เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 พฤศจิกายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,380
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 พฤศจิกายน 2022
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,380
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ตั้งแต่เช้ามืดกระผม/อาตมภาพที่ไม่ได้ออกบิณฑบาต เนื่องเพราะว่ามีภารกิจด่วน ต้องไปดูแลห้องอบรมนักธรรมชั้นโทและนักธรรมชั้นเอกก่อนสอบ เนื่องจากว่ามีพระของวัดท่าขนุนไปเป็นวิทยากรประจำวัน จึงใช้เวลาที่เหลือก่อนที่จะได้อรุณ ขึ้นยอดเขาพระพุทธเจติยคีรี เพื่อทำภารกิจ "ตามล่าหาทะเลหมอก" ซึ่งคราวก่อนนั้นพลาดไป แต่ว่าระยะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้มีหมอกลงหนักอยู่ทุกวัน

    หลังจากนั้นแล้วก็ลงมาฉันเช้า และเดินทางไปยังวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) ไปถึงตรงเวลาเปิดการอบรมประจำวันพอดี ในฐานะพระเถระซึ่งทุกคนให้ความเกรงใจและเคารพนับถือ เขาจึงนิมนต์ให้เป็นประธานนำบูชาพระรัตนตรัย และให้โอวาทประจำวัน แล้วมอบหมายให้กับพระมหาอินทรปกรณ์ ฐิตสุโภ ป.ธ.๔ เลขานุการเจ้าคณะตำบลลิ่นถิ่นเขต ๒ และพระสมุห์ณัฐพสิษฐ์ ปญฺญาคโม เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งทั้ง ๒ รูปเป็นพระภิกษุของวัดท่าขนุน ทำหน้าที่เป็นวิทยากรประจำวัน แต่ก็ต้องคอยเพิ่มเติมข้อมูล เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

    เนื่องเพราะว่าทางกองธรรมสนามหลวงนั้น ไม่ได้ออกปัญหา "แบบเด็ก ๆ" วันนี้เป็นการอบรมวิชาอนุพุทธประวัติ หรือถ้าในรุ่นของกระผม/อาตมภาพเรียนอยู่ก็คือวิชาพุทธานุพุทธประวัติ แปลว่าสามารถออกได้ทั้งพุทธประวัติที่เรียนมาในระดับนักธรรมชั้นตรี และอนุพุทธประวัติ ซึ่งเรามาเรียนกันในระดับนักธรรมชั้นโท ส่วนนักธรรมชั้นเอกนั้น เขาเรียนเตรสสาวิกา ก็คือประวัติของภิกษุณีผู้ใหญ่ ๑๓ องค์

    คราวนี้ในการเรียนนั้น ส่วนใหญ่แล้วคำถามไม่ได้ถามตรง ๆ แต่ถามตะแคงข้างไป อย่างเช่นว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ เป็นคำพูดก่อนอุปสมบทของพระเถระรูปใด ? บรรลุธรรมด้วยธรรมะหมวดใด ? และได้รับการยกย่องให้เป็นเอตทัคคะทางด้านใด ?
    เป็นต้น

    ในเมื่อไม่ได้ถามตรง ๆ ว่าพระยสกุลบุตรกล่าวว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" แล้วได้พบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งตรัสว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เธอจงเข้ามาฟังธรรมเถิด" แล้วก็ได้กล่าวอนุปุพพิกถา จนกระทั่งรอบแรกพระยสะสำเร็จพระโสดาบัน พอกล่าวซ้ำให้กับบิดามารดาและภรรยาของท่านฟังอีกรอบหนึ่ง ก็ได้สำเร็จอรหัตผล ในเมื่อไม่ได้ถามตรง ๆ นักเรียนทุกรูปจึงต้องระมัดระวังอ่านหนังสือให้ครบ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะตอบได้

    หรือตัวอย่างว่า โลกคือหมู่สัตว์อันชรานำไปไม่ยั่งยืน โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละในสิ่งทั้งปวง โลกคือหมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา เป็นคำกล่าวของพระเถระองค์ใด ? กล่าวกับผู้ใด ? สิ่งที่กล่าวมานี้เรียกว่าอะไร ? พระเถระผู้กล่าวได้รับเอตทัคคะทางใด ? เป็นต้น
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,380
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ถ้าท่านศึกษามาไม่ครบ มัวแต่ไปรอเขาถามว่า พระรัฐบาลเถระเป็นเอตทัคคะทางด้านใด ? ได้กล่าวธัมมุทเทส ๔ กับพระมหากษัตริย์รูปใด ? เป็นต้น ถ้าอย่างนี้เขาถือว่าคำถาม "แบบเด็ก" หลักสูตรนักธรรมชั้นโทเป็นหลักสูตรของอาจารย์คู่สวด ซึ่งท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้สวดกรรมวาจานุสาวนาจารย์ในการอุปสมบทพระภิกษุ ก็แปลว่าภูมิรู้ของท่านทั้งหลายจะต้องแน่นเพียงพอ ต้องรู้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นต้น

    หรือไม่ก็อย่างคำถามประเภทที่ว่า พระเถระรูปใดเปรียบดังมารดาผู้ให้กำเนิด ? พระเถระรูปใดเปรียบดังนางนมผู้เลี้ยงดูทารกจนเติบใหญ่ ? พระเถระทั้ง ๒ รูปนี้มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร ? จงอธิบายมาพอสมควร

    เขาไม่ได้ถามเราตรง ๆ ว่า พระสารีบุตรเปรียบดังมารดาผู้ให้กำเนิดเพราะอะไร ? พระโมคคัลลานะเปรียบดังนางนมที่เลี้ยงดูทารกนั้นจนเติบโตเพราะอะไร ? พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเถระนั้นมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร ?

    ในเมื่อไม่ได้ถามตรง แต่เป็นคำถามที่ตะแคงข้างไป จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องอ่านหนังสือให้ครบถ้วน ถ้าเป็นรุ่นของกระผม/อาตมภาพที่เรียนนั้น พวกเราจะโดนบังคับให้ท่องได้ทั้งเล่ม

    ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าสิ่งที่กระผม/อาตมภาพกล่าวไปนั้นมาตามตำรา มาจนกระทั่งแทบจะลอกมาทุกคำพูด เพราะว่าโดนบังคับให้ท่องมา ส่วนรุ่นหลัง ๆ เรียนง่ายขึ้นมาก ไม่ได้ท่องตำรามากมาย แถมยังใช้การเก็งข้อสอบด้วย

    ลักษณะการเก็งข้อสอบในอนุพุทธประวัติก็คือว่า พระเถระรูปใดมีความสำคัญ ? อย่างเช่นว่า พระอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาอย่างพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร

    พระเถระผู้เป็นประธานในการสังคายนาพระธรรมวินัยอย่างพระมหากัสสปเถระ

    พระเถระผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุดในการการสังคายนาพระธรรมวินัยอย่างพระอานนท์

    ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็จะอยู่ในการเก็งของครูบาอาจารย์ว่า "มาแน่" แต่จะมาในแง่ไหน มุมไหนเท่านั้น
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,380
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    โดยเฉพาะในส่วนของเอตทัคคบุคคลนั้น ในอสีติมหาสาวก คือพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้รับการนำประวัติมาให้ศึกษาทั้ง ๘๐ รูป มีเพียง ๔๑ รูปที่ได้เอตทัคคะ คือเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง และมีเพียง ๒ รูปที่ได้เกินกว่า ๑ อย่าง

    รูปแรกคือพระสุภูติเถระ ได้เอตทัคคะ ๒ ประการ คือเป็นเอตทัคคะในการอยู่อรณวิหาร ก็คือการอยู่โดยปราศจากกิเลส และเอตทัคคะทางทักขิเณยยบุคคล คือเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การนำข้าวของมาถวายมาทำบุญด้วย เพราะว่าการอยู่อรณวิหารหรือการอยู่โดยปราศจากกิเลสนั้น คือการเข้านิโรธสมาบัติ ในเมื่อเป็นผู้เข้านิโรธสมาบัติ ย่อมเป็นบุคคลที่ควรแก่การทำบุญด้วย

    อีกผู้หนึ่งก็คือพระอานนทเถระนั่นเอง ได้เป็นเอตทัคคะยอดเยี่ยมใน ๕ ประการ คือเป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร (ธิติ) เป็นผู้มีความทรงจำเป็นเลิศ (พหูสูตร) เป็นพุทธอุปัฏฐาก เหล่านี้เป็นต้น

    ดังนั้น..สิ่งที่เราต้องจดจำ ถ้าหากว่ารู้จักแยกแยะก็จะจำง่ายขึ้น แล้วขณะเดียวกัน เราต้องเข้าใจว่า คำว่า อนุ ในที่นี้แปลว่า ตาม พุทธะแปลว่า รู้ ก็คือรู้ตามที่พระพุทธเจ้าสอน ได้แก่ พระอรหันต์

    เนื่องเพราะว่าพุทธะนั้น อรรถกถาจารย์ท่านแยกออกเป็น ๔ อย่างด้วยกัน ก็คือ

    ๑) สัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

    ๒) ปัจเจกพุทธะ เป็นผู้ที่ต้องการรู้ถ้วนในหลักธรรมทุกประการ แต่ไม่ต้องการสอนใคร ต้องการรู้เฉพาะตนเท่านั้น
    ๓) อนุพุทธะ เป็นผู้รู้ตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน ก็คือพระอรหันต์
    ๔) สุตพุทธะ เป็นผู้รู้ในการทรงจำพระธรรมพระวินัย อย่างที่ประเทศพม่าในปัจจุบันนี้มีผู้ทรงจำพระไตรปิฎก คือสามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะเรียกว่าสุตพุทธะ ถ้าแปลตรง ๆ คือผู้รู้ในพระสูตร แต่ถ้าจะแปลให้ครบถ้วนก็คือผู้ทรงจำได้ซึ่งพระธรรมวินัย
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,380
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    คราวนี้การ "จำได้" ไม่ได้แปลว่า "ทำได้" ก็แปลว่าในพุทธะ ๔ ที่อรรถกถาจารย์กล่าวมานั้น เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิงแค่องค์พระสัมมาสัมพุทธะ องค์พระปัจเจกพุทธะ และองค์อนุพุทธะ แต่ว่าองค์สุตพุทธะนั้น ไม่แน่ว่าจะบรรลุธรรม ดังนั้น..จึงกล่าวได้ว่า สุตพุทธะทุกรูปไม่แน่ว่าจะบรรลุธรรม แต่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จัดเป็นสุตพุทธะได้ทุกรูปทุกองค์ ฟังดูแล้วก็อาจจะงง ๆ อยู่นิดหน่อย

    ในเรื่องของพุทธประวัติหรือว่าในเรื่องของเถรประวัติก็ดี ถ้าหากว่าต้องการรายละเอียด ท่านทั้งหลายสามารถหาอ่านได้ในขุททกนิกาย อรรถกถา พุทธวงศ์ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างบารมีเพื่อความเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถ้าต้องการจะทราบประวัติพระอสีติมหาสาวก คือพระสาวกผู้ใหญ่ทั้ง ๘๐ รูป เราก็ไปดูในเอตทัคคะปาลิ ซึ่งจะกล่าวถึงบุคคลผู้ได้รับเอตทัคคะ คือความเป็นผู้ยอดเยี่ยมทางด้านใดด้านหนึ่งตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่อง

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงบอกกับกระผม/อาตมภาพว่า "ถ้าแกยังบวชอยู่ ขอให้อ่านพระไตรปิฎกให้ได้ปีละจบ เพราะว่าข้าเองก็อ่านปีละจบ ถึงได้มีเนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเทศน์ให้ญาติโยมฟังได้โดยไม่รู้เบื่อ"

    แต่ว่าคำสั่งนี้ จนป่านนี้กระผม/อาตมภาพยังไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จ เหตุเพราะว่า ๓๘ ปีผ่านไป เพิ่งจะอ่านพระไตรปิฎกได้ ๗ - ๘ จบ เนื่องจากว่าเป็นบุคคลที่ตีความหลักธรรมตามพระไตรปิฎกแล้ว ถ้าไม่เข้าใจแจ่มแจ้งก็จะไม่ปล่อยผ่าน ทำให้เกิดความยากลำบากอย่างสาหัสในการอ่านพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กว่าจะผ่านตาได้แต่ละรอบ เลือดตาแทบกระเด็น..!

    แต่ว่าถ้าหากท่านใดต้องการที่จะอ่านพระไตรปิฎกให้ได้ปีละจบ กระผม/อาตมภาพขอแนะนำพระไตรปิฎกฉบับแก่นธรรม ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้ย่อเอาเนื้อหาพระไตรปิฎกลงมาอยู่ใน ๒ เล่มใหญ่ ๆ จาก ๔๕ เล่มที่เคยเป็น

    แต่ต้องระมัดระวังไว้นิดหนึ่งว่า เจ้าของลิขสิทธิ์เดิมก็คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ได้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอรรถกถา ๙๑ เล่ม กล่าวถึงบรรดาพระสูตรต่าง ๆ ด้วยการจัดทำของบรรดาพระเถระในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

    ในเมื่อทางด้านมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมาสร้างพระไตรปิฎกบ้าง จึงต้องหลีกเลี่ยงกัน ทำให้บางสูตรบางอย่างนั้นไม่เหมือนกัน อย่างเช่นว่า ถ้าเราจะไปเสาะหาอปริหานิยธรรม ๗ โดยตรงแล้ว เปิดหาให้ตายก็ไม่เจอ แต่ถ้าท่านไปเปิดพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต้องเปิดหาคำว่าปฐมสัตตกสูตร เหล่านี้เป็นต้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...