MUSIC]http://palungjit.org/attachments/a.666000/[/MUSIC]

    โพชฌังคปริต ล้านนาบารมี

    ร่วมอนุโมทนาบุญ ค่ะ
     
  16. Namushakamunibutsu

    Namushakamunibutsu เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    1,347
    ค่าพลัง:
    +2,618
    ถ้าจะเอาความสำคัญของหลัก โพชฌงค์ จริงๆ ไม่ใช่บทสวดโพชฌงค์
    คือ เป็นสิ่งที่การปฏิบัติจะได้ผลเมื่อมีโพชฌงค์
    เป็นหมวดหนึ่งในหลักโพธิปักขิยธรรม

    โพชฌงค์กอปรด้วย 1.สติ(ระลึกได้) 2.ธรรมวิจย(เฟ้นหาธรรม) 3.วิริยะ(เพียร) 4.ปีติ(อิ่มเอิบ) 5.ปัสสัทธิ(สงบ) 6.สมาธิ(ตั้งมั่น) 7.อุเปกขา(วางใจเป็นกลาง)

    โพชฌงค์นั้นประเสริฐยิ่งนัก การปฏิบัติธรรมจะขาดโพชฌงค์ไม่ได้เลย
    โพชฌงค์เนี่ยแหละ ที่ทำให้ จิตเหนือกาย หายป่วยได้ด้วยดำเนินตามโพชฌงค์
     
  17. ดอนdon

    ดอนdon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    1,580
    ค่าพลัง:
    +3,291
    ผมสวดทุกวันพระด้วยแหละ สาธุ เป็นคำสอนที่ดีและคิดตามได้ดีมากเลยแหละ
     
  18. CLUB CHAY

    CLUB CHAY เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    507
    ค่าพลัง:
    +1,412
    ขออนุโมทนาบุญกุศลด้วยครับ
    ขอให้ทุกรูปทุกนามเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปครับ
    สาธุ สาธุ สาธุ
     
  19. Qkub

    Qkub สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    84
    ค่าพลัง:
    +13
    "โพชฌงคปริตร"

    อ่านโพสของคุณ 108man ครับ
    ได้ยินมาเหมือนกันว่าสามารถรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้นได้
    ตัวผมก็ป่วยบ่อยๆเหมือนกัน มีโรคประจำตัว
    ผมก็เคยลองสวดอยู่บ้าง สองสามครั้ง
    แต่ไม่นานก็เลิกไป

    คิดว่ามันคงไม่ได้ผล เพราะผมก็ไม่ใช่คนที่ธรรมะธรรมโมอะไร
    คุณพระคุณเจ้าจะคุ้มครองเรารึเปล่า 555
    แต่ต่อไปนี้จะลองพยายามสวดอีกทีนึงครับ
    เผื่อจะดีขึ้นบ้าง

    ขอบคุณนะครับสำหรับความรู้ดีๆ
     
  20. เบองซูร์

    เบองซูร์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    586
    ค่าพลัง:
    +664
    โมทนาครับ
    พุทโธอัปปมาโณ
    ขอพี่ที่เป็นเคสกรณีตัวอย่าง
    ได้รับบุญจากธรรมทานนี้สาธุ
    และบุญของข้าพเจ้ามีเพียงใดทั้งหมด
    ด้วยบารมีพระพุทธเจ้า
    อิทังปุญญะผลัง
    ขอส่งให้ท่านโมทนา
    สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...