เรื่องเด่น สมาธิเป็นของดี ถ้ารู้จักใช้ให้เป็น / พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 19 ตุลาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,318
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,113
    ค่าพลัง:
    +70,460
    fl5yonexbkw0qsqgyrsoivc9tvppd-_nc_ohc-hntes16vn90ax-brkg2-_nc_zt-23-_nc_ht-scontent-fbkk22-3-jpg.jpg

    1f338.png สมาธิเป็นของดี

    ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท การที่เจริญพระกรรมฐานก็จงอย่ามุ่งสร้างแต่ฌานสมาบัติเฉยๆ ถ้าเรามุ่งเราไปไม่ถึงไหน เพราะเราหลงตัวสมาธิเกินไป #ความจริงสมาธิเป็นของดี ถ้ารู้จักใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์มันจะมีประโยชน์มากกว่า จะเห็นว่าบางท่านเคยเจริญพระกรรมฐานทำสมาธิแนบแน่น บางที่วันหนึ่งว่ากันหลายเที่ยวหลายรอบนั่งนิ่งไม่พูดกับใคร แต่ว่าสมาธิถอนตัวเมื่อไรด่าเมื่อนั้น อันนี้ไม่ถูก
    1f338.png #สมาธินี่เป็นของดีเพื่อทำจิตให้ทรงตัว
    #ตัดอบายภูมิ คือว่าการเกิดชาตินี้ ถ้าตายเมื่อไรขึ้นชื่อว่าอบายภูมิเราจะไม่ไปอีก ถ้ามันจะมีการเกิดอีกกี่ชาติก็ตามที เราจะไม่ยอมลงอบายภูมิ #เรื่องอบายภูมิไม่มีสิทธิ์จะดึงเราลงไปนั่นก็คือต้องทรงอารมณ์จิตให้เป็นพระโสดาบัน
    ฉะนั้น การเจริญสมาธิที่เจริญกันเพื่อความเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำจึงจะถูก และเนื้อแท้จริงๆ คนที่จะเป็นพระโสดาบันไม่ต้องนั่งหลับตาก็เป็น นั่งลืมตาก็เป็นได้ ถ้าหลับตาเสมอพระโสดาบันไปชนบ้านช่องของเขาพังหมด ต้องลืมตาเป็นก็ได้
    1f338.png คือว่าพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    “เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อย มีสมาธิเล็กน้อย แต่ว่ามีศีลบริสุทธิ์
    1f338.png ทีนี้อีกนัยหนึ่งท่านกล่าวว่า #พระโสดาบัน กับ #พระสกิทาคามี เป็นผู้ทรง “อธิศีล”
    1f338.png #พระอนาคามี เป็นผู้ทรง”อธิจิต”
    1f338.png #พระอรหันต์ เป็นผู้ทรง “อธิปัญญา”
    “อธิ” เขาแปลว่า “ยิ่ง”
    ฉะนั้น พระโสดาบันความสำคัญจริงๆอยู่ที่ศีล ๕ สำหรับฆราวาสและการเจริญสมาธิ ถ้าทำฌานสมาบัติแล้วก็ไม่มุ่งความเป็นพระโสดาบัน อาตมาว่าขาดทุน เอาเวลานั้นไปทำมาหากินดีกว่า รึไง
    เราทำไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นั่งภาวนาทำจิตนิ่งๆ เลิกมาแล้วนิวรณ์มันก็กวนตามเดิม แล้วเราก็ยังมีสิทธิ์ตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย มันจะมีประโยชน์อะไร ประโยชน์ที่ต้องการ ถ้ามีสมาธิทรงตัวดีแล้วก็เอาสมาธิเข้าไปจับศีลให้ทรงตัว ขึ้นชื่อว่าศีล ๕ เราจะไม่ยอมปล่อยอย่างเด็ดขาด จะไม่ยอมละเมิดศีล ๕ โดยเจตนา
    1f338.png คำว่าเจตนาหมายถึงตั้งใจทำลายศีล ๕
    ถ้าบังเอิญมันจะพลาดพลั้งโดยไม่ตั้งใจก็ไม่ถือว่าศีลขาด ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดศีล เพราะศีลทุกสิกขาบทต้องเป็นไปด้วยเจตนาจะสลายตัวได้เพราะอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ
    แล้วก็ต้องไปดูบุคคลที่ท่านเป็นพระโสดาบัน เขาปฏิบัติตัวอย่างไร เขามีอารมณ์แบบไหน ถ้าเราอ่านตามหนังสือละก็ ๓๐๐ เล่มมันก็ไม่รู้เรื่อง
    1f4d5.png พิมพ์หนังสือธัมมวิโมกข์ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๓๕๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ หน้าที่ ๒๐~๒๑
    1f338.png พระธรรมคำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี
    1f339.png เพจ:คำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
    1f58a.png
    พิมพ์ธรรมทาน นภา อิน 1f338.png 1f60a.png 1f338.png
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,318
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,113
    ค่าพลัง:
    +70,460
    สัมมาสมาธิ , พุทธานุสสติ

    ต่อไปนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ คำว่าสมาธิ คือ รวบรวมกำลังใจให้อยู่ในจิตที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่าสัมมาสมาธิ สมาธิแบ่งออกเป็น ๒ ประการด้วยกันคือ สัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง สมาธิถ้าพูดกันตามภาษาไทยก็เรียกว่าการตั้งใจไว้หรือว่าการทรงอารมณ์ไว้ ตั้งใจไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง คิดไว้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิ ถ้าหากว่าเราคิดในสิ่งที่ชั่วเป็นการประทุษร้ายตนเองและบุคคลอื่นให้ได้รับความลำบากอย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ คิดให้จิตของเรามีความสุขเป็นไปในทำนองคลองธรรมอย่างนี้ เรียกว่าสัมมาสมาธิ อารมณ์จะตั้งอยู่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าทรงอยู่ในอารมณ์นั้นจะน้อยหรือใช้เวลาได้มาก็ตามหรือว่าน้อยก็ตามก็เรียกว่าสมาธิ

    ในส่วนของสัมมาสมาธินี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกไว้ถึง ๔๐ ประการ เราก็ได้เคยพูดถึงอานาปานสติกรรมฐานมาแล้ว สำหรับวันนี้จะพูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานพอเป็นที่เข้าใจของท่านบรรดาพุทธบริษัทโดยย่อ

    คำว่า พุทธานุสสติ หมายถึงว่าการนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การที่คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเราก็พรรณนากันไม่จบ ใคร่ครวญกันไม่จบ ตามพระบาลีท่านมีอยู่ว่าถึงแม้ว่าจะปรากฎ มีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ๒ องค์ นั่งถามกันตอบกันถึงความดีของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก แม้แต่สิ้นเวลา ๑ กัปก็ไม่จบความดีของพระพุทธเจ้าได้ ฉะนั้นท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พุทโธ อัปปมาโณ คุณของพระพุทธเจ้านี่หาประมาณมิได้ ในเมื่อคุณของพระพุทธเจ้าหาประมาณไม่ได้ เราพิจารณาไม่จบ เราจะพิจารณาว่ายังไงกันดี โบราณาจารย์ที่ประพันธ์ไว้โดยตรงว่า อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เพราะเหตุนี้แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบรรลุแล้วโดยชอบ อรหัง เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เราก็พิจารณาไม่ไหวเหมือนกัน เป็นอันว่าจะกล่าวโดยย่อว่า คุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเราก็คือว่า

    ๑. สัพพปาปัสสะ อกรณัง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราระงับความชั่วทั้งหมด
    ๒. กุสลัสสูปสัมปทา พระองค์ทรงสงเคราะห์ให้พวกเราปฏิบัติเฉพาะในความดี
    ๓. สจิตตปริโยทปนัง พระองค์ทรงสั่งสอนให้ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส

    นี่ โดยย่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ สอนให้พวกเราปฏิบัติอยู่ในกฎทั้ง ๓ ประการที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าจะย่อลงไปอีกทีหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาทที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสเป็นปัจฉิมวาจา วันใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า

    อานันทะ ดูกรอานนท์ พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนพวกเธอนั้น ย่อมรวมอยู่ในความไม่ประมาท แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ตรัสว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

    นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาทในการที่จะละความชั่ว หมายความว่า จงอย่าคิดว่านี่เราไม่ชั่ว พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์สอนไว้บอกว่า อัตตนาโจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่ก็หมายถึงว่าพระองค์ไม่ให้เราประมาท จงมองดูความชั่ว มองดูความผิด มองดูความเสียหายของตนเองไว้เป็นปกติ ถ้าเรามองความชั่ว มองความเสียหายของตัวไว้แล้ว เราก็จะมีแต่ความดี เราอย่าเป็นคนเข้าข้างตัว เอาพระวินัยมากาง เอาธรรมะมากางเข้าไว้ ดูพระวินัยดูธรรมะว่าอะไรมันผิดบ้างแม้แต่นิดหนึ่งก็ต้องตำหนิ เหมือนกับผ้าขาวทั้งผืน มีจุดดำอยู่จุดหนึ่งก็ชื่อว่าทำผ้าขาวนั้นให้สิ้นราคา แม้จุดนั้นจะเป็นจุดเล็กเท่ากับปลายปากกาที่จิ้มลงไปก็ตามที เขาก็ถือว่ามีตำหนิ นี่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะพิจารณาหาความดีของพระองค์ก็ต้องหากันตรงนี้ ว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้เรามีจิตบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วไปไหน จิตเตปาริสุทเธ สุคติ ปาฎิกังขา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วอย่างน้อยเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ คำว่าสุคตินี้ก็ยกยอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ นิพพานก็ได้ นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญความดีของพระพุทธเจ้า นั่งนึกเอาว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็อาศัย ตัดความรัก ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง

    ตัดความรัก พระพุทธเจ้ามีพระชายาอยู่แล้ว มีพระราชโอรสคือพระราหุล พระราชโอรสคลอดในวันนั้น พระชายาก็ยังสาวอายุเพียง ๑๖ ปี แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์เห็นว่าการครองเรือนเป็นทุกข์ จึงแสวงหาความสุขคือพระโพธิญาณด้วยการออกบวช ทรงตัดความรักความอาลัยเสียได้ ออกจากบ้านในเวลากลางคืน

    ตัดความโลภ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่าอีก ๗ วัน ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิราชจะเข้าถึงพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่อาลัยใยดีในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชเพราะการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเดือนร้อนเหมือนกัน นี่องค์สมเด็จพระภควันต์ แม้จะเป็นเจ้าโลก ก็วางทิ้งไปเสียไม่ต้องการ อันนี้เราต้องปฏิบัติตาม ใคร่ครวญตามว่ามันไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงวาง ถ้าดีแล้วก็ไม่วาง อะไรที่พระพุทธเจ้าวางไว้และเป็นสิ่งเกินวิสัยที่เราจะครองได้เราจะมีได้ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์มีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ววางเสียเราก็ต้องวางตาม เพราะของท่านมากกว่าเราสูงกว่าเราหนักกว่าเราดีกว่าเราที่จะพึงมีท่านยังวาง ถ้าเรามีดีไม่เท่าท่านทำไมเราจึงจะไม่วาง

    ประการต่อมาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสวงหาอภิเนษกรมณ์อยู่ในสำนักอาฬารดาบส กับอุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการจนมีความคล่องแคล่วมีความชำนาญมาก อาจารย์ยกย่องให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครูสอนแทน แต่พระองค์ก็มาพิจารณาว่าเพียงแค่รูปฌาน และอรูปฌานทั้งสองประการนี้ไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงได้วางเสียแล้วออกจากสำนักของอาจารย์นั้นแสวงหาความดีต่อไป

    ในด้านของสมาธินี่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงถึงที่สุดถึงสมาบัติ ๘ ก็ยังเห็นว่าไม่เป็นทางที่สุดของความทุกข์ แต่สมาธินี้ก็ทรงไว้ไม่ทิ้ง หาต่อไปให้เข้าถึงที่สุดของทุกข์คือความไม่เกิด ต่อมาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็พบธรรมะที่ประเสริฐที่เรียกกันว่า อริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์

    ทุกข์ได้แก่อาการที่ทนได้ยาก ก็คือการเกิดขึ้นมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่เราพูดกันมานานแล้ว
    เหตุให้เกิดความทุกข์ก็คือตัณหา ความอยากเกินพอดี ความอยากนี่ต้องใช้คำว่าเกินพอดี ร่างกายมันหิวอาหาร ร่างกายมันอยากกินน้ำ ร่างกายมันปวดอุจจาระปัสสาวะจะต้องไปส้วม ร่างกายต้องการเครื่องนุ่งห่มตามปกติ ร่างกายต้องการบ้านเรือนตามปกติเป็นไปตามวิสัย อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันเป็นของพอดีพอใช้ที่เราจะพึงใช้พึงมีตามความจำเป็นของร่างกาย แต่ว่าความตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่รู้จักพอ มีแค่นี้พอดิบพอดีแล้วยังตะกายมากเกินไปทำให้เกิดความลำบาก มีความอยากไม่รู้จักจบ อยากอย่างนี้เรียกว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

    ทางดับตัณหาตัวนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่า มรรค มรรคนี่มี ๘ อย่าง โดยย่นย่อเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
    ศีล คือการระงับกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ดำรงอยู่ในความดีตามขอบเขตที่เราเรียกว่าพระวินัย
    สมาธิ แปลว่ามีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในความดี คือทรงศีล ทรงทานอยู่ จิตน้อมอยู่ในอารมณ์ทั้งสองประการอย่างนี้เป็นต้น

    ปัญญา พิจารณาเห็นว่าธรรมะที่องค์สมเด็จพระทศพลคือจริยาที่พระองค์ทรงละ ความรัก ละความโลภ ละความปรารถนาความมักใหญ่ใฝ่สูง ละการเกิด นี้องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปฏิบัติถูกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้เป็นพระอรหันต์ นี่เราปฏิบัติพิจารณาตามประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไปอีกนานมันก็ไม่จบ รวมความว่าวันหนึ่งเราก็นั่งใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธเจ้าตามหนังสือที่มีมา จับใจตรงไหนยึดตรงนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นพุทธานุสสติ การนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามนี้สำหรับพุทธานุสสติ และตามคิดแบบนี้จะทรงอารมณ์อยู่ได้แค่อุปจารสมาธิ นี่เป็นแบบหนึ่ง

    และอีกแบบหนึ่งไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านสอนให้ภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ การหายใจกำหนดตามสบายๆ เป็นการควบกับอานาปานสติกรรมฐาน ทำอารมณ์ใจให้สบายจิตใจชื่นบานนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมารแล้วจับใจว่า พุทโธ พุทโธ ภาวนาไว้ แล้วขณะใดที่จิตผูกพันว่าพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ การภาวนาแบบนี้สมาธิจะมีอารมณ์สูงเข้าถึงฌานสมาบัติได้

    การพิจารณาว่าพุทโธก็จะขอข้ามอารมณ์ต่างๆไป (ไว้พูดในตอนต่อไป) ถ้ากำลังใจของเราทรงมัน ถ้าจะมีนิมิตปรากฎขึ้นโดยเฉพาะ นิมิตตรงๆ ก็คือต้องเห็นเป็นพระพุทธรูป หรือว่าเห็นเป็นรูปของพระสงฆ์ แต่มีรัศมีกายผ่องใส อย่างนี้เขาเรียกว่านิมิตของพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้จับเอาได้ ถ้านิมิตอย่างนี้ปรากฏมาเมื่อไร ในกาลต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะภาวนาว่าพุทโธ ก็ให้จิตน้อมนึกถึงภาพนั้นไว้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าเกิดอุคหนิมิต

    ถ้านิมิตนั้นเปลี่ยนแปลง ทีแรกเราเห็นเป็นพระพุทธรูปดำบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แต่ไม่แจ่มใส ต่อไปถ้ามีสมาธิ สมาธิสูงขึ้นก็เห็นเป็นพระพุทธรูปใสขึ้น ใหญ่โตขึ้น เปลี่ยนแปลงมีความงดงามกว่า อย่างนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิระดับสูง นี่จิตนึกถึงภาพนะ ภาพปรากฎชัดภายในใจ ไม่ใช่ไปนั่งหาภาพที่จะมาปรากฎใหม่ ต่อไปเมื่อจิตนึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระจอมไตร เกิดมีรัศมีกาย มีอารมณ์ผ่องใสแทนที่จะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวสีดำสีแดงอะไรก็ตาม สีนั้นเปลี่ยนไปทีละน้อยจากเหลืองเข้มเป็นเหลืองอ่อนๆมีความใส ต่อไปก็เป็นแก้ว แก้วใสเป็นประกายพรึกเต็มดวง หรือคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงพระอาทิตย์ มีความชุ่มชื่นจะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต นั่นระดับฌาน ถ้าจิตจับอยู่แค่นี้จิตใจของเราชื่นบาน จิตจะทรงฌานไปด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน จะมีอารมณ์เป็นสุขตลอดกาล แล้วเมื่อได้ภาพอย่างนี้จงอย่าคลายภาพนี้ทิ้งไป ให้ดำรงภาพนี้เข้าไว้ ขณะใดจิตยังนึกเห็น ไม่ใช่เห็นเฉยๆ นึกเห็น เห็นภาพอยู่ตราบใด ขณะนั้นเรียกว่าจิตทรงสมาธิ จิตของท่านจะมีแต่ความสุข

    ถ้าหากว่าทำจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว ปรากฎว่าปัญญาก็จะเกิด คำว่าอริยสัจก็จะปรากฎขึ้นแก่ใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ความรู้เท่าของคำว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์อย่างนี้มันจะเกิดขึ้นแก่ใจเอง ความเบื่อหน่ายในการเกิดก็จะปรากฎ ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้บอกว่า นี่เป็นอธรรมเป็นความไม่ดี จิตใจของเราจะเห็นน้อมไปตามกระแสพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างแจ่มใส ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาบอกควรประพฤติปฏิบัติควรทำให้เกิดมีขึ้น เพราะธรรมนั้นจะสร้างความชุ่มชื่นคือความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ ใจคือปัญญาของเราก็จะเห็นธรรมนั้นได้แบบผ่องใสไม่เคลือบแคลง เกิดเป็นคุณประโยชน์ การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานพระอัตถกถาจารย์ กล่าวว่าเป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย
    สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานโดยย่อก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


    พุทธานุสสติถึงสมาบัติ

    วันนี้จะได้พูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานต่อ เมื่อวานนี้ได้มาพูดถึงการเจริญกรรมฐานด้านพุทธานุสสติกรรมฐาน จากระบบปฏิบัติตามแบบที่พิจารณาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสั่งสอนตามแบบนี้ที่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานย่อมมีกำลังแค่อุปจารสมาธิ แต่สำหรับพระอาจารย์ผู้สอนที่มีความฉลาด ท่านสอนต่อๆกันมา คือสามารถดัดแปลงเอาพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสามบัติจนกระทั่งเข้าถึงฌาน ๔ ได้ วันนี้ก็จะได้อธิบายการเจริญพระกรรมฐานในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานจากอารมณ์อุปจารสมาธิมาเป็นฌาน ๔ การเจริญพระกรรมฐานถ้ามีความเข้าใจ กรรมฐานทุกองค์ก็ทำเป็นฌาน ๔ ได้เหมือนกันหมด แล้วก็ต่อไปเป็นสมาบัติ ๘ ก็ได้

    การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌาน ท่านก็ใช้คำภาวนาเป็นพื้นฐาน คือใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตามแบบที่กล่าวมาแล้ว ถ้าต้องการให้เป็นฌานอย่างยิ่ง ก็งดการพิจารณานั้นเสีย จิตน้อมยอมรับนับถือเนื้อถือหนัง ถือรูปร่างของท่านเป็นสำคัญ เนื้อหนังรูปร่างของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามิได้ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นพระพุทธเจ้ามาจากการบรรลุธรรมะพิเศษ ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในตอนที่จะเข้าสู่การดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานที่ระหว่างนางรังทั้งคู่ว่า

    อานันทะ ดูกรอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนเธอทั้งหมดนี่จะเป็นศาสดาสอนเธอ ศาสดานี่แปลว่าครู นี่เราจะเห็นได้ว่าความเป็นพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรมคำสั่งสอนนั่นเอง

    เรามาเปลี่ยนแปลงจากการพิจารณาความดี เอาจิตเข้ามาจับความดีจุดเล็ก คือแทนที่จะเป็นการใคร่ครวญ กลับมาภาวนา นึกว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ เราจะผูกใจของเราให้จับอยู่เฉพาะความดีของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านจึงสอนให้ใช้คำภาวนาแทนที่จะพิจารณา แต่ว่าเราก็ไม่ทิ้งคำพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ให้จิตเข้าถึงความดีของพระองค์ เป็นการสร้างธรรมปีติ ความมั่นใจในความดีก่อน

    เมื่อเราพิจารณาความดีใคร่ครวญความดีของพระองค์แล้ว เมื่อใจสบายก็จับอารมณ์เป็นสมาธิพิเศษ คือใช้อานาปานสติกับพุทธานุสสติควบกันไป โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ นี่ง่ายดี ความจริงการภาวนาในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ว่าได้หลายอย่าง อิติปิ โส เบื้องต้นทั้งหมดทั้ง ๙ ข้อ เราว่าได้ทุกข้อ จะว่าข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐานทั้งนั้น แต่ว่าการที่ท่านตัดเอาใช้คำว่าพุทโธ เพราะเป็นการสะดวกแก่บุคคลผู้ฝึกจิตในตอนแรก

    ในตอนต้นให้พิจารณาลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อันดับแรกจับเอาแค่จมูกก่อน หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็ โธ แค่นี้ให้จิตสบาย พอจิตมีความสบาย มีกำลังเป็นสมาธิสูงขึ้น จิตจะรู้ลมกระทบสัมผัสภายใน หายใจเข้าลมจะกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ หายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก

    ถ้าปรากฏว่าลมกระทบ ๓ ฐานมีความรู้สึกแบบสบาย หรือมีจิตละเอียดไปยิ่งกว่านั้น รู้สึกลมไหลลงไปตั้งแต่ต้นยันท้อง ไหลจากท้องมายันจมูก ออกทางจมูกอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ ที่จะมีความรู้สึกอย่างนี้ต้องปล่อยลมหายใจเข้าออกตามธรรมดา อย่าหายใจแรงๆยาวๆหรือบังคับให้หนักๆ อันนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปตามกฎธรรมดา ที่เราจะรู้ได้ก็โดยอาศัยสติสัมปชัญญะของเรามันดีหรือมันเลวเท่านั้น ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดี จิตเป็นสมาธิมากก็รับสัมผัสได้สามฐาน ถ้ามีอารมณ์ละเอียดไปกว่านั้นก็รู้ลมไหลเหมือนกับน้ำไหลเข้าน้ำไหลออก

    ถ้ารู้ลมได้ ๓ ฐานก็ดี หรือรู้ลมไหลออกไหลเข้าตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นฌาน เรียกว่าปฐมฌาน พร้อมกันก็ทรงคำภาวนาไว้ด้วย

    ถ้าภาวนาไปภาวนาไป รู้สึกว่าลมหายใจเบาลง เบาน้อยลง จิตใจมีความชุ่มชื่น คำภาวนาหายไปหยุดภาวนาไปเฉยๆ แต่มีใจสบาย ลมหายใจอ่อนลง มีความชุ่มชื่นมากกว่า จิตทรงมากกว่า อย่างนี้เป็นฌานที่ ๒

    ถ้าต่อไปความชุ่มชื่นหายไป มีแต่อาการเครียด จิตใจสบาย ลมหายใจเบาลง ได้ยินเสียงภายนอกน้อยลงไป เบาลงไปมาก จิตใจทรงตัวดิ่ง มีอาการไม่อยากเคลื่อน มีร่างกายคล้ายกับมีอาการทรงตัวเหมือนหลักปักแน่นๆ หรือว่าใครเขามัดตัวตรึงไว้เฉยๆไม่อยากเคลื่อน ใจสบาย แนบนิ่ง นิ่งสนิท จิตไม่อยากจะขยับเขยื้อนไปไหน อันนี้เรียกว่าฌานที่ ๓ นี่คำภาวนาไม่มีเหมือนกัน คำภาวนานั้นมีแค่ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือปฐมฌานเท่านั้น

    ต่อไปเริ่มต้นเราจับคำภาวนา แล้วก็ต่อมาปรากฎว่าจิตมีอารมณ์สว่างสดใส มีจิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ทรงตัวเป็นปกติไม่เคลื่อนไหวไปไหน ทรงตัวแบบสบาย มีความโพลงอยู่ในใจ เป็นความสว่างมาก แต่ว่าไม่ปรากฏลมหายใจ หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก แม้จะเอาปืนใหญ่หรือพลุมาจุดใกล้ๆก็ไม่ได้ยิน อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๔

    ถ้าจะถามตอบกันตามแบบฉบับของการเจริญสมาธิ ไอ้เรื่องยุงกินริ้นกัดนี่ มันไม่กวนใจเราตั้งแต่อุปจารสมาธิ พอจิตผ่านปีติเข้าถึงสุข มันจะมีความสุขเยือกเย็น มีความสบาย ไอ้เรื่องเสียงที่เราได้ยินก็เหมือนกัน มันก็ไม่กวนใจ ใจเราก็มีความสบาย ร่างกายก็ไม่ปวดไม่เมื่อย ไม่มีอะไรทั้งหมด มันสุขจริงๆ มีแต่ความชุ่มชื่น ยุงกินริ้นกัดหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้กัน ไม่รู้ว่ายุงมันกินหรือเปล่า แต่ว่าส่วนมากยุงไม่กวน แต่บางท่านก็กวนเหมือนกัน บางทีนั่งพอเลิกแล้วเป็นตุ่มหมดทั้งตัวปรากฏว่ายุงกัด แต่เวลาขณะปฏิบัติทรงจิตเป็นสมาธิไม่รู้สึกว่ายุงกัด นี่ความจริงเรื่องการสัมผัสกับอาการภายนอก แต่จิตไม่ยอมรับสัมผัสจากประสาทเริ่มมีตั้งแต่ตอนสุข เพราะคำว่าสุขนี่มันต้องไม่มีคำว่าทุกข์ มันสุขจริงๆหาตัวทุกข์ไม่ได้ ถ้าเมื่อยมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงมากวนที่หูมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงกินแล้วคันหรือเจ็บมันก็ไม่สุข มันเป็นทุกข์ นี่คำว่าสุขตัวนี้ก็ตัดอาการเหล่านี้ไปทั้งหมด

    ความจริงเรื่องเสียงก็ดี ที่เราจะรำคาญภายนอก หรือยุงกินริ้นกัดก็ดี มันตัดกันแค่สุขยังไม่ถึงปฐมฌาน แต่ว่าอาการของความสุขและปฐมฌานนี่มันใกล้เคียงกันมาก เขาบอกว่าห่างกันแค่เส้นผมผ่า ๘ เท่านั้น ขอบรรดาทุกท่านจำไว้ด้วย ถ้าว่าใครเขาถามละก็ตอบเขาแบบนี้ ถามว่ายุงกินไหม บอกบางองค์กินบางองค์ก็ไม่กิน ถามว่าทำไมยุงกินหรือไม่กิน กัดหรือไม่กัดไม่เหมือนกัน บางองค์ก็ถูกกวนบางองค์ก็ไม่ถูกกวน ก็ต้องตอบว่า ถ้าองค์ใดหรือท่านใดมีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน มีจิตทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ท่านผู้นั้นยุงไม่กินริ้นไม่กัด ถ้าบกพร่องในพรหมวิหาร ๔ มันกัดแน่ มันกินแน่ นี่ตอบเขาอย่างนี้ แล้วก็ตอบตัวของเราเองเสียด้วย

    นี่เป็นอาการของฌาน ๔ ปกติ เมื่อถึงฌาน ๔ แล้วก็ต้องพยายามทรงฌานทรงสมาธิจะเป็นอันดับไหนก็ตาม ให้มันมีความคล่องตัวที่เรียกว่า วสี จะเป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ อะไรก็ตาม ให้มันคล่องจริงๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรจิตเป็นสมาธิทันที เดินไปเดินมาเหนื่อยๆ นั่งปั๊บจิตจับปุ๊บเป็นสมาธิทันที นี่ต้องหัดให้คล่องอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌาน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำกันส่งเดชไป อารมณ์มันจะใช้อะไรไม่ได้ ถ้าทำกันส่งเดชได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาไม่ถือว่าได้ แต่ก็ยังดีตายเป็นเทวดาได้แต่เป็นพรหมไม่ได้ ถ้าจิตเราสามารถจะทรงฌานได้ทุกขณะจิตละก็เป็นพรหมได้แน่นอนเพราะเวลาที่ป่วยไข้ไม่สบายเกิดทุกขเวทนามาก เราก็เอาจิตจับเข้าฌานทันที ทุกขเวทนามันก็คลายตัว ดีไม่ดีไม่รู้สึกตัวเพราะจิตและประสาทมันไม่ยอมรับรู้ซึ่งกันและกัน มันแยกจากกันเด็ดขาด

    หากว่าเราจะทรงฌานด้านพุทธานุสสติกรรมฐานเข้าถึงฌานที่ ๘ เราจะทำอย่างไร
    แบบท่านบอกไว้ว่า พุทธานุสสติกรรมฐานและอนุสสติทั้งหมด เว้นไว้แต่อานาปานสติ จะเข้าถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ท่านว่าไว้อย่างนั้น เราก็ดัดแปลงให้เข้าถึงฌาน๘ เสียให้หมดมันจะเป็นยังไงไป ทำเป็นเสียอย่างเดียวมันก็ทำได้ เข้าใจแล้วก็ทำได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้จำกัด ถ้าเราจะทรงฌาน ๘ ทำยังไง

    แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็จับภาพพระพุทธรูป กำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออกภาวนาว่าพุทโธ ก็นึกเห็นภาพขององค์สมเด็จพระบรมครูจะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ให้ปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอกให้เห็นอยู่ในอกหรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด

    ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม อย่างนี้เรียกว่าอุคหสมาธิหรืออุคหนิมิต
    ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไปเปลี่ยนแปลงไปชักใหญ่ขึ้น จะสูงขึ้นจะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด นึกเห็นนะ ไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นชัดจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นอุปจารสมาธิตอนกลาง

    ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ข้างหลังก็ได้ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ท่านกล่าวว่าเป็นปฐมฌาน

    การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็นกสิณด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย

    ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่าคำภาวนาว่าพุทโธหายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็นฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน

    ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสมากขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็นฌานที่ ๓

    การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ สว่างไสวคล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌานที่ ๔ ก็ยังเป็นรูปฌานอยู่

    ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะทำเป็นอรูปฌาน จะทำอย่างไร เราจะทำถึงฌาน ๘ กันนี่ นี่เป็นวิธีแนะนำปฏิบัติตามผลแห่งการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เกาะตำราเสียจนแจ แล้วไปไหนไม่พ้น เขาทำแบบนี้

    จับภาพพระพุทธเจ้าองค์นั้นแหละ ที่เป็นประกายพรึกอยู่ เพ่งจับจุดให้จิตจับดีเมื่อจิตทรงอารมณ์ดีแล้วก็เพิกภาพนั้นให้หายไป คำว่าเพิกเป็นภาษาโบราณ คือนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป จับอากาสานัญจายตนะแทน คือพิจารณาอากาศว่า อากาศนี้หาที่สุดมิได้ มันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีจุดจบ จับอากาศเป็นอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ จิตทรงอยู่ในด้านของฌาน ๔ จับอากาศ ความหวั่น การเคลื่อนไหวของอากาศว่า ว่างมากโลกนี้หาอะไรเป็นที่สุดมิได้ หานิมิตเครื่องหมายอะไรไม่ได้เลย หาจุดจบไม่ได้ จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ทรงตัวดีแล้ว อย่างนี้จัดเป็นอรูปฌานที่ ๑ ถ้าจะเรียกกันว่าฌาน ก็เป็นที่ ๕ สมาบัติที่ ๕

    เมื่อจับอารมณ์ของอากาศได้แบบสบายๆ ใจสบาย นึกขึ้นมาว่าอากาศมันเวิ้งว้าง ทุกอย่างมันว่างเปล่าเป็นอากาศไปหมด โลกทั้งโลกไม่มีอะไรทรงตัว คนเกิดมาแล้วก็ตาย สัตว์เกิดมาแล้วก็ตาย ภูเขาไม่ช้ามันก็พัง บ้านเรือนโรงก็พัง ผลที่สุดมันก็ว่างไปหมด อย่างนี้เรียกว่าจิตเข้าถึงอากาศได้เป็นอย่างดี เป็นอากาสานัญจายตนะ

    ทีนี้ก็มาเป็นวิญญานัญจายตนะ นึกถึงวิญญาณ คือจิต สภาวะของจิต ที่มีอารมณ์คิดเป็นปกติ มันก็ไม่มีอาการทรงตัว มันหาที่สุดไม่ได้ มันไม่มีอะไรทรงอยู่เฉพาะแน่นอน เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็คิดอย่างโน้น ขึ้นชื่อว่าเอาจิตมีอารมณ์เกาะว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา นี่มันไม่ใช่มีอะไรจริง ความจริงจิตมีสภาพไม่นิ่ง จิตมีสภาพไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ต้องการอย่างโน้น จึงถือว่าอารมณ์ของจิตนี่หาที่สุดมิได้ นี่เราไม่มีความต้องการอารมณ์อย่างนี้ จนกระทั่งอารมณ์จิตของเรานี้มีความแนบแน่นสนิท ไม่มีความผูกพันอะไร ในด้านร่างกายก็ดี ในวัตถุก็ดี ไม่เอา แล้วก็ไม่สนใจ ต้องการอย่างเดียวอากาศ คือความว่างเปล่าปราศจากแม้แต่จิต ถ้าถือว่าขณะใดยังมีขันธ์ ๕ ยังมีภาพอยู่ ยังมีจิตเป็นเครื่องเกาะ มันมีความทุกข์อย่างนี้ ถ้าจิตมันทรงตัวทรงอยู่ได้ตลอดเวลา นึกขึ้นมาเมื่อไร อารมณ์ว่างไม่เกาะอะไรทั้งหมด มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน สภาวะทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย มันไม่มีอะไรทรงตัว มีอารมณ์ว่างหาที่สุดมิได้ ถ้าเราเกาะโลกอยู่เพียงใด ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีทุกข์

    นี่ อาการอย่างนี้คล้ายคลึงวิปัสสนาญาณมาก อย่างนี้เรียกว่าได้วิญญานัญจายตนะฌาน นี่เป็นอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ ถ้าไปอ่านตามแบบบางทีจะค้านกัน เมื่อเราได้วิญญานัญจายตนะฌานแล้ว ก็ชื่อว่าได้สมาบัติที่ ๖ อย่าลืมนะว่า เราต้องจับภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณก่อน ต่อมาเราก็เพิกให้หายไป ถือเอากสิณนำให้จิตมันจับเป็นอารมณ์ทรงตัวก่อนนั่นเอง เพราะกสิณเป็นของหยาบ ภาพพระพุทธรูปเป็นของหยาบ จับให้ทรงตัวแล้วจงนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป

    นี้ก็มาพิจารณาฌานที่ ๗ สมาบัติที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะฌาน พิจารณาว่าโลกนี้มันไม่มีอะไรเหลือเลยนี่ มันพังหมดมันสลายตัวหมด ตึกรามบ้านช่อง เขาสร้างขึ้นมาอย่างดีๆก็พัง บ้านเมืองเก่าๆ เขาสร้างแข็งแรงก็พัง กำแพงเมืองใหญ่อย่างกำแพงเมืองจีน กำแพงเมืองไทย กำแพงเมืองฝรั่ง เขาสร้างแข็งแรงมากที่สุด มันก็พัง ภูเขามันก็มีอาการผุ เขาเอาดินมาทำลูกรังมันก็ผุจมหายไปหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เรือนโรงก็ดี นี่เมื่อถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อากิญจัญญายตนะ นี่เขาแปลว่าหาอะไรเหลือไม่ได้ จิตใจว่างจากอารมณ์ เลยไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด อะไรเล่าที่เป็นสาระสำหรับเราไม่มี แม้แต่ร่างกายของเรานี้ไม่ช้ามันก็พัง การทรงร่างกายอยู่อย่างนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมีร่างกายอีก ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวได้ดีแล้ว ก็ชื่อว่าเราได้อากิญจัญญายตนะฌาน เป็นสมาบัติที่ ๗




    นี้มาสมาบัติที่ ๘ จับภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ทรงอารมณ์แจ่มใสให้ใจสบายเป็นอุเบกขารมณ์ อรูปฌานนี่ก็ทรงฌาน ๔ นั่นเอง แต่มาจับเป็นส่วนอรูป อารมณ์มันเท่ากัน มาจับเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรามีสัญญาความรู้สึก ทำตนเหมือนคนไม่มีสัญญา เพราะเห็นว่าร่างกายไม่มีสาระ ร่างกายไม่มีแก่นสาร ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ วัตถุทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยจริงจัง ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ทีนี้เวลาร่างกายมันจะหิว มันมีอาหารกินก็กิน ไม่มีกินก็ทำสบาย รู้สึกว่าหิวแล้วทำเหมือนว่าไม่หิว มันหนาวมันไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปกปิดก็นอนมันเฉยๆ มันหนาวก็หนาวไป ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่หนาว ร้อนก็เฉยๆ ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่ร้อน ใครเขาด่าว่าอะไรก็ทำเหมือนว่าไม่มีคน ไม่สนใจกับอะไรทั้งหมด มีสัญญาก็เหมือนกับคนที่ไม่มีสัญญา คือความจำมันมีอยู่แต่ทำเหมือนกะคนที่ไม่มีความจำ ทำแบบนี้แล้วจิตมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตมันเป็นสุขถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หนาวก็หนาวไป ช่างหัวมันไม่สนใจ ร้อนก้อนไป มันอยากหิว หิวก็หิวไป ไม่มีจะกินก็แล้วไป มีกินก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน มันอยากจะแก่ก็แก่ไป มันอยากจะป่วยก็ป่วยไป มันจะตายเมื่อไรก็ช่างหัวมัน ขันธ์ ๕ ไม่ดีไม่มีประโยชน์ เพราะเรามีขันธ์ ๕ คือ ร่างกาย เราจึงมีร้อน มีหนาว มีสุข มีทุกข์ มีหิว มีกระหาย มีปวดอุจจาระปัสสาวะ ขันธ์ ๕ มันไม่ดี เราไม่ตั้งใจจะคบเลย ไม่ต้องการจำอะไรมันทั้งหมด ไม่สนใจอะไรกับมันเลยทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาบัติที่ ๘ นี่อาการมันใกล้วิปัสสนาญาณเต็มที ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงกล่าวว่า คนที่ได้สมาบัติ ๘ แล้ว ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณพระโบราณาจารย์สมัยโบราณท่านบอกว่าเพียงแค่เคี้ยวหมากแหลกเดียวก็เป็นพระอรหันต์

    หากว่าเราได้สมาบัติ ๘ แบบนี้แล้ว ใช้สมาบัติ ๘ เป็นพื้นฐาน พิจารณาวิปัสสนาญาณในด้านสังโยชน์ ๑๐ คือ มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น หรือว่าพิจารณาอริยสัจ ๔ วิปัสสนาญาณ ๙ หรือพิจารณาขันธ์ ๕ ก็ตาม ประเดี๋ยวเดียวมันก็เป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา พอเข้าถึงพระอนาคามี เราก็ได้ปฏิสัมภิทาญาณ มีกำลังครอบงำวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ทั้งหมดเราได้ไปหมดเลย ไม่ต้องไปฝึกกันเหมือนสมัยเป็นฌานโลกีย์ อะไรก็ตามที่พระวิชชา๓ ทำได้เราก็ทำได้ พระอภิญญา ๖ ทำได้เราก็ทำได้ การรู้ภาษาคน ภาษาสัตว์ ไม่ต้องเรียนรู้หมด เข้าใจหมดทุกอย่าง มีความฉลาดในการย่อข้อความที่เยิ่นเย้อ ข้อความที่ยาวเราย่อให้สั้นแบบได้ความ เขาพูดมาสั้นๆ เราขายออกไปให้ยาวให้ได้ความชัด เราทำได้อย่างดี อย่างนี้เรียกว่าปฏิสัมภิทาญาณ

    เอาละบรรดาทุกท่านวันนี้เราพูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานถึงจุดนี้ สมาบัติ ๘ ซึ่งท่านทั้งหลายไม่เคยฟังมาก่อน แต่ว่าผมทำมาก่อน ผมทำได้ ที่พูดให้ฟังนี่ผมทำได้ แต่ว่าทำตามอาจารย์สอนไม่ใช่ผมสร้างขึ้นเอง ความจริงความรู้นี้องค์สมเด็จพระบรมครูก็ทรงแนะนำไว้ แต่ว่าไม่มีใครนำมาสอนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลยนะ มีใครมาสอนกันผมก็ไม่รู้ ที่ผมรู้ขึ้นมาได้ก็เพราะอาจารย์รุ่นก่อนท่านมีความฉลาด สามารถดัดแปลงคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ไม่ใช่ดัดแปลงหรอก เอามารวมกัน เอาอนุสสติ คือพุทธานุสสติ อานาปานสติ กสิณเข้ามารวมกันเข้าหมดเป็นจุดเดียวกันเมื่อได้เข้าถึงฌานที่ ๔แล้ว ก็จับเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณยืนโรงแล้วก็เพิก จับอรูปฌาน นี่ความฉลาดของการเจริญพระกรรมฐานมีคุณแบบนี้
    เอาละสำหรับวันนี้การพูดสำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา



    อ้างอิง หนังสือกรรมฐาน ๔๐ โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
    ที่มา เว็บพระรัตนตรัย.คอม
    http://www.praruttanatri.com/book.php
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...