เรื่องเด่น ความเป็นมาของเทศกาลสงกรานต์

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 เมษายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,362
    A2C1A75B-E111-4AE6-9C69-3AC39E1CE240.jpeg

    ประเพณีสงกรานต์นั้น เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิม โดยรับมาจากประเทศอินเดีย นำมาปรับจนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย

    คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า เคลื่อน ย้าย หรือ เปลี่ยน เมื่อพระอาทิตย์ยกย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ก็ถือว่าเข้าสู่วาระปีใหม่แต่เดิมของไทยเรา

    ในช่วงเดือน ๕ นั้น เป็นหน้าร้อนจัด เรามีประเพณีสงกรานต์ที่มีการรดน้ำดำหัวและเล่นน้ำสาดน้ำกัน เพื่อเป็นการดับร้อนผ่อนเย็น เหมาะสมกับฤดูกาล แต่นั่นเป็นการการดับร้อนทางภายนอกเท่านั้น การดับร้อนที่จะให้ได้ผลดีจริง จำเป็นต้องดับความร้อนภายในของเรา องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ความร้อนภายในเกิดจากการเผาผลาญของไฟใหญ่ ๔ กอง ได้แก่ โลภัคคิ ไฟคือความโลภ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะหรือความโกรธ โมหัคคิ ไฟคือความลุ่มหลงมัวเมา

    มนุษย์หรือสัตว์ล้วนแล้วแต่โดนไฟใหญ่ ๔ กองนี้เผาผลาญอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิธีการดับไฟทั้ง ๔ กองนี้ว่า การดับไฟแห่งความโลภนั้น ต้องมีการให้ทานเป็นปกติ ก็คือการที่เราเสียสละให้ปันทรัพย์สินสิ่งของของเรา เพื่อให้แก่คนหรือสัตว์ที่ขาดแคลนอยู่

    ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราหามาโดยยาก ย่อมมีความยึดเหนี่ยวหวงแหนเป็นปกติ แต่ถ้าเราสามารถที่จะสละออกได้ ก็แปลว่ากำลังใจของเรานั้น มีการตัดความโลภลงไปได้แล้วบางส่วน และถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทำการสละออกเป็นประจำ ก็จะทำให้การสละออกนั้นง่ายขึ้นไปทุกที เพราะว่าความโลภจะมีกำลังน้อยลง แต่ว่าทานบารมีของเราจะมีกำลังมากขึ้น เมื่อเป็นดังนั้นก็แปลว่าไฟใหญ่กองที่ ๑ ก็คือ ไฟแห่งความโลภ จะถูกเราค่อย ๆ ดับลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะทำอันตรายแก่เราได้ ก็แปลว่าเราสามารถที่จะดับไฟใหญ่กองแรก ๑ ใน ๔ กองลงได้ ก็ด้วยทานบารมีนั่นเอง

    ไฟกองต่อไปคือ ราคัคคิ ไฟคือราคะ ธรรมดาคนและสัตว์ที่เกิดมานั้น ย่อมโดนราคะซึ่งเป็นไฟกองใหญ่ครอบงำอยู่ ทุกผู้คนย่อมมีความปรารถนาในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสระหว่างเพศ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือไฟราคะ

    พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาตัดไฟราคะนี้ ด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน ๑ เจริญกายคตานุสติ ๑ การเจริญอสุภกรรมฐาน คือ ให้มองเห็นว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี แท้จริงแล้วมีพื้นฐานของความสกปรกเป็นปกติ ถ้าหากว่าไม่อาบน้ำชำระกายเพียงวันเดียวก็ทนอยู่ไม่ได้แล้ว

    ตลอดร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เต็มไปด้วยขี้ทั้งนั้น ตั้งแต่ขี้หัว ขี้หู ขี้ตา ขี้ไคล พอไล่ลงถึงท้ายสุด บางท่านอาจจะบอกว่ามีขี้ตีนด้วย ถ้าขึ้นชื่อว่าขี้ก็แปลว่าสกปรก ในเมื่อความสกปรกมีอยู่อย่างนี้ ตัวเราสกปรกอย่างนี้ คนอื่นก็มีความสกปรกเช่นเดียวกัน เมื่อคนอื่นและสัตว์อื่นสกปรกอย่างนี้ ก็แปลว่าใจเราไปยินดีในกองขี้ของตนเองและผู้อื่นนั่นเอง ในเมื่อขึ้นชื่อว่าขี้ไม่มีใครอยากได้ ถ้าหากว่าเราไปอยากได้ใคร่ดีแปลว่าเราผิดปกติ

    ดังนั้น..ถ้าเราพิจารณาให้เห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายตนเอง ของร่างกายคนอื่น และของร่างกายสัตว์อื่นให้เป็นปกติอย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะขาดความกำหนัดยินดี อำนาจของไฟราคะก็จะเผาผลาญเราได้น้อยลง

    พระพุทธองค์ยังทรงสอนต่อไปว่า ให้พิจารณาในกายคตาสติ คือให้เห็นว่าสภาพร่างกายนี้นอกจากสกปรกแล้ว ยังไม่ใช่แท่งทึบ ประกอบขึ้นมาจากอวัยวะภายในภายนอก ใหญ่เล็ก มากมายเต็มไปหมด ภายในร่างกายของเรา แค่เปิดผิวหนังขึ้นมาเท่านั้น ก็ไม่มีใครทนดูได้แล้ว เพราะว่าใต้ผิวหนังของเราไปก็คือ เลือด เนื้อ กระดูก เส้นเอ็นต่าง ๆ แค่ผิวหนังของเราฉีกขาดเป็นรอยเพียงเล็กน้อย เลือดไหลออกมา แม้เป็นเลือดของเราเอง เราก็ยังรังเกียจว่าสกปรก แล้วเราลองดูว่าภายในยังมีตับ ไต ไส้ ปอด ม้าม หัวใจ ยั้วเยี้ยไปหมด เวลาผีแหกอกหลอกเรา เรายังหวาดกลัววิ่งหนี แต่ว่าตัวของเราก็คือผีดี ๆ นี่เอง เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ในตัวของเราก็มี ในตัวของคนอื่นก็มี

    ขอให้ทุกท่านมีสติ หมั่นเจริญภาวนาและพิจารณาบ่อย ๆ ในกายคตาสติและอสุภกรรมฐานนี้ ก็จะทำให้ไฟราคะนั้นค่อย ๆ ดับสลายลง จนกระทั่งจิตของเราสามารถตัด ละ ขาดจากร่างกายนี้ได้ ไฟราคะก็จะไม่มีอำนาจจะทำร้ายเราได้อีก ก็แปลว่าเราพ้นจากไฟกองที่ ๒ ไปได้

    องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวถึงไฟกองที่ ๓ ว่า ไฟโทสะ คือความโกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาทต่อผู้อื่น สิ่งที่ก่อให้เกิดโทสะนั้น ก็คือสิ่งที่เราไม่ชอบใจมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย และกระทบใจของเรา อย่างเช่น ตาเห็นรูปที่ไม่พอใจ ก็เกิดอาการกระทบขึ้นมา หูได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ ก็เกิดอารมณ์ที่กระทบขึ้นมา เป็นต้น

    การกระทบนั้นเป็นเหมือนกับเชื้อไฟ กระทบเข้ากับเปลวไฟก็เริ่มก่อเกิดเป็นไฟลุกไหม้ขึ้นมา ถ้าหากว่าความไม่พอใจมีมากเข้า ก็จะแสดงออกทางกายและวาจา ในเมื่อกายวาจาไม่สามารถที่จะทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนอย่างที่ใจเราต้องการ เราก็จะเก็บไปคิดไปแค้นข้ามวันข้ามคืน บางคนคิดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายชำรุดทรุดโทรมไปเลยก็มี

    ดังนั้น..จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสบอกวิธีให้เราแก้ไขดับไฟโทสะนั้น ความจริงก็เพื่อความสุขความสงบของเราเอง พระองค์กล่าวว่า การดับไฟโทสะนั้นแก้ได้ ๒ วิธี วิธีแรกเป็นการเจริญกสิณสี ก็คือ สีเหลือง สีขาว สีแดง และสีเขียว อาศัยสีทั้งหลายเหล่านี้สีใดสีหนึ่ง เป็นเครื่องยึดโยงจิตของเราให้อยู่กับการภาวนา ถ้าจิตของเรามีสมาธิภาวนามั่นคง โทสะก็เกิดไม่ได้ แต่ว่ายังไม่ใช่การดับไฟโทสะที่มั่นคงแน่นอนนัก เพราะถ้าสมาธิเคลื่อน จิตของเราเคลื่อน โทสะก็ยังกำเริบได้อยู่

    พระพุทธองค์จึงสอนวิธีดับไฟโทสะอีกอย่างก็คือ ดับด้วยเมตตาพรหมวิหาร พรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อนั้น ประกอบไปด้วยเมตตา รักคนอื่นเสมอตัวเรา ในเมื่อรักคนอื่นเสมอตัว เราต้องเห็นว่าการที่เขากระทำสิ่งไม่ดีไม่งามแล้วทำให้เราโกรธนั้น เขาทำเพราะไม่รู้ เขาเห็นเพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นดีจึงได้ทำ ในเมื่อเขาเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นดีแล้วเขาจึงทำ ถ้าหากว่าเราไปโกรธเขา ก็แปลว่าเราก็เป็นผู้ไม่รู้เช่นกัน เพราะไม่สามารถที่จะแยกแยะเหตุผลดีชั่วได้

    สิ่งที่เขาทำต่อเรานั้น ถ้าเป็นความจริง ก็เท่ากับเขาเป็นกระจก ส่องให้เห็นรูปร่างอันน่าเกลียดน่าชังของเรา ในเมื่อรูปร่างเราไม่สวยไม่งาม จะไปโกรธกระจกนั้นถูกต้องหรือไม่ ? ความจริงเราควรที่จะขอบคุณเขามากกว่า ที่แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่ใช่คนดีจริง ยังมีกาย วาจา ใจ ที่ต้องปรับปรุงให้ดีกว่านี้อยู่อีกมาก แต่ถ้าสิ่งที่เขากระทำต่อเราไม่ใช่ความจริง ก็อย่าได้ไปโกรธเขาเลย บุคคลที่ไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วยังนำมาขยายผลต่อ จัดเป็นคนที่น่าสงสารมาก

    ในเมื่อเราเป็นบุคคลที่มีเมตตา รักเขาเสมอตัวเรา มีความกรุณา สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ เราก็อย่าไปโกรธไปเกลียดเขาเลย เพราะว่าถึงเราไม่โกรธไม่เกลียดเขา เขาก็แก่ไปทุกวัน เขาก็เดินทางใกล้ความตายไปทุกวัน แม้กระทั่งตัวเรา ก็เดินทางใกล้ความตายไปทุกวัน ถ้าเรามัวแต่ไปโกรธไปแค้นคนอื่นอยู่ ปล่อยให้ไฟโทสะเผาตัวเรา ตายลงไปตอนนั้น เราก็ตกไปอยู่ในอบายภูมิ ซึ่งหาความดีไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ยากลำบากอย่างยิ่ง

    ดังนั้น..ขึ้นชื่อว่าการจะให้ไฟโทสะชักนำเราไปสู่อบายภูมิ ขอจงอย่าได้มีเลย ถ้าหากสิ่งใดไม่พอหู ไม่พอตา ไม่พอใจ ใช้ปัญญาคิดแยกแยะแล้ว ยังไม่สามารถที่จะต่อสู้กับไฟโทสะนี้ได้ ก็ให้ใช้ตัวอุเบกขาพรหมวิหาร ก็คือ ช่างเขาเถอะ ถ้าหากว่าสามารถช่างได้มาก ก็จะเป็นการช่างเขาเถอะ แต่ถ้าหากช่างได้น้อยก็รุนแรงขึ้นมานิดหนึ่งก็คือ ช่างหัวมัน แต่ถ้าช่างได้น้อยกว่านั้นก็อาจจะมีการรุนแรงขึ้นมาอีกก็คือ ช่างโคตรพ่อโคตรแม่มัน แต่ว่าเราช่างให้ได้ก็แล้วกัน ไม่ว่าจะอยู่ระดับไหนก็ตาม

    เมื่อกำลังใจเคยชินกับการระงับดับไฟโทสะอยู่บ่อย ๆ เชื้อเพลิงที่จะให้เผาผลาญมีน้อย เพราะว่าเราปิดหูปิดตาเสียแล้ว สิ่งที่ตาเห็นก็สักแต่ว่าเห็น สิ่งที่หูได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน สิ่งที่จมูกได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น สิ่งที่ลิ้นได้รสสักแต่ว่าได้รส สิ่งที่กายสัมผัสสักแต่ว่ากายสัมผัส หยุดการครุ่นคิดในใจลงได้ แล้วโทสะจะเกิดขึ้นมาได้จากไหน ? ถ้าหากว่าเราทำขึ้นมาได้ถึงระดับนี้แล้ว ก็แสดงว่าเราดับไฟโทสะได้อีกหนึ่งกอง ความร้อนที่จะเผาเราให้เดือดร้อนวุ่นวาย ก็ลดลงไปอีกส่วนหนึ่ง

    ก็เหลือแต่ไฟโมหะคือความหลง หลงคิดว่าตัวเรายังแข็งแรงอยู่ หลงคิดว่ารูปร่างนี้ยังสวยงามอยู่ หลงคิดว่ารูปร่างคนอื่นยังสวยงามเป็นที่ต้องการของเราอยู่ หลงคิดว่าโลกนี้ดี เราต้องการจะเกิดมาอีก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาดูก็จะเห็นว่า ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด

    เราก้าวเข้าไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา เราก้าวไปหาความแก่และความตายอยู่ตลอดเวลา หากว่าเราไม่เร่งสร้างสมบุญกุศลในศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าเราหลุดพ้นไม่ได้ เราก็ต้องเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้อีก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประทานวิธีในการดับไฟโมหะตัวนี้ว่า จำเป็นต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา

    การที่เราจะมีปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น ต้องเริ่มต้นมีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ ต้องระมัดระวังรักษา อย่าทำให้ศีลขาดด้วยตัวเอง อย่ายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำศีลขาด และอย่ายินดีเมื่อผู้อื่นทำศีลขาด

    ถ้าเราสามารถหักห้ามใจตนเองได้ ไม่ทำให้ศีลขาดด้วยตนเอง ไม่ยุให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีเห็นเมื่อคนอื่นทำ ก็แปลว่า สติ สมาธิ ของเราทรงตัว มีกำลังแล้ว เราก็สามารถที่จะปฏิบัติในสมาธิได้ง่าย

    ในเมื่อเราปฏิบัติจนสมาธิมีกำลัง สามารถระงับยับยั้งตนเองได้ ไม่ให้ไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ และไฟราคะ มีอำนาจเหนือจิตใจของเรา ก็เหมือนกับเราสามารถหยุดรถไว้ที่ริมเหว ไม่ให้รถถลำตกเหวไปได้ ถ้าหากว่าศีลของเรา สมาธิของเรามีกำลังขนาดนี้แล้ว เราก็สามารถที่จะใช้ปัญญาพิจารณาได้ เพราะว่าเรามีสติรู้เท่าทัน หยุดอยู่ได้ ก็เหลืออย่างเดียวคือทำลายกิเลสเหล่านี้ให้สิ้นไป

    เมื่อเราพิจารณาเห็นแล้วว่า มนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง แตกดับไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์อยู่ทุกขณะจิต ต้องเหนื่อยยากทำมาหากิน ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลงไป มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีสภาพร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความสกปรก เต็มไปด้วยความหิวกระหาย เต็มไปด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยเช่นนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

    ถ้าท่านทั้งหลายมีปัญญาถึงระดับนี้ แปลว่าท่านเริ่มระงับดับไฟโมหะลงได้แล้ว ถ้าหากว่าก้าวมาถึงระดับนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟโลภะ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ก็จะทำอันตรายท่านได้น้อยอย่างยิ่ง จนกระทั่งท่านสั่งสมบารมีได้พอเพียง สามารถชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสจากอำนาจของกิเลสทั้งปวงได้ ท่านก็จะดับไฟทั้ง ๔ กองนี้ลงได้อย่างเด็ดขาดและสิ้นเชิง ความสงบร่มเย็นอย่างแท้จริงก็จะเกิดขึ้นทั้งร่างกายกายและภายในจิตใจของท่านด้วย

    เมื่อเป็นดังนั้นก็แปลว่าท่านไม่ได้มีเทศกาลสงกรานต์แต่เพียงภายนอก คือ เฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่ท่านมีเทศกาลสงกรานต์ภายใน คือการดับไฟใหญ่ซึ่งเกิดจากโลภะ ราคะ โทสะ โมหะ ลงได้ด้วย ถ้าอย่างนี้ก็กล่าวได้ว่า ท่านทั้งหลายมีประเพณีสงกรานต์อย่างแท้จริง ก็คือเป็นสงกรานต์ทั้งภายนอกทั้งภายใน ดับร้อนทั้งภายนอกภายในลงได้อย่างเด็ดขาดและสิ้นเชิง เป็นบุคคลที่ประกอบไปด้วยศีล สมาธิและปัญญา ประกอบไปด้วยบุญญาธิการเป็นอย่างยิ่ง เราจึงสามารถมีประเพณีสงกรานต์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...