เปลือก กระพี้และแก่น ของพุทธศาสนา (โดย หลวงปู่เทสก์ฯ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิริยะ13, 8 มีนาคม 2010.

แท็ก: แก้ไข
  1. วิริยะ13

    วิริยะ13 สติเป็นโล่ห์ ปัญญาเป็นอาวุธ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    3,032
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,561
    ค่าพลัง:
    +12,657
    ทุกๆ ศาสนาต้องมีทั้งเปลือกทั้งกระพี้และแก่น จึงสามารถรักษาคุณภาพไว้ได้นาน

    ศาสดาผู้ตั้งศาสนาทั้งหลายต้องเล็งเห็นแล้วว่า ผู้จะนับถือศาสนาทั้งหลายมิใช่มีแต่คนฉลาดเท่านั้นก็หาไม่
    ต้องมีทั้งคนโง่คนฉลาด คนโง่ก็สอนตื้นๆ คนค่อยฉลาดก็สอนให้ลึกเข้าไปหน่อย
    คนฉลาดนั้นสอนตื้นสอนลึกขนาดไหนก็ไม่มีปัญหา ย่อมสามารถรู้ได้หมด

    โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาให้ใช้ของที่มีอยู่ ให้เป็นสาระแก่ตนเองให้มากเท่าที่จะมากได้ เช่น
    สมบัติเงินทองเป็นของกลางที่มีอยู่ในมือบุคคลใดแล้ว
    ท่านสอนว่ามันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงมั่งคงถาวร เปลี่ยนไปเป็นของคนอื่นได้

    ฉะนั้นเมื่อมันมาอยู่ในมือของเรา จงรีบทำให้เป็นประโยชน์แก่เราเสีย ด้วยสละแบ่งปันส่วนที่มันเหลือใช้
    ให้แก่ผู้ที่ขัดสนไม่มีอันจะกิน มิใช่เหลือไว้ให้ลูกหลานจนเหลนโหลน คนเราเกิดมาในโลกเป็นหนี้บุญคุณของโลก
    จะนั่งนอนกินไม่ได้ ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต อย่าทำทุจริตเป็นหนี้บุญคุณโลกเข้าไปอีก
    ลูกหลานเหลนโหลนเราทำงานเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อเราได้แบ่งปันสิ่งของๆเราให้แก่คนอื่นอย่างนั้น
    ได้ชื่อว่าเราได้นำเอาทรัพย์ที่ไม่เป็นแก่นสาร ทำให้เป็นแก่นสารแก่ตัวเองได้แล้ว

    เพราะทรัพย์สมบัติเป็นของสาธารณะ เมื่อได้มาเก็บไว้ไม่มีประโยชน์แก่ตัวและผู้อื่น
    คนได้มาแล้วก็เก็บไว้ๆ คนหาไม่ได้ก็จนลงๆ มันจะเสมอกันได้อย่างไร
    คนจนมากกว่าคนมีนี่ เมื่อคนจนรวมหัวกันคิดแย่งเอาได้ แล้วคนมีจะอยู่ได้อย่างไร


    พระพุทธเจ้าสอนให้มีเมตตาแก่กันและกัน มีอันใดแบ่งปันกันกินกันใช้จะได้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
    มีความปรองดองสามัคคีกันเหมือนกับพี่น้องกัน

    สมบัติเป็นของไม่มีสาระดังกล่าว เราได้ทำให้เป็นของที่มีสาระด้วยการให้แบ่งปันให้แก่คนอื่นด้วยจิตเมตตา
    สมบัติอันนั้นกลับเข้ามาอยู่ในใจของตน คือ ความอิ่มใจพอใจที่ตนแบ่งปันไปแล้วนั้น หรือที่เรียกว่าบุญ

    บุญนี้แหละเป็นยอดปรารถนาของผู้มีศรัทธาที่หาทรัพย์มาได้แล้ว มารวมลงที่บุญนี้ทั้งนั้น
    เมื่อตั้งใจมั่นในบุญกุศล แล้วทำแต่สิ่งใด ก็มีแต่บุญกุศลทั้งนั้น บางคนเขาหาว่า บ้าบุญดีกว่าบ้าบาป

    บ้าบาปนั้นคิดถึงแต่ความชั่วมัวเมาแต่บาป เช่น เที่ยวผู้หญิง นักดื่มสุราไม่ว่าเวลาใด จะมีแต่สุราเป็นนิจ
    บ้าในกามคุณทั้งห้า สนุกเฮฮาไม่มีเวลาตื่นตัวสักที แก่แลหนุ่ม บ้าด้วยกันทั้งนั้น
    คนบ้าบุญนี้แหละจะตั้งมั่นสร้างแต่ความดีไม่มีโทษ ทำประโยชน์ให้เกิดมีแก่ตนเองและบ้านเมือง

    เมื่อจิตเป็นของตัวตั้งมั่นอยู่ภายใน มีเมตตาจิตเป็นพื้นฐานอยู่อย่างนี้จะเรียกว่า
    พรหมวิหารฌานและพรหมวิหารสมาธิ ก็แล้วแต่จะพูดกัน

    จิตที่ตั้งมันอยู่ภายในเช่นนี้ จะค้นคิดเฉพาะใจถึงเรื่องสาระของกายว่า กายนี้เกิดขึ้นมาประกอบแล้วด้วยธาตุทั้งสี่
    มี ดิน น้ำ ไฟ ลมผสมเข้ากันเป็นก้อน เรียกว่า กาย แล้วมีอันจะต้องสลายไปเป็นที่สุด เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้
    ก็หาสาระไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นอยู่อย่างนั้น เหลือแต่ความรู้สึกในใจ ไม่มีอะไรว่างไปหมด ความรู้ว่าว่าง
    และสิ่งที่ว่างกับทั้งของที่ไม่ว่างเป็นไปพร้อมๆกันนั้นและเป็นสาระของคน

    เปลือกของศาสนาคือ ทาน ศีล และศาสนพิธีต่างๆ ถ้าทำถูกต้องแล้วจะกลายเป็นกระพี้ คือทำจิตให้เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส
    จนเกิดปีติอิ่มใจ ทาน ศีล นั้นจะเข้ามาภายในใจหล่อเลี้ยงน้ำใจให้แช่มชื่นอยู่เป็นนิจ นี่ได้ชื่อว่า ทำเปลือกให้เป็นกระพี้

    เมื่อพิจารณาไปถึงความอิ่มและความแช่มชื่นเบิกบานของใจ ก็เห็นเป็นแต่ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัจจัย คือความพอใจเป็นเหตุ
    เมื่อความพอใจหายไป สิ่งเหล่านั้นดับไปเป็นของไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เราจะยึดเอาไว้เป็นของตัวตนไม่ได้
    เป็นอนัตตาไม่มีใครเป็นใหญ่เป็นอิสระ แล้วก็ปล่อยว่างเห็นเป็นสภาพตามความเป็นจริง
    เมื่อพิจารณาถูกอย่างนี้ได้ชื่อว่า ทำกระพี้ให้เป็นแก่นสาร พระพุทธศาสนาอยู่ได้ด้วย เปลือก กระพี้และแก่นอย่างนี้

    ถ้ามีแต่แก่นอย่างเดียว หากเป็นต้นไม้ ก็เรียกว่าต้นไม้ตายย่อมอยู่ไม่ได้นาน
    ถ้ามีแต่กระพี้ หากเป็นต้นไม้ ก็เรียกว่าต้นไม้หาสาระไม่ได้ นอกจากจะทำเป็นฟืนเท่านั้น
    ถ้ามีเปลือกอย่างเดียว หากเป็นต้นไม้ เช่น ต้นมะละกอ พลันที่จะหักเร็วที่สุดเมื่อลมพายุพัดมา

    พระพุทธศาสนาวัฒนาถาวรได้นานปานนี้ก็ด้วยมีทั้งเปลือก กระพี้และแก่น ครบบริบูรณ์

    ***************

    หมายเหตุ: ที่มา เทสรังสีวจนา [แสดงธรรมที่เมืองเพิร์ธ ต่อในช่วงค่ำของวันที่ ๒๙ พ.ย.๑๙ ]
    เปลือก กระพี้ แก่น ....หลวงปู่เทสก์ | Jazz
     

แชร์หน้านี้

Loading...