ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะไปพระนิพพาน แต่ความมุ่งมั่นหมดแล้ว ต้องแก้ไขอย่างไรคะ ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 เมษายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    259541EA-8D3C-469D-B3BD-4CC1558F5CD5.jpeg

    สำหรับวันนี้มีเรื่องที่น่าสนใจมาก ก็คือมีโยมคณะหนึ่งมาสอบถามว่า ก่อนหน้านี้มีความตั้งใจมุ่งมั่นจะไปพระนิพพานให้ได้ ปัจจุบันนี้ความมุ่งมั่นนั้นหายไปหมดแล้ว ควรจะทำอย่างไรดี ?

    เรื่องพวกนี้จะว่าไปแล้วก็ เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ต่อเนื่อง เมื่อทำไม่ต่อเนื่อง ผลดีไม่เกิด กำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อที่จะปฏิบัติให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปก็ไม่มี ถ้าจะกล่าวไปแล้วก็คือ ละทิ้งโอกาสที่ดีไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องเพราะว่าโดยปกติของปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลาย มีการทำดีทำชั่วสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเป็นปกติ

    เมื่อวาระของกุศลกรรมหรือความดีเข้ามาหนุนเสริม ก็อยากที่จะถือศีลปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในช่วงนั้นถ้าจัดการได้ถูก ก็จะก้าวหน้า เห็นหน้าเห็นหลังไปเลย คำว่าจัดการให้ถูกในที่นี้ก็คือ ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติอย่างชนิดที่เอาชีวิตเข้าแลก แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วจัดการไม่ถูก ก็คือมักจะทำแบบแก้บน หรือทำพอเป็นพิธี ไม่ได้สมกับความตั้งใจที่ว่าจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าสู่พระนิพพาน

    บุคคลที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อพระนิพพานนั้น ต้องสร้างบารมีมานับไม่ถ้วน เกิดแล้วเกิดอีก อย่างน้อยก็ ๑ อสงไขยกับแสนมหากัป ซึ่งจะว่าไปแล้ว มหากัปเดียวเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะนับแล้วว่าเกิดไปกี่ชาติ

    คราวนี้ในส่วนของกุศลกรรมและอกุศลกรรม คือความดีและความชั่วที่เข้ามาสนอง ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสเอาไว้ กว่าที่กุศลกรรมจะวนมาอีกรอบหนึ่ง เป็นเวลาที่ยาวสั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลายว่าสร้างความดีความชั่วเอาไว้บ่อยแค่ไหน

    ถ้าสร้างความชั่วไว้บ่อย ความชั่วก็จะตอบสนองไปเรื่อย ๆ โอกาสที่ความดีจะสอดแทรกเข้ามาก็ต้องรอวาระ ซึ่งจะเนิ่นนานเป็นพิเศษ เพราะว่าสร้างความดีไว้น้อย แต่เมื่อถึงวาระที่ความดีเข้ามา แทนที่จะรีบกอบโกย รีบสร้างความดีให้มากไว้ ส่วนใหญ่กลับอยู่ในลักษณะ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" พอวาระของความดีเลยไปแล้ว ต้องรอรอบใหม่ ซึ่งไม่รู้อีกนานเท่าไร ก็จะมาสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ เราต้องการไปพระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันนี้กลับไม่มีความต้องการเช่นนั้นอีก

    เรื่องของวาระพวกนี้ ต้องบอกว่าหลายคนกลายเป็นคนใช้โอกาสที่เปลืองมาก อย่างเช่นว่าการกระทำคุณงามความดี ไม่ว่าจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ในสภาพของความเป็นพระภิกษุสามเณร ทำแล้วมีอานิสงส์มากกว่าญาติโยมเป็นแสนเท่า เพราะว่าลงทุนด้วยจำนวนที่มากกว่า ก็คือโยมลงทุนด้วยศีล ๕ ข้อ พระภิกษุของเราลงทุนด้วยศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้าหากว่านับเป็นจำนวนเงิน ก็ประมาณว่าโยมลงทุนไป ๕ ล้านบาท ส่วนพระลงทุนไป ๒๒๗ ล้านบาท ถ้าหากว่าการลงทุนนั้นได้กำไร ใครที่ควรจะได้มากกว่ากัน ?

    แต่ก็มีหลายคนทำเหมือนอย่างกับกลัวว่าชีวิตนี้จะได้กำไร รีบบวชรีบสึก ครั้งแล้วครั้งเล่าก็เป็นอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่บวชเข้ามา คือต้องการอานิสงส์ที่จะให้ชีวิตตนเจริญก้าวหน้า แต่ก็ยังมีการกระทำที่โง่ ๆ ก็คือกลัวจะก้าวหน้า กูรีบสึกซะ..ก็ปล่อยให้มันโง่ต่อไป...! เพราะว่าโอกาสและจังหวะเวลาพวกนี้ จะมาตามบุญตามกรรมที่เราสร้างไว้ ถ้าหากว่าวาระสมควร กำลังบุญมาถึง เราก็จะมีโอกาสเข้ามาในขอบเขตของศาสนา มีโอกาสที่จะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา

    พอวาระกรรมเข้ามา มารทั้งหลายก็ขัดขวางเราสุดชีวิต ทำให้เราคิดผิด พูดผิด ทำผิด และก็ห่างไกลความดีไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตของตนเองนั้น จริงจังกับความชั่วมามากแล้ว ก็น่าจะเอากำลังใจที่จริงจังกับความชั่วนั้น มาจริงจังกับความดีบ้าง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

    ตรงจุดนี้ก็ไม่ต้องไปโทษใคร นอกจากโทษตัวเอง แล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่ท่านทั้งหลายจะมาหากระผมหรืออาตมภาพ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า อักขาตาโร ตถาคตา แม้แต่ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น ก็คือชี้ทางให้แล้ว จะไปหรือไม่ไปก็เรื่องของพวกท่านเอง

    ดังนั้น...เรื่องพวกนี้จริง ๆ แล้ว ไม่สมควรที่ต้องตะเกียกตะกายมาถามถึงวัดให้เสียเวล่ำเวลาในการเดินทาง แค่ใช้สติปัญญาทั่ว ๆ ไปตรึกตรองดูก็รู้แล้วว่า เราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือไม่ ? ทำงานเหมือนกับกลัวรวย แต่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นมหาเศรษฐี เป้าหมายกับการกระทำต่างกัน ๔๘,๐๐๐ ลี้ โอกาสที่จะเข้าถึงเป้าหมายก็คงจะเป็นไปไม่ได้

    เรื่องนี้พวกเราควรที่จะสังวรเอาไว้ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสามเณรที่วัดนี้ก็ดี วัดอื่นก็ดี หรือกระทั่งญาติโยมทั้งหลายภายในวัดก็ดี นอกวัดก็ดี แม้กระทั่งที่ต่างประเทศ มักจะอยู่ในลักษณะเดียวกันหมด ก็คือพอกุศลกรรมมาสนองก็เพลิดเพลินเจริญใจ ไหลไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม พอการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์เข้ามา โดนความกลัดกลุ้มใจทับถมเข้า ก็ไม่มีอารมณ์ที่จะปฏิบัติธรรมอีก สรุปแล้วพังทั้งขึ้นทั้งล่อง..!

    วิธีแก้ก็ง่ายนิดเดียว คือแค่เปลี่ยนความรู้สึกเสียใหม่ ให้เห็นว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นหนทางเดียวที่จะนำเรารอดจากอบายภูมิ เพราะว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราทำความชั่วมานับไม่ถ้วน สามารถหนีเจ้าหนี้มาได้จนบัดนี้ ถ้าพลาดเมื่อไร ให้เจ้าหนี้ทวง ก็ต้องอยู่ในลักษณะที่โบราณเขาบอกว่า ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด

    คราวนี้การที่เราสั่งสมความดีในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั้น เป็นการสร้างวินัยให้เกิดกับตนเอง ก็คือต้องทำบ่อย ๆ ต้องตอกย้ำบ่อย ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ในการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สิ่งไหนที่เราเคยชินแล้วก็จะไม่รู้สึกว่าหนัก สามารถทำได้โดยง่าย แต่ถ้าสังเกตดูคนทั่วไป รักษาศีลให้ครบ ๕ ข้อ ยังเป็นของยากสำหรับเขาทั้งหลายเหล่านั้นเลย

    ดังนั้น...สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นระเบียบวัดก็ดี ที่เป็นวินัยสงฆ์ก็ตาม ที่พวกเราจะต้องมาตอกย้ำยึดถือปฏิบัติกัน ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เราเข้าใกล้มรรคผล ช่วยให้เราสามารถที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์อย่างเด็ดขาด

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
    ที่มา : www.watthakhanun.com

    #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #หลวงพ่อเล็ก
    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนา #watthakhanun
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...