เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 8 กุมภาพันธ์ 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ เมื่อเช้านี้ทุกท่านก็เห็นแล้วว่า ภายในตลาดทองผาภูมินั้นมีการค้าขายสิ่งของต่าง ๆ เกี่ยวกับงานตรุษจีนคึกคักมาก จะว่าไปแล้วประเทศไทยของเรามีคนไทยเชื้อสายจีน น่าจะเกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นเรื่องแปลกที่ว่า คนจีนพอมาอยู่เมืองไทยแล้ว ก็มักจะโดนกลืนเป็นไทยไปหมด เท่าที่ดูมาทุกครอบครัวไม่เกิน ๓ รุ่น ก็กลายเป็นไทยไปหมดแล้ว

    แม้ว่าจะมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุแรกที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ พระเมตตาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา คนจีนที่เดินทางมาแบบ "เสื่อผืนหมอนใบ" เข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธิสมภาร ไม่ได้โดนรังเกียจกีดกันแบบที่อื่น สามารถที่จะแต่งงานอยู่กินกับคนไทยได้

    บรรดาลูก ๆ รุ่นแรกก็มักจะมีธรรมเนียมจีนที่เข้มข้นหน่อย พอไปถึงรุ่นหลาน ก็เริ่มกลายเป็นไทยไปเกินครึ่งแล้ว ปัจจุบันนี้จะหาคนที่ใช้แซ่แบบจีนยากมาก ๆ แม้ว่าหลายต่อหลายท่านพอเห็นนามสกุลก็จะรู้ว่ามาจากแซ่อะไร แต่ก็เปลี่ยนเป็นไทยอยู่ดี

    ดังนั้น..ในประเทศไทยของเรา ถ้าหากว่าจะมีในส่วนของ "ไชน่าทาวน์" แบบประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะในเขตเยาวราชที่ยังมีเชื้อชาติอื่นปะปนอยู่มาก ขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรต่าง ๆ ก็มีการปรับมา อย่างเช่นว่าเมื่อเช้านี้ญาติโยมจำนวนมากก็มาใส่บาตรเสียก่อน แล้วค่อยไปซื้อของไหว้เจ้ากัน

    ประเทศไทยของเรามีความเปิดกว้างทางวัฒนธรรมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยเฉพาะมีความเป็นมิตรกับความต่างชาติมากกว่าประเทศอื่น ๆ จึงทำให้ชาวต่างชาติเมื่อมาแล้ว ไม่รู้สึกว่าตนเองแปลกแยก มักจะได้รับการต้อนรับที่ดีเสมอ

    แล้วคนจีนรุ่นเก่า ๆ อย่างรุ่นเตี่ย-แม่ของกระผม/อาตมภาพเอง ยังตั้งใจส่งลูกเรียนหนังสือไทย โดยเฉพาะบอกว่า "เตี่ยแม่ไม่รู้หนังสือ ทำอะไรก็เสียเปรียบเขา เพราะฉะนั้น..พวกเจ้าต้องเรียน" จึงทำให้คนจีนที่ประสบความสำเร็จในรุ่นแรก ทั้ง ๆ ที่มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ พอมารุ่นลูกรุ่นหลานรู้หนังสือไทย ก็ขยับขยายกิจการใหญ่ขึ้นไปเรื่อย จากที่เก็บหอมรอมริบ ทำงานเล็ก ๆ ก็เริ่มผันตัวไปเป็นเถ้าแก่ ท้ายที่สุดหลายท่านก็มีกิจการใหญ่โต จนปัจจุบันนี้แทบจะยึดครองเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศไทยไปหมดแล้ว..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    แต่ว่าตั้งแต่เด็กมา กระผม/อาตมภาพเจอบุคคลผู้หนึ่ง ต้องบอกว่าผิดฝาผิดตัวมาก ก็คือท่านเป็นบัณฑิตมาจากประเทศจีน พวกกระผม/อาตมภาพเรียกว่า "ฮุ้นเจ็ก" คำว่า "เจ็ก" ก็คือ อา (น้องพ่อ) ที่คนไทยมักเรียกเพี้ยนไปว่า "เจ๊ก" นั่นเอง..!

    คนจีนเมื่อเข้ามาถึงประเทศไทย ก็มักจะเสาะหาญาติพี่น้องของตัวเองว่าอยู่ที่ไหน แล้วไปอาศัยพึ่งพิงก่อน พอเห็นช่องทางค่อยแยกไปทำมาหากินของตนเอง ถ้าหากว่าหาญาติพี่น้องไม่ได้ เพราะว่าตนเองมาเป็นคนแรก ๆ ก็จะหาคนแซ่เดียวกัน ถ้าพี่น้องก็ไม่มี คนแซ่เดียวกัน จะหาคนที่มาจากเมืองเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็นั่งเรือฉลอมมาขึ้นที่ท่าจีน ตรงนั้นที่เรียกว่า "ท่าจีน" ก็เพราะว่าคนจีนส่วนใหญ่มาขึ้นเรือตรงนั้น แล้วก็จะมีบรรดาเถ้าแก่หรือว่านายงาน มารับตัวไปทำงาน หรือว่ามีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มารับไปทำงานตามที่ได้ติดต่อกันไว้

    แต่ "อาเจ็ก" ท่านนี้ ต้องบอกว่า "ผิดฝาผิดตัว" ก็เพราะบรรดาคนจีนสมัยก่อน ส่วนใหญ่มาถึงก็ทำงานใช้แรงงาน ที่เรียกกันสมัยก่อนว่า "จับกัง" บ้าง "กุลี" บ้าง อาเจ็กท่านนี้กลับเป็นบัณฑิต..!

    สมัยก่อนนั้นประเทศจีนเขามีการสอบระดับอำเภอ แล้วไปสอบต่อในระดับเมือง จากนั้นเป็นการสอบในระดับมณฑล แล้วถึงจะไปสอบหน้าพระที่นั่ง ที่เราเรียกกันว่า "สอบจอหงวน" อาเจ็กท่านนี้เป็นบัณฑิตในระดับเมืองแล้ว เดินทางมาเมืองไทยด้วยความหวังใหญ่โต เมื่อทราบว่ามีคนจีนมาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ตั้งใจมาเพื่อสอนหนังสือให้กับลูกหลานคนจีนที่เดินทางมาเมืองไทย

    ด้วยความที่ไม่มีญาติพี่น้องของตนเองอย่างหนึ่ง ไม่มีเพื่อนฝูงที่มาก่อน เพราะว่า "ผิดฝาผิดตัว" อยู่คนเดียว คือคนอื่นเขามาใช้แรงงาน แต่ตัวเองจะมาสอนหนังสือ ในเมื่อหาญาติไม่ได้ ก็มาพึ่งเตี่ยของกระผม/อาตมภาพ เพราะว่าตอนนั้นพรรคพวกเพื่อนฝูง ทั้งประเภทร่วมแซ่ ร่วมเมือง มาอาศัยทำงานอยู่ ๔๐ กว่าคน แล้วเตี่ยก็บอกว่า "แค่เพิ่มตะเกียบคู่เดียว ไม่เป็นไรหรอก" ก็คือมีคน
    มากินเพิ่มขึ้นปากหนึ่งเท่านั้น ก็ยังหุงข้าวกระทะใบบัวเท่าเดิมอยู่ดี

    ตอนแรกอาเจ็กก็ตั้งใจเปิดโรงเรียนสอนเด็ก ๆ ลูกหลานของบรรดากุลีที่เข้ามาใช้แรงงาน ปรากฏว่าเปิดได้ไม่กี่วันก็ต้องเลิก เนื่องเพราะว่าคนจีนสมัยก่อนที่เราเห็นว่าเขานิยม "ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง" นั้น เป้าหมายแรกเลยก็คือตั้งใจเพิ่มแรงงานในบ้าน เด็ก ๆ พอรู้ความอย่างกระผม/อาตมภาพ ก็โดนบังคับให้ไปเลี้ยงน้องแล้ว ถ้าหากว่าพอหยิบพอจับงานอะไรได้ ก็โดนใช้ไปทำงานนั้น พอเริ่มอายุได้ ๕ ขวบ ๖ ขวบ ก็ต้องหัดถางหญ้า หัดขุดดิน จึงทำให้ไม่มีเด็กไปเรียนหนังสือกับอาเจ็กท่านนี้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    อยากจะบอกว่าสมัยที่กระผม/อาตมภาพเรียนหนังสือไทยชั้นประถมปีที่ ๑ หาครูที่จบปริญญาตรีไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว ยังมีครูที่เรียนจบ ป.๔ อยู่สองท่าน ส่วนครูท่านอื่น ๆ นั้นก็มักจะเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรทางการศึกษา (ปก.ศ.) ถ้าหากว่าใครสอบประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ได้นี่ แทบจะปิดจังหวัดเลี้ยงกันเลย..!

    จึงทำให้อาเจ็ก ซึ่งมีความรู้เหมือนอย่างกับจบปริญญามาแล้วจากประเทศจีน กลับตกงานอยู่คนเดียว เพราะว่าทำมาหากินอะไรไม่เป็น ตั้งใจจะมาทำอาชีพสอนหนังสือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเขาต้องการใช้แรงงานลูกหลาน ท่านก็คงจะเครียด ก็เลยกินเหล้าเมาอยู่ทุกวัน พอเมาแล้ว กระผม/อาตมภาพบางทีเลี้ยงน้องอยู่ใกล้ ๆ ท่านก็บ่นให้ฟังว่า "ทั้ง ๆ ที่ร่ำเรียนมาสูงขนาดนี้ แต่กลับตกงานอยู่คนเดียว คนอื่นบางคนไม่รู้หนังสือเลยสักตัวหนึ่ง ตอนนี้เริ่มเป็นเถ้าแก่แล้ว..!"

    ตรงจุดนี้พวกเราจะเห็นว่า คนเราที่จะประสบความสำเร็จ อย่างสมัยนี้เขาบอกว่าขึ้นกับดวง (ด.ว.ง.) ด.ก็คือเป็นเด็กของใคร ? ว.ก็คือวิ่งเต้นหรือไม่ ? ง.คือมีเงินหรือเปล่า ? ถ้าหากว่า "ดวง" ดี ก็ประสบความสำเร็จได้ง่าย แต่ถ้าจะว่ากันตามหลักความจริงแล้ว ก็คือนอกจากความรู้ความสามารถแล้ว โอกาสและสถานที่ยังสำคัญมาก ๆ อีกด้วย

    ถ้าไปอยู่ในสถานที่แบบอาเจ็กท่านนี้ ต่อให้มีความรู้ขนาดไหนก็ตาม แต่ว่าสถานที่และโอกาสนั้นไม่ได้ กระผม/อาตมภาพก็เลยเห็นบัณฑิตผู้มีความรู้ "เมาหัวราน้ำ" อยู่ทุกวัน แล้วท้ายที่สุดก็ตับแข็งตาย ตายแบบคนไม่มีญาติ พวกเราต้องช่วยกันจัดงานศพให้ ถ้าถามว่าในเมื่อไม่มีหนังสือให้สอน แล้วทำไมไม่เดินทางกลับประเทศจีน ? คาดว่าท่านคงจะหวังว่ามาแล้วจะประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองกลับไป ในเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ คงจะอายญาติพี่น้องของตนเอง ก็เลยไม่กล้ากลับไปเมืองจีน

    สิ่งที่เล่ามาในวันนี้ เพราะว่าเนื่องด้วยตรุษจีนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ ความสำเร็จของคนเรา โบราณบอกว่า "แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งกันได้ แต่แข่งบุญวาสนานั้น แข่งกันไม่ได้" คำว่า "บุญวาสนา" ในทีนี้ก็คือ "ปุพเพกตปุญญตา บุญที่เราสร้างสมเอาไว้ดีแต่ปางก่อน" ถ้าเราสร้างบุญเอาไว้ดี ต่อให้ไม่ต้องการถึงเวลาโอกาสก็มา ถ้าเราไม่ได้สร้างบุญไว้ ต่อให้ดิ้นรนไปเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย การสั่งสมบุญนั้นนำมาซึ่งความสุข โดยเฉพาะการสั่งสมบุญในทาน ในศีล ในภาวนา ตราบใดที่เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด บุญจากการให้ทานก็ทำให้เรามีฐานะร่ำรวย บุญจากการรักษาศีลก็เป็นผู้มีรูปสวย มีจิตใจดีงาม บุญในการภาวนาก็ทำให้เรามีปัญญามาก

    คนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบันนี้ จะว่าไปแล้วปฏิบัติในประเพณีตรุษจีนเพราะสายเลือดบังคับเท่านั้น ส่วนมากน่าจะเกินร้อยละ ๗๐ - ๘๐ ถึงเวลาก็หันมาทำบุญแบบไทย ๆ แม้ว่าสมัยก่อนเขาจะมีคำว่า "ทำบุญสูญเปล่า ไหว้เจ้ายังได้กิน" แต่สมัยนี้คนจีนที่กลืนมาเป็นไทยจะหมดอยู่แล้ว หลายท่านทำบุญมากกว่าคนไทยหลายเท่า โดยเฉพาะบรรดาเถ้าแก่ใหญ่ ๆ บางทีก็สร้างโบสถ์เองทั้งหลัง บางท่านก็ถึงขนาดสร้างวัดทั้งวัดเลยก็มี..!

    จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องตระหนักเอาไว้ว่า ในเรื่องของบุญของกุศลนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก บุคคลที่ไม่ประมาท ย่อมสร้างสมบุญกุศลเป็นปกติ เพราะว่าถ้าเราประมาทเมื่อไร ไม่แน่ใจว่าจะมีอกุศล ก็คือบาปเข้ามาแทรกตอนไหน ดูตัวอย่างอนาถปิณฑิกเศรษฐีที่กลายเป็นคนจนไปชั่วคราว กว่าจะได้ทรัพย์สมบัติคืนมา ก็ต้องตกระกำลำบากอยู่พักใหญ่
    เราท่านทั้งหลายจึงต้องเป็นบุคคลที่ไม่ประมาทต่อกองบุญการกุศล โดยเฉพาะถ้าหวังหลุดพ้น การภาวนาและพิจารณาจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...