พลิกนิดเดียว (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย พลังใจพิชิตภัยพิบัติ, 11 มิถุนายน 2013.

  1. พลังใจพิชิตภัยพิบัติ

    พลังใจพิชิตภัยพิบัติ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2008
    โพสต์:
    32
    ค่าพลัง:
    +94
    [​IMG]


    ชีวิตสมบูรณ์แล้วทุกประการตามเหตุปัจจัย

    เหตุดี ผลก็ดี เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี
    พิจารณาให้ดีเถิด
    เราอาจจะเกิดมาไม่มีพ่อ หรือไม่มีแม่ หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่
    เราอาจจะเกิดมายากจน
    เราอาจจะถูกกลั่นแกล้งอยู่เรื่อยๆ
    บางวันเราอาจจะเป็นทุกข์และไม่สบายใจ
    แต่วันนี้เราอาจจะเป็นสุขและมีความพอใจมากที่สุดในชีวิต

    วันนี้เราอาจจะไม่มีอะไรจะเสียใจแล้ว
    เท่านี้เราก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า
    ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ
    จงก้าวไปสู่อนาคตด้วยความเข้าใจเช่นนี้
    จงมั่นใจในผลกรรมและเชื่อในเหตุปัจจัยอย่างสมบูรณ์เถิด
    จงทำความดี ละความชั่ว มีเมตตาแก่ตนและสรรพสัตว์
    และยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่สงบ

    โลกนี้สมบูรณ์ด้วยกรรม
    เรามีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
    วันนี้เราอาจทุกข์ แต่พรุ่งนี้เราก็อาจจะเป็นสุข
    ทุกอย่างไม่แน่นอน
    ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา และทำใจให้เป็นสุข
    และอย่าลืมทำเหตุให้ดีตั้งแต่วันนี้ เพื่อผลที่ดีในวันนี้และวันข้างหน้า
    เรามีหน้าที่รักษาข้อวัตร และทำให้ดีที่สุดเสมอ..... เท่านั้น
    นอกจากนั้น เขาจะเป็น “เป็นไปเอง” ตามเหตุปัจจัยของเขา

    คั้นส้ม กวาดบ้าน ฯลฯ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ

    ยังคิดไม่ถูก ยังคิดไม่เป็น ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ
    ท่านอาจารย์สอน เมื่อเห็นเราหงุดหงิดขณะที่คั้นส้ม
    เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก
    ท่านบอกว่า “ต้องทำความเห็นให้ถูกต้อง ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ”
    ทำงานต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะและความพอใจ
    ขณะที่คั้นส้ม การคั้นส้มเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก
    อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ

    ขณะที่กวาดบ้าน การกวาดบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในโลก
    อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ
    ขณะที่ทำอาหารให้ลูก การทำอาหารให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก
    เรื่องอื่นในโลกไม่สำคัญ ฯลฯ
    คั้นส้มก็ให้รู้อยู่ว่าคั้นส้ม ให้สติอยู่กับการคั้นส้ม ให้ทำด้วยความพอใจ
    กวาดบ้านก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังกวาดบ้าน
    ให้สติอยู่กับการกวาดบ้าน ให้ทำด้วยความพอใจ
    ทำอาหารให้ลูก ก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังทำอาหารให้ลูก
    ให้สติอยู่กับการทำอาหาร ให้ทำด้วยความพอใจ ฯลฯ

    การคั้นส้มก็ดี การกวาดบ้านก็ดี การทำกับข้าวก็ดี
    การทำอะไรทุกๆ อย่าง ให้ถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นหน้าที่
    ต้องเอาใจใส่ ทำด้วยความตั้งใจและทำดีที่สุด
    ทำเพื่อเพิ่มความดีของเราเอง
    ทำเพื่อตัวเราเอง
    ทำเพื่อขัดเกลากิเลสของเรา
    ทำเพื่อละทิฏฐิมานะของเรา

    อย่าคิดว่าทำให้คนอื่น
    อย่าคิดว่าต้องทำเพราะคนอื่นไม่ทำ
    อย่าคิดว่าต้องทำเพราะคนอื่นให้เราทำ
    อย่าห่วงว่าคนอื่นจะพอใจหรือไม่พอใจ
    เรามีหน้าที่ เราก็ทำให้ดีที่สุด คิดอย่างนี้เราก็ไม่เป็นทุกข์
    ใจก็จะสงบ มีปีติได้ตลอดเวลา เป็นสัมมาทิฏฐิ
    ภาวนาให้มากๆ นะ ปรับปรุงความคิดความเห็นของเราให้ถูกต้อง
    โยนิโสมนสิการ ยกอารมณ์กรรมฐานขึ้นพิจารณาบ่อยๆ นะ
    .



    “เคยทุกข์แทบจะตายไหม” ท่านอาจารย์ถาม
    ถ้าทุกข์หรือหดหู่ ให้รู้อยู่ว่าทุกข์หรือหดหู่ ไม่ต้องปรุงแต่ง
    ให้อดทนเพ่งความทุกข์ความหดหู่ใจอยู่อย่างนั้น
    ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
    ประคับประคองจิต ไม่ให้เอียงไปทางซ้าย
    ไม่ให้เอียงไปทางขวา ทำใจให้เป็นกลางๆ
    กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น นั่งก็รู้ เดินก็รู้
    กำหนดไป กำหนดไป ก็จะรู้ชัดขึ้นๆ
    จะเห็นเป็นความว่าง ต่างหาก

    เห็นว่าความทุกข์ก็ดี ความหดหู่ก็ดี
    เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกเท่านั้น
    ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    เป็นเพียงอุปาทานเท่านั้น
    อุปาทานว่าเราหดหู่ อุปาทานว่าเราทุกข์นั่นแหละ
    จริงๆ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงได้ และจะเปลี่ยนไปเอง
    เมื่อมีอารมณ์ใหม่เข้ามาแทนที่
    เพราะมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    เราทุกข์ เราหดหู่ เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นนั่นแหละ

    อาศัยความอดทน อดกลั้น ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา
    เพ่งพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
    แล้วความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกหดหู่ใจ ก็จะเปลี่ยนไปเอง
    เพราะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา
    ธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
    แล้วเราจะรู้ชัดขึ้นๆ
    ความหดหู่เป็นอาคันตุกะ
    เขามาเยี่ยมเฉยๆ แล้วก็ไป ไปแล้วก็มาใหม่
    ถ้าเราหยุด วางเฉย เขาก็อยู่ไม่ได้
    อย่าเพลิดเพลินกับการตามอารมณ์นะ

    แขกมาหา จะไล่เขาไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะโกรธเอา
    ต้อนรับก็ไม่ได้ เขาจะอยู่เลย
    เราเฉยเสีย เขาก็จะไปเอง
    เพราะเขาเป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่ผู้อยู่ประจำ
    ถ้าเขามาก็รู้ว่า อ้อ เขามาแล้ว กำหนดรู้ แล้วก็เฉย
    ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจให้เป็นกลางๆ
    ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ตกใจ ไม่กลัว ไม่รังเกียจ
    เอาก็ไม่ใช่ ไม่เอาก็ไม่ใช่
    กำหนดรู้ไปเรื่อยๆ
    จุดหมาย คือความไม่มีทุกข์ และจิตที่สงบ สะอาด สว่าง

    ให้เอาทุกข์เป็นอาจารย์
    อย่ารังเกียจทุกข์นะ อย่าหนีทุกข์นะ อย่ากลัวทุกข์
    ทุกข์นั่นแหละเตือนเราไม่ให้ประมาท
    ให้เกิดปัญญา ให้รู้ ให้เห็น ตามความเป็นจริง ให้เห็นสัจธรรม
    ยิ่งทุกข์มากยิ่งดี เมื่อผ่านไปได้ ต่อไปก็ไม่ต้องกลัวอะไร
    ต้องอดทนต่อสู้ ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ
    ทุกข์ที่ไหน กำหนดดูที่นั่น
    ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ต้องตามรู้ ตามศึกษา
    ค้นหาดูทุกข์
    ดูๆ ไปก็จะพบตัณหา อุปาทาน

    ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ทำให้เป็นทุกข์
    ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ปิดบังไม่ให้เห็นทุกข์
    เป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์
    เราจึงต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง มุ่งหน้าเข้าไป (พิสูจน์) ดู
    จึงจะเห็นทุกข์ เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้แจ้ง
    เกิดญาณทัสสนะ ทั้งรู้ ทั้งเห็น ตามความเป็นจริงว่า

    ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
    ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่
    ทุกข์เท่านั้นดับไป
    นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิด
    นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรดับ

    สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
    ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
    สัพเพ ธัมมา อนัตตา
    ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
    สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
    เมื่อวางเฉยได้ วางทุกข์ได้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
    ทุกข์ก็จะไม่มี หรือมีเหมือนไม่มี

    อย่าคิดว่าเราทุกข์
    ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์
    ทุกข์ไม่ใช่อยู่ในเรา เราไม่ใช่อยู่ในทุกข์
    ทุกข์เขาก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
    เรามีหน้าที่เพียงกำหนดรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้น
    กำหนดรู้ทุกข์ที่ตั้งอยู่
    กำหนดรู้ทุกข์ที่ดับไป
    ทำอย่างนี้เราก็สามารถรับทุกข์ได้
    ทุกข์แค่ไหนก็รับได้
    ต้องอดทนนะ คนมีปัญญาทนทุกข์ได้

    ถ้าเรายังเป็นทุกข์ ก็ยังใช้ไม่ได้ ยังผิดอยู่
    ให้พิจารณาอริยสัจ 4 เสมอๆ
    ถ้าเรายังเป็นทุกข์ แสดงว่าเราไม่มีสัมมาทิฏฐิ
    เวลาทุกข์เกิดขึ้นให้ดูเข้าข้างใน (ดูจิต)
    อย่าไปดูข้างนอก อย่าไปโทษคนโน้นคนนี้

    ให้ดูกายกับใจของเรานี่แหละ
    ดูให้เห็นว่าตัณหา อุปาทาน นี้แหละ
    เป็นตัวต้นเหตุให้ทุกข์เกิด เป็นมาร
    เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุด
    ให้มีขันติ อดทนสู้อารมณ์นั้นๆ
    ตามรู้อารมณ์นั้นๆ รู้แล้วก็ไม่หวั่นไหว
    ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์ รู้แล้วไม่หลง ไม่ติด
    มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

    นั่นแหละ พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่เอง
    ไม่ต้องไปหาที่ไหน
    แม้จะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ยอม
    ต้องเอาชนะให้ได้
    อาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอาวุธ
    ดูให้เห็น อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ ความไม่แน่นอน



    ถ้าคิดว่า “เขาทำผิด” “เขาไม่ควรทำอย่างนี้”
    ให้คิดว่าเราก็ผิด 50% ด้วย
    คิดอย่างนี้เราก็จะไม่โกรธเขา เพราะถ้าโกรธเขาก็ต้องโกรธตัวเราด้วย
    และเขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ เชื่อไว้ 50% ก่อน
    คิดอย่างนี้เราก็ไม่ทุกข์

    ใครเล่าว่า “คนนั้นเขานินทาเราอย่างนั้นอย่างนี้”
    “คนนั้นเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”
    อย่าเพิ่งเชื่อ และก็อย่าเพิ่งปฏิเสธทันที
    รับฟังไว้ 50% ก่อน
    อย่าวิพากษ์วิจารณ์ทันที แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วก็ปรุงแต่งต่อไป
    บ่อยๆ ครั้งเราก็จะโกรธและเสียเวลาคิด เสียอารมณ์ไปโดยเปล่าประโยชน์

    อย่าไปทำตามคำพูด ความคิดของใครๆ ทั้งหมดทันที
    ฟังแล้วทำตามเขา 100% ก็มักจะวุ่นบ่อยๆ
    เพราะความคิดก็เป็นอนิจจัง เขา (ผู้พูด) อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
    เราอาจฟังผิดก็ได้ เขาอาจคิดผิดและเปลี่ยนความคิดใหม่ก็ได้
    ถ้าเรารับฟังไว้ 50% ก่อน
    ตั้งสติของเราเข้าไว้ ก็จะปลอดภัย ไม่สับสน ไม่ทุกข์

    แม้แต่ความคิดของเราเองก็อย่าเชื่อ 100%
    รับฟังไว้ 50% ก่อน
    เพราะเราก็อาจเปลี่ยนความคิดได้
    ที่เราคิดว่าถูก จริงๆ อาจผิดก็ได้
    ไม่แน่หรอก

    สรุปว่า อย่าเชื่อทั้งตัวเรา ตัวเขา อย่าเชื่อทั้งสุข และทุกข์ 100%
    รับฟังไว้ 50% ก่อน
    ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องแปลกใจ....... ตั้งสติเข้าไว้ก่อน
    พิจารณาให้ดีก่อน
    สุขก็ไม่แน่นอน ทุกข์ก็ไม่แน่นอน
    สุขหายไปก็ทุกข์ ทุกข์หายไปก็สุข
    ทุกอย่างไม่แน่นอน..... ก็เท่านั้นเอง

    ::
     
  2. joolong

    joolong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    109
    ค่าพลัง:
    +283
    มัวแต่สอนคนอื่นลืมสอนตัวเอง
     
  3. ริมฝั่งของ

    ริมฝั่งของ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    63
    ค่าพลัง:
    +310

    กระบี่อยู่ที่ใจ เบื้องลึก พระมิตซูโอะลาสิกขา

    ข่าวการลาสิกขาของ “พระมิตซูโอะ คเวสโก” เจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดำเนินการอย่างเงียบๆ ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายถึงเบื้องหลังการตัดสินใจอำลาสมณเพศในครั้งนี้

    เนื่องเพราะต้องไม่ลืมว่าพระอาจารย์มิตซูโอะนั้นบรรพชาอุปสมบทอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์เป็นศิษย์พระพุทธองค์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 และถือเป็นศิษย์รุ่นแรกหรือสัทธิวิหาริกรุ่นแรกที่พ่อแม่ครูอาจารย์สายวัดป่าอย่าง “พระโพธิญาณเถร” หรือหลวงปู่ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี เอกอุพระกรรมฐานสายมหานิกายที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในหลายประเทศเป็นผู้บวชให้

    เนื่องเพราะต้องไม่ลืมว่าพระอาจารย์มิตซูโอะนั้นเป็นพระสุปฏิปันโนที่มีศีลาจารวัตรและปฏิปทาที่สร้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อลูกศิษย์ลูกหาพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่สนใจฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางอานาปานสติ

    ที่สำคัญคือหลังจากลาสิกขาที่วัดชนะสงคราม พระอาจารย์มิตซูโอะก็เดินทางออกจากประเทศไทยกลับประเทศญี่ปุ่นในทันที โดยที่มิได้ชี้แจงแถลงไขถึงสาเหตุในการลาสิกขาให้ลูกศิษย์ลูกหารับทราบเลยแม้แต่น้อย

    คำถามเดียวที่ทุกคนอยากรู้ก็คือ เกิดอะไรขึ้นจึงทำให้เส้นทางธรรมที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี2518 หรือร่วม40 ปีของพระอาจารย์มิตซูโอะจึงต้องยุติลงในเดือนมิถุนายนปี 2556

    “ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ว่าพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกลาสิกขานั้น วัดสุนันทวรารามขอยืนยันว่าเป็นความจริงขณะนี้ท่านเดินทางไปต่างประเทศแล้ว โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของท่าน โดยจะยังคงทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะของฆราวาสต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของมูลนิธิฯ และโครงการต่างๆ ที่ท่านได้ริเริ่มไว้ คณะทำงานจะยังคงดำเนินงานไปตามปกติเนื่องจากพระอาจารย์ได้วางรากฐานไว้แข็งแรงแล้ว ขอให้พวกเราทุกคนรักเมตตาต่อกันและดำเนินงานประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน ด้วยความประสงค์ของพระอาจารย์ไว้ให้จงดี จึงเรียนมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน”

    นั่นคือคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจาก “พระอาจารย์หนูพรม สุขาโต” รองเจ้าอาวาสและรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ซึ่งก็มิได้อธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงเพียงแต่ยืนยันว่าพระอาจารย์มิตซูโอะได้ลาสิกขาจริง มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดคำถามตามมาอีกต่างหากว่า ด้วยเหตุอันใดพระอาจารย์มิตซูโอะถึงไม่สามารถเผยแผ่ธรรมะในสถานะของพระภิกษุได้และจำต้องเปลี่ยนเป็นเผยแผ่ธรรมะในสถานะของฆราวาส

    อย่างไรก็ดี นอกจากคำชี้แจงจากทางวัดแล้ว ยังมีเบาะแสที่อาจเป็นที่มาของการลาสิกขาในครั้งนี้อีกหลายทาง โดยเฉพาะจากศิษย์ยานุศิษย์

    แม่ชีพิณพรรณ เนียมมุณี แม่ชีที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดสุนันทวนารามนานกว่า 8 ปี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพเพราะหลวงพ่อท่านป่วยเป็นโรคเบาหวานมานานกว่าสองปีแล้ว ท่านไม่ค่อยแข็งแรงและมีกิจนิมนต์ตลอดเกือบทุกวัน แบะอีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากท่านเคยพูดกับญาติโยมว่าท่านเป็นคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสก็อยากจะกลับไปช่วยคนญี่ปุ่นบ้าง เพราะคนญี่ปุ่นขณะนี้ก็ยังมีคนที่ลำบากมากเช่นกัน ท่านเป็นพระที่มีคำสอนให้แก่ญาติธรรมเพื่อให้เกิดสติในการแก้ปัญหาต่างๆ รู้สึกเสียดายมาก”

    เช่นเดียวกับนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรี ที่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า เท่าที่ทราบเกี่ยวกับเรื่องการลาสิกขาของเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม เบื้องต้นมีสาเหตุมาจากท่านเป็นโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคประจำตัวมานาน ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจทางสงฆ์ได้เป็นปกติ จึงตัดสินใจลาสิกขา

    จากนั้นความชัดเจนเกี่ยวกับเส้นทางเดินชีวิตในรูปลักษณ์ใหม่ของพระมิตซูโอะก็ได้ปรากฏขึ้นในวันที่ 11มิถุนายนเมื่อได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแม่ชีพิณพรรณ เนียมมุณีว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ผ่านมา อาจารย์ลัดดา สุวรรณกุล อายุ 71 ปี ข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร จิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิภายในวัดได้รับสายโทรศัพท์จากอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่โทร.ทางไกลมาจากประเทศญี่ปุ่น และแจ้งให้ทราบว่า เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดก็ได้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ที่เคยให้ความช่วยเหลือท่านอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการเปิดคอร์สอบรมฝึกกรรมฐาน ให้แก่ชาวญี่ปุ่น และคนไทยขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้ รวม 3 วัน

    โดยกำหนดการฝึกอบรมกรรมฐานในวันที่ 21 กันยายน ที่เมืองคุมาโมโตะ วันที่ 22 กันยายน ที่เมืองโอกินาวา และวันที่ 23 กันยายน ที่เมืองนาโกยา ซึ่งในระยะเวลาทั้ง 3 วันที่ทำการฝึกอบรมกรรมฐาน จะเปิดโอกาสให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเข้าพบเพื่อคลายความสงสัยในช่วงเวลาระหว่าง 11.00 น. ถึงเวลา 13.00 น. ทุกวัน จึงแจ้งมาเพื่อให้ทราบ

    แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยถึงเมืองที่อยู่อาศัยของอดีตพระอาจารย์ มิตซูโอะแต่อย่างใด

    “แม่ชีเองรู้สึกเหมือนกับได้เสียพ่อผู้บังเกิดเกล้าไป เหมือนถูกทอดทิ้งหลังจากที่เรียกสติกลับมาได้ และนึกถึงคำสอนของหลวงพ่อใหญ่ทำให้คิดได้ว่าเราจะต้องไม่ยึดติดต้องปล่อยให้เป็นไปตามวัฏจักร และต้องเคารพในการตัดสินใจของท่านเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับตัวเรา เราจะไม่รู้ ตัวท่านจะรู้ดีที่สุด”แม่ชีพิณพรรณ เนียมมุณีเปิดเผยข้อมูลพร้อมแสดงความรู้สึกในใจออกมา

    นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากลูกศิษย์ใกล้ชิดรายหนึ่งเพิ่มเติมว่าเหตุผลที่พระอาจารย์มิตซูโอะลาสิกขาก็เพราะเรื่องความสะดวกในการเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เนื่องจากหากเป็นพระจะมีปัญหาเกี่ยวกับการย้ายทะเบียนราษฎรและเกี่ยวกับสถานภาพการกลับเข้าไปเป็นชาวญี่ปุ่นและการพักค้างคืนที่บ้านที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นพระปฏิบัติ เมื่อมีเจตนารมณ์ที่จะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดจึงยอมสละเพศบรรพชิต แต่ยังคงที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับกรรมฐานและสอนให้คนทำความดีต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดก็มิได้ตอบข้อสงสัยถึงสาเหตุการสึกเช่นเคย เนื่องเพราะมิได้ออกมาจากปากของพระอาจารย์มิตซูโอะเอง ทำให้มีการสันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นเพราะเอือมระอากับกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

    แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้เปิดข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระมิตซูโอะลาสิกขาแบบเงียบๆ นั้น เพราะมีปัญหากับกรรมการชุดปัจจุบัน ที่มีแนวทางการดำเนินงานแบบพุทธพาณิชย์

    “คณะกรรมการใหม่เพิ่งทำงานมาได้ปี สองปีนะ ไม่ใช่คณะกรรมการที่เคยรู้ใจกันมาตลอด จนท่านเป็นท่านทุกวันนี้ พอเปลี่ยนคณะกรรมการใหม่เค้าก็เปลี่ยนมุมมอง วิธีการ เลยอาจทำให้ขาดความเข้าใจบางอย่าง เพราะท่านเป็นคนจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ท่านไม่พูด คือท่านไม่อยากแตะเงินหรอก แต่คนรอบตัวท่านเป็นฝ่ายจัดการ ด้วยวิธีใดบ้างล่ะ มันมากเกินไปจนท่านไม่มีลมหายใจเป็นของตนเอง ท่านเลยสละ และไม่พูดถึงใครตรงนั้นเลยไง ท่านเต็มที่แล้วก็ไปเลย ท่านก็วิเวกของท่านเอง แล้วท่านอาจจะคิดได้ด้วยซ้ำไปนะว่า ในสิ่ง ที่มันมากเกินไปเนี่ยนะ มันก็เป็นธุรกิจทั้งนั้น

    “ท่านถูกนิมนต์ไปไหนต่อไหน โดยมีคนจัดการให้ตลอด ตัวท่านเองไม่ได้ใส่ใจเรื่องเงินหรอก แต่วิธีคิด การดำเนินงาน กลายเป็นว่าท่านเลยมานึกว่า ตัวท่านกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งคิดว่าท่านเก็บความรู้สึกนี้มานานแล้ว ท่านรู้มานานแล้วว่ากลุ่มคนพวกนี้วางกำหนดการให้ท่านไปนู่น ไปนี่ แต่ท่านไม่ว่าใคร เป็นนิสัยของท่านอยู่แล้ว คือท่านไม่อยากว่าใคร แล้วคำที่แถลงๆ กัน ที่ออกมาพูด คือไม่อยากให้มีเรื่องราว เพราะจะกระทบกับคนที่อยู่ตามมูลนิธิ ทั้งงานเขียนของท่านต่างๆ สิ่งต่างๆ มันยังต้องดำเนินอยู่ ทีนี้ก็รู้แล้วว่าไอ้สิ่งต่างๆ ดำเนินอยู่ อย่างน้อยสะท้อนไปถึงพระชื่อดังรูปอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในเชิงจัดกิจกรรมต่างๆ มันเป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะอาจทำให้เสียบุคลากรคือพระดีๆ ได้ ซึ่งครั้งนี้ท่านสอนให้ทุกคนอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่า ที่เอาท่านมาบังหน้าเนี่ย คนไม่ปฏิบัติตามคำสอนท่านเลย คนที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดไม่ปฏิบัติแบบท่าน คนใกล้ชิดไม่นึกถึงหัวใจท่าน”

    ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งตั้งข้อสงสัยเรื่องเงินบัญชีของวัด ซึ่งในประเด็นหลังนี้นายยงยุทธ ยุงรัมย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิมายา โคตมี ยืนยันว่าการเบิกจ่ายเงินกระทำในนามของนิติบุคคล ต้องมีกรรมการเซ็นมากกว่า 1 คน พระอาจารย์มิตซูโอะคนเดียวทำไม่ได้ ฯลฯ

    กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าป่วยการที่จะแสวงหาคำตอบที่แท้จริงแบบคาดเดาเพราะถ้าจะว่าไปแล้วก็มิได้เกิดประโยชน์อะไรเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระอาจารย์มิตซูโอะได้สร้างและได้ทำเอาไว้ให้กับพระพุทธศาสนา รวมถึงประชาชนคนไทยขณะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

    พระอาจารย์มิตซูโอะมีชื่อเดิมว่า “มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ” เป็นชาวจังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมพ.ศ.2494 เป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวเกษตรกร ช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่นชอบผจญภัย และเริ่มตั้งคำถามว่าชีวิตคืออะไร สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสกูล(เทียบเท่าระดับ ปวช.หรือมศ.5 ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี ณ เมืองโมะริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ

    หลังทำงานประจำและเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ราวปี 2514ก็ออกเดินทางแสวงหาความหมายชีวิตไปในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล อิหร่าน และในยุโรปเป็นเวลา 2 ปีเศษแล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปแอฟริกาวกกลับสู่อินเดีย

    พ.ศ.2517 เมื่อเดินทางถึงเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ท่านมองเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ก็ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์และประจักษ์ขึ้นมาในใจว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหา สัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ทุกคนทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้” ท่านจึงหยุดการแสวงหาจากภายนอกเข้าสู่การแสวงหาภายใน

    และในช่วงที่ไปอินเดียครั้งที่สองนี่เองพระอาจารย์มิตซูโอะก็ได้พบ “คุรุจี ศรีวรานันทะ” และเริ่มฝึกสมาธิกับโยคะที่อาศรมนิเกตันจนบังเกิดความพอใจและคิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต แต่บังเอิญวีซ่าหมดอายุและมีคนแนะนำให้เดินทางมายังประเทศไทย

    ต่อมาเมื่ออายุได้ 23 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยช่วงที่เป็นสามเณรได้พยายามแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม แต่ก็ยังไม่ได้ตกลงปลงใจ กระทั่งต่อมามีผู้แนะนำให้ไปที่วัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชาจึงเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองป่าพงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2518 ขณะอายุได้ 24 ปี โดยมีพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธัมฺโม (ปัจจุบันคือพระราชภาวนาวิกรม เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวิฑูรย์ จิตตสัลโล เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ครั้งนั้นถือเป็นพระภิกษุสงฆ์รุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้ จึงเรียกว่าเป็น สัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา ได้รับนามฉายาว่า คเวสโก (อ่านว่า คะ-เว-สะ-โก) แปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง”

    “ตอนเด็กๆ รังเกียจศาสนาทุกศาสนาเพราะรู้สึกว่ามันเป็นพิธีกรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธ รู้สึกว่ามันเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ เราสัมผัสแต่เพียงที่เป็นประเพณี เข้าวัดปีละครั้ง คุณพ่อพาไปเพื่อจ่ายสตางค์ค่าสมาชิกวัด ทำให้เราไม่ชอบ คนญี่ปุ่นทำให้เราไม่ชอบ คนญี่ปุ่นเหมือนกับน้บถือ 3 ศาสนา เกิดมาเป็นชินโต มีพิธีกรรมแบบชินโต เชื่อว่าเป็นมงคลทำให้ร่างกายแข็งแรง เรียนหนังสือเก่ง แต่งงานก็เป็นคริสต์ หนุ่มๆ สาวๆ อยากแต่งงานแบบฝรั่ง พอตายก็เป็นพุทธ ต้องเข้าวัดพุทธ ฝังศพแบบพุทธ วัดก็มีแต่ป่าช้า สุสาน”พระมิตซูโอะให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเอาไว้เมื่อปี 2553

    สำหรับผลงานตลอด 38 ปีในสมณเพศนั้น พระอาจารย์มิตซูโอะได้เผยแผ่ธรรมะเอาไว้ในหลากหลายรูปแบบ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือมากมาย เช่น การจัดอบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบอานาปานสติแก้พุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่อง การเขียนหนังสือธรรมะออกเผยแผ่อย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อหาของหนังสือใช้ภาษาอ่านเข้าใจง่าย ขนาดรูปเล่มกะทัดรัดและทันสมัยเข้ากับสาธุชนคนทุกเพศทุกวัย อาทิ ธรรมไหลไปสู่ธรรม อานาปานสติ:วิถีแห่งความสุขเล่ม 1-3 เราเกิดมาทำไม วัคซีนธรรมะ กล่องแห่งสติปัญญา The Seven Practices for a Healthy Mind A Fragrance of Dhamma

    นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การจัดตั้งมูลนิธิมายา โคตมีเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการศึกษาและด้านจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนในชนบท การจัดตั้งมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบะสิ่งแวดล้อมตลอดจนสร้างสรรค์ชุมชนของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างชาวบ้าน สัตว์ป่าและธรรมชาติ เป็นต้น

    ...ถึงตรงนี้เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าแม้จะละสมณเพศ แต่อดีตพระมิตซูโอะจะยังคงเดินทางสู่ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณเพื่อดำรงความเป็น “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง”ตลอดไป ขณะเดียวกันก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การละสมณเพศของพระมิตซูโอะในครั้งนี้อาจเป็นการแสดงธรรมครั้งสำคัญเพื่อให้เห็นว่า ท่านมิได้ยึดติดกับสิ่งร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นแค่เปลือกนอก มิใช่หัวใจที่แท้จริงแห่งธรรมะของพระพุทธองค์

    “อาตมาได้ทำและได้พบอะไรมากพอเพียงพอสมควรแล้ว การมีชีวิตอยู่ต่อไปก็อาจจะเป็นเพียงส่วนที่เกินมา แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวเองก็น่าจะทำประโยชน์ต่อสังคมได้โดยการเผยแผ่ธรรมะ” ...

    http://www.manager.co.th/home/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 มิถุนายน 2013
  4. DuchessFidgette

    DuchessFidgette เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    2,607
    ค่าพลัง:
    +9,301
    1. ถ้าจะไปเผยแผ่ศาสนาที่ญี่ปุ่น จำเป็นขนาดไหนที่ต้องสึก
    2. ทำไมอยู่ๆก็ไป ไม่มีบอกกล่าวล่วงหน้า ขนาดวัดที่สึกยังเถียงกันอยู่เลยว่าวัดไหน ทำแบบมีลับลม
    3. ถ้ามีปัญหาสุขภาพ มันก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดต้องสึก ที่จริงควรจะปลงสังขาลได้แล้ว พระบางรูปท่านเป็นเอดส์ บ้าง มะเร็งบ้าง ยังยอมตายในผ้าเหลือง
    4. ทำไมถึงไม่มีแถลงการณ์ตามหลัง เมื่อท่านไปถึงญี่ปุ่นแล้ว ท่านน่าจะส่งอะไรมาบอกเหตุผลบ้าง
    5. ถ้ามีปัญหาในวงการภายใน กับ ผู้จัดการการเงิน มูลนิธิ หรือ คนก่อกวน หรือผู้ทรงอิทธิพล ใดๆก็ตามแต่.....ทำไมท่านไม่ธุดงค์ หรือไม่ก็ย้ายวัดแทน นี่ขนาดต้องสึกออกมาเลย
    6. แม้แต่เมืองที่ไป จะไปทำอะไร อยู่ที่ไหนก็ไม่บอกกล่าวอะไรทั้งสิ้น ลองนึกถึงคนเราเวลาทำเงียบหนีหน้าคนอื่น มีหรือถ้าเป็นเรื่องดีจะทำเช่นนี้


    เสียความรู้สึก เคยคิดว่ายังมีชาวต่างชาติระดับประเทศพัฒนาวิทยาศาสตร์อุทิศตัวเป็นพระในพระพุทธศาสนา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มิถุนายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...