"คนอยู่วัด คนในผ้าเหลือง"ในมุมของ...ไมตรี ลิมปิชาติ

ในห้อง 'พุทธศาสนากับคนดัง' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 11 มีนาคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,173
    [​IMG]"คนอยู่วัด" เป็นหนังสือที่ประพันธ์โดย นายไมตรี ลิมปิชาติ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ให้บรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
    ด้วยคุณค่าของวรรณกรรมที่ประเมินค่ามิได้ สำนักพิมพ์คนรู้ใจ จึงได้ร่วมเผยแพร่วรรณกรรมเล่มนี้ โดยได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓๐ รวมยอดจำนวนพิมพ์สูงถึง ๖ แสนเล่ม
    นอกจากนี้แล้ว ยังมีหนังสือเชิงสารคดีเรื่อง "คนในผ้าเหลือง" ที่มีเนื้อหาเล่าถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสบวชเรียนศึกษาธรรม
    นายไมตรี บอกว่า หนังสือ "คนอยู่วัด" ได้นำเนื้อหาสมัยอยู่วัดของบรรดาเพื่อนเด็กวัดมาเล่าสู่กันฟัง สะท้อนให้เห็นชีวิตจริงของการเป็นเด็กวัดของหลากหลายชีวิต ให้แง่คิดคติสอนใจในการดำเนินชีวิตให้คนที่ได้อ่าน โดยเริ่มเขียนไปลงนิตยสาร "ชาวกรุง" (ของ นสพ.สยามรัฐ) เป็นหนังสือที่คนไทยรู้จักกันดี
    หลังจากตีพิมพ์ได้ ๑๕ เรื่อง ก็ได้นำมารวมเล่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๙ โดย สำนักพิมพ์หนอน ชื่อหนังสือว่า "คนอยู่วัด"
    ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ที่เดินทางมาจาก จ.นครศรีธรรมราช เข้ามาเป็นเด็กวัดบุปผาราม ธนบุรี สิ่งที่ได้คือชีวิต สอนให้เรารู้ว่า ความลำบาก สอนให้คนได้ดี เนื่องจากเราเข้ามาอยู่วัด ได้พบเห็นเพื่อนๆ บางคนเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่เราเองเรียนอยู่ที่เทคนิคกรุงเทพ
    ทุกคนล้วนแล้วอยู่กันอย่างลำบาก บางคนมีพี่น้องเรี่ยไรเงินส่งมาให้เพื่อนเรียน ตรงนี้เราเห็นเพื่อนๆ กว่าจะได้ดีนั้นช่างแสนลำบากจริงๆ
    "ธรรมะหล่อหลอมทำให้ชีวิตเด็กวัดได้ดี" นี่เป็นคำยืนยันของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เขาเล่าถึงกิจวัตรอย่างหนึ่งของ เด็กวัด ให้ฟังว่า
    วัดจะให้หลวงพี่เรียกไปอบรมธรรมะทุกวันอาทิตย์ หากใครไม่เข้าอบรม ก็จะให้ไปล้างห้องน้ำ
    หลักธรรมที่ได้จากการอบรมธรรมะ คือ สติ เมตตา เพราะหลวงพี่จะสอนตลอดว่า เวลาโกรธกันก็อย่าโกรธ ให้แผ่เมตตา คนเราไม่เหมือนกัน
    นอกจากนี้ท่านยังได้สอนให้นั่งกรรมฐาน แผ่ส่วนกุศลเมตตา ทำให้เราได้สิ่งดีๆ กลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน คนเราดำเนินชีวิตให้ได้ดีก็มาจากสติที่สอนให้เรารู้ตัว
    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กวัดจะได้รับการปลูกฝังเรื่องธรรมะจากพระเหมือนๆ กัน ก็ใช่ว่าเด็กวัดทุกคนจะประสบผลสำเร็จในชีวิตเหมือนกันทุกคน
    บางคนมาอยู่วัดก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่กลับไปชกมวย ขณะที่บางคนมาอยู่วัดก็ไม่ได้ทำอะไร แต่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันต่างเติบโตเจริญรุ่งเรืองในชีวิต บางคนร่ำรวยเป็นถึงมหาเศรษฐีร้อยๆ ล้าน บางคนก็เป็นเจ้าของโรงพิมพ์
    ส่วนของเขาเอง ไม่ได้ร่ำรวย แต่กลับมีชื่อเสียงมากกว่า แต่สิ่งที่เด็กวัดมีเหนือกว่าคนทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่วัด คือ ธรรมมะ
    "ความลำบากทำให้สอนคน หิวก็สอนคน คนอิ่ม คนสบายก็คงไม่ค่อยได้สอนคน คนเหล่านี้มักจะลืมตัว แต่เพื่อนๆ ที่ลำบากจะเห็นได้ชัดว่า ชีวิตหลังจากนั้น พวกเขาต่างสบายมีเงินมีทอง มีชีวิตที่ดีขึ้นกันหมดเลย ความลำบากนั้นได้สอนให้เราเป็นนักต่อสู้ ทำให้เราได้กำหนดอนาคตของตัวเองได้ว่า เราจะต้องปีนป่ายอย่างไร ที่จะให้รอดพ้นความลำบาก เพราะบางคนพ่อแม่ทิ้งมาก็มี" นี่เป็นสัจธรรมชีวิต และเป็นคติธรรมที่นายไมตรีได้รับจากการเป็นเด็กวัด
    เมื่อถามถึงเรื่อง " พระเครื่อง" นายกสมาคมนักเขียน บอกว่า หลังจากได้อ่านหนังสือธรรมะของ ท่านพุทธทาส แล้วก็ทำให้ไม่แขวนพระเครื่อง การแขวนพระเป็นความเชื่อของแต่ละคน ยิ่งได้อ่านหนังสือท่านพุทธทาสมาตั้งแต่เรียนอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้รู้ว่าพระเครื่องจริงๆ ไม่ต้องแขวนก็ได้ เพราะพระอยู่ที่ใจ แต่ใครให้พระเครื่องมาเราก็รับ เอาวางไว้บนพาน ในห้องทำงาน ใครชอบสะสมพระเครื่องมาขอ ก็จะให้ไปหยิบเอา
    ตรงนี้ก็สอนได้อีก คือคนที่ให้ไปหยิบพระเอาเอง หากหยิบไปหลายๆ องค์ ก็แสดงว่า เขาเป็นคนเห็นแก่ตัวมาก บางคนที่ไม่ใช่นักสะสมพระ ก็จะหยิบแค่องค์เดียว
    โดยส่วนตัว แม้จะเป็นคนไม่แขวนพระ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา ก็ขอพรพระอยู่เป็นประจำ
    อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ๒๕๑๗ ไมตรี ลิมปิชาติ ได้บวชแสวงหาพระธรรม ๑ พรรษา อยู่ที่วัดพระธาตุดอยกองมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน อย่างเงียบสงบ เวลาบิณฑบาตจะต้องเดินลงจากวัดซึ่งอยู่บนยอดเขาไปยังหมู่บ้านตั้งแต่ตีห้า โดยใช้เวลาเดินไปและกลับวัดไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง
    วัดนี้มีพระอยู่เพียง ๔ รูป รอบๆ เป็นป่าเต็งรัง กลางวันเงียบ กลางคืนทั้งเงียบและวังเวง บางวันขณะนั่งอยู่ที่ศาลาหน้าวัดมองดูเทือกเขา แม้ไม่ได้ร้องไห้ แต่น้ำตาก็จะไหลออกมาเอง เพราะคิดถึงลูก คิดถึงบ้านที่จากมา
    "ก่อนสึก ได้รับความรู้จากพระอาจารย์ไม่น้อย อย่าจริงจังกับชีวิตมากนัก คนที่จริงจังกับชีวิตเกินไป มักจะเห็นว่าโลกนี้โหดร้าย ไม่มีความสุข ทุกอย่างขอให้คิดว่าเป็นกฎของธรรมชาติ มีทุกข์มีสุขเป็นเรื่องของคน เกิดเป็นคนก็หนีไม่พ้น คนที่รู้จักทำใจให้เป็นสุข คนนั้นคือคนฉลาด" นายไมตรี กล่าวทิ้งท้าย "ความลำบากทำให้สอนคน หิวก็สอนคน คนอิ่ม คนสบายก็คงไม่ค่อยได้สอนคน คนเหล่านี้มักจะลืมตัว"
     

แชร์หน้านี้

Loading...