เมื่อหลวงปู่ชอบธุดงค์กลับแดนอีสาน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 26 มีนาคม 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    กลับมาเยี่ยมแดนอีสาน
    [​IMG]
    หลังจากที่ท่องเที่ยววิเวกอยู่ในถิ่นแถบภาคเหนือ คือแถวเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ ถึง ๑๔ ปี พอดีกัลยาณมิตรของท่านคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้มาชวนให้ท่านกลับอีสาน ท่านจึงตกลงใจกลับมากับหลวงปู่ขาว
    หลวงปู่ทั้งสอง ต่างองค์ต่างจากถิ่นฐานบ้านเกิดและวงศาคณาญาติ มาแสวงหาที่สัปปายะบำเพ็ญเพียรภาวนาทางภาคเหนือ เป็นเวลาใกล้เคียงกัน และ ต่างองค์ต่างได้รู้เห็นธรรม...ตามสำนวนอันถ่อมองค์ของท่านก็ว่า ...ธรรมอันสมควรเป็นที่พึ่งแห่งตนได้.... แต่สำหรับปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ก็คงจะแอบนึก แอบเดากันเองว่า เป็นธรรมอันสูงขั้นใด... สมควรจะกลับไปเยี่ยมถิ่นฐานบ้านเดิม และโปรดพวกวงศาคณาญาติเสียที อีกประการหนึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ พระอาจารย์ของท่านซึ่งได้ล่วงหน้ากลับจากเชียงใหม่ไปก่อนหน้านั้น ท่านกำลังโปรดญาติโยมอยู่แถบอีสานเหมือนกัน จะได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่นด้วย
    ความจริง ในการกลับอีสานครั้งนี้ หลวงปู่และหลวงปู่ขาวได้ไปชวน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย นอกจากความสนิทสนมคุ้นเคยที่ธุดงค์ผ่านป่าผ่านเขา ผ่านเป็นผ่านตายมาด้วยกันแล้ว เฉพาะหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่แหวนต่างมีชาติกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกันด้วย ท่านจึงชักชวนให้หลวงปู่แหวนกลับไปโปรดชาวจังหวัดเลยบ้าง แต่หลวงปู่แหวนก็ได้ตอบปฏิเสธหลวงปู่ทั้งสองไป ท่านว่า ท่านจะยังไม่กลับ จะอยู่เชียงใหม่ บำเพ็ญภาวนาให้ถึงอรหัตตผลก่อน จึงจะคิดกลับ เวลานี้ยังไม่คิด อย่างไรก็ดี หากได้ผลสมปรารถนาแล้วท่านจะคิดอีกครั้งหนึ่ง ว่าควรจะไปจากเชียงใหม่หรือไม่ “เชิญท่านกลับเลยไปก่อนเถอะ” ท่านบอกกับหลวงปู่
    (ปรากฏว่า หลวงปู่แหวนไม่ได้กลับมาจังหวัดเลยอีกเลย จนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้) ท่านทั้งสองก็ไม่ได้พบกันอีก จนกระทั่งเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ ท่านกลับจากฉลองกุฏิที่ผาแด่น เชียงใหม่ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากที่ได้จากกันเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน
    ในขณะที่องค์หนึ่ง อายุได้ ๙๖ ปี เปรียบประดุจใบไม้ที่ใกล้จะถึงเวลาร่วงจากขั้ว และอีกองค์หนึ่งอายุ ๘๓ ปี เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องมีพระลูกศิษย์อุ้มพาไปตลอดเวลาแต่ท่านทั้งสององค์ก็เป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ทรงธรรมวิสุทธิ์ เป็นที่เคารพ รัก เลื่อมใส ของคนทั้งแผ่นดิน การพบกันครั้งนี้ หลวงปู่ทั้งสองก็ได้พูดคุยธรรมสากัจฉากันอย่างรื่นเริง ถึงความหลังสมัยที่ธุดงค์โชกโชนมาด้วยกัน พบเสือ พบช้าง พบเทพยดา พญานาค มาคารวะ มาทำบุญ มาขอฟังธรรมด้วยกัน
    หลวงปู่ชอบได้กลับไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๒๘ เพียงสองสามวันก่อนท่านจะมรณภาพ เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายจริง ๆ สำหรับท่าน
    สำหรับเรื่องที่หลวงปู่แหวน บอกกัลยาณมิตรของท่านทั้งสองว่า จะยังไม่กลับอีสาน จนกว่าจะได้รับอรหัตผลก่อน จึงจะคิดเรื่องการกลับนั้น สมควรจะเล่าแทรกไว้ด้วยว่า วันหนึ่งหลวงปู่ขาว ซึ่งอยู่ที่วัดกลองเพล อุดรธานี ก็ปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านได้นิมิตเห็นหลวงปู่แหวน ใสเหมือนแก้ว ใสที่สุด สว่างไสวทั้งองค์ ดวงใจของท่านก็ใสประดุจแก้ว
    หลวงปู่ขาวรำพึงว่า “ท่านแหวนได้อรหัตแล้วละหนอ”
    จากเชียงใหม่ หลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก็ลงมากรุงเทพฯ ก่อน พบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสสเถระ) ท่านก็ถามหลวงปู่ทั้งสองว่า ไปอยู่เชียงใหม่มาได้อะไรดี หลวงปู่ชอบเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว ท่านจึงเพียงยิ้ม ๆ ปล่อยให้หลวงปู่ขาว สหายของท่านเป็นผู้ตอบแทน ท่านบอกว่า ได้ศรัทธาดี ได้อจลศรัทธา
    พักอยู่กรุงเทพฯ ไม่กี่วัน ท่านก็จับรถไฟขึ้นไปอีสาน ผ่านนครราชสีมา และขอนแก่น พักที่วัดซึ่งท่านทั้งสองเคยจำพรรษา วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา และวัดป่าบ้านเหล่างา ขอนแก่น แล้วก็เดินทางมุ่งไปที่สกลนคร ด้วยได้ทราบว่า ระยะนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีพระเณรพระธุดงคกรรมฐานจำพรรษาและห้อมล้อมรับการอบรมจากท่าน อยู่ ณ บริเวณใกล้เคียงกับที่ท่านพักจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก
    ความตอนนี้ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล แต่ขณะนั้นยังเป็นสามเณรน้อย ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นอยู่ เล่าความให้ฟังว่า
    พอเหลือบเห็นหลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก้าวเข้าไปในบริเวณลานวัด หลวงปู่มั่นก็อุทานด้วยความยินดี ที่เห็นหน้าศิษย์เอกทั้งคู่
    “นั่น..ท่านขาว ท่านชอบมาแล้ว ไป..ไปต้อนรับท่าน”
    ภิกษุสามเณรที่เคยรู้จักท่านต่างก็ดีใจ แสดงความกุลีกุจอที่ได้พบหน้า “พี่ชายใหญ่.... ท่านอาจารย์ขาว..ท่านอาจารย์ชอบ” อีกครั้งหนึ่ง ช่วยกันรับเครื่องบริขารจากท่าน พร้อมกับรีบหาน้ำท่ามาถวาย ส่วนภิกษุสามเณรที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในสำนักในระยะหลัง ไม่เคยเห็นท่านทั้งสองมาก่อน ก็แอบนึกกันว่า “....นี่เอง ท่านอาจารย์ขาว นี่เอง ท่านอาจารย์ชอบ เราเคยได้ยินชื่อท่านทั้งสองกันมานานแล้ว พ่อแม่ครูจารย์ (คำที่พระเณรทั้งหลายเรียกท่านพระอาจารย์มั่น) เคยพูดถึงด้วยความยกย่องบ่อย ๆ เรื่องราวของท่านเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ครูบาอาจารย์มากมาย วันนี้เรามีบุญได้เห็นองค์ท่านแล้ว”
    บางองค์ก็แอบนึกว่า “เคราะห์ดี เราไม่ได้นึกหมิ่นท่าน...ใครจะนึกว่า พระรูปร่างผอมสูง โปร่งบาง องค์นี้จะเป็นท่านอาจารย์ขาว และองค์เล็ก ๆ ดำคล้ำนั้น จะเป็นท่านอาจารย์ชอบ สีจีวรดูเก่าคร่ำคร่า กลดก็ดูขาดวิ่น...”
    แต่ท่านเหล่านั้นก็คงนึกได้ถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ และได้มีภิกษุชราองค์หนึ่ง เข้าไปถวายบังคมแทบเบื้องบาทมูลของสมเด็จพระพิชิตมาร ภิกษุชราผู้นั้นแม้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่า แต่ผิวพรรณวรรณะผ่องใส กิริยาท่าทางสงบเย็น เมื่อถวายบังคมสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ครบสามครั้ง แล้วก็นิ่งรอคอยฟังพระพุทธฎีกาโดยดุษณี เมื่อทรงมีพุทธบรรหารก็กราบทูลตอบอย่างสงบเสงี่ยม เฝ้าอยู่ได้ระยะหนึ่งก็กราบถวายบังคมลากลับไป
    บรรดาภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเข้ามาในสำนักสมเด็จพระทศพล ในระยะหลังไม่เคยเห็นภิกษุชราแปลกหน้าผู้นี้ จึงถามกันเซ็งแซ่ว่า ภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่านี้เป็นผู้ใด สมเด็จพระบรมครู จึงดูทรงเมตตาและแสดงความคุ้นเคยนัก ปกติ สมเด็จพระบรมศาสดา ทรง “วาง” ทุกอย่าง ไม่ทรงแสดง “กิริยาดีใจ” ไม่ทรงแสดง “กิริยาเสียใจ” ให้ปรากฏ แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มจีวรอันเก่าคร่ำคร่า ก็ได้เห็นสีพระพักตร์แช่มชื่นขึ้นด้วยความยินดี ประหนึ่งบิดาได้ประสบหน้าบุตรสุดที่รักที่จากไปในแดนไกล กลับมาเยี่ยมบ้านฉะนั้น
    ใครทราบบ้างไหม ท่านเป็นใคร มาแต่ไหน เสียงถามกัน
    แต่ก็ไม่มีภิกษุองค์ใดตอบได้ เพราะต่างองค์ก็เพิ่งเข้ามาสู่สำนักสมเด็จพระบรมศาสดาในเวลาไม่นานนัก
    สมเด็จพระบรมครู ทรงทราบวาระจิตของเหล่าภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จมาในที่ประชุมนั้น และรับสั่งว่า
    “นี่แหละ เชษฐภาดาของพวกเธอ มหากัสสปะ ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของเธอทั้งหลาย เธอออกจากป่าจากเขามาหาเรา” แล้วทรงสรรเสริญวัตรของพระมหากัสสปะต่อไปว่า “เธอเป็นผู้พอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด เธอมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืนเป็นวัตร ไม่ชอบระคนด้วยหมู่เธอผู้บุตรของเรา เธอเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์”
    ท่านอาจารย์มั่นสั่งให้สามเณรบุญเพ็ง ไปจัดการสถานที่พักให้หลวงปู่ทั้งสอง กำชับว่า “ท่านขาว ท่านชอบ ท่านชอบป่านะ เราไปจัดป่าให้ท่านนะ” ท่านอาจารย์บุญเพ็งเล่าว่า เป็นความประทับใจที่ท่านไม่มีวันลืมเลือนเลย ในใจพองโตด้วยความปลื้มปีติที่ได้มีโอกาสรับใช้ศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ทั้งสอง
    วันนั้นเช่นกัน ภิกษุสามเณร ณ วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน ก็คำนึงกันว่า “เช่นเดียวกับพระมหากัสสปะเมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระจอมมุนินาถ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ออกมาจากป่าจากเขา หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบ เมื่อมากราบท่านพระอาจารย์มั่น องค์บุรพาจารย์ของท่านก็เพิ่งออกจากป่าจากเขามา เราต่างได้ยินคำสรรเสริญยกย่องมานานแล้วว่า ท่านทั้งสองบำเพ็ญเพียรเจริญรอยตามพระมหากัสสปะ ผู้เลิศในการทรงธุดงค์ เราได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า ท่านทั้งสองพอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด ท่านมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืน เป็นวัตร ท่านไม่ชอบระคนด้วยหมู่ ท่านผู้เป็นพี่ชายใหญ่ ท่านผู้เป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ ท่านมาในครั้งนี้ เราคงมีโอกาสได้ฟังอะไรดี ๆ ให้เป็นขวัญตา ขวัญใจ ขวัญหุของพวกเราแน่”
    แน่นอนที่พระเณรทุกองค์จะนึกคาดคอยเช่นนั้น เพราะเวลาใด ที่มีพระเถระผู้ใหญ่ ผู้มีภูมิธรรมขั้นสูงออกจากป่าที่พักบำเพ็ญภาวนา หรือไปธุดงค์ ณ เมืองไกล จะมีความรู้ ความเห็นจากการภาวนา มาเล่าถวายอาจารย์ของท่าน เวลานั้นจะเป็นเวลาที่พระเณรทั้งหลายกระหยิ่มดีใจ คอยสนใจฟังกันมากที่สุด เพราะความรู้ ความเห็นจากการภาวนาเหล่านั้น เป็น “ของจริง” ที่แต่ละองค์ได้ประสบพบเห็นมา และก็มักจะแปลกแตกต่างกันไปตามจริตนิสัยของแต่ละองค์ ยิ่งคราวนี้ หลวงปู่ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ ได้รับการพยากรณ์จากท่านพระอาจารย์มั่นมาแล้ว เป็นผู้ได้รับคำยกย่องสรรเสริญอยู่เสมอ...กลับจากธุดงค์มากราบคารวะครูบาอาจารย์พร้อมกัน ประดุจคู่พญาช้างกลับจากการตระเวนไพรมาด้วยกันฉะนั้น
    แน่นอน...หลวงปู่ทั้งสองคงจะมีเรื่องที่รู้เห็นจากการภาวนาล้วน ๆ เกี่ยวกับอริยสัจจ์ภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพ พวกอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ พญานาค ภายนอกบ้าง มาเล่าถวายให้ฟังอย่างมากมาย
    คงได้ฟังกันอย่างเพลิดเพลินตลอดรุ่ง
    “บุญเพ็งไปปูเสื่อ” ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งสามเณรบุญเพ็ง แล้วกำชับว่า “ท่านขาว ท่านชอบ ท่านชอบป่านะ เราไปจัดป่าให้ท่านนะ”
    สามเณรบุญเพ็งรีบไปจัดสถานที่ให้อย่างกุลีกุจอ ท่านเล่าว่า เป็นความประทับใจที่ท่านไม่ลืมเลย ในใจพองโตด้วยความปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้ศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ ผู้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ท่านจำได้ไม่ลืมว่า ท่านจัดให้หลวงปู่ขาวผูกกลดอยู่ใต้ร่มต้นมะไฟ ส่วนหลวงปู่ชอบนั้น ท่านจัดให้ไปอยู่ใต้ร่มไม้ห่างไปอีกทางหนึ่ง คือผูกกลดอยู่ใต้ร่มหมากเม่า
    ต่างองค์ต่างอยู่ในป่า ไม่ระคนกับหมู่
    และก็เป็นอย่างที่พระเณรน้อยใหญ่คาดคอย กล่าวคือ ได้มีโอกาสฟังหลวงปู่ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น และหลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบสนทนาธรรมกันอย่างลึกซึ้ง และรื่นเริงในธรรม
    อย่างไรก็ดี ตามวิสัยครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นประดุจพ่อแม่ของศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่วายที่จะ “ประหน้า” ศิษย์เอกทั้งคู่ด้วยเทศนากัณฑ์ใหญ่ก่อน โดยเริ่มว่า
    “กลัวแต่คนอื่นจะเห็นตับไดไส้พุงของตัว แต่ตัวเองไม่สนใจตับไตไส้พุงและจิตใจของตัว ว่ามันมีอะไรอยู่ภายในนั้น มัวเพลินดูเพลินฝัน เพลินคิดแต่เรื่องคนอื่น กลัวเขาจะมาเห็นตับไตไส้พุงของเรา คิดส่งออกไปภายนอก ไม่สนใจคิดเข้ามาภายใน นักปฏิบัติเราไม่สนใจ ดูกาย..ดูใจของตัวเราเอง จะหาความฉลาดรอบรู้มาจากไหน”
    หลวงปู่สบตาหลวงปู่ขาว แล้วก็นิ่งอยู่ด้วยความสำรวม
    ระหว่างทาง พักค้างคืน ก่อนจะถึงวัดป่าบ้านหนองผือ นาใน ต่างองค์ต่างเข้าที่ บำเพ็ญภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา บูชาพระคุณท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ใหญ่ผู้สอนสั่งกล่อมเกลาศิษย์ให้เข้ามาสู่เส้นทางมรรคอันถูกต้อง ที่เที่ยงแท้ ตรง และแน่แน่ว เข้าสู่ความหลุดพ้น หากไม่ได้ความกรุณา เมตตาชี้แนะ อย่างถูกต้องของท่านก็คงจะขาดประโยชน์ สูญประโยชน์อันควรมีควรเป็นไปอย่างน่าเสียดาย พระคุณของท่านหาประมาณมิได้ โดยปกติหลวงปู่ท่านจะพิจารณาธรรมเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาอยู่เสมอ
    แต่คืนนั้น.ท่านทั้งสองได้ตั้งใจพิจารณากาย..กายคตานุสติปัฏฐาน ถวายบูชาท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพิเศษ
    หลวงปู่ขาวหลุดปากปรารภกับหลวงปู่ชอบว่า เราพิจารณากายกันอยู่ทางนี้ ที่โน่น...ป่านนี้ ท่านอาจารย์มั่น คงนั่งภาวนามองดูตับไตไส้พุงของพวกเราทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ก่อนที่เราจะไปถึงท่าน เครื่องในตับไตไส้พุงตัวเราคงไม่มีอะไรเหลือ ท่านคงขยี้คลี่ดูแหลกลานเป็นจุณไปหมดแล้วด้วยญาณของท่าน
    คิดเพลิน..เพลินคิด กันไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่วายถูกเตือน..!!
    หลวงปู่เล่าว่า นี่แหละ พ่อแม่ครูจารย์อันประเสริฐแท้ ศิษย์จะมีความรู้เห็นเพียงไหน แต่ทางดำเนินหากจะไม่ถูกต้อง หรือแม้เพียงไม่เหมาะสมเพียงเล็กน้อย จะต้องได้รับคำเตือนทันทีทีเดียว และเป็นที่ทราบกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ท่าน “เคี่ยว” ศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านอย่างมาก เพื่อหล่อหลอมให้เป็นพระปฏิมากรอันล้ำค่าหาที่ตำหนิมิได้
    และแม้ท่านจะทราบแล้วว่า ศิษย์บางท่าน บางองค์ หายสงสัยในธรรมแล้ว เสร็จกิจอันควรกระทำแล้ว ไม่มีกิจที่ต้องทำอีก ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่มีชีวิต ก็มีแต่กิริยากิจปฏิปทากิจที่จะต้องดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค อริยประเพณี เพื่อความเหมาะสม และดีงามเท่านั้นก็ตาม แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็มากไปด้วยความเมตตา เพียงสังเกตว่า มีทางดำเนินที่ควรแก้ไขปรับปรุง ท่านก็มิได้รั้งรอที่จะให้โอวาทสั่งสอนเพิ่มเติม
    ทั้งนี้ เพื่อให้ศิษย์ท่านเหล่านั้น สามารถเป็น ธรรมทายาท ของท่านอย่างเต็มภาคภูมิ ท่านตักเตือนโดยเล็งเห็นว่า ต่อไปภายหน้าท่านเหล่านั้นต่างจะต้องสืบทอดพระศาสนา มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ทั้งพระเณรและประชาชนทั่วไป
    จริงอยู่ การปฏิบัติผิดหรือถูก เป็นเรื่องเฉพาะองค์ เพราะบางท่าน บางองค์ก็เป็นประดุจ “ผู้ไม่มีแผลในฝ่ามือ” ถึงจะถือยาพิษ จับยาพิษ แต่ยาพิษก็ไม่อาจซึมไปให้โทษแก่ฝ่ามือที่ไม่มีแผลได้เลย ฉันใด และ บาป หรือตำหนิย่อมไม่ตกแก่ผู้พ้นจากบาปแล้ว ฉันนั้น แต่การจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของคนหมู่มาก ควรจะต้องระมัดระวังการปฏิบัติ
    หลวงปู่เล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะให้โอวาทเสมอว่า การเป็นอาจารย์คนนั้นสำคัญมาก จึงควรต้องระมัดระวังตน อาจารย์ผิดเพียงคนเดียว อาจทำให้คนอื่น ๆ ผิดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก และในทำนองเดียวกัน ถ้าอาจารย์ทำถูกต้องเพียงคนเดียว ก็จะสามารถพาดำเนินให้คนอื่นปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ตามไปได้ โดยไม่มีประมาณเช่นกัน
    ท่านสรรเสริญ สมเด็จพระจอมมุนีนาถ บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นบรมศาสดา ทั้งทางธรรม และทางโลก ทรงเป็น “ครู” ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเวลาใด ทรงดำเนิน...ประทับยืน ประทับนั่ง ทรงบรรทมด้วยท่าสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวาโดยลอด แม้เวลาเสด็จปรินิพพาน ท่านจึงเตือนสติศิษย์ของท่านเสมอ ให้ถือสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นแบบอย่าง
    แม้จนท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพแล้ว ท่านก็มักจะไปเยี่ยมแสดงสัมโมทนียกถา ให้ศิษย์ท่านบางองค์บ่อย ๆ องค์ใดที่เคร่งครัด ธุดงควัตรอยู่แล้ว ท่านก็จะมาสรรเสริญ ให้กำลังใจ องค์ใดที่บางโอกาสสำรวมระวังไม่เพียงพอ แม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การวางบริขารไม่เป็นระเบียบ ซึ่งปกติก็ถ่ายทอดความเป็นระเบียบมามากอยู่แล้ว แต่ถ้าวันนั้น เกิดเหนื่อย เกิดเพลียขึ้นมา เลยละลืมไป คืนนั้น จะปรากฏในนิมิตภาวนา ท่านพระอาจารย์มั่นมาเตือน ทำให้ท่านต้องมีสติกำกับจิตกันอยู่ตลอดทุกขณะจิต
    ที่มา http://ecurriculum.mv.ac.th/dhamma/dharma-gateway/www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-chob/lp-chob-hist-18.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...