เชิญร่วมแชร์ข้อมูลเรื่องราวของ ขุนเจืองธรรมมิกราช มหาราชสองฝั่งโขง

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย อีกาจอมภู, 25 พฤศจิกายน 2014.

  1. Twana

    Twana เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2007
    โพสต์:
    294
    ค่าพลัง:
    +725
    ท่านเรียบเรียงได้ดีจัง ชอบอ่าน มีทำ family tree ไหมคะ จะได้เห็นภาพชัดเจน
     
  2. ชายหลงทาง

    ชายหลงทาง สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2014
    โพสต์:
    2
    ค่าพลัง:
    +0
    (f)_/I\_ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ได้รับครับ(f)
     
  3. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    ท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง และพระเจ้าพรหมมหาราช

    "วีรบุรุษในตำนาน" ต่างเผ่าพันธุ์
    คำบอกเล่าเรื่องพระเจ้าพรหม คงจะแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนที่รู้จักกันภายหลังชื่อ ไทยใหญ่ ก่อน เพราะต่อมามีผู้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมไว้ในเอกสารสำคัญชื่อ ตำนานสิงหนวติกุมาร (ตัดตอนมาพิมพ์รวมอยู่ในเรื่องแรกของเล่มนี้แล้ว) อันเป็นตำนานของตระกูลไทย-ลาวพวกหนึ่ง ที่มีถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน (ในดินแดนพม่าตอนเหนือ บางทีเรียกแม่น้ำคง แต่ในตำนานเรียกแม่น้ำสาระพู) ซึ่งรับรู้ทั่วกันว่าเป็นหลักแหล่งของไทยใหญ่สืบมาถึงปัจจุบัน

    ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จึงเสนอความเห็นว่า พระเจ้าพรหม เป็นผู้นำของพวกไทยใหญ่ (อยู่ในบทความเรื่อง ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม รวมพิมพ์อยู่ในบทความเรื่องที่ ๒ ของเล่มนี้แล้ว)


    ตำนานสิงหนวติกุมาร ถือเป็นเอกสารเก่าสุด แรกสุด เท่าที่มีอยู่ขณะนี้ ที่จดเรื่องพระเจ้าพรหมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร น่าเชื่อว่าเป็นเอกสารเก่ามีมาแต่ครั้งเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของแคว้นล้านนา (ตรงกับยุคกรุงศรีอยุธยา) เรื่องพระเจ้าพรหมที่มีในเอกสารเล่มอื่น เรื่องอื่น ล้วนคัดลอกไปจากตำนานเล่มนี้ แต่บางฉบับได้ดัดแปลงต่อเติมให้ต่างไปบ้างก็มี


    พระเจ้าพรหมในตำนาน ได้รับยกย่องเป็น "วีรบุรุษ" นักรบ ผู้ขับไล่ขอมดำที่มารุกรานครอบครองดินแดนโยนก พาหนะคู่บุญญาบารมีของนักรบอย่างพระเจ้าพรหมคือช้าง เป็นช้างเผือก มีชื่อพานคำ เรียกช้างเผือกพานคำ

    เหตุที่ได้ชื่อช้างเผือกพานคำ หรือช้างพานคำ เพราะได้นิมิตจากเทวดาให้เอาพาน คือพังลาง หรือผางลาง (คล้ายฆ้องหรือระฆัง) ทำด้วยทองคำ ไปประโคมตีที่ริมแม่น้ำโขง งูใหญ่จะกลายร่างเป็นช้างเผือกผุดขึ้นมาคู่บุญ แล้วเป็นพาหนะสำคัญปราบปรามศัตรูพาลทุกทิศทาง


    ส่วนพาน หรือฆ้อง มักทำด้วยโลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง หรือสำริด เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้มีอำนาจ เป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีตัวอย่างอยู่ในกลุ่มชนเผ่าทั่วไปของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งผืนแผ่นดินใหญ่ และหมู่เกาะ

    ช้างพานคำ กับพาน หรือฆ้อง ไม่ได้เป็นสมบัติคู่บารมีของพระเจ้าพรหมเท่านั้น แต่ยังเป็นสมบัติคู่บารมีของท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองด้วย ผมเคยเขียนอธิบายไว้ในคำนำเสนอ หนังสือมหากาพย์ของอุษาคเนย์ ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๘) มีความต่อไปนี้

    "ช้างพานคำ" กับ "ข้า (ข่า) พางดำ"

    ตระกูลมอญ-เขมร เช่น พวกข่า (ข้า), ลัวะ (ละว้า) ฯลฯ ล้วนมีความผูกพันและภักดีต่อตระกูลของท้าวฮุ่งฯ อย่างยิ่ง ดังจะเห็นว่าเมื่อท้าวฮุ่งฯ ยังเยาว์มีกลุ่มชนผู้ภักดีเลื่อมใสเอาสิ่งของพิเศษมาให้เป็นเครื่องกำนัลบรรณาการ มีช้างจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยช้างเผือกเชือกหนึ่งชื่อช้างพานคำ ต่อมาพวกชนเผ่า (ข้า-ข่า) พางดำอยู่บนภูสูง นำเอาดาบเหล็กเล่มหนึ่งชื่อดาบฮางเซ็งกับฆ้องเงินคู่หนึ่งมามอบให้อีก มีโคลงพรรณนาว่า

    ๏ ขึ้นชื่อได้ช้างเผือก พานคำ

    กงชุมพูไป่ทัน เทียมได้

    ฝูงหมู่ พางดำข้าพูสูง ดั้นฮอด

    เขาก็ นำดาบกล้าทังฆ้อง คู่เงิน ฯ



    ๏ มาแต่ห้องภูซาง เหล็กหล่อ

    คันว่า แกว่งเงือดชี้มารย้าน หย่อนขาม ฯ



    ๏ มุกมาศแก้วฮองใส่ ประดับดี

    ชื่อว่า ตาวฮางเซ็งซ่าใน แดนข้า

    ฯลฯ


    ชื่อช้างเผือกว่า "พานคำ" หมายถึงฆ้องทองคำ พานแปลว่าฆ้อง ตำนานหลายเล่มเล่าเป็นนิทานว่าขุนเจืองต้องเอาฆ้องทองคำไปตีให้ดังกังวาน จึงจับช้างเผือกเชือกนี้ได้ เหตุการณ์นี้มีอยู่ในเรื่องพระเจ้าพรหมได้ช้างเผือกพานคำเป็นพาหนะคู่บุญบารมีด้วย และเรียกบริเวณที่ได้ช้างเผือกพานคำว่า เวียงพานคำ (คืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) แสดงว่ามีการหยิบยืมนิทานกันต่อมา


    ข้า (ข่า) พางดำ (มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็น "ยางดำ" ) ตีดาบเหล็กจากแหล่งแร่ที่ภูซางพร้อมทั้งฆ้องเงินคู่หนึ่ง

    ภูซาง เป็นชื่อภูเขาเทือกหนึ่งมีอยู่หลายแห่ง แต่ในที่นี้น่าจะหมายถึงเทือกเขาที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กั้นพรมแดนไทย-ลาว (ซางเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งในสกุลไม้ไผ่ เรียกต้นซาง หรือไผ่ซาง หรือไม้ซาง)


    เรื่องราวตอนนี้แสดงว่า ที่ภูซางนอกจากจะมีต้นซางขึ้นอยู่เต็มไปหมดแล้ว ยังมีแร่เหล็กใช้ตีดาบได้ด้วย ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันอีกชั้นหนึ่งว่ากลุ่มชนบนที่สูงมีความชำนาญถลุงโลหะ เช่นเหล็ก ดังเรื่องปู่เจ้าลาวจกบนดอยตุง (ที่เชียงราย)


    ชื่อภูซางในโคลงท้าวฮุ่งฯ อาจหมายถึงที่อื่นได้อีกเพราะชื่อสถานที่มักเรียกซ้ำกัน แต่ก็ต้องเป็นเขตที่สูงและมีแหล่งโลหะอยู่ด้วย (และอาจเป็นภูซ้างหรือภูซวงก็ได้ด้วย เพราะเอกสารโบราณไม่เคร่งครัดการลงวรรณยุกต์ ขณะเดียวกันผู้ถอดมาเป็นภาษาปัจจุบันก็อาจไขว้เขวได้)


    บริเวณอำเภอเชียงคำเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มน้ำแม่อิง มีทั้งเขตที่สูงและเขตที่ราบ มีร่องรอยวัฒนธรรม "หินตั้ง" ของกลุ่มชนบนที่สูงที่เกี่ยวข้องกับท้าวฮุ่งฯ ตลอดไปจนถึงอำเภอเทิง และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่น้ำแม่อิงไหลลงแม่น้ำโขง แล้วมีเส้นทางคมนาคมไปเกี่ยวข้องกับดินแดนล้านช้างที่เมืองหลวงพระบางจนถึงทุ่งไหหินที่เมืองเชียงขวางในประเทศลาวได้ ปัจจุบันอำเภอเชียงคำเป็นท้องที่ที่มีชาวลื้ออยู่มากที่สุด ชาวลื้อพวกนี้เคลื่อนย้ายมาจากสิบสองพันนาไปอยู่เมืองน่านก่อน แล้วส่วนหนึ่งโยกย้ายมาอยู่ที่นี่ตามเส้นทางคมนาคมยุคโบราณ

    จะเห็นว่าของสำคัญตอนนี้คือฆ้อง มีทั้งฆ้องเงินและฆ้อง (ทอง) คำ

    ฆ้อง เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ที่มีพัฒนาการมาจากมโหระทึกสำริดตั้งแต่ยุคโลหะเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือมิฉะนั้นก็เกิดขึ้นควบคู่มากับมโหระทึก นับเป็นอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ เพราะไม่พบในภูมิภาคอื่น เช่น อินเดีย และจีน (คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, ศิลปวัฒนธรรม ๒๕๓๗, หน้า ๑๓๘-๑๗๕) มีร่องรอยอยู่ในประเพณีต่างๆ ดังนี้


    โคลงเรื่องขุนบรม ตอนพญาแถนหลวงทำพิธี "ราชาภิเษก" ให้ขุนบรม (หรือบูฮม) เป็นกษัตริย์ ต้องมี "เครื่องกษัตรา" หลายชนิด ในจำนวนนั้นมีฆ้องอยู่ด้วย ว่า "เสียงหน่วยฆ้อง ปานฟ้าผ่าสุเมรุ" ต่อมาเมื่อขุนบรมแบ่งสมบัติให้ลูกชายเจ็ดคน ในพงศาวดารล้านช้างระบุว่าลูกคนโตคือขุนลอได้รับฆ้องเป็นเครื่องยศที่ลูกชายคนรองๆ ลงไปไม่ได้ฆ้อง


    ในมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งฯ เอง ก็เต็มไปด้วยบทพรรณนาถึงเสียงฆ้องเมื่อต้องการกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ ทุกวันนี้ยังใช้ฆ้องเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาในพระพุทธศาสนา และยังมีอยู่ในชนเผ่าทั่วไปทั้งบนผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะพวกลาวเทิง (ข้า-ข่า) ในประเทศลาวยังแขวนฆ้องเป็นราวเรียงลำดับตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปหาขนาดเล็ก (คล้าย "หม่างซอง" ของพวกไทยใหญ่) ใช้ตีในพิธีกรรมสำคัญ เช่นเดียวกับพวกจ้วงในกวางสีตีมโหระทึกหลายขนาดที่แขวนเป็นราว

    ท้าวฮุ่ง-ต้นแบบ "วีรบุรุษในตำนาน"


    กรณีพระเจ้าพรหมมีช้างพานคำคู่บุญบารมี กับมีฆ้องหรือพานเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เหมือนท้าวฮุ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความจงใจ หยิบยืมถ่ายเท หรือลอกเลียนเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

    แต่ใครเป็นต้นแบบให้ใคร? แล้วทำไปเพื่ออะไร? ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบ

    เรารู้มาแล้ว ว่าพระเจ้าพรหมเป็นผู้นำของพวกไทยใหญ่ แล้วท้าวฮุ่งล่ะเป็นผู้นำของใคร? พวกไหน?

    อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอว่า ท้าวฮุ่งเป็นผู้นำของพวกลัวะ จะเป็นจริงหรือไม่? ขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของท้าวฮุ่งเสียก่อน ผมเขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในคำนำเสนอ หนังสือมหากาพย์ของอุษาคเนย์ ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๘)

    ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง


    ท้าวฮุ่ง หรือขุนเจือง เป็นชื่อของ "วีรบุรุษทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์สองฝั่งโขง" (ฮุ่ง ก็คือรุ่ง หมายถึงสว่าง, สุกใส / เจือง หรือเจื่อง หรือเจี่ยง หมายถึงจอม, ยอดเยี่ยม, เป็นเอก) ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวรรณกรรมไทยสมัยโบราณ


    ยุคแรกๆ เรื่องท้าวฮุ่ง ขุนเจือง คงเป็นคำบอกเล่าของผู้คนเผ่าพันธุ์ต่างๆ มาก่อน ต่อมาพวกตระกูลไทย-ลาว เอาคำบอกเล่ามาเรียบเรียงแล้วบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของร้อยแก้วกับร้อยกรอง ทำให้เรื่องของท้าวฮุ่งฯ เป็นที่รับรู้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง มีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และวรรณคดี


    ประเพณีการเรียบเรียงเรื่องต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของ "ตำนาน" มีหลักฐานว่าเริ่มขึ้นในล้านนาประเทศเมื่อราวหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (หลัง พ.ศ. ๑๙๐๐) หลังจากนั้นประเพณีนี้แพร่หลายไปเป็นแบบอย่างให้บ้านเมืองทางลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาและที่อื่นๆ ฉะนั้นเรื่องท้าวฮุ่งฯ ทั้งที่เป็นร้อยแก้วกับร้อยกรองจึงเรียบเรียงขึ้นหลัง พ.ศ. ๑๙๐๐ แล้วแต่งเติมเสริมต่อกันเรื่อยๆ มา ทำให้เรื่องท้าวฮุ่งฯ แต่ละฉบับมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง

    หนังสือโคลงเรื่องท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองแต่งด้วยฉันทลักษณ์ "โคลงสองฝั่งโขง" เกือบ ๕,๐๐๐ บท บรรดากลุ่มชนสองฝั่งโขงเรียก "หนังสือเจือง" และจิตร ภูมิศักดิ์ มีความเห็นว่าเป็นวรรณคดีประเภทที่จะต้องเรียกว่า "มหากาพย์" เพราะเป็นวรรณคดีที่เล่าเรื่องวีรบุรุษด้วยภาษาโบราณอย่างยิ่ง นับว่าโบราณกว่าวรรณคดีเรื่องใดๆ ในอีสาน และยังมีร่องรอยที่แสดงว่าภาษาที่ใช้เป็นภาษาทางล้านช้างหลวงพระบาง แต่บางคำก็เหลื่อมล้ำเข้าไปเป็นภาษาของไตโยนหรือไตยวน คือภาษาแบบโยนกหรือล้านนา


    จิตรเชื่อว่าเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในบริเวณล้านช้างหลวงพระบางในสมัยโบราณ อย่างต่ำก็ต้องราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ขึ้นไป นั่นคือในปูนเดียวกับการสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย สำนวนที่ใช้ในหนังสือเจืองมีที่ตรงและใกล้เคียงกับสำนวนในศิลาจารึกครั้งสุโขทัย (กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) และตรงกับสำนวนครั้งต้นอยุธยาในวรรณคดีไทยภาคกลางมากทีเดียว (โองการแช่งน้ำ, สำนักพิมพ์ดวงกมล ๒๕๒๔, หน้า ๒๑๑)


    วีรบุรุษทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์

    บทความเรื่อง ขุนเจือง : สำนึกร่วมทางวัฒนธรรมของคนในลุ่มน้ำโขงตอนบน โดย ศรีศักร วัลลิโภดม (พิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑/มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๗) น่าจะถือเป็นบทสรุปในชั้นแรกนี้ได้ว่า ท้าวฮุ่งฯ เป็น "วีรบุรุษข้ามพรมแดนทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" คือไม่ได้เป็นสมบัติของชนกลุ่มใดหรือเผ่าใดเลย


    อาจารย์ศรีศักรเริ่มต้นเรื่อง ด้วยการอธิบายภาพรวมอย่างกว้างๆ ของดินแดนล้านนาที่ประกอบด้วยที่ราบลุ่มเชียงใหม่กับที่ราบลุ่มเชียงราย โดยกล่าวว่าการให้ความสำคัญกับบุคคลสำคัญในตำนาน ระหว่างแอ่งเชียงใหม่กับแอ่งเชียงรายมีไม่เท่ากันในสำนึกของคนส่วนมาก โดยเฉพาะเรื่องของพระนางจามเทวี ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ของแคว้นหริภุญไชย กับขุนเจืองผู้เป็นกษัตริย์องค์สำคัญของเมืองพะเยา และบ้านเมืองทั้งหลายในแอ่งเชียงราย ทั้งนี้ก็เพราะในแอ่งเชียงใหม่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจกำหนดอายุได้มาสนับสนุน แต่ไม่อาจกระทำเช่นเดียวกันได้ในแอ่งเชียงรายที่มีหลักฐานประเภทตำนานพงศาวดารก่อนสมัยล้านนา ทั้งๆ ที่เรื่องราวของบุคคลและเหตุการณ์ในตำนานพงศาวดารเหล่านั้น มีข้อมูลที่มีค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาถึงความสัมพันธ์ ทางสังคมและความสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมของผู้คนในแอ่งเชียงรายและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ในส่วนรวมที่ยังไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนหลายเผ่าพันธุ์


    อาจารย์ศรีศักรสรุปว่า สถานะการเป็นคนไทยที่เกิดขึ้นในล้านนานั้น เนื่องมาจากผู้คนในภูมิภาคนี้เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือพุทธ และการใช้ภาษาไทยกับอักษรไทยในการสื่อสาร แต่ก่อนที่จะหันไปนับถือพุทธนั้น กลุ่มชนในแถบนี้มีจุดศูนย์รวมที่แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองอยู่ที่เรื่องราวของขุนเจือง ซึ่งเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมคนสำคัญ ในยุคที่บ้านเมืองผ่านขั้นตอนของการสร้างบ้านแปลงเมืองมาแล้ว เป็นยุคที่มีเมืองเป็นศูนย์กลางของแว่นแคว้นแล้ว เช่น เมืองหิรัญนครเงินยาง เมืองเชียงราย และเมืองพะเยา เป็นต้น


    การเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของขุนเจือง ต่างจากผู้นำในการสร้างบ้านแปลงเมือง เช่นพระเจ้าสิงหนวัติ แต่ขุนเจืองเป็นผู้นำในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออาจเรียกว่าเป็นผู้สร้างอาณาจักรโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวผู้นำเอง ในลักษณะเช่นนี้บุคคลที่เป็นผู้นำจะต้องมีความเป็นกลางในเรื่องเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ เพราะบรรดาบ้านเมืองที่ถูกนำมารวมนั้นล้วนมีความแตกต่างกันทางเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้น


    ขุนเจือง เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำทางวัฒนธรรมที่ไม่มีพรมแดนทางเผ่าพันธุ์ คือไม่เป็นบุคคลของชนกลุ่มใดๆ ดังเห็นได้จากชายาทั้งหลายมีเชื้อสายต่างๆ กัน เช่น จาม เมง (มอญ) ลาว (กาว) แกว (ญวน) ฯลฯ เท่ากับสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่สิบสองพันนา สิบสองเจ้าไทย ล้านนา ล้านช้าง จนถึงลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในภาคเหนือของเวียดนาม ทั้งยังได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบ้านเมืองใหญ่ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

    บรรพบุรุษท้าวฮุ่งฯ ใน"โยนก"

    มหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งฯ บอกว่าท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองเป็นลูกของขุนจอมธรรมแห่งเมืองสวนตาลหรือเมืองนาคอง แต่ไม่ได้บอกว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน (จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ว่าอยู่ริมแม่น้ำโขง เหนือเมืองเชียงแสน แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผล)




    ส่วนพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน บอกว่าขุนเจืองเป็นลูกขุนจอมธรรม เกิดที่เมืองพะเยา ภายหลังได้ครองเมืองพะเยา



    มหาสิลา วีระวงส์ สันนิษฐานว่าเมืองสวนตาลหรือเมืองนาคองคือเมืองเชียงราย (จังหวัดเชียงราย) ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่กล่าวถึงที่เกิด แต่บอกว่าขุนเจืองเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งของเมืองเงินยางหรือหิรัญนคร ก็คือเมืองเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) แล้วระบุศักราชด้วยว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๖๕-๑๗๓๕ (ร่วมสมัยกับกษัตริย์ศรีสูรยวรรมันที่ ๒ ของเขมร) ภายหลังได้แยกไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองพะเยา แต่ถึงกระนั้นขุนเจืองก็เป็นวีรบุรุษคนสำคัญของบ้านเมืองแถบลุ่มน้ำแม่กกทั้งหมด อันมีเมืองเงินยาง (เชียงแสน) เมืองเชียงราย และเมืองอื่นๆ รวมทั้งเมืองพะเยาที่อยู่ลุ่มน้ำแม่อิงด้วย



    จะเห็นว่าท้าวฮุ่งฯ ถือกำเนิดและมีขอบเขต "เครือญาติ" สำคัญตั้งแต่เมืองเงินยางเชียงแสนถึงเมืองพะเยา จัดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา ซึ่งมีชื่อเรียกมาแตˆโบราณวˆา โยนก



    (อีกฟากหนึ่งเรียกว่าบริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน มีบ้านเมืองเก่าแก่ที่สุดในล้านนาคือเมืองหริภุญไชยหรือลำพูน ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (หรือหลัง พ.ศ. ๑๒๐๐) อันเนื่องมาจากการขยายอิทธิพลของแคว้นละโว้ (ลพบุรี) ที่เป็นบ้านเมืองหรือรัฐขนาดใหญ่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง)



    โยนก สมัยโบราณหมายถึงดินแดนและประชากรบริเวณที่ทุกวันนี้เรียกว่าที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงรายกับจังหวัดพะเยา และต่อเนื่องเข้าไปถึงบางส่วนของพม่าและลาว โดยมีลำน้ำแม่กกเชื่อมแม่น้ำโขงเป็นแกน



    ก่อนได้ชื่อว่าโยนก ตำนานสิงหนวติกุมาร (หรือสิงหนวัติ) กล่าวว่าบริเวณนี้เป็นดินแดน "สุวรรณโคมคำ" แต่รกร้างไปแล้ว เมื่อสิงหนวติกุมารนำไพร่บ้านพลเมืองจากนครไทยเทศมาถึง จึงสร้างเมืองใหม่ลงบริเวณนี้ แล้วให้ชื่อ "นาคพันธุสิงหนวตินคร" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น" (ช้างแส่น แปลว่าช้างร้อง) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "เชียงแสน" และเรียกพลเมืองของโยนกนครว่า "ยวน" หรือ "ชาวยวน" ต่อมาใช้โยนกเป็นชื่อแคว้นที่ประกอบด้วยเมืองเชียงราย เชียงของ และเชียงแสน ฯลฯ (ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "หมอดอดด์" กล่าวไว้ในเรื่อง "ชนชาติไทย" (The Thai Race - แปลโดย หลวงนิเพทย์นิติสรรค์) ถึงคำว่ายวน หาใช่ชื่อใหม่ไม่ แต่เป็นชื่อที่คนในถิ่นใกล้เคียงโดยรอบใช้เรียกคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว และพวกพม่ายังคงเรียกดินแดนตะวันออกของแม่น้ำสาละวินว่ายวน ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ สงสัยว่าคำที่พม่าเรียกชาวเชียงใหม่ว่ายูน ซึ่งคนไทยมักเข้าใจว่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าไตยน หรือไทยวน นั้น แท้จริงเป็นคำภาษาพม่า ยูน แปลว่าข้าหรือทาส ในภาษาสุภาพของพม่าจะเรียกตัวเองว่า ยูนโนก แปลว่าทาสผู้ต่ำต้อย และเรียกผู้ที่พูดด้วยว่า ขิ่นพญา แปลว่าท่านนาย - ดูใน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" : ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ๒๕๑๙ : หน้า ๕๐๐, ๕๗๓)



    ดินแดนที่เรียกว่าโยนกสมัยโบราณซึ่งเป็นถิ่นฐานของพวกยวน อยู่บริเวณที่ราบลุ่มเขตจังหวัดเชียงรายกับจังหวัดพะเยาและที่ใกล้เคียงโดยรอบ มีเทือกเขาเรียกว่าดอย ขนาบตามแนวเหนือ-ใต้ มีลำน้ำเกิดจากดอยต่างๆ ไหลจากทิศตะวันตกไปลงแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น ลำน้ำสำคัญได้แก่ น้ำแม่กก น้ำแม่ลาว น้ำแม่อิง ทำให้เกิดที่ราบลุ่มสำคัญๆ อย่างน้อย ๔ แห่ง อันเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของกลุ่มโยนกโบราณหรือกลุ่มเครือญาติท้าวฮุ่งฯ



    พัฒนาการของดินแดนโยนกบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา อาจแบ่งกว้างๆ ได้ ๒ ยุค คือ



    ๑. ยุคก่อนรับศาสนา หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐) มักเกี่ยวข้องกับคน ๒ พวก คือพวกที่สูงกับที่ราบ ยังไม่รับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ นับถือผี เช่น ผีฟ้าผีแถน ผีมดผีเม็ง ฯลฯ อาจเรียกยุคนี้ว่า "ก่อนประวัติศาสตร์" เพราะยังใช้เครื่องมือหิน ท้าวฮุ่งฯ อยู่ช่วงปลายยุคนี้



    ๒. ยุคหลังรับศาสนา หรือหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (หลัง พ.ศ. ๑๘๐๐) มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก เชื่อมโยงและหล่อหลอมให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่อยู่บนที่สูงและที่ราบรวมเป็นพวกเดียวกัน จนเกิดเป็นบ้านเมืองขนาดเล็กๆ ขึ้นบริเวณที่ราบลุ่ม แล้วมีพัฒนาการขึ้นเป็นบ้านเมืองใหญ่ที่ภายหลังมีชื่อเรียกในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุมว่า "เชียงแสน" กับ "พะเยา"



    บริเวณโยนกมีนิทานปรัมปรา เช่นตำนานสิงหนวัติ เล่าสืบกันมา ว่าในยุคก่อนรับศาสนา (หรือยุคดึกดำบรรพ์) มีคนอยู่ ๒ พวก คือพวกที่สูงเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม กับพวกที่ราบเป็นกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ต่อมาคนทั้ง ๒ พวกประสมกลมกลืนกันทางสังคมและวัฒนธรรม แล้วสืบเชื้อสายกลายเป็นบรรพบุรุษของผู้ก่อตั้งเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองพะเยา และเมืองอื่นๆ ซึ่งล้วนจัดอยู่ในกลุ่มเครือญาติท้าวฮุ่งฯ ดังมีคำอธิบายต่อไปนี้



    พวกที่สูง



    อยู่บริเวณป่าเขาลำเนาไพร มีแหล่งเพาะปลูกน้อย มีแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ เพาะปลูกด้วยระบบที่เรียกว่า "เฮ็ดไฮ่" (ทำไร่) หรือแบบล้าหลัง คือเอาไฟเผาป่าให้ราบลงเป็นแปลงเท่าที่ต้องการ ไม่ต้องพรวน ไม่ต้องไถ อย่างดีก็เอาจอบช่วยเกลี่ยหน้าดินนิดหน่อย แล้วก็เอาไม้ปลายแหลมแทงดินให้เป็นรู เอาเมล็ดพันธุ์พืชหยอดลงทีละรูๆ แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม แล้วแต่ดิน ฝน และแดด แต่พันธุ์พืชหรือพันธุ์ข้าวชนิดที่ปลูกก็เป็นพันธุ์ป่าชนิดที่ไม่ต้องขวนขวายทดน้ำมาหล่อเลี้ยง พอพืชโตได้ที่มีดอกออกผลก็เก็บเกี่ยวแล้วก็ทิ้งดินแปลงนั้นให้หญ้าและต้นไม้ขึ้นรกชัฏไปตามเรื่อง ใช้ได้ครั้งเดียว ปีรุ่งขึ้นก็ขยับไปเผาป่าในที่ถัดออกไปใหม่ ขยับเวียนไปรอบทิศตามสะดวก ไม่มีใครหวงห้ามหรือจับจอง บางที ๒-๓ ปีผ่านไปก็หันกลับมาเผาที่ตรงแปลงเดิมใหม่ แต่ถ้าหากดินจืด ใช้ไม่ได้ผล ก็ย้ายหมู่บ้านกันเสียที ไปเลือกทำเลใหม่ หอบไปแต่สิ่งของสำคัญๆ ไม่มีสมบัติ (จิตร ภูมิศักดิ์ : ความเป็นมาของคำสยามฯ ๒๕๑๙ : ๒๓๘)



    การเพาะปลูกแบบนี้ย่อมผลิตอาหารได้น้อย เพราะมีพื้นที่น้อยและทำได้ไม่สม่ำเสมอ ฉะนั้นนอกจากจะมีอาหารเลี้ยงคนได้น้อยแล้ว ยังเป็นเหตุให้ชุมชนต้องเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งเพาะปลูกแห่งใหม่อยู่เสมอๆ พวกนี้จึงมีลักษณะทางสังคมเป็นแบบ "ชนเผ่า" ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งหลักแหล่งถาวรไม่ได้ ขยายตัวเป็นบ้านเมืองก็ไม่ได้



    ตำนานและพงศาวดารของล้านนาหลายฉบับเล่าว่า นานมาแล้วมีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้าผู้คนอาศัยอยู่ที่สูงบนดอยตุง สมัยต่อมาได้ลงจากดอยสูงในหุบเขาสู่ทุ่งราบ แล้วก่อบ้านสร้างเมืองที่ภายหลังเรียกหิรัญนครเงินยางเชียงแสน แล้วปู่เจ้าลาวจกก็ได้นามใหม่ว่า ลวจักราช ครั้นสิ้นยุคลวจักราชก็มีลูกหลานหลายสิบคนถือครองบ้านเมืองสืบมาจนถึงยุคลาวเงิน เมื่อลาวเงินครองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนอยู่ ก็อุดหนุนให้ลูกชายชื่อขุนจอมธรรม ขยับขยายแยกครัวไปสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ ที่เชิงเขาชมภูหรือดอยด้วน ใกล้แม่น้ำสายตาหรือน้ำแม่อิง แล้วเรียกเมืองใหม่นี้ว่า ภูกามยาว หรือพะเยา



    ขุนจอมธรรมกษัตริย์เมืองพะเยา ทรงมีโอรส ๒ องค์ คือขุนเจืองเป็นพี่ และขุนชองเป็นน้อง เมื่อสิ้นขุนจอมธรรมแล้ว ขุนเจืองผู้พี่ได้ครองเมืองพะเยา เป็นกษัตริย์ที่มีอานุภาพมากสามารถปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยในเขตลุ่มน้ำแม่กก แม่สาย แม่วัง และแม่น้ำโขงฟากตะวันออก แล้วแผ่อำนาจไปรวบรวมพวกแกวหรือญวนเข้าด้วยกัน ต่อจากขุนเจืองอีกหลายชั่วคนก็ถึงยุคพญางำเมืองครองเมืองพะเยา



    พงศาวดารโยนกอธิบายว่าปู่เจ้าลาวจกเป็นพวกละว้า ตั้งเคหสถานเป็นหมู่ๆ อยู่ตามแนวภูเขา "มีหัวหน้าเรียกกันว่าปู่เจ้าลาวจก เหตุผู้เป็นหัวหน้ามีจก คือจอบขุดดินมากกว่า ๕๐๐ เล่มขึ้นไปสำหรับแจกจ่ายให้บริวารเช่ายืมไปทำไร่" ฉะนั้นปู่เจ้าลาวจกก็คือพวกลัวะ (หรือละว้า) ซึ่งเป็นกลุ่มชนอาศัยอยู่บนที่สูงที่ดอยตุง มีความรู้ในการถลุงแร่เช่นเหล็ก เพราะ "จก" แปลว่าจอบขุดดิน แต่ที่ดอยตุงโดยเฉพาะบริเวณที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุงเป็นเทือกเขาสูง และไม่พบร่องรอยและหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยโบราณ เช่น เครื่องมือหินขัด แต่จะพบตามเนินเขาเตี้ยๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่ายุคแรกๆ จะมีผู้คนอาศัยอยู่บนดอยตุง แต่เป็นความเชื่อของผู้เขียนตำนานในสมัยหลังๆ ที่โยงเรื่องลาวจกที่เป็นลัวะให้เข้ากับพุทธศาสนาคือพระธาตุดอยตุงที่สร้างสมัยหลัง



    อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบาย ว่าการตั้งถิ่นฐานในยุคแรกๆ ควรอยู่บริเวณที่เกิดเป็น "เมือง" ขึ้นมากกว่า เพราะมีร่องรอยของเวียงโบราณที่เชิงดอยตุงใกล้ฝั่งลำน้ำแม่สายที่กั้นเขตแดนไทย-พม่าในปัจจุบัน บริเวณนี้มีร่องรอยของเหมืองแดงที่เจ้านายให้ขุดขึ้นเพื่อการเกษตรของประชาชน รวมทั้งร่องรอยการขยายตัวของชุมชนไปทางตะวันออกสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อันได้แก่เวียงพานคำ (ที่อำเภอแม่สาย) พระธาตุปูเข้า และเวียงที่ไม่ปรากฏชื่ออยู่ใต้ธาตุปูเข้าลงมา รวมทั้งตัวเวียงเชียงแสนที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองหิรัญนครเงินยางซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเวียงปรึกษาของกลุ่มสิงหนวัติ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการเกิดของเมืองและชุมชนที่ต้องอาศัยทางน้ำ ที่ราบลุ่ม และเส้นทางคมนาคมที่จะติดต่อไปยังบ้านเมืองอื่นๆ ได้รอบด้าน



    ส่วนบริเวณลุ่มน้ำอิงตั้งแต่ต้นน้ำที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จนถึงปลายน้ำที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบเครื่องมือหินและ "หินตั้ง" ตามไหล่เขาและที่สูงจำนวนมาก แล้วยังพบร่องรอยประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าแถบลุ่มน้ำอิงเคยเป็นถิ่นฐานของผู้คนบนที่สูงมาก่อนช้านานแล้ว อย่างน้อยก็ก่อนรับศาสนาหรือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดังที่ตำนานเรียกว่าพวกกล๋อม ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับกลุ่มท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง



    สรุปว่าดินแดนโยนกหรือบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา มีผู้คนบนที่สูงแพร่กระจายอยู่บนดอยเตี้ยๆ มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือก่อนรับศาสนาแล้ว



    นอกจากบริเวณลุ่มน้ำแม่อิงในแอ่งเชียงราย-พะเยาแล้ว วัฒนธรรม "หินตั้ง" ที่ยังมีอยู่ในภาคเหนือของประเทศลาวด้วย



    ดวงเดือน บุนยาวง เล่าว่าที่บ้านนาแล เมืองหัวเมือง แขวงหัวพัน (สปป.ลาว) มี "หินตั้ง" หลายกลุ่มฝังอยู่ตามเนินเขา (ระดับสูงประมาณ ๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล) บางกลุ่มมีมากกว่า ๑๐ หลัก (ก้อน) ขนาดใหญ่สูงราว ๒ เมตรเศษ ใกล้ๆ กลุ่ม "หินตั้ง" มีหลุมกว้างและลึก ที่ปากหลุมปิดด้วยแผ่นหินสีขาวรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตรเศษ



    นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเคยเข้ามาตรวจสอบ แล้วขุดพบกระดูกฟันมีร่องรอยเผาไหม้ พบกำไลหินและของใช้อื่นๆ ทำด้วยหินฝังรวมอยู่ในหลุมที่ปิดด้วยแผ่นหินใกล้ๆ กับกลุ่ม "หินตั้ง" สิ่งของเหล่านี้คล้ายกับที่พบอยู่กับ "ไหหิน" ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ซึ่งน่าจะมีอายุอยู่เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว



    นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีลงความเห็นว่า บริเวณ "หินตั้ง" เป็นที่ฝังกระดูกของบรรพบุรุษ ซึ่งดวงเดือน บุนยาวง สันนิษฐานว่าเป็นพิธีฝังศพครั้งที่สองหลังจากมีการเผามาแล้วในครั้งแรก ทั้งนี้เพราะกระดูกมนุษย์ที่พบในหลุมมีร่องรอยเผาไหม้



    เมื่อมีพิธีฝังศพ (ครั้งที่สอง) จะมีการฆ่าสัตว์เช่นวัว, ควายเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ บรรดา "หินตั้ง" เป็นที่ผูกเชือกล่ามสัตว์ที่นำมาฆ่าบูชายัญ ฉะนั้น "หินตั้ง" จึงเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ที่วิญญาณบรรพบุรุษกับวิญญาณสัตว์ที่ถูกฆ่าจะมาสิงสถิตเพื่อคอยดูแลปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์ลูกหลานสืบมา



    การพบวัฒนธรรม "หินตั้ง" ทั้งในภาคเหนือของไทยและภาคเหนือของลาวดังกล่าวมา แสดงว่ากลุ่มชนบนที่สูงทั้งสองฝั่งโขงมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันแล้วตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ในสมัยหลังก็ยังเคลื่อนย้ายไปมาถึงกัน ซึ่งอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญฯ กรมศิลปากร) พบจารึกเมืองพะเยาสมัยต้นๆ ออกชื่อ "เซ่า" ที่หมายถึงหลวงพระบาง (จารึกเมืองพะเยา, มติชน-ศิลปวัฒนธรรม จัดพิมพ์ถวายวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา, พ.ศ. ๒๕๓๘)



    นอกจากนั้นตำนานพระเจ้าตนหลวงแห่งเมืองพะเยายังบันทึกว่าครั้งหนึ่งชาวเมืองพะเยาสมัยโบราณเคยหนีการรุกรานของพม่าไปอยู่หลวงพระบาง และทุกวันนี้ยังมีพิธีเลี้ยงผี (บรรพบุรุษ) ที่หอผี "เจ้าพ่อล้านช้าง" ซึ่งมีหลักผูกสัตว์เพื่อฆ่าบูชายัญอยู่ที่บ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา



    หลักฐานเหล่านี้สอดคล้องกับโครงเรื่องท้าวฮุ่งฯ ที่แผ่อำนาจไปถึงเมืองปะกันคือเมืองเชียงขวาง ซึ่งครอบคลุมทั้งแขวงเชียงขวางกับแขวงหัวพันทางภาคเหนือของลาว



    พวกที่ราบ

    อยู่บริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบตามชายฝั่งทะเล ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกกว้างขวางกว่าเขตที่สูงมีน้ำท่วมถึง หรือมีการชักน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกได้ ทำให้มีโคลน หรือตะกอนจากที่อื่นๆ เข้ามาทับถมกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ที่ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์เสมอๆ ทุกๆ ปี จนไม่ต้องโยกย้ายไปหาที่เพาะปลูกใหม่ และสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยพอเลี้ยงคนได้จำนวนมาก ทั้งมีส่วนเกินพอที่จะนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่นๆ ด้วย



    ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ท้องถิ่นนั้นๆ มีผู้คนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็มีการแบ่งงานกันทำกิจกรรมเฉพาะ รวมทั้งมีโอกาสร่วมมือในกิจการงานด้านต่างๆ เช่น การทดน้ำ หรือระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูก การติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่น และการขยายตัวของชุมชนไปยังบริเวณใกล้เคียง ฉะนั้นเขตนี้จึงมักมีพัฒนาการของชุมชนที่เป็น "หมู่บ้าน" ขึ้นเป็น "เมือง" แล้วก้าวหน้าเป็น "รัฐ" และ "อาณาจักร" ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าทุกหนทุกแห่งในเขตที่ต่ำ จะมีโอกาสพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองจนเป็นรัฐและเป็นอาณาจักรได้เหมือนกันหมด เพราะยังมีข้อแตกต่างกันด้านอื่นๆ ที่อาจเป็นทั้งสิ่งเอื้ออำนวยและข้อจำกัดอีก



    พวกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบในยุคหนึ่งเป็นพวก "สิงหนวัติ" ตำนานสิงหนวัติเล่าว่ากษัตริย์เทวกาลครองนครไทยเทศ (หรือ "เมืองราชคฤห์นครหลวง") มีราชบุตรคนโตชื่อพิมพิสารราช ราชบุตรคนที่สองชื่อสิงหนวัติ ต่อมาได้แบ่งราชสมบัติให้พิมพิสารราชครองนครไทยเทศ ส่วนสิงหนวัติให้ "แยกครัว" ไปก่อบ้านสร้างเมืองใหม่ แสดงว่าสิงหนวัติเป็นราชบุตรผู้ถ้วน (คนที่สอง) ของกษัตริย์เทวกาล นครไทยเทศแห่งลุ่มน้ำสาละวิน (ชาวบ้านเรียกแม่น้ำคง แต่ตำนานเรียกแม่น้ำสาระพู) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า



    ต่อมาสิงหนวัติเสด็จออกจากนครไทยเทศข้ามแม่น้ำสาละวินลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงลุ่มแม่น้ำโขงอันเป็นเขตแดนแคว้นสุวรรณโคมคำที่ร้างไปแล้ว ขณะนั้นมีแต่พวกมิลักขุหรือลาวกะยูคือปู่เจ้าลาวจกอาศัยอยู่ตาม "ซอกห้วยราวเขาภูดอย" จึงสร้างหลักแหล่งตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ชื่อเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินคร แล้วรวบรวมพวกมิลักขุมาอยู่ในอำนาจ จากนั้นปราบปรามพวก "กล๋อม" หรือ "กรอม" ที่อยู่ใกล้เคียง เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่งก็เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแสน



    บริเวณที่พวกสิงหนวัติมาตั้งถิ่นฐานนั้น เอกสารระบุว่า "มีสถานที่อันราบเพียงเรียงงาม มีแม่น้ำใหญ่ แม่น้ำฮาม น้ำน้อยมากนัก...อันจักสร้างไร่แต่งนาดีนักแล" แสดงว่าเป็นที่ราบลุ่มหรือเขตที่ต่ำ



    เชื้อสายสิงหนวัติปกครองเมืองโยนกสืบมาอีกนาน แล้วถูกพวก "กล๋อม" รุกราน จนต้องหนีไปอยู่กับตระกูลลาวจกที่เมืองเวียงสีทวง จึงเกิดพรหมกุมารหรือพระเจ้าพรหมมาปราบปรามพวก "กล๋อม" สำเร็จแล้วขยายอำนาจออกไปหลายทิศทาง ต่อมาเมืองโยนกถูกรุกรานจากบ้านเมืองทางทิศตะวันตก (มอญ ไทยใหญ่) ทำให้เชื้อสายสิงหนวัติต้องหนีลงไปทางใต้ หลังจากนั้นแคว้นโยนกก็ล่มสลาย



    ในที่สุดแล้วพวกที่สูงกับพวกที่ราบก็ผสมกลมกลืนกัน



    พวกที่สูงมีความรู้และชำนาญในการถลุงโลหะ ดังตำนานบอกว่าปู่เจ้าลาวจกมีจอบ (ทำด้วยโลหะ เช่นเหล็ก) มากกว่าใครๆ ส่วนพวกที่ราบมีความรู้และชำนาญการทำนาปลูกข้าวในที่ลุ่ม ทั้งสองพวกนี้มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันตลอดเวลา จนถึงระยะเวลาหนึ่งพวกที่สูงก็ลงมาอยู่ที่ราบ ดังตำนานเล่าว่าปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้าผู้คนอาศัยอยู่บนที่สูงได้เคลื่อนย้ายลงสู่ที่ราบแล้วก่อบ้านสร้างเมืองชื่อ "หิรัญนครเงินยางเชียงแสน" ปู่เจ้าลาวจกจึงได้นามใหม่ว่า "ลวจักราช" ถือเป็น "ต้นตระกูลลาว" ทั้งลาวล้านนาและลาวล้านช้าง (พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน)



    ครั้นสิ้นลวจักราช ก็มีลูกหลานหลายสิบคนถือครองบ้านเมืองสืบมาจนถึงยุค "ลาวเงิน" ลาวเงินให้ลูกชายชื่อ "ขุนจอมธรรม" ขยับขยายไปสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ที่เชิงเขาชมภูหรือดอยด้วนใกล้แม่น้ำสายตา หรือน้ำแม่อิง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผู้คนบนที่สูงอาศัยอยู่ตามเนินเขาลูกเตี้ยๆ เต็มไปหมด พวกนี้น่าจะเป็นพวกลัวะหรือข่าที่พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนไปพูดภาษาตระกูลไทย-ลาว เมื่อสร้างเมืองแล้วให้เรียกเมืองใหม่นี้ว่า "ภูกามยาว" หรือ "พะเยา"



    นี่คือการผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมของพวกที่สูงกับพวกที่ราบ แล้วกลายเป็นบรรพบุรุษของท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง ฉะนั้นจะบอกว่าท้าวฮุ่งฯ เป็นตระกูลมอญ-เขมรก็ถูก หรือเป็นตระกูลไทย-ลาวก็คงไม่ผิด เพราะในมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งฯ ระบุร่องรอยความสัมพันธ์ของ ๒ ตระกูล คือแม่เป็นมอญ-เขมร ส่วนพ่อเป็นไทย-ลาว ดังนี้


    อาณาเขตของเมืองสวนตาลหรือเมืองนาคอง อันเป็นเมืองของพ่อแม่ท้าวฮุ่งฯ มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองเม็งก็คือเมืองมอญ มีโคลงว่า "บุรีเท้าเมืองเม็ง มนุษยโลก" ทั้งป้ากับแม่ท้าวฮุ่งฯ ล้วนเป็นมอญ เพราะเลี้ยงผีเม็ง และเรียกเมียชื่อนางง้อม (ลูกสาวของป้า) ว่านางเม็ง, นางมอญบ้าง ลูกเม็ง, ลูกมอญบ้าง (ดู จิตร ภูมิศักดิ์) นี่เท่ากับสายแหรกข้างแม่เป็นตระกูลมอญ-เขมร


    แต่สายแหรกข้างพ่อของท้าวฮุ่งฯ น่าจะเป็นตระกูลไทย-ลาว เพราะนับถือแถนเป็น "ผีด้ำใหญ่" เมื่อทำพิธีบนบานขอลูกก็ขอกับแถน มีโคลงว่า


    จิ่งจัก ทวนความเท้าเถิงแถน ดาด่วน

    ขอลูกแก้วบุญเกื้อ เกิดมา ฯ


    เมื่อคลอดท้าวฮุ่งฯ ก็เปรียบเทียบว่างามเหมือนลูกแมน มีโคลงว่า "นางก็ ประสูติแก่นแก้วงามแม้ง ลูกแมน" ซึ่งเป็นพวกเดียวกับแถน


    ด้วยเหตุนี้เอง ทั้งพวกมอญ-เขมร เช่น พวกข่า (ข้า), ลัวะ (ละว้า) ฯลฯ และพวกไทย-ลาว ต่างก็อ้างอิงท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองว่าเป็นบรรพบุรุษของพวกตน

    สงคราม


    "ความทรงจำ"

    เท่าที่เล่าเรื่องเรียงลำดับมาทั้งหมด จะเห็นว่า พระเจ้าพรหม กับขุนเจือง เป็น "วีรบุรุษในตำนาน" ทั้งคู่ แต่อยู่ในความทรงจำของคนต่างพวก ต่างเผ่า หรือต่างพันธุ์



    ถ้าพิจารณาจากเอกสาร จะเห็นว่าขุนเจืองเป็นตำนานเก่าแก่มีมาก่อน เป็นที่ยอมรับกว้างขวางครอบคลุมกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ทั้งสองฝั่งโขง (ตอนบน) กล่าวได้ชัดเจนว่าขุนเจืองเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์สองฝั่งโขง แต่อยู่ในความทรงจำอย่างเหนียวแน่นในกลุ่มชนตระกูลมอญเขมร เช่น พวกลัวะ กับพวกข่า



    ส่วนพระเจ้าพรหม เป็นตำนานใหม่กว่า เพิ่งมีขึ้นทีหลัง แพร่หลายอยู่ในความทรงจำของกลุ่มชนตระกูลไทยลาวเท่านั้น เช่น พวกไทยใหญ่ จึงน่าเชื่อว่าตำนานเรื่องพระเจ้าพรหมได้ต้นแบบไปจากเรื่องขุนเจือง
     
  4. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
  5. สตธศร

    สตธศร Namo Amithapho

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    707
    ค่าพลัง:
    +1,537
    :cool:(f)(f)(f)(f)(f)(f)(f)
     
  6. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    ขุนบรมฯ ผู้ครองหนองแส รัฐน่านเจ้า ได้ส่งโอรส ๗ องค์ไปปกครอง ๗ หัวเมือง ดังนี้

    ๑.ขุนลอ ครองเขตซวา ครอบคลุม เชียงทอง หลวงพระบาง ล้านช้าง ขุนลอถือเป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้าง

    คำว่า ซวา หรือชวาในที่นี้มาจากแม่น้ำว้า ภาษาถิ่นเรียกน้ำซวา ตามสำเนียงลาว มิได้หมายถึงประเทศชวา แต่เป็นชื่อเรียกดั้งเดิมหมายถึง หลวงพระบาง ปัจจุบัน

    ๒.ขุนยี่ผาลาน ครองต้าหอ(หอแตกหรือหอแต) ครอบคลุม เขตสิบสองปันนา

    ๓.ขุนสามจูสง ครอง จุฬนี คือแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกในปัจจุบัน พงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าขุนสามจุสง ไปสร้างเมืองบัวชุม หรือญวนแกวแคว้นตังเกี๋ย

    ๔.ขุนไสพง ไปสร้างเมืองยวนโยนกนาคนคร หรือเมืองเชียงแสนโยนก(ล้านนา)
    ๕.ขุนงั่วอิน ไปสร้างเมืองอโยธยา หรืออยุธยา
    ๖.ขุนลกกลม ไปสร้างเมืองคำเกิด หรือเมืองภูเหิด บ้างว่าคือ เชียงคาม ปัจจุบันอยู่ลาวใต้
    ๗.ขุนเจืองหรือ เจ็ดเจือง ไปสร้างเมืองปะกัน(เชียงขวาง) หรือเมืองพวน

    ช่างบังเอิญสุดประมาณ เรื่องโอรส ๗ องค์นี้ เค้าโครงคล้ายกับพงศาวดารโยนก เรื่องพระเจ้า ๗ ตน ถูกส่งไปครองเมืองทั้ง ๗ เช่นกัน

    ส่วน พงศาวดารเงินยางเชียงแสน มีส่วนขยายเรื่องราวของ “ขุนเจือง” แตกต่างออกไปอีกแนวหนึ่ง ระบุว่า “ขุนเจือง” เป็นลูกคนที่ ๒ ของ จอมผาเรือง ๆ เป็นลูกคนที่ ๒ ของ ขุนเรงกวา กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ วงศ์ลวจังกราช หรือ ปู่จ้าวลาวจก

    ซึ่งบรรพบุรุษของคนกลุ่มเผ่าไทหรือไตทั้งหลาย ทั้งชนเผ่าไทในสิบสองปันนา และในสิบสองจุไท เชื่อว่า ขุนบรม คือ บรรพบุรุษมาตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้า อาณาจักรล้านช้าง
    จับประเด็นกรณี ปู่จ้าวลาวจก คือเจ้าโคตร(ปู่ทวด) ของ ขุนเจือง(ลูกผาเรือง)
    แต่ ขุนเจือง จะเป็นลูกขุนบรมฯ องค์สุดท้ายในตำนานน้ำเต้าปุง
    แม้จะมีข้อสังเกตชวนกังขา โดย มหาสิลา วีรวง สันนิษฐานว่า ขุนเจือง คือ ลูกมอญหรือลูกขอม? ทว่า ปู่จ้าวลาวจก สำเนียงชื่อบอกชัดเจนเป็นกลุ่มลาว เป็นปู่จ้าวที่มี จก(จอบ) เครื่องมือทำเกษตรสำคัญ บุกเบิกสร้างความมั่งคั่งในสังคมบุพกาล

    ดังนั้น อาจชิงสรุปคลุม ๆ หยาบ ๆ ได้ว่า ๒-๓ ตำนานเหล่านี้ เหลื่อมซ้อนกันและขัดแย้งกันอยู่ในที แต่ประเด็นสำคัญ คือ บ่งแสดงความเป็นเครือญาติกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในยุคใกล้เคียงกัน

    ซึ่งคงอาศัยมีจินตนาการต่อมิติพื้นที่ มิติเวลา ตลอดนับหลายพันปี กลุ่มคนที่อยู่ในดินแดนลุ่มน้ำโขง และอาจพูดได้รวมถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ ต่างมีการโยกย้ายถิ่นฐาน ผสมผสาน และทับซ้อนกันมาอย่างต่อเนื่อง
     
  7. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    “มหากาพย์สดุดีเจืองหาญ” ความโดยสรุปว่า เจือง
    เป็นชื่อตัวละครสำคัญที่พบในตำนาน พงศาวดาร และมหากาพย์หลาย
    สำนวน เจือง ในมหากาพย์ของชนชาติไทเป็นวีรบุรุษที่สู้รบศัตรูอย่างห้าวหาญ
    ได้รับชัยชนะ เกียรติยศเป็นที่เลื่องลือ และท้ายที่สุดเสียชีวิตในสนามรบหลัง
    จากสู้รบอย่างทรหด จึงมีผู้เรียกขานวีรบุรุษผู้นี้อย่างยกย่องว่า “เจืองหาญ”
    บทความนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของมหา
    กาพย์สดุดีเจืองหาญแต่ละสำนวนกับวรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวของวีรบุรุษผู้
    นี้ และเพื่อศึกษาความสำคัญในสังคมของมหากาพย์สดุดีเจืองหาญ “เจือง”
    เป็นนามของเทพและบุคคลสำคัญในวรรณกรรมประเภทตำนานและ
    พงศาวดารของกลุ่มชน ๒ กลุ่ม ได้แก่ ตำนานของขมุและสะเตียงซึ่งเป็นกลุ่ม
    ชนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร และตำนานพงศาวดารของกลุ่มชนที่พูด
    ภาษาตระกูลไท เจืองในตำนานของชนเผ่าขมุมีลักษณะ 2 แบบ แบบหนึ่งเป็น
    เทพผู้สร้างฟ้าดินและสรรพสิ่ง อีกแบบหนึ่งเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรม คือ
    เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องการทำมาหากิน วิธีการในการดำรงชีวิตและขนบธรรมเนียม
    ประเพณีแก่บรรพบุรุษของกลุ่มชนต่าง ๆ “เจียง” ในเรื่องเล่าของเผ่าสะเตียง
    ก็มีลักษณะเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมเช่นกัน กลุ่มชนมอญ-เขมรและม้ง
    บางกลุ่มยังเชื่อว่า เจือง คือผู้ที่จะช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากการถูกกดขี่
    จากชนกลุ่มอื่น และจะช่วยให้มีความสุขสมบูรณ์ในอนาคต อย่างไรก็ดี
    กลุ่มชนมอญ-เขมรบางสำนวนกล่าวถึงเจืองสู้รบกับแกว ด้วยประเด็นนี้
    ตรงกับอนุภาคสำคัญในวรรณกรรมว่าด้วยเรื่องราวของวีรบุรุษนามว่า
    เจือง หรือ เจืองหาญ ของชนชาติไท
    เรื่องราวของวีรบุรุษนามว่า เจือง หรือ เจืองหาญ ปรากฏในวรรณกรรม
    มุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์ของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท
    หลายสำนวน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วประเภทตำนาน พงศาวดาร และบทร้อยกรอง
    ประเภทมหากาพย์ บริเวณที่พบวรรณกรรมดังกล่าว ได้แก่ ภาคเหนือ
    และภาคอีสานของไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เขต
    ปกครองตนเองสิบสองพันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน และในกลุ่มคนไทบางกลุ่มในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
    พญาเจืองในตำนานและพงศาวดารของล้านนาเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๙ แห่งอาณาจักรเงินยาง และเป็นบรรพบุรุษของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา พญาเจืองเป็นคนกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และมีเดชานุภาพมาก เคยช่วยลุงสู้รบกับกองทัพแกวซึ่งยกมาประชิดเมืองเงินยาง และได้ยกทัพไปปราบเมืองแกวปะกันหรือแกวพระกัน
    จนมีชื่อเสียงเลื่องลือ พญาเจืองเสียชีวิตขณะสู้รบกับพญาแกวแมนตา
    ทอกขอกฟ้าตายืน
    วรรณกรรมประเภทมหากาพย์ที่แต่งขึ้นเพื่อสดุดีวีรบุรุษ
    นามเจือง หรือ เจืองหาญ ขณะนี้พบใน ๓ ดินแดน คือ สาธารณรัฐ
    ประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและเขตปกครอง
    ตนเองสิบสองพันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน วรรณกรรมลาวที่แต่งเป็นมหากาพย์น่าจะมีหลายสำนวน เท่าที่พบขณะนี้ มีทั้งที่น่าจะเป็นสำนวนของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้แก่ เรื่องท้าวบาเจือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ท้าวฮุ่งท้าวเจือง และสำนวนพื้นบ้านใช้ชื่อเรื่องต่างๆ กัน เช่น เรื่อง ท้าวยี่ ท้าวเจืองหาญ และท้าวยี่-บาเจือง
    ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามพบมหากาพย์
    สดุดีขุนเจืองหรือเจืองหาญของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท ๒ กลุ่ม คือ ไทดำที่จังหวัดเซินลา และไทที่เมืองกุยเจา จังหวัดเง่อาน แต่ละกลุ่มมีหลายสำนวน ไทลื้อใน สิบสองพันนา มีมหากาพย์ชื่อว่า คำขับค่าวเจ้าเจืองหาญ
    เปรียบเทียบเรื่องราวของพญาเจืองในตำนานและ
    พงศาวดารของล้านนากับขุนเจืองหรือเจืองหาญในมหากาพย์จาก ๓ แหล่ง
    และพบว่ามีโครงเรื่องหลักตรงกัน แสดงว่า ตำนาน และพงศาวดารล้านนา
    กับมหากาพย์ของลาวและมหากาพย์ของคนไทในสาธารณรัฐสังคมนิยม
    เวียดนามน่าจะมีที่มาจากเรื่องเล่าเรื่องเดียวกัน ซึ่งเล่าต่อ ๆ กันมา ผู้แต่ง
    มหากาพย์ได้นำโครงเรื่องดังกล่าวมาพัฒนาให้เป็นบทร้อยกรองขนาดยาว มี
    การบรรยายให้ผู้อ่านมองเห็นภาพ สะเทือนอารมณ์ ประกอบด้วยความงามทางวรรณศิลป์ มีการเพิ่มรายละเอียดในด้านต่าง ๆ เช่น บทชมบ้านเมือง ชมโฉมตัวละคร คำพูดของตัวละคร บทพรรณนาอารมณ์ของตัวละคร ตลอดจนฉากสู้รบ เป็นต้น เมื่อนำเนื้อเรื่องและรายละเอียดของเรื่องในมหากาพย์ ๓แหล่งมาเปรียบเทียบกัน ก็พบว่า เนื้อเรื่อง ชื่อตัวละคร ชื่อช้างและชื่ออาวุธในมหากาพย์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและในมหากาพย์ของคนไทในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีลักษณะตรงกันเป็นส่วนใหญ่
    เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมในด้านการใช้คำศัพท์พบว่ามหากาพย์ของคนไทใน
    สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีคำที่มาจากภาษาบาลี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแถนอิน ซึ่งหมายถึงพระอินทร์ เทพในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา และมีเมืองชื่อจาตุม อยู่บนสวรรค์ ซึ่งน่าจะมาจากชื่อสวรรค์จาตุมหาราชิกา อาจ
    กล่าวได้ว่า มหากาพย์เรื่องขุนเจืองและเจืองหาญของคนไทในสาธารณรัฐ
    สังคมนิยมเวียดนาม ได้รับอิทธิพลมาจากมหากาพย์ของสาธารณรัฐ
    ประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วมีนำไปการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมในด้าน
    รายละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากคนไทในจังหวัดเซินลา และจังหวัดเง่อาน
    สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอยู่ใกล้คนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถ้อยคำภาษาที่ใช้ก็ใกล้เคียงกัน การรับตัวอักษรจากลาวไปใช้
    จึงรับอิทธิพลด้านวรรณกรรมจากลาวด้วย ส่วนมหากาพย์ของไทลื้อมีส่วนที่คล้ายคลึงกับมหากาพย์ของลาวน้อย แสดงให้เห็นว่าน่าจะแต่งขึ้นโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากมหากาพย์ของลาว
    มหากาพย์สดุดีเจืองหาญ มีความสำคัญต่อชีวิตจิตใจของผู้ที่พูดภาษา
    ตระกูลไท มหากาพย์เรื่องเจืองหาญและเรื่องขุนเจืองของคนไทในจังหวัดเซินลาและจังหวัดเง่อาน รวมทั้งมหากาพย์ของไทลื้อ สิบสองพันนา
    ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น หากยังเป็นวรรณกรรมที่มีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมเซ่นไหว้บวงสรวงเจืองหาญ
    มหากาพย์มีบทบาทหน้าที่บอกเล่าความเป็นมาของพิธีกรรม ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมในพิธีตระหนักและภาคภูมิใจในวีรกรรมของเจืองหาญ วีรบุรุษไทในอดีตอีกด้วย

    ในสังคมลาว มีวรรณกรรมเล่าเรื่องเจืองหาญที่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์จำนวนมาก มีความเชื่อเรื่องไหหินที่แขวงเชียงขวางว่าเป็นไหเหล้าขุนเจือง
    ตำนานของขมุบางสำนวนก็ได้รับอิทธิพลมาจากลาว
    แสดงว่าเรื่องของเจืองหาญมีความสำคัญในชีวิตจิตใจของคนลาวในสมัยก่อน
    วรรณกรรมประเภทมหากาพย์ก็สร้างสรรค์ขึ้นหลายสำนวน อาจเป็นไปได้ว่า
    มหากาพย์สดุดีเจืองหาญของลาวก็เคยมีบทบาทสำคัญในสังคมเช่นเดียวกับ
    มหากาพย์ของคนไทในสาธารณรัฐเวียดนามและคนไทลื้อในสิบสองพันนา
     
  8. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    เมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของแคว้นล้านนา จากหลักฐานด้าน
    ประวัติศาสตร์และโบราณคดี แสดงให้เห็นว่าเมืองเชียงแสนเป็นเมืองที่มีพัฒนาการมายาวนาน เนื่องจากเป็นเมือง
    ที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมจึงส่งผลให้มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การปกครอง ศาสนาและศิลปกรรม
    ได้มีการพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินเก่าด้วย กลุ่มสิงหนวัติ
    เป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรก ที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ชื่อเมือง "โยนกนาคพันธสิงหนวัติ"
    มีกษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายปกครองต่อๆ กันมา จนกระทั่งสมัยของพระเจ้าพรหมสามารถรวบรวมบ้านเมือง
    และขยายขอบเขตของแคว้นโยนกออกไปได้หลายพื้นที่ คือ เมืองไชยปราการ (เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่)
    เมืองไชยนารายณ์ (เขตอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย) และเวียงพางคำ (เขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)
    จนกระทั่งเมืองโยนกล่มสลายลงต่อมาโดยการนำของพ่อบ้านชื่อ "ขุนลัง" ได้พากันออกไปสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่
    บริเวณปากแม่น้ำกกขื่อว่า "เวียงปรึกษา"

    ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ได้ปรากฏแคว้นหิรัญนครเงินยางโดยกลุ่มลาวจก ที่เชื่อกันว่าเป็น
    กลุ่มชน ที่อพยพมาจากภูเขา ลงมาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณริมแม่น้ำสาย ปกครองเมืองที่เคยเป็นเมืองโยนกเดิม
    แคว้นหิรัญนครเงินยางนี้มีผู้นำคือ "ขุนเจือง"เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มีความสามารถรวบรวมและขยายขอบเขต
    ของแคว้นออกไปได้อย่างกว้างขวาง เมืองเชียงแสนเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19
    มีพญามังรายกษัตริย์องค์ที่ 25 เชื้อสายราชวงศ์ลาวจก แห่งแคว้นหิรัญนครเงินยางสามารถยึดเมืองหริภุญ
    ไชยอันเป็นศูนย์กลาง อำนาจบริเวณแม่น้ำปิง และได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี ของอาณาจักรล้านนา
    เมื่อปี พ.ศ. 1879 และในระยะเวลาต่อมา พญามังรายได้ส่งพญาแสนภูผู้เป็นหลาน มาควบคุมดูแลเมือง
    บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก และแม่น้ำโขง โดยในระยะแรก พญาแสนภูเข้ามาพักชั่วคราวบริเวณปากแม่น้ำกก
    (เชียงแสนน้อยในปัจจุบัน) ก่อนต่อมาได้ช่วยสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น ตรงบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองเก่าเดิม
    และทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีตำแหน่งที่ตั้งทางชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การทำกสิกรรม เพื่อเป็นเมืองท่าหน้าด่าน
    ที่คอยควบคุมดูแลการค้าขายตามลำน้ำโขง พญาแสนภูโปรดให้ขุดคูและสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ 3 ด้าน
    คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำโขงเป็นปราการธรรมชาติ
    ส่วนกำแพงที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพญาสามฝั่งแถบ
    เมื่อประมาณ พ.ศ.1951 เมื่อครั้งที่พวกฮ่อได้ยกทัพมาตีล้านนาและเมืองเชียงแสน
    ในระยะแรกเมืองเชียงแสนมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของแคว้นล้านนาจนถึงสมัยพญาติโลกราช
    (ประมาณ พ.ศ. 1985-2030) เมื่อกองทัพของกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดเมืองเชียงใหม่และแคว้นล้านนาทั้งหมด
    เมืองเชียงแสน ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอยุธยาด้วย หลังจากนั้นล้านนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจ
    ของพม่าและเมื่อพระยาจ่าบ้าน (วิเชียรปราการ) ร่วมกับพระยากาวิละ โดยการสนับสนุนกำลังกองทัพจากกรุงธนบุรี
    สามารถกอบกู้เมืองเชียงใหม่และขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 แต่พม่าก็ยังย้ายมาตั้งมั่นที่
    เมืองเชียงแสนได้อีกในปี พ.ศ.2347 พระยากาวิละได้ให้พระยาอุปราช (อนุชา) ยกกำลังเข้าไปขับไล่พม่า
    โดยเผาลำลายเมืองและป้อมกำแพงเมือง รวมทั้งอพยพผู้คนออกจากเมืองเชียงแสนไปไว้ในที่ต่่างๆ ในเมืองล้านนา
    ในปี พ.ศ.2417 ได้มีพวกพม่า ลื้อ เขิน จากเมืองเชียงตุง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองเชียงแสน
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินต๊ะนำราษฎรขาวเมืองลำพูน เชียงใหม่
    เข้ามาตั้งบ้านเรือนในเมืองเชียงแสนจำนวน 1,500 ครัวเรือน เมื่อมีการจัดระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
    (พ.ศ.2442) เมืองเชียงแสนได้ขึ้นกับมณฑลพายัพ ต่อมาเปลี่ยนการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด
    เมืองเชียงแสนจึงมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นอยู่กับอำเภอแม่จัน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2500
    จึงยกฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
     
  9. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    เมืองพะเยา
    เมืองพะเยาเป็นเมืองเก่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามเอกสารตำนานต่างๆ๖ เรียกชื่อว่า ภูกามยาว เรื่องราวของเมืองนี้ก็เช่นเดียวกับหริภุญไชย สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลต่างๆ ได้แก่ เอกสารประเภทตำนาน เป็นต้นว่า ตำนานพะเยา ฉบับวัดศรีโคมคำ ตำนานเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ ข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง ปรากฏชื่อเมืองพะเยาด้วยดังข้อความว่า
    “ … เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม เบื้องตะวันออกเถิง … เบื้องหัวนอนเถิงลุนคา ขุนคา ขุนด่าน … เบื้องในหรดีถึงฉอด เวียงเหล็ก … เบื้องตะวันตกเถิง … ลำพูน … บู .. เบื้องพายัพถึงเชียงแสนและพะเยา … ลาว … ๗”
    ข้อความในจารึกแสดงว่ามีเมืองพะเยาก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามตำนานเมืองพะเยา เขียนว่าเมืองนี้สร้างขึ้นโดยพ่อขุนจอมธรรม ซึ่งพระองค์ได้เป็นราชบุตรของพ่อขุนลาวเงินหรือขุนเงินแห่งเมืองเงินยางเชียงแสน พ่อขุนจอมธรรมได้อพยพประชาชนมาสร้างเมืองพะเยา และมีเชื้อสายของพระองค์ปกครองสืบมา กษัตริย์พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของพะเยาเป็นที่รู้จักของปัจจุบันดี คือ พระยา งำเมือง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระสหายของพระยามังราย ได้ทรงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วย
    นอกจากพระยางำเมืองแล้ว ตามตำนานต่างๆ ได้เล่าว่า พระยาเจือง หรือขุนเจือง ผู้นำที่พะเยามีความสามารถมาก พระองค์มีพระชนมายุระหว่าง พ.ศ. ๑๖๒๕ - ๑๗๐๕ โดยพระยาเจืองเป็นกษัตริย์พะเยา ในสมัยของพระองค์ ดินแดนล้านนาไทยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางถึงสิบสองพันนา เวียตนาม (แกว) ล้านช้าง๘ สมัยของพระองค์เป็นสมัยสำคัญอีกสมัยหนึ่งของล้านนาไทย อนึ่งจากการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีที่เมืองพะเยาของ ร.ศ.ศรีศักดิ์ ได้พบเครื่องมือหินและโลหะ คือ หัวขวานสำริดและผาลไถ ทำด้วยเหล็กกำหนดอายุไม่ได้ที่เมืองพะเยา สันนิษฐานบริเวณที่ราบลุ่มเชียงรายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ได้พัฒนาเป็นสังคมบ้านเมืองก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นอกจากนี้เมืองพะเยายังมีความเจริญทางศิลปกรรม ได้พบศิลปวัตถุจำนวนมากที่พะเยา เรียกว่า ศิลปสกุลช่างพะเยา๙ และได้พบศิลาจารึกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
    เมืองพะเยามีกษัตริย์ปกครองสืบมาต่อจากพระยาจอมธรรมหลายพระองค์จนถึงสมัย พระยาคำลือ ซึ่งขณะนั้นเชียงใหม่มีกษัตริย์ชื่อพระยาคำฟู ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๖๖ - ๑๘๗๙ กษัตริย์ลำดับที่ ๕ พระยาคำฟูได้ร่วมมือกับพระยาเมืองน่านยกกองทัพไปตีพะเยาและยึดครองพะเยาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ซึ่งปรากฏข้อความในศิลาจารึกวัดลี แต่ในตำนานพะเยาเขียนว่า พระยา คำฟูยกทัพไป พ.ศ. ๑๘๘๑ อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ ทำให้พะเยาเสียเอกราชตกเป็นเมืองในอาณาเขตของแคว้นล้านนาตั้งแต่นั้นมา
     
  10. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    เชิญชมตามนี้ครับ

    It appears your Web browser is not configured to display PDF files. No worries, just click here to download the PDF file.

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 ธันวาคม 2014
  11. อีกาจอมภู

    อีกาจอมภู เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +137
    ชนชาติไทยในดินแดนภาคเหนือ อันมีโยนกนครเป็นราชธานี หรือแคว้นล้านนา อาจแบ่งออกเป็น ๕ สมัย ดังนี้



    สมัยแรก เชียงลาว (ราว พุทธศักราช ๕๐) คนไทยที่เรียกว่าอ้ายลาว นำโดยขุนเจือง อพยพลงมาจากจีน มายังเชียงรุ้ง เชียงตุง เชียงลาว (ริมแม่น้ำสาย) บริเวณเหล่านี้เดิมเป็นที่อยู่ของพวกชาวป่าพวกลัวะ หรือละว้า มีราชวงศ์ ปกครองสืบต่อกันมาจนถึงสมัยราชวงศ์ละวะจักราช



    สมัยที่สอง แคว้นยวนเชียง(เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๕) เมืองเชียงลาวได้ขยายเมืองกว้างขึ้น แผ่อาณาเขตไปถึงเวียงกาหลง เวียงฮ้อ เวียงวัง แจ้ห่ม เชียงแสน โดยมีพวกไทยอพยพลงมาเพิ่มมากขึ้น



    สมัยที่สาม แคว้นสุวรรณโคมคำ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑) ขอมมีอำนาจขับไล่พวกไทยออกไปจากแคว้นยวนเชียง แล้วสร้างอาณาจักรสุวรรณโคมคำ (เมืองเชียงแสนปัจจุบัน) ต่อมาขอมทิ้งเมืองสุวรรณโคมคำร้างไว้แล้วไปสร้างเมืองอยู่ ณ เมืองอุโมงคเสลา (เมืองฝาง)

    ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พระเจ้าพีล่อโก๊ะ (ขุมบรม) กษัตริย์ไทยครองเมืองหนองแส (อาณาจักรสิบสองจุไท) ส่งโอรสชื่อขุนใสผา (ขุนไชยพงศ์) มาสร้างเมืองใหม่ ณ เมืองสุวรรณโคมคำเดิม



    สมัยที่สี่ แคว้นนาคพันธุ์สิงหนวัติ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔) เจ้าสิงหนวัติกุมาร หลานขุนบรมแห่งเมืองหนองแส อพยพคนมาสร้างเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร หรือโยนกนาคนคร (บริเวณเมืองเชียงแสนปัจจุบัน) มีกษัตริย์ที่สำคัญครองเมืองต่อมาคือ

    รัชกาลที่ ๓ พระเจ้าอชุตราช เป็นผู้สร้างมหาสถูปดอยตุง

    รัชกาลที่ ๔ พระเจ้ามังรายนราช (โอรสพระเจ้าอชุตราช) ได้ให้พระโอรสองค์ใหญ่ นามว่า พระองค์เชือง ไปครองเมืองโยนก และให้โอรสองค์น้องชื่อ ไชยนารายณ์ ไปสร้างเมืองไชยนาราย์ณ์ริมแม่น้ำลาว

    รัชกาลที่ ๒๗ พระองค์พังคราช เสียเมืองโยนกนาคนครให้ขอมเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๐ ต่อมาพระเจ้าพรหมกุมาร พระโอรสองค์เล็กได้ขับไล่ขอมสำเร็จ และให้พระบิดากลับไปครองเมืองโยนกนคร โดยให้ชื่อใหม่ว่า เวียงไชยบุรี ส่วนพระเจ้าพรหมสร้างเมืองไชยปราการ ณ เมืองอุโมงคเสลาเดิม ต่อมาพระเจ้าไชยศิริ ราชโอรสขึ้นครองราชย์ และเสียเมืองให้ขุนเสือขวัญฟ้า แห่งอาณาจักรเมา



    สมัยที่ห้า แคว้นหิรัญนครเงินยาง (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) ปู่เจ้าลาวจก ซึ่งเป็นเชื้อสาย ละวะจักราช ได้รวบรวมเมืองขึ้นใหม่ เรียกว่า หิรัญนครเงินยาง มีกษัตริย์สืบเชื้อสายมาจนถึง ลาวเมง ได้อภิเษกสมรสกับ พระนางเทพคำขยาย จากนครเชียงรุ้ง ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่า เจ้าเมงราย ในปี พ.ศ. ๑๗๘๑
     
  12. khuniss

    khuniss สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มีนาคม 2008
    โพสต์:
    2
    ค่าพลัง:
    +0

แชร์หน้านี้

Loading...