รู้ชัด-ตั้งมั่น-เห็นแจ้ง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 9 กุมภาพันธ์ 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    บทความนี้ เป็นการประมวลหลักธรรมตามหัวข้อ โดยจะอิงกับ พระไตรปิฎก พระสุปฏิปันโนผู้เชี่ยวชาญทางปริยัติ พระสุปฏิปันโนผู้เชี่ยวชาญทางปฏิบัติ เป็นหลักสำคัญ. ผู้รวบรวมจัดทำขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อผู้ศึกษาใหม่ ที่สนใจในการภาวนาเพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยเน้นที่การน้อมนำธรรมไปฏิบัติเพื่อการสิ้นทุกข์. จึงอาจจะไม่ใช่ลักษณะข้อมูลวิชาการทางพระพุทธศาสนา ที่มีรายละเอียดทางวิชาการมาก แต่อย่างใด. และ การภาวนาที่มีรายละเอียดมากไปกว่านี้ สมควรเข้าศึกษากับพระสุปฏิปันโนที่เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานโดยตรง

    บทความนี้ เสนอแยกเป็นประเด็น ดังนี้

    1.รู้ปัจจุบัน

    2. สติปัฏฐาน หนทางที่จะล่วงโศก

    3. สัมมาสติ แกนหลักขับเคลื่อนอริยมรรค

    4.สติปัฏฐานแบบใด ดีที่สุด

    5.สัมมาสมาธิ คือ อย่างไร

    6.ฌาน คือ อย่างไร

    7.การเจริญอริยมรรคโดยใช้วิปัสสนานำหน้า สามารถเกิดสัมมาสมาธิได้ไหม

    7.สมถะ-วิปัสสนา-อริยมรรคสมังคี

    8.การใช้อานาปานสติสนับสนุนการเจริญสติปัฏฐาน

    9. เห็นแจ้ง


    http://larndham.net/index.php?showtopic=34744
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    1.รู้ปัจจุบัน


    การที่จิตไปกังวลอยู่กับอดีต และ ฟุ้งซ่านไปยังอนาคต จึงเป็นเหตุให้จิตมีการปรุงแต่งตามวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทัยวาร(เกิดทุกข์) เป็นความยึดมั่นถือมั่น และเป็นทุกข์ ในที่สุด .
    สัมมาสติ ที่ระลึกทัน ในกาย เวทนา จิต ธรรม ณ ปัจจุบันขณะ เท่านั้น จึงจะนำไปสู่สัมมาสมาธิ และ สัมมาญาณะ ตามหลักการ “รู้ชัด-ตั้งมั่น-เห็นแจ้ง”(สติ-สมาธิ-ปัญญา) ซึ่งการปรุงแต่งจะยุติ และ พ้นทุกข์ได้ ในที่สุด

    รู้ปัจจุบัน คือ การรู้ชัด ของสภาวธรรม ในปัจจุบันขณะ

    จาก พระพุทธพจน์

    ”....ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ
    อะสังหิรัง อะสังกุปปัง ตัง วิทธา มนุพรูหะเย
    ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆอย่างแจ่มแจ้ง
    ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้…”



    ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้แสดง อานิสงส์ของสติในปัจจุบัน ไว้ดังนี้

    ”....โยนิโสมนสิการแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ เป็นกระบวนการในสติปัฏฐาน 4
    ลักษณะของความคิดที่ไม่เป็นปัจจุบัน ก็คือ ความคิดที่เกาะติดอยู่กับอดีตและอนาคต
    การที่อารมณ์เกาะติดกับอดีตหรืออนาคต ทำให้เกิดความทุกข์เรียกร้องโหยหาอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านเปิดช่องให้กิเลสตัณหาเข้ามาทำงานได้

    อนึ่ง ความเข้าใจในคำว่าปัจจุบันในทางธรรม ไม่ตรงกับทางโลก
    คือปัจจุบันของทางโลกครอบคลุมช่วงเวลาที่กว้างขวางมากและไม่ชัดเจน
    ส่วนความหมายในทางธรรม ปัจจุบันหมายถึงขณะเดียวที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้หรือต้องทำอยู่ในขณะนั้นๆ

    ถ้าจิตเกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจขึ้นมาในอารมณ์ ....ทันทีที่เกิดสติ อารมณ์นั้นจะตกเป็นอดีตไปทันที ความฟุ้งจึงเกิดขึ้นไม่ได้ อารมณ์ที่ชอบชังก็ตกกลายเป็นอดีตไปในทันที
    คำว่าปัจจุบันในทางธรรม จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งนัก….”



    โอวาทธรรมของ หลวงปู่ แหวน สุจิณโณ พระสุปฏิปันโนผู้ล่วงลับ
    ได้กล่าวถึง การรู้ปัจจุบัน ไว้ว่า

    ”....รู้ปัจจุบัน ละปัจจุบัน เป็นธรรมโม
    ถ้าไปยึดถืออดีต-อนาคตเท่ากับไปเก็บไปถือของปลอม
    ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัตตัง
    รู้เฉพาะตน ละเฉพาะตน วางเฉพาะตน หมุนเข้าหากายหาใจนี่แหละ ถ้ามัวเอาอดีต-อนาคตจะกลายเป็นแผนที่ไป...
    แผนที่ปริยัติธรรม จำมาได้มาก จึงไปยึดไปถือ อย่างนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ทั้งอดีต-อนาคต ทำให้ยิ่งห่างจากการรู้กายรู้ใจของเรา
    ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็กลายเป็นเชื้อของกิเลสที่อยู่ในแผนที่ใบลานแต่ไม่เดือดร้อน
    ถ้าหากมาอยู่ในใจจะทำให้เดือดร้อน

    เพราะฉนั้นถ้าเกิดขึ้นในใจ ให้เอาใจละ เอาใจวาง เอาใจออก เอาใจถอน ปัจจุบันเป็นอย่างนี้
    ไม่ใช่จำปริยัติได้มาก พูดได้คล่อง เวลาเอาจริง ๆ ก็ไม่รู้จะจับอันไหนเป็นหลัก
    ปัจจุบันธรรมต้องรู้แจ้งเห็นแจ้งในกายใจของตน ต้องละวางถอดถอนในปัจจุบัน จึงจะใช้ได้...”

    และ

    “มีสติแล้ว มีปัญญา….เมื่อไม่มีสติมันก็เผลอ เผลอแล้วมันก็หลงไป.
    ครั้นไม่เผลอแล้วมีสติแนบอยู่ทุกเมื่อแล้ว คิดดีก็ดับลง คิดชั่วก็ดับลง พอใจก็ดับลง ไม่พอใจก็ดับลง. เอาลงทันทีนั่นล่ะ…..มีสติแล้วก็ใช้ได้ ใจเบิกบานขึ้น ปัจจุบันมีสติพร้อมกันกับคิด…..คิดผิดก็ดี คิดถูกก็ดี รู้พร้อมกันก็ดับทันที เรียกว่า สติ ….สัมมาสติ สติสัมโพฌงค์….ๆลๆ

    อุบายก็อาศัย ความเพียรความหมั่นนั่นล่ะ…..ตั้งอยู่นั้นล่ะ ตั้งดูมันอยู่นั้นล่ะ…..มันปรุงขึ้นรู้ทันที เป็นสติ…..”
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    2.สติปัฏฐาน หนทางที่จะล่วงโศก



    พระพุทธพจน์ จาก มหาสติปัฏฐานสูตร

    “...ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้…

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ

    ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกเหล่าภิกษุสาวกว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้
    หนทางนี้คือสติปัฏฐาน 4 ประการ …”




    อนึ่ง การเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นทั้งการเจริญ สมถะ และวิปัสสนาไปด้วยในตัว ดังที่ ปรากฏในพระสูตร

    [๘๓๑] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐอยู่อย่างนี้
    ชื่อว่า มีสติปัฏฐาน ๔
    สัมมัปปธาน ๔
    อิทธิบาท ๔
    อินทรีย์ ๕
    พละ ๕
    โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์

    บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือ สมถะและ วิปัสสนา คู่เคียงกันเป็นไป

    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎกที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์



    ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้สรุปประมวลสาระแห่งสัมมาสติ ไว้ในหนังสือพุทธธรรม ดังนี้

    สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ

    ”......สติปัฏฐาน แปลกันว่า ที่ตั้งของสติบ้าง การปรากฏของสติบ้าง ฯลฯ
    ถือเอาแต่ใจความง่ายๆ ก็คือ การใช้สติ หรือ วิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิดผลดีถึงที่สุด
    อย่างที่กล่าวถึงในพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า
    ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้ง
    หลาย เพื่อข้ามพ้นโสกะและปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส
    เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำ ให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี้คือสติปัฏฐาน

    การเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมา และยกย่อง
    นับถือกันอย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะ และวิปัสสนาในตัว.....”


    สติปัฏฐาน นั้นจึงเป็นหลักสำคัญของการภาวนา . สัมมาสติย่อมนำไปสู่สัมมาสมาธิ และ ปัญญาญาณ(สัมมาญาณะ)


    หลวงปู่ สิม พุทธาจโร ท่านได้แสดงความสำคัญของ สติ สมาธิ ปัญญา ไว้ดังนี้

    “.....เมื่อมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีความรอบรู้ทุกอย่างทุกประการ
    สิ่งใดควรละก็ละ สิ่งใดควรเจริญก็เจริญ สิ่งใดควรทิ้งแล้วควรปล่อยแล้วก็ปล่อยวางไป ไม่ต้องเอามายึดมาถือในหน้าในตา ในตัวในตน ในชาติในตระกูล ในตัวเราของเรา

    ตัวทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเลิกละออกไป พระพุทธเจ้า พระองค์ให้เจริญอยู่ในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ ก็ในสตินั้นเอง ในใจนี้แหละไม่ใช่ในที่อื่น ไม่ใช่เรื่องภายนอกอย่างเดียว ส่วนมากเป็นเรื่องภายใน

    เมื่อภายในมีสติ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตก็มีปัญญา…”





    ท่านผู้รู้ ท่านสอนไว้ว่า การเจริญสตินั้น พึงเพียรเจริญให้สืบเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้(วิริยินทรีย์) จนเป็น มหาสติ ที่เป็นเองโดยอัตโนมัติ(สตินทรีย์. ) แต่ ก็ต้องไม่ตั้งใจมากจนเกินไป จนกลายเป็นความเครียดเกร็ง หรือ อุทธัจจะฟุ้งซ่านไปเสีย . มันอยู่ตรงคำที่ว่า”พอดี”




    มีบทธรรมที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่อง สติอัตโนมัติ
    หลวง พ่อ พุธ ฐานิโย ท่านได้แสดงเรื่อง สติอัตโนมัติ ไว้ดังนี้

    “...ถ้าสติมันกลายเป็นมหาสติ จะสามารถประคับประคองจิตให้ดำรงอยู่ในสภาพปกติไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย
    เมื่อสติตัวนี้เป็นมหาสติแล้ว เพิ่มพลังขึ้นด้วยการฝึกฝนอบรม กลายเป็น สตินนทรีย์

    เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์แล้ว พอกระทบอะไรขึ้นมา จิตจะค้นคว้าพิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
    เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์ เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับว่า จิตของเราสามารถเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ หรือ เอากิเลสมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เพราะ สติตัวนี้เป็นใหญ่ย่อมมีอำนาจเหนืออารมณ์ และสามารถใช้อารมณ์ให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สติตัวนี้จะกลายเป็น สติวินโย

    ในเมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสติวินโย..... สมาธิ สติ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น...”
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    การฝึกตนให้มีสติควบคุมจิต นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการที่จะพ้นทุกข์.
    พระอาจารย์ ประสิทธิ์ ปุญญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านได้แสดงธรรมเกี่ยวกับบางส่วนของสติปัฏฐาน ไว้ดังนี้

    ”....การฝึกตนให้มี สติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นสิ่ง สำคัญต่อการดำรงชีวิต
    ผู้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา จะเป็นผู้ได้ รับประโยชน์ การกระทำกิจการใดๆ ก็ลุล่วงไปด้วยดี ไม่ค่อย มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น

    ๑. มีสติรู้ตัว รู้ลมหายใจเข้า-ออก
    มีสติอยู่รู้ว่า ขณะนี้ หายใจเข้ายาว-หายใจออกยาว ก็รู้อยู่
    หายใจเข้าสั้น-หายใจออกสั้น ก็รู้อยู่
    อาจจะ ใช้คำภาวนาในใจ อย่างใดกำกับตามไปด้วยก็ได้

    ๒. มีสติรู้ตัว ตามรู้จิต
    เมื่อมีสติ รู้ลมหายใจอยู่ ก็ตามรู้จิต
    ธรรมชาติของจิต มีความหลุกหลิก กลิ้งกลอกอ่อนไหว ว่องไว คิดเรื่อยเปื่อยไปได้ทั้งดีและชั่ว ต้องใช้สติต่างเชือกมัดจิตไว้กับหลัก คือลมหายใจให้ได้ จิตคิดวิ่งไปที่ไหน ก็ใช้สติระลึกรู้ตาม ไปประคองจิตไว้ไม่ให้คิดในเรื่องชั่ว อันเป็น บาปทุจริต ประคอง จิตไว้ให้คิดในเรื่องดี อันเป็นบุญสุจริต เท่านั้น ความผ่องใส ในจิตจะเกิดเพิ่มขึ้น ความทุกข์ก็จะค่อยสิ้นไป

    ๓. มีสติรู้ตัวทุกอิริยาบถของร่างกาย
    มีสติระลึก รู้ตัวตั้งแต่ตื่น นอนลืมตาขึ้นมาว่า ตื่นแล้วกำลังจะลุกขึ้นนั่ง ย่างก้าวเดินเข้าห้องน้ำ แปรงฟัน อาบน้ำ ขับถ่าย ๆลๆ มีสติระลึกรู้ตัวไปทั่วทุกสิ่ง ทั่วทุกอิริยาบถ เคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา ก้าวหน้า ถอยหลัง ก็ทำสติตามรู้ทุกอย่างไป แม้จะยังไม่บริบูรณ์ ด้วยจิตหนีหายหลบไป เมื่อรู้ตัวก็กำหนดสติต่อไป จะเกิดผล เป็นผู้มีพลัง สติคุมจิต ตั้งมั่นเกิดสมาธิ

    ๔. มีสติรู้ตัวพิจารณาให้เห็นความจริง มีสติพิจารณา ในความเป็น ธรรมชาติ ที่มีเห็นอยู่ รอบๆ ตัวเรานี้ ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไป เกิดมีขึ้นแล้ว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดนิ่ง แล้วก็ดับหายตายจากไป ไม่เราจากสิ่งนั้นไปก่อน สิ่งนั้น ก็ จากเราไปก่อน ไม่มีใครจะยึดเหนี่ยวรั้งสิ่งใดไว้ได้ เป็น ธรรมชาต ิที่เลื่อนไหลไปอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดาอย่ายึดถือไว้เป็นความทุกข์

    ๕. มีสติรู้ตัว ถอนความยึดถือ ในตัวตนเสีย มีสติพิจารณา ดูลงไป ที่ตัวเราเองว่า มีอะไรบ้าง หรือที่เราบังคับได้บ้าง ร่างกายนี้ตั้งแต่เกิดมา มีแต่ ความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง เกิดมาได้อย่างไร ไม่รู้ตัว เลย(หรือใครรู้ตัวบ้างช่วยบอกที) มารู้ตัวเอาก็ต่อเมื่อเติบโตพอจำความได้แล้ว ก็มีความเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดยั้ง แล้วก็ต้องตายไป ทำพิธีต่ออาย ุสืบชะตาอย่างไร ก็ต้องตายทุกคน แล้วจะยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเราได้อย่างไร ตายแล้วไม่เผาได ก็ฝังดินเท่านั้นเอง มันเป็นเพียงธรรมชาติ ที่เกิด ขึ้นแล้วก็ดับไป เราเพียงยืมใช้ได้อาศัยศึกษา รักษาไว้เป็นพาหนะ ให้ทำความดี เพื่อข้ามวัฎสงสารเท่านั้น

    ๖. มีสติรู้ตัว พูดจาให้น้อยลง พูดเท่าที่จำเป็น จะต้องพูด ด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ การพูดมากมีโอกาสพูดผิดได้มาก ไม่เกิดประโยชน์แล้วยังเป็นโทษอีกด้วย เป็นผู้ฟังแล้วตามคิด เลือกจำสิ่งดีๆ มาใช้จะได้ประโยชน์ กว่าคนพูดมาก มักขาดสติง่าย เป็นผู้ฟังที่โทษน้อย หรือไม่มีเลย แต่เป็นผู้ได้รู้มากกว่าผู้พูด

    ทั้ง ๖ ข้อนี้ ที่กล่าวมาแล้วนี้
    เป็นสิ่งที่ควรสนใจฝึกอบรมสติ ควบคุมจิต ให้เกิดพลังจิตที่มีประสิทธิภาพ ที่ควรแก่การงาน การกระทำกิจการงานใดๆ จะมีความสำเร็จ ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ เป็นพื้นฐานที่ถูกต้องต่อการดำรงชีวิต
    และการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า เจริญสู่ขั้นสูงได้ง่าย ต่อไป การฝึกฝนตนเอง ด้วยการมีสติควบคุมจิต ต้องใช้ความเพียรอย่างมาก เพียงใดก็ตาม ก็ อย่า ได้มีความท้อถอย
    ที่ใดมีความตั้งใจจริง เพียรพยายามอยู่ ความสำเร็จย่อมมี ตามมาอย่างมิสงสัย...”
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    3. สัมมาสติ แกนหลักขับเคลื่อนอริยมรรค



    พระสุปฏิปันโน ที่เป็นพระป่ากรรมฐานของไทยทั้งหลาย ท่านล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติสมาธิภาวนาทั้งสิ้น .
    แต่ สิ่งที่ท่านเน้นที่สุด คือ ” สติ”.


    โอวาทธรรม หลวงปู่ ชา สุภัทโท
    วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

    สิ่งที่รักษาสมาธิไว้ได้ คือสติ
    นี้เป็นธรรม เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง
    ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง

    สตินี้คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย
    ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาท
    ในระหว่างที่ขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย

    ธรรมคือสตินี้ คือความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตาม
    สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด
    ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายไม่สมบูรณ์
    อันนี้คือการควบคุมการยืน การนั่ง การนอน
    ไม่ใช่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น
    แต่เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอ มีความรู้อยู่เสมอ เป็นของที่มีอยู่เสมอ




    อนึ่ง สัมมัตตะ10(ตั้งหลักมรรค 8 เติมสัมมาญาณะ ความรู้ชอบ สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นโดยชอบ รวมเป็น 10) ซึ่งประกอบด้วย

    สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ
    สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

    สัมมาวาจา เจรจาชอบ
    สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ
    สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
    สัมมาวายามะ พยายามชอบ
    สัมมาสติ ระลึกชอบ
    สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ
    สัมมาญาณะ ความตรัสรู้ชอบ
    สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ

    ใน สัมมัตตะ10 นี้ แยกให้พิจารณาง่ายเข้า เป็น
    1.วิปัสสนาในขั้นอริยมรรค(สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ) และ วิปัสสนาญาณในขั้นอริยผล(สัมมาญาณะ)
    2.สมถะ ที่อยู่ในขั้นอริยมรรคทั้งหมด ประกอบ ด้วย อธิศีลสิกขา(หรือ ศีล ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ) และ อธิจิตตสิกขา(หรือ สมาธิ ได่แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
    3.สัมมาวิมุติ

    ใน อริยมรรคที่มีองค์แปด เป็นกระบวนการที่สืนเนื่องกันไป แยกขาดออกจากกันไม่ได้เลย

    มี (อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิ หรือ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เป็นตัวกำหนดทิศทางไว้แต่เบื้องแรก
    มี สัมมาสติ(หรือ การเจริญภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน) เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
    มี สัมมาสมาธิ เป็นที่ประชุมรวมลง(ดัง ใน มหาจัตตารีสกสูตร)
    มี สัมมาญาณะ(ปัญญาในขั้นอริยผล)เป็นผล
    และ มีสัมมาวิมุติ เป็นที่สุด

    ถ้าหาก สมาธิใดๆ ไม่มีสัมมาสติเป็นเหตุนำ สมาธินั้นๆย่อมไม่อยู่ในองค์แห่งอริยมรรค และ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ...
    และ สมาธินั้นๆ ย่อมไม่นำไปสู่ปัญญาญาณ(สัมมาญาณะ)ในขั้นอริยผล


    สัมมาสตินั้น เป็นตัวชับเคลื่อนหลักของอริยมรรค จึงอาจจะกล่าวได้ว่า

    ขอเพียงเจริญสัมมาสติให้ถูกต้องตามหลักสติปัฏฐานภาวนาแล้ว สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุติ จะปรากฏตามมาเอง....
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    4.สติปัฏฐานแบบใด ดีที่สุด



    สติปัฏฐานมีถึงสี่ฐาน ...ทำไมถึงมีสี่ฐาน....อย่างไรดีที่สุด?


    หลวงปู่ แหวน สุจิณโณ ท่านวิสัชชนาไว้ดังนี้
    ”สติปัฎฐานสี่
    สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการ
    แต่ทั้งสี่มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้น คือ เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน
    เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน.”




    ซึ่ง การเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็ แล้วแต่ละจริตนิสัยของบุคคลที่เหมาสมกับฐานใด... และ ขึ้นกับ สภาวธรรมต่างๆที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้นๆด้วย

    กายานุปัสสนา หมวดสัมปชัญญะบรรพ เช่น ที่หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย ท่านสอนบ่อยๆ
    การรู้ชัดในจิต หรือลักษณะต่างๆของจิต ที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนา เช่น ที่หลวงปู่ ดุลย์ อตุโล ท่านสอนบ่อยๆ
    แต่ บางท่านที่ชำนาญในปฏิจจสมุปบาท หรือ อริยสัจจ์สี่ ก็อาจจะเจริญแบบธัมมานุปัสสนาได้ เช่น แนวทางของสวนโมกขพลาราม เป็นต้น



    มันไม่มี สติปัฏฐาน ฐานใดๆ ที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆคน
    แต่ มีสติปัฏฐาน ในฐานต่างๆ ให้เลือก เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน


    ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า ไม่ว่าจะเจริญ สติปัฏฐาน ฐานไหน...ถ้าเจริญถูกต้อง สุดท้ายก็จะแจ้งแทงตลอดในทุกๆฐานในที่สุดเอง
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    5.สัมมาสมาธิ คือ อย่างไร



    สัมมาสมาธิ ที่อยู่ในพระสูตรโดยตรง มีกล่าวถึงคุณสมบัติไว้ คือ


    1. เป็นสมาธิที่มีกำลังแห่งสมาธิในระดับ รูปฌาน๑ ถึง รูปฌาน๔

    ”.....สัมมาสมาธิ เป็นไฉน

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

    เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะ
    วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่

    เธอมี อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

    เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส
    โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

    อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ …..”


    พระสูตรนี้ ตรัสแสดงไว้ใน มหาสติปัฎฐานสี่ สัจจบรรพ
    กล่าวคือ กำลังตรัสแสดงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อยู่
    และ การภาวนาตามหลักการแห่งสติปัฏฐานนั้น ก็คือ การเจริญสัมมาสตินั่นเอง(จากพุทธธรรม)

    อยากเสนอให้สังเกตุ คำว่า "ภิกษุในธรรมวินัย"ในพระสูตรนี้

    ซึ่งคำว่า ธรรมวินัย สื่อถึง การเดินตามทางแห่งอริยมรรค...ซึ่ง ก็ต้องมี(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิเป็นตัวกำหนดทิศทางเบื้องต้น และ มีสัมมาสติเป็นองค์ประกอบแห่งอริยมรรคอยู่แล้ว

    ด้วยว่า ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น ไม่มีฤาษีชีไพรที่ไหน จะสามารถตรัสรู้อริยมรรคได้เอง(ยกเว้น พระปัจเจกๆ) .ฤาษีชีไพรทั้งหลาย เจริญฌานสมาธิที่ไม่มี(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิเป็นตัวกำหนดทิศทางแต่เบื้องต้น และ ไม่มีสัมมาสติเป็นเหตุนำใกล้ ฌานสมาธินั้นๆจึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ และ ไม่นำไปสู่การเกิดปัญญาญาณพ้นทุกข์

    ฌานในพระสูตรนี้ จึงจำกัดเฉพาะ โลกุตรฌาน เท่านั้น



    2.สัมมาสมาธิในองค์มรรคนี้ เป็นสมาธิที่มีองค์แห่งอริยมรรคอีก7อย่างแวดล้อม(เป็นบริขาร)

    เช่น ที่ทรงแสดงใน มหาจัตตารีสกสูตร

    ”.....ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
    ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิ …..”


    สัมมาสมาธิ จึงหมายถึง
    "สมาธิขั้นแน่วแน่ ที่มี (อนาสวะ)สัมมาทิฎฐิ + (อนาสวะ)สัมมาสังกัปปะ+ (อนาสวะ)สัมมาวาจา+ (อนาสวะ)สัมมาอาชีวะ+(อนาสวะ)สัมมาสังกัมมันตะ+สัมมาวายามะ +สัมมาสติ ห้อมล้อม"

    ในมหาจัตตารีสกสูตร อริยมรรคห้าองค์แรก มีการตรัสแยกเป็น ระดับสาสวะ และ ระดับอนาสวะ . แต่ สัมมาวายมะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ กล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค
    ซึ่ง ถ้า ทิฏฐิหรือจุดเริ่มต้นกำหนดทิศทางเป็นสัมมาเสียแล้ว ... องค์แห่งอริยมรรคอื่นๆ ก็จะเป็นสัมมาตาม

    คำว่า "ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง" ซึ่งก็คือ "เอกัคคตารมณ์" ... เป็นเครื่องแสดงว่า จิตตั้งมั่นแน่วแน่ เป็นข้อสุดท้าย ในองค์แห่งฌาน
    เอกัคคตารมณ์ ก็ คือ ภาวะแห่งจิตที่ตั้งมั่น-ไม่ไหลไปจมกับอารมณ์
    อารมณ์ที่น่าพึงพอใจ จิตก็ไม่เป็นไปตาม
    อารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ จิตก็ไม่เป็นไปตาม
    เป็นจิตที่เป็นกลาง
    เป็นจิตที่เป็นหนึ่ง
    จิตที่ไม่ไหลไปกับอารมณ์ เป็นจิตที่มีคุณภาพ สามารถพิจารณาสภาวธรรมต่างๆตามที่เป็นจริง
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    6.ฌาน คือ อย่างไร



    ในสมัยพุทธกาล ไม่มีคำว่า "อัปานาสมาธิ"ที่บรรยายถึง สมาธิขั้นแน่วแน่ แต่อย่างใด.
    คำว่า อัปปานาสมาธินี้ เป็นคำที่อาจารย์รุ่นหลังพุทธกาลใช้กัน

    ภาษาที่ใช้ในพระสูตร จะใช้คำว่า "ฌาน"บรรยาย สมาธิขั้นแน่วแน่ . การใช้คำว่า ฌาน จึงเป็นการใช้ภาษาที่ดั้งเดิมสุด เหมือนในสมัยพุทธกาล

    ภาวะจิตที่มีเอกัคคตารมณ์ เรียกว่า จิตมีสภาวะแห่ง “ฌาน”

    ถ้า ฌาน นั้นๆเป็นผลสืบเนื่องจากสัมมาสติ และ มีสัมมาญาณะเป็นผล ก็จัดว่าเป็น โลกุตรฌาน คือ สัมมาสมาธิในองค์อริยมรรค
    ถ้า ฌาน นั้นๆไม่เป็นผลสืบเนื่องจากสัมมาสติ และ ไม่มีสัมมาญาณะเป็นผล ก็จัดว่าเป็น โลกียฌาน




    ตัวอย่าง คำว่า ฌาน ที่ปรากฏ ใน พระพุทธวจนะ
    “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส
    นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
    ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ นิพฺพานสฺ เสว สนฺติเก
    ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา
    ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
    ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้พระนิพพาน.”


    พระสูตรนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์ ของ โลกุตรฌาน(เอกัคคตารมณ์ที่ห้อมล้อมด้วยองค์แห่งอริยมรรคอีกเจ็ด) และ ปัญญา เป็นเครื่องส่งเสริมให้ใกล้พระนิพพาน (นิพพานสันติเก)

    ฌาน ในอรรถนี้ ย่อมหมายเอา โลกุตรฌาน หรือ สัมมาสมาธิของพระอริยะ




    ในบางพระสูตร จะมีการกล่าวถึงคำว่า สมาธินทรีย์ หรือ เอกัคคตาจิต ไว้โดยตรง เช่น

    จาก สัทธาสูตร

    “...ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต….”

    ซึ่ง เอกัคคตาจิต ก็ คือคุณสมบัติของฌาน นั่นเอง



    ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์
    ท่านกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากสมาธิภาวนาที่เป็นฌานมาช่วยสนับสนุนการเจริญปัญญา ไว้ดังนี้

    ”....ในภาวะแห่งฌานที่ปฏิบัติถูกต้อง เมื่อจิตเป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว จิตแนบสนิทกับอารมณ์หนึ่งเดียว สติยิ่งกำหนดชัดเจน ทำให้จิตเหมาะที่จะใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
    ไม่ใช่เป็นจิตที่เคลิบเคลิ้มเลือนหายหมดความรู้สึก ไม่ใช่อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Trance
    โดยเฉพาะฌานที่ 4 จะมีคำแสดงลักษณะว่า “อุเปกขาสติปาริสุทธิ จตุตถชฌาน” แปลว่า จตุตถฌานอันมีอุเบกขาเป็นเครื่องให้สติบริสุทธิ์
    และคำสรุปท้ายฌาน 4 เมื่อใช้เพื่อบรรลุวิชชาจะมีว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้มลทิน ปราศจากสิ่งมัวหมอง นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว จึงน้อมจิตนั้นไป (นำเอาจิตไปใช้) เพื่อ....” (เช่น ที.สี.9/132/102 และดาษดื่นในพระไตรปิฎกเกือบทุกเล่ม, คำอธิบายดู อภิ.วิ.35/683/352, วิสุทธิ.1/214)….”



    ซึ่ง ฌานที่มีสติบริสุทธิ์นี้ ย่อมหมายถึง ฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ.
    ใน ฌานที่เป็นสัมมาสมาธินี้ สามารถใช้พิจารณาธรรมได้.

    ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ ท่านสรุปประมวลไว้ดังนี้

    “..ในฌานเจริญวิปัสสนาหรือบรรลุมรรคผล ได้หรือไม่ ?
    -มักมีผู้สงสัยว่า ในฌาน จะเจริญวิปัสสนาได้หรือไม่ หรือว่าจะใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งใดๆได้หรือไม่ ?
    ผู้ที่เข้าใจว่าไม่ได้ มักอ้างเรื่ององค์ฌานว่า ในปฐมฌานมีวิตก และวิจาร พอจะคิดอะไรได้บ้าง แต่ฌานสูงขึ้นไปมีอย่างมากก็เพียง ปีติ สุข และเอกัคคตา จะคิดจะพิจารณาได้อย่างไร ?

    ความจริงองค์ฌาน เป็นเพียงองค์ประกอบที่เป็นเกณฑ์ตัดสินว่า ภาวะจิตนั้นเป็นฌานหรือไม่ และเป็นฌานขั้นใด มิใช่หมาย ความว่า ในฌานมีองค์ธรรมเพียงเท่านั้น

    อันที่จริงนั้น ในฌานมีองค์ธรรมอื่นๆ อีกมาก ดังที่ท่านบรรยายไว้ทั้งในพระสูตรและพระอภิธรรม (ชั้นเดิม) เช่น
    ม.อุ. 14/158/118 กล่าวถึงฌานตั้งแต่ปฐมฌานถึงอากิญจัญญายตนะทุกชั้น ล้วนมี องค์ธรรม เช่น ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นต้น
    ใน อภิ.สํ.34/139/44-274/108 แสดงองค์ธรรมทั้งหลายในฌานต่างๆ ทุกระดับ
    โดยเฉพาะใน ฌานที่เป็นโลกุตระ - (สงฺคณี อ. 336 ว่าเป็นฌานอัปปนาชั่วขณะจิตเดียว) มีทั้งอินทรีย์ 5 คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
    มีองค์มรรคครบทั้ง 8 มีสมถะและวิปัสสนาและองค์ธรรมอื่นอีกมาก
    (อภิ.สํ. 34/196/83)”
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย ท่านได้แสดงเรื่องฌาน ไว้ดังนี้

    “...ขอพูดถึงเรื่องฌาน ฌาน ว่าโดยสรุปมีอยู่ ๒ ประเภท

    ประเภทหนึ่งเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ลักษณะของอารัมมณูปนิชฌานมีปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติดังนี้
    ในเมื่อผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นสมาธิ ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรืออยู่ในระดับแห่งฌานขั้นที่ ๑,๒,๓,๔
    ฌานขั้นที่ ๑ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ฌานขั้นที่ ๒ มี ปีติ สุข เอกัคคตา
    ฌานขั้นที่ ๓ มี สุข เอกัคคตา
    ฌานขั้นที่ ๔ มี เอกัคคตา กับ อุเบกขา
    ฌานประเภทนี้เรียกว่า ฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติมีสิ่งรู้อยู่ในจุดเดียว ถ้าจิตเพ่งอยู่ที่นิมิต ก็รู้อยู่ที่นิมิตอย่างเดียว ถ้าจิตเพ่งรู้อยู่ที่จิตก็อยู่ที่จิตอย่างเดียว
    อาการแห่งความรู้หรือสิ่งต่างๆ ไม่ปรากฏขึ้น อันนี้เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ฌานในสมถภาวนา

    ประเภทที่ ๒ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปณิชฌานภาวนาสามารถทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิได้เหมือนกัน แต่เมื่อจิตสงบนิ่งอยู่ในระดับฌานขั้นที่ ๔ ซึ่งมีแต่เอกัคคตากับอุเบกขา ลักษณะของจิตสงบ นิ่ง สว่างไสว วางเฉยเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา แต่พร้อมๆ กันนั้น มีบางสิ่งบางอย่างผ่านเข้ามาเป็นเครื่องรู้ของจิต ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เหมือนตามกฎของธรรมชาติ บางทีจะมีปรากฏเหมือนๆ กับมีสิ่งผ่านเข้ามา เหมือนกับขี้เมฆ บางทีก็มีภาวะต่างๆ ปรากฏขึ้นในความรู้สึกของผู้ภาวนา
    แต่ผู้ภาวนานั้นรู้เฉยอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ จิตผู้สงบนิ่งนิ่งอยู่ สิ่งที่ผ่านเข้ามาก็ผ่านเข้ามาเรื่อยๆ จิตรู้สิ่งนั้น แต่ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร
    สิ่งที่ผ่านเข้ามานั้นมีความเปลี่ยนแปลง ยักย้ายไม่คงที่ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา จิตก็ดูอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ แต่หากไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนี้ความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใดๆ ทั้งสิ้น
    เป็นแต่สงบ นิ่ง สว่าง แล้วก็รู้เห็นสิ่งที่ผ่านเข้ามาอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่รู้เห็นนั้นไม่มีภาษา สมมติบัญญัติว่าจะเรียกว่าอะไร ลักษณะอย่างนี้
    ลักขณูปนิชฌาน เป็นฌานในการเจริญวิปัสสนา หรือเป็นการเจริญวิปัสสนาในฌาน…”
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    7.การเจริญอริยมรรคโดยใช้วิปัสสนานำหน้า สามารถเกิด สัมมาสมาธิ ได้ไหม



    ในปัจจุบัน จะได้ยินชาวพุทธรุ่นใหม่ปรารภ กันบ่อยๆว่า ไม่สามารถเจริญสมาธิภาวนาได้ เพราะสภาพของสังคมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญสมาธิภาวนาบ้าง หรือ บางท่านก็ไม่มีจริตนิสัยในการเจริญสมาธิภาวนา.

    จึงมีบางท่านอาจสงสัยว่า

    ถ้าไม่เจริญสมาธิภาวนาก่อน แต่ใช้การเจริญวิปัสสนาโดยตรงเลย สัมมาสมาธิ จะบังเกิดขึ้นตามมาเองได้ไหม และ เกิดได้อย่างไร?



    ในระดับพระสูตร พระอานนท์ท่านได้สรุปประมวล แนวทางการเจริญ สมถะ-วิปัสสนา ไว้ดังนี้

    “....ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า
    (หรือ).... เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า....
    (หรือ).... เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป....
    มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด....”

    ปฏิปทาวรรค ที่ ๒



    สัมมาสมาธิ เป็นจุดประชุมขององค์แห่งอริยมรรคทั้งเจ็ด ก่อนที่จะบังเกิดผลเป็น สัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุติ

    ถ้า ปฏิบัติถูกตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้.... ไม่ว่าปฏิบัติแบบแนวทางไหน จะใช้สมถะ หรือ ใช้วิปัสสนานำหน้า....สัมมาสมาธิ ก็จะต้องบังเกิดขึ้นแน่นอน.

    เพราะ ถ้าหากปราศจาก สัมมาสมาธิ เสียแล้ว มรรคย่อมไม่ครบองค์ประกอบ และมรรคสมังคี ย่อมไม่บังเกิดขึ้น......


    แม้นแต่ท่านที่เจริญอริยมรรคโดยใช้วิปัสสนานำหน้า... สมถะ ก็จะบังเกิดตามมาเอง

    ดังปรากฏในพระสูตร

    พระไตรปิฎกเล่มที่ 31 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 23
    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา

    ”....[๕๓๗] ภิกษุนั้นย่อม เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น อย่างไร ฯ

    วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

    ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ เพราะความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านเป็นสมาธิ ด้วยประการดังนี้

    วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง
    เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ฯ “



    (ปล. “การเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น” คืออย่างเดียวกันกับ “การเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า”. และ “ความที่จิตมีอารมณ์เดียว” คือ เอกัคคตารมณ์ )



    ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์
    ท่านวิสัชนาประเด็นนี้ ไว้ดังนี้ (จาก หนังสือพุทธธรรม)

    "ข้อที่2 สมถะมีวิปัสสนานำหน้า
    ๆลๆ
    ขยายความ ตามอรรถกถาว่า ผู้ปฏิบัติยังมิได้ทำสมถะให้เกิดขึ้นเลย แต่มาพิจารณาเห็นแจ้งอุปาทานขันธ์๕ ตามสามัญลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น อันนับว่าเป็นวิปัสสนา
    พอวิปัสสนาเต็มเปี่ยมดี จิตก็จะเกิดภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียว(=เป็นสมาธิ)ขึ้น โดยมี***ความปล่อยวาง***ธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเองเป็นอารมณ์ อันนับว่าเป็นสมถะ
    เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม อรรกถาสรุปว่า

    ไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า
    หรือ เจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้าก็ตาม
    เมื่อถึงขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะต้องเกิดขึ้นด้วยกันอย่างควบคู่ เป็นการแน่นอนเสมอไป


    ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าโดยหลักพื้นฐานแล้ว สมถะและวิปัสสนาก็คือองค์ของมรรคนั่นเอง.
    วิปัสสนา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ.
    สมถะได้แก่ องค์มรรคที่เหลืออีก6ข้อ.


    ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ที่องค์มรรคเหล่านี้ จะต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ในขณะบรรลุอริยภูมิ "



    อนึ่ง การที่เจริญปัญญา แล้วปัญญาที่ได้รับการเจริญให้ดีแล้วนั้น ย้อนกลับมาสนับสนุนสมาธิ พระสุปฏิปันโน ท่านจะเรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ".
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย

    ท่านได้แสดงธรรม ในการเจริญวิปัสสนาโดยไม่ได้เจริญสมาธิภาวนามาก่อน เอาไว้ดังนี้

    “...ถ้าท่านผู้ที่บริกรรมภาวนา จิตมันไม่เคยสงบเป็นสมาธิซักที
    จะไปรอให้มันสงบ มันไม่เคยสงบซักที ก็มาพิจารณาซิ

    ยกเรื่องอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ได้ ซึ่งมันเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ พิจารณาไปจนกระทั่งจิตมันคล่องตัว
    พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็เป็นทุกข์ อันนั้นก็เป็นอนัตตา

    คิดเอาตามสติปัญญาที่เราจะคิดได้
    คิดย้อนกลับไปกลับมา กลับไปกลับมา กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ คิดจนกระทั่งมันคล่องตัว จนกระทั่งเราไม่ได้ตั้งใจคิด จิตมันคิดของมันเอง ซึ่งมันอาจจะเอาเรื่องอื่นมาคิดอยู่ไม่หยุดก็ได้

    เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็เข้าลักษณะเหมือนกันกับภาวนา

    ถ้าจิตมันคิดของมันเอง สติรู้พร้อมอยู่เอง มันก็ได้วิตก วิจาร
    ในเมื่อจิตมีวิตก วิจาร เพราะความคิดอ่านอันนี้ มันก็เกิดมีปีติ มีความสุข มีเอกัคตา
    มันจะสงบลงไปเป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

    หรือบางทีมันอาจจะไม่สงบถึงอัปปนาสมาธิ พอถึงอุปจารสมาธิ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา
    มันก็จะทำหน้าที่พิจารณาวิปัสสนาของมันตลอดวันยันค่ำ ตลอดคืนยันรุ่ง

    เพราะฉะนั้นอย่าไปติดวิธีการ

    ถ้าใครไม่เหมาะกับการบริกรรมภาวนา ก็ไม่ต้องไปบริกรรมภาวนา
    ถ้าจิตของท่านผู้ใดไปเหมาะสมกับการกำหนดรู้จิตเฉยอยู่ โดยไม่ต้องนึกคิดอะไร เป็นแต่เพียงตั้งหน้าตั้งตาคอย
    จ้องดูความคิดว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นแค่นั้น
    อะไรเกิดขึ้นรู้ อะไรเกิดขึ้นรู้ รู้ ๆ ๆ เอาตัวรู้อย่างเดียว
    หรือบางทีบางท่านอาจจะใช้ความคิดอยู่ไม่หยุด
    หรือบางท่านอาจจะฝึกหัดสมาธิ โดยวิธีการทำสติตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต
    ทุกลมหายใจ ก็สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเป็นนักปฏิบัติ เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงกันจริง ๆ แล้ว อย่าไปติดวิธีการ
    ให้กำหนดหมายว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นวิธีการปฏิบัติ
    …”
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    8. การใช้อานาปานสติสมาธิภาวนา สนับสนุนการเจริญสติปัฏฐาน




    อานาปานสติกรรมฐาน นั้น ปรากฏอยู่ในหมวดกายานุปัสสนาของมหาสติปัฏฐานสูตร และ มีปรากฏรายละเอียดมากกว่านั้น ในอานาปานสติสูตร.

    มีพระพุทธพจน์ แสดงถึง ถึงความสัมพันธ์ของ อานาปานสติ สติปัฏฐานสี่ โพชฌงค์เจ็ด วิชชา-วิมุติ

    "ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ อานาปานสติสมาธิ (สมาธิ ซึ่งมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์) อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน(การตั้งสติ)๔ อย่างให้บริบูรณ์
    สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้โพชฌงค์ (องค์ประกอบแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้) ๗ อย่างให้บริบูรณ์
    โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา (ความรู้) วิมุติ (ความหลุดพ้น) ให้บริบูรณ์."
    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๔๑๗

    “...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด ยังเป็นเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา) ยังมิได้บรรลุอรหัตตผล เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม อันปลอดโปร่งจากโยคะ (เครื่องผูกมัด) อยู่ สมาธิที่มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน)."
    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๔๑๓




    ท่านพุทธทาสภิกขุ
    ได้กล่าวถึง อานาปานสติไว้ว่า

    “ ขอให้ ฆราวาสทั่วไป ได้มีโอกาส ทำสมาธิ ชนิดที่อาจทำ ประโยชน์ทั้ง ทางกาย และทางใจ สมความต้องการ ในขั้นต้น เสียชั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้ชื่อว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา ครบสามประการ หรือ มีความเป็น ผู้ประกอบตนอยู่ใน มรรคมีองค์แปดประการ ได้ครบถ้วน

    แม้ในขั้นต้น ก็ยังดีกว่า ไม่มีเป็นไหนๆ
    กายจะระงับ ลงไปกว่า ที่เป็นอยู่ ตามปรกติ ก็ด้วยการฝึกสมาธิ สูงขึ้นไป ตามลำดับๆ เท่านั้น

    และจะได้พบ สิ่งที่มนุษย์ ควรจะได้พบ อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ไม่เสียที ที่เกิดมา.”




    หลวงปู่ มั่น ภูริทัตโต
    ท่านได้มีโอวาทธรรม แด่ หลวงปู่ หล้า เขมปัตโต เกี่ยวกับอานาปานสติ ดังนี้

    “กรรมฐานสี่สิบห้องเป็นน้องอานาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลาย"


    และ มีบทความแสดง การใช้เอกัคคตาจิตมาช่วยสนับสนุนการเจริญปัญญา
    มีปรากฏ ในหนังสือ ปฏิปัตติวิภัชน์ แจกในงานถวายเพลิงศพของ หลวงปู่ มั่น ภูริทัตโต เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓ ดังนี้

    ”....การพิจารณานั้น ไม่ใช่ให้นึกหรือคิด

    คือ มีสติสงบใจให้เป็นอารมณ์เดียวแล้ว จึงสังเกตดูว่า อย่างนี้ธาตุดิน อย่างนี้ธาตุน้ำ อย่างนี้ธาตุไฟ อย่างนี้ธาตุลม อย่างนี้ธาตุอากาศ อย่างนี้วิญญาณธาตุ แล้วสังเกตดูความเกิดขึ้นของธาตุ ๖ และความดับไปของธาตุ ๖ ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร
    ไม่ใช่ให้นึกหรือคิด ...เพราะ ความคิดนั้น ปิดความเห็น
    เพราะฉะนั้นจึงต้องสงบใจ ไม่ให้มีนึกมีคิด

    วิธีพิจารณานั้น ท่านคงเข้าใจว่าใช้ความนึกคิด...
    เพราะใจที่ยังไม่สงบนั้น การปฏิบัติจึงใช้นึก ใช้คิด ก็เป็นชั้นสัญญา ไม่ใช่ชั้นปัญญา

    เพราะปัญญานั้นไม่ใช่คิดหรือนึกเอา เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นต่อจากจิตที่สงบแล้ว และพ้นจากเจตนาด้วย....




    นอกเหนือจาก อานาปานสติสมาธิภาวนาแล้ว
    การเจริญสมาธิแบบอื่นๆ ก็สามารถใช้เป็นกุศโลบายสนับสนุนการเจริญสติปัฏฐานได้เช่นกัน.
    ดังปรากฏ ในคำสอนของ หลวงปู่ มั่น ภูริทัตโต ที่มีแด่ หลวงปู่ แหวน สุจิณโณ ดังนี้

    "......การแนะนำให้ศิษย์ปฏิบัติภาวนานั้น
    หลวงปู่มั่นท่านย้ำอยู่เสมอว่า จะใช้"พุทโธ"เป็นบทบริกรรมสำหรับผูกจิตก็ได้

    เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสีย..... แล้วพิจารณาร่างกาย

    ครั้งแรกให้พิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เราสามารถจะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวกในอาการ๓๒ เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจน กลับไป-กลับมา หรือที่เรียกว่าอนุโลม-ปฏิโลมแล้ว
    เมื่อหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่นต่อไป.อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างทั้งร่างกาย ความชัดเจนจะไม่ปรากฏ....ต้องค่อยเป็นค่อยไป.....
    เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว เมื่อเราเพ่งปัญญาลงไปจุดใดจุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆก็จะปรากฏเป็นนัยเดียวกัน.....
    เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ให้น้อมจิตเข้าพักอยู่ในความสงบ....เมื่อพักอยู่ในความสงบพอสมควรแล้วให้ย้อนกลับออกมาพิจารณาร่างกายอีก
    ให้เจริญอยู่อย่างนี้ จึงจะเจริญทางด้านปฏิบัติ....

    เมื่อจิตมีความชำนาญเพียงพอแล้ว......... คำบริกรรม"พุทโธ"ก็ไม่จำเป็น เพียงกำหนดจิตก็จะสงบเข้าสู่สมาธิทันที....."



    หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโน
    ท่านเคยแสดงธรรม ในการใช้ประโยชน์จากสมาธิภาวนามาสนับสนุนการเจริญมรรคด้านปัญญา ไว้เช่นกัน ดังมีเนื้อความ ดังนี้
    (จาก หนังสือ จิตพระอรหันต์ หน้า 22)

    "...นั่นจึงเรียก สติปัญญาอัตโนมัติ คือ หมุนไปเอง ความเพียรเป็นไปเอง
    ต้องได้รั้งเอาไว้ ไม่อย่างนั้นจะเลยเถิด
    คำว่า"รั้ง"คือ การย้อนจิตเข้าสู่ความสงบ คือ สมาธิ เพื่อพักผ่อนอารมณ์ที่ตึงเครียดกับงาน
    การทำงาน ถึงจะมีผลของงานปรากฏก็ตาม แต่ทำไม่หยุด ก็ตายได้
    ๆลๆ
    ......เราก็พักเสียในขณะนั้น เพื่อเป็นกำลังหนุนปัญญา ให้คล่องตัว และ เฉียบขาดในการพิจารณา เช่นเดียวกับมีดที่ได้ลับหินแล้วย่อมคมกล้า ตัดฟันอะไรขาดได้รวดเร็วทันใจ ปัญญาที่ได้รับการหนุนจากสมาธิย่อมทำงานคล่องตัว..."
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    แต่ทั้งนี้ ก็หาใช่ว่า ถ้าไม่เจริญอานาปนสติแล้ว จะไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานหมวดอื่นๆได้ผล.

    ด้วยปรากฏว่า ในสมัยพุทธกาลก็มีพระสาวกที่บรรลุธรรมด้วยการฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์เพียงครั้งเดียว โดยไม่ได้เคยฝึกเจริญอานาปนสติมาก่อนเลยก็มี. และ มีพระสาวกหลายองค์ที่บรรลุธรรมด้วยกรรมฐานอื่นๆ แม้นแต่สามารถบรรลุธรรมด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์โดยตรงแล้วบังเกิดเอกัคคตาจิตตามมาภายหลัง(เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า) ก็มี. ลักษณะเช่นนี้ น่าจะเป็นจากจริตนิสัย พื้นฐาน ที่แตกต่างกันไป ในแต่ล่ะบุคคล.

    ท่านผู้รู้ ท่านเคยกล่าวเปรียบเทียบ เรื่องการเจริญสมาธิภาวนาไว้ว่า เหมือนกับ ต้นไม้.

    บางพันธ์ชอบน้ำมาก(เจริญสมาธิภาวนามากแล้ว เจริญสติปัฏฐานได้ดีขึ้น)
    บางพันธ์ชอบน้ำปานกลาง(เจริญสมาธิภาวนาพอสมควรแล้ว เจริญสติปัฏฐานได้ดีขึ้น)
    บางพันธ์ไม่ชอบน้ำมาก รดน้ำมากเฉาตายไปเลย(เจริญสมาธิภาวนามาก แต่กลับทำให้เจริญสติปัฏฐานได้ไม่ดี)


    ประเด็นนี้ ถ้าเราไม่ใช้ตัวเรา หรือ แนวทางของเรา เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ...แต่ เปิดใจมองให้กว้างๆ ว่าหมู่สัตว์มีจริตนิสัยที่แตกต่างกันไป มีพื้นฐานปัจจัยที่แตกต่างกันไป ก็จะเข้าใจจุดนี้ได้ง่ายขึ้น



    ข้อพึงระลึก ในการเจริฯสมาธิภาวนา

    ในขณะที่สมาธิภาวนาสามารถใช้ประโยชน์สนับสนุนการเจริญปัญญาได้นั้น. ก็ มีข้อที่พึงระลึกไว้ว่า ไม่ควรหลงกับผลด้านอื่นๆที่อาจเกิดจากโลกียฌาน เช่น การหยั่งรู้ที่เหนือระบบประสาทปกติ หรือ เพียงไปติดตันยินดีในความสุขสงบที่เกิดจากสมาธิภาวนา จนละเลยการนำสมาธิภาวนานั้นๆมาใช้ประโยชน์สนับสนุนการเจริญมรรคด้านปัญญา.


    ดัง ปรากฏโอวาทคำสอนของ หลวงปู่ มั่น ภูริทัตโต
    ที่มีแด่ หลวงตา มหาบัวญาณสัมปันโน ดังนี้

    "ท่านจะนอนตายอยู่ในสมาธิอยู่นั้นเหรอ สุขในสมาธิเปรียบเหมือนเนื้อติดฟัน ติดในสมาธิเหมือนเนื้อติดฟัน มันสุขมากหรืออย่างไรเนิ้อติดฟัน สมาธิทั้งแท่งคือสมุทัยทั้งแท่ง มันไม่ใช่สมาธิตาย นอนตายอยู่กับสมาธิอย่างนี้หรอก

    สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา

    อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธิแบบนอนตายอยู่อย่างนี้นะเหรอจะเป็นสมาธิของพระพุทธเจ้า"



    หลวงปู่ หล้า เขมปัตโต
    ท่านก็ เคยกล่าวเตือนไม่ให้ผู้เจริญสมาธิภาวนาติดตันยินดีในธรรมอันละเอียดนั้นๆ

    “....กรรมะฐานทั้งหลายก็ดี สมาธิก็ดี ฌานก็ดี สมาบัติใด ๆ ก็ดี อยู่ใต้อนิจจังอันละเอียดทั้งนั้นแหละ
    เพราะว่า หมดกำลังก็ถอนออกมา
    จะอยู่ยั้งยืนยงคงที่ยอมเป็นไปไม่ได้เลย ๆ…”





    เมื่อกล่าวถึงว่า สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร... ก็ต้องกล่าวถึงว่า มิจฉาสมาธิ เป็นอย่างไรด้วย.

    มิจฉาสมาธิ เป็นอย่างไร?

    จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
    พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

    ”มิจฉาสมาธิ ตั้งจิตผิด ได้แก่ ตั้งจิตเพ่งเล็ง จดจ่อปักใจแน่วแน่ในกามราคะ พยาบาท เป็นต้น หรือ เจริญสมาธิแล้ว หลงเพลิน ติดหมกมุ่น ตลอดจนนำไปใช้ผิดทาง ไม่เป็นไปเพื่อ ญาณทัสสนะ และ ความหลุดพ้น — wrong concentration ”

    ท่านเจ้าคุณๆ ท่านประมวลไว้ว่า มิจฉาสมาธินอกจากจะนับในส่วนที่เป็นอกุศล คือ "ตั้งจิตเพ่งเล็ง จดจ่อปักใจแน่วแน่ในกามราคะ พยาบาท"แล้ว มิจฉาสมาธิยังนับในส่วนของ "เจริญสมาธิแล้ว หลงเพลิน ติดหมกมุ่น ตลอดจนนำไปใช้ผิดทาง ไม่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ และความหลุดพ้น"

    ดังนั้น สมาธิ ที่ติดตันอยู่เพียงแค่ ความสุขสงบจากสมาธิ ถึงแม้นจะจัดเป็นกุศลก็จริง แต่หากไม่นำไปสู่การเดินมรรคด้านปัญญา ก็ จัดเป็นมิจฉาสมาธิ เช่นกัน….ที่ ท่านผู้รู้มักเรียกว่า “สมาธิหัวตอ”



    อนึ่ง คำว่า สมถะ ที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆนั้น ครอบคลุมความหมาย อยู่สองอย่างหลักๆ คือ
    1.สมาธิที่ใช้สนับสนุนการเจริญปัญญา คือ ถึงแม้นจะยังไม่อาจจัดว่าเป็น สัมมาสมาธิ(ตามคำจำกัดความแห่งสัมมาสมาธิ)เต็มขั้นได้ แต่ก็ไม่ปิดกั้นการเกิดปัญญา.สมาธิในลักษณะนี้ เป็นสมาธิที่บ่ายหน้ามาถูกทิศทางแล้ว แต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย คือ ยังไม่มีสัมมาสติมาสนับสนุนอย่างบริบูรณ์ นั้นเอง
    2.สัมมาสมาธิ หรือ สมาธิสัมโพชฌงค์ หรือ สมาธินทรีย์ หรือ โลกุตรฌาน ....ซึ่งเป็นองค์แห่งอริยมรรคโดยตรง


    คำว่า สมาธิ จึงอาจจะแบ่งคร่าวๆเป็น3อย่าง คือ
    1.มิจฉาสมาธิ
    2.สมาธิที่ใช้สนับสนุนการเจริญปัญญา(ที่ยังไม่ใช่สัมมาสมาธิ แต่ก็ไม่ปิดกั้นการเกิดปัญญา)
    3.สัมมาสมาธิ


    "โลกียฌาน"ใดๆ โดยตัวของมันเอง อาจจะเป็น มิจฉาสมาธิ ก็ได้ หรือ เป็นสมาธิที่ใช้สนับสนุนการเจริญปัญญา(ที่แม้นอาจจะยังไม่ใช่สัมมาสมาธิเต็มขั้น แต่ไม่ปิดกั้นการเกิดปัญญา)ก็ได้ ....
    ขึ้นกับ ผู้ที่จะรู้จักใช้ประโยชน์ และ รู้จักขอบเขต จากสมาธินั้นๆ
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    9. เห็นแจ้ง



    เห็นแจ้ง คือ วิปัสสนาญาณ(สัมมาญาณะ) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญ อันจะนำไปสู่การพ้นทุกข์ในที่สุด.

    วิปัสสนาญาณ เป็นผลสรุปของอริยมรรค อันเป็นจุดมุ่งหมายของผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม.

    ถ้าประกอบเหตุสมบูรณ์ คือ เจริญอริยมรรคได้สมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะคาดหวัง หรือไม่คาดหวังผล ก็ตาม... ผล คือ ความวิมุติหลุดพ้น ก็ย่อมต้องปรากฏขึ้น


    ดัง พระพุทธพจน์

    ผลของพรหมจรรย์ที่แยบคาย

    ภูมิชะ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้อง, มีความมุ่งหมายถูกต้อง, มีคำพูดถูกต้อง, มีการทำงานถูกต้อง, มีการเลี้ยงชีวิตถูกต้อง, มีความพยายามถูกต้อง, มีความระลึกถูกต้อง, มีความตั้งจิตมั่นไว้อย่างถูกต้อง; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ โดยหวังผลก็ต้องได้รับผล; ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล. ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผลและไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล; ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผลก็มิใช่ ไม่หวังผลก็มิใช่ ก็ยังต้องได้รับผล;
    ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
    เพราะเหตุแห่งการได้รับผลนั้น เป็นสิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ทำไว้อย่างลึกซึ้งแยบคาย.

    ภูมิชะ! เช่นเดียวกับบุรุษผู้ต้องการน้ำมัน เสาะหาน้ำมัน เที่ยวแสวงหาน้ำมันอยู่, เขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำแล้วคั้นเรื่อยไป; แม้บุรุษนั้น ทำความหวัง---ทำความไม่หวัง--- ทั้งทำความหวังและความไม่หวัง---ทั้งทำความหวังก็หามิได้ ความไม่หวังก็หามิได้ ก็ตาม, เมื่อเขา เกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำ แล้วคั้นเรื่อยไป บุรุษนั้นก็ต้องได้น้ำมันอยู่เอง. ข้อนี้เพราะเหตุไร? เพราะเหตุแห่งการได้น้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยลึกซึ้งแยบคาย ฉันใดก็ฉันนั้น. (ทรงให้อุปมาโดยทำนองนี้อีกสามข้อ คือบุรุษผุ้ต้องการน้ำนม รีดน้ำนมจากแม่โคลูกอ่อน, บุรุษผู้ต้องการเนย ปั่นเนยจากนมที่หมักเป็นเยื่อแล้ว, บุรุษผู้ต้องการไฟ สีไฟจากไม้แห้ง, ก็ย่อมได้ผลตามที่ตนต้องการ. แม้จะทำความหวังหรือความไม่หวังก็ตาม ผลนั้น ๆ ก็ย่อมมีให้เอง เพราะได้มีการทำที่ถูกต้องลงไปแล้ว).

    บาลี พระพุทธภาษิต ภูมิชสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๗๙/๔๑๔, ตรัสแก่พระภูมิชเถระ ที่เวฬุวัน.



    ในทางตรงกันข้าม

    ถ้าผลไม่ปรากฏ ก็เพราะเหตุยังไม่สมบูรณ์พร้อม. ไม่ว่า จะปราถนาผลอย่างไร ผลนั้นก็ย่อมไม่ปรากฏ

    ท่านพุทธทาสภิกขุ ปราชญ์เมธีธรรมแห่งยุค
    ท่านได้กล่าวในประเด็นที่ว่า
    “ทำไม ทำวิปัสสนาไม่สำเร็จ” ไว้ดังนี้

    ”....เพราะมันไม่มีความถูกต้อง ไม่มีอินทรีย์ห้าที่ถูกต้อง
    แล้ว มันก็ไม่มีความแข็งแกร่งทางกาย คือศีล
    ไม่มีความแข็งแกร่งในทางจิต คือสมาธิ
    แล้ว มันก็ไม่มีความแข็งแกร่งทางสัมมัตตะ คือความถูกต้อง
    มันก็ไม่มีความแข็งแกร่งทางสติปัญญา หรือทิฏฐิ ความคิดความเห็น
    แล้ว มันก็ไม่มีความแข็งแกร่งในทางที่จะไม่มีอารมณ์ ....ไม่มีอารมณ์ มันสู้อารมณ์ไม่ได้ มันมีอารมณ์เสียเรื่อย มีอารมณ์เหลือเฟือ

    นี่มันก็ไม่มีทางที่จะนิพพานได้…”



    หลวงปู่ เทสก์ เทสก์รังสี
    ท่านได้เตือนเรื่อง การมุ่งมั่นจะให้รู้แจ้งโดยที่เหตุปัจจัยยังไม่พร้อม ไว้ดังนี้

    “ยามที่พิจารณาไม่ชัด อย่าได้ท้อแท้ ท้อถอย
    แต่ให้เข้าใจว่าที่ไม่ชัด เพราะสติ สมาธิเราอ่อนไป
    ให้ปล่อยวางการพิจารณานั้นเสีย แล้วให้มาอบรม สติ สมาธิให้มีกำลังมากขึ้น
    อย่าอยากให้รู้ชัดโดยลืมนึกไปถึงสติ-สมาธิของตน”



    หลวงปู่ แหวน สุจิณโณ
    ท่านได้เคยกล่าวถึง เรื่อง การที่อบรมจิตให้เห็นแจ้งตามหลักอริยมรรค แล้ว จิตจะละวางเหตุแห่งทุกข์ไปเอง ไว้ดังนี้

    “ให้พิจารณากาย พิจารณาใจนี้…..
    พิจารณาให้รู้แจ้งเป็นจุด แล้วค่อยขยายออกไป….
    ครั้นรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันก็ล่ะวางไปเอง….”





    ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ที่เป็นองค์ประกอบแห่งอริยมรรค จึงหนุนเนื่องกันไป และ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องสมบูรณ์พร้อม ในการที่จะพาไปสู่การพ้นทุกข์ในที่สุด.

    การศึกษาและปฏิบัติธรรม ทั้งหลาย ก็ไม่ได้เพื่อมี เพื่อเป็นใดๆ
    หากแต่ ย่อมต้องเป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความจางคลาย แห่งทุกข์ จึงจะเป็นสัมมาปฏิปทา ตรงตามพุทธโอวาท.

    สุดท้ายนี้ แม้นหากบทความนี้มีข้อผิดพลาดใดๆ ผู้เรียบเรียงขออภัย และ ขอน้อมรับไว้ทุกประการ.และ หวังว่า บทความนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้แสวงหาข้อมูลทางธรรมเพื่อนำมาพัฒนาการเจริญภาวนาในบางแง่มุม.




    ขอให้ท่านทั้งหลายจริญในทางธรรมยิ่งๆขึ้นไป
     

แชร์หน้านี้

Loading...