สงสัยเรื่องมรณานุสติ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย marasri, 23 ธันวาคม 2012.

  1. marasri

    marasri เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    91
    ค่าพลัง:
    +293
    ตอนนี้พยายามเจริญมรณานุสติอยู่ค่ะ ลองฝึกคิดบ่อยๆ ว่าสักวันพ่อแม่เราก็ตาย สักวันเราก็ตาย ได้ผลคือ

    บางครั้งก็ทำให้หึกเหิม เร่งทำนู่่นทำนี่ขึ้นมาได้ (ไม่บ่อยที่จะได้แบบนี้)

    บางทีก็ทำให้หดหู่ ทำให้เศร้า ว่าจะไม่ได้เจอกันอีก
    กลัวความตายขึ้นมาเสียอย่างนั้น

    บางทีก็เลยเถิด ถึงกับปล่อยอะไรๆ ให้เป็นไปโดยไม่แยแส
    ทำๆ ไป กินๆ ไป เดี๋ยวก็ตายแล้ว

    บางทีก็รู้สึกเหมือนแช่งตัวเองและพ่อแม่

    จึงอยากสอบถามค่ะว่าแท้จริงแล้ว การเจริญมรณานุสติเพื่อวัตถุประสงค์อันใดมากกว่ากันคะ ระหว่างเพื่อให้ไม่เราประมาท หรือ เพื่อทำจิตใจพร้อมรับกับความตาย

    แล้ววิธีการคิดถึงความตายที่ถูกต้อง ควรคิดแบบใดหรือคะ
     
  2. firstini

    firstini เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    1,213
    ค่าพลัง:
    +3,770
    มรณานุสสติ เป็นกรรมฐานที่ต้องใช้ปัญญา
    ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็ต้องกลุ้มอย่างนี้แหละครับ
    ถ้ามันกลุ้มก็หยุด... แปลว่าสติสมาธิเราไม่ได้
    ให้เจริญพรหมวิหาร๔ก่อน แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลก่อน
    แล้วตามด้วยอานาปานสติ กำหนดสติรู้ลมหายใจเข้าออก
    สร้างสติและสมาธิ เพื่อพร้อมสำหรับปัญญา
    พอใจสบายแล้วค่อยมาพิจารณาเรื่องตาย

    พิจารณาถึงปู่ย่าตาทวดของเราที่ตายไปแล้ว
    คือคิดถึงคนตายก่อน อย่าไปคิดถึงคนเป็น ใจจะไม่ดี
    พอคิดถึงคนตายจนจิตยอมรับความธรรมดาตรงนี้ได้แล้ว
    ค่อยวกกลับมาหาคนเป็น ให้กลับมาหาเราเลย
    จะไปเรื่อยเปื่อยถึงพ่อแม่ทำไม ใครจะตายก่อนก็ยังไม่แน่เลย

    ก็คิดว่า คนที่ตายไปแล้ว มีอายุเท่าไหร่บ้าง ที่ไม่มีใครตายเลย
    เด็กเกิด ๑ วันก็มีใช่มั้ย ที่ตายลงไป
    อายุ ๑๐ ขวบก็มี ๒๐ ก็มีใช่มั้ย ดังนั้นความตายนี่มันมาแน่ๆ
    แต่บอกไม่ได้ใช่มั้ยว่าตายเมื่อไหร่
    ความตายมีได้เพียงแค่ลมหายใจเข้าออก
    ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย
    มนุษย์นั้นอ่อนแอมาก ตายง่ายดาย ปากกาด้ามเดียวแทงที่คอก็ตายได้แล้ว
    นอนอยู่ในบ้าน รถบรรทุกแหกโค้งมาชนก็ตายเหมือนกัน
    ดังนั้นความตายไม่เลือกเวลาสถานที่ ถึงที่ตายก็ตายทุกคน

    ลองอ่านเรื่อง ธิดานายช่างหูกดูสิครับแล้วจะเข้าใจมากขึ้น
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=23&p=7
    หรือจะเป็นเรื่องท่านพาหิยะก็ได้
     
  3. เด็กอนุบาล

    เด็กอนุบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    689
    ค่าพลัง:
    +4,156
    เจริญมรณานุสสติเพื่อให้เราไม่ประมาท
    ไม่ประมาทในสัจธรรมว่า สัตว์เกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมดเท่านั้น เราก็ด้วย พ่อแม่เราก็ด้วย
    ความตายไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายมาเตือนเรา ความตายเกิดขึ้นได้เสมอ ตายเดี๋ยวนี้ก็ยังได้

    พระพุทธเจ้าสอนว่า ตายแล้วไม่สูญ ถ้าจิตก่อนตายเกาะบุญก็ไปดี เกาะบาปก็ไปไม่ดี ในเมื่อความตายมันมาจ่อคอหอยเราอย่างนี้ เรามีความดีในใจพอที่จะช่วยให้เราพ้นนรกหรือยัง ทานเรามีไหน ศีลเรามีไหม ใจเรายอมรับในความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์หรือยัง...ถ้าเรายังไม่มีความดีในใจเหล่านี้เลย แล้วความตายมันเกิดกับเราได้เสมอ เราจะปล่อยชีวิตเราอยู่อย่างนี้ หรือเราจะขวนขวายเอาความดีของทาน ศีล ภาวนามาใส่ใจเราดี

    ถ้าเจริญมรณานุสสติผิดทาง ก็จะออกแนวขี้เกียจ ทิ้งงานทิ้งการ
    แต่ถ้าถูกทาง เป็นฆราวาสก็ต้องขยันทำมาหากิน ระหว่างยังไม่ตาย จะได้มีกำลังเงินในการทำทานแก่ครอบครัว สังคม และพระศาสนา และสะสมเงินเก็บไว้ให้คนที่ยังไม่ตายเขาไม่ต้องเดือดร้อนขาดแคลนเงินทอง
     
  4. na_krub

    na_krub "นโม ธรรมะสุขัง อรหังพุทโธ นโมพุทธายะ"

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,514
    ค่าพลัง:
    +2,917
    อนุโมทนาบุญกับเจ้าของกระทู้และผู้ตอบกระทู้ด้วยนะครับ


    จากประสบการณ์ตัวเองที่ได้ผ่านจากจุดที่เจ้าของกระทู้สงสัยมาแล้ว เมื่อเราได้พิจารณาโดยใช้ปัญญา ผลที่ได้รับจากการพิจารณาถึงความตาย ผลที่ได้ก็คือ "สติ"
    ๑) ทำให้ลดความทุกข์ของจิตลงได้ จิตจะรู้สึกเฉย โดยจะมองว่าความตาย ใครๆก็หนีไม่พ้น จิตนี้เองจะตั้งอยู่กลางๆ เวลาที่มีความสุขมากก็เฉยๆ เวลามีความทุกข์มากก็เฉยๆ
    ๒)ทำให้ตัวเราเองมุ่งมั่นในการทำความดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่ตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตทางธรรม เช่น ตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้พุทธภูมิ หรือปรินิพพาน เป็นต้น

    อนุโมทนาบุญแด่ผู้ที่ใฝ่ในธรรมมะทุกๆท่านนะครับ สาธุ สาธุ สาธุ
     
  5. Kimzo

    Kimzo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    553
    ค่าพลัง:
    +1,046
    อนุโมทนาสาธุค่ะ

    ธัมมะทานัง สัพพะทานัง ชินาติ
    การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง
     
  6. ddman

    ddman เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    2,046
    ค่าพลัง:
    +11,941
    มรณานุสสติอันบุคคลทำแล้วให้มากย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความเพียรในการเร่งเจริญกุศลทุกประเภท..ด้วยความไม่ประมาท..

    เพราะไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเจริญมรณานุสสติ จึงถูกกิเลสกลุ้มรุม ..จิตใจเศร้าหมองด้วยความกังวลในบาปเก่าๆอยู่ ...คนบาปนั้น ย่อมกลัวตายมากกว่าคนที่หมั่นเจริญบุญ อันที่จริง มรณสตินั้นท่านสรรเสริญนัก ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายจะได้แสวงหาความดีใส่ตัว ละชั่ว เพื่อตัวเอง คิดบ่อย ๆ จิตก็สงบง่าย ลดมานะทิฏฐิง่าย
    ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ(ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยด้วยความหลง) ได้มากขึ้น..

    การเจริญมรณานุสสติไม่เหมาะกับคนปัญญาน้อย เหมาะสำหรับผู้มีปัญญากล้าเท่านั้น มิฉะนั้น จะเป็นการปรารภความตายด้วยโทสะ อย่างนี้เท่ากับเจริญอกุศล หาความเป็นคุณไม่ได้เลย..

    ควรหันมานึกถึงศีลที่ดีงามแห่งตนในปัจจุบันเข้าไว้ บุญทั้งหลายที่เพียรอยู่..เอาอย่างง่ายๆอย่างนี้ไว้ก่อน ใจย่อมไม่หมองเพราะความหดหู่ที่มากเกินไป..ดังนั้น อย่าปล่อยใจไหลไป ให้หวนกลับมารู้ตัวแล้วระลึกถึงบุญต่างๆที่ได้ทำไว้แทนที่ทันที เรียกว่าเปลี่ยนอารมณ์ .. บุญจะเกิดอย่างต่อเนื่อง.. เพราะการระลึกถึงความดีที่ตนทำแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นบุญครับ ..


    เมื่ออยู่ในที่อันสมควรต่อการปฏิบัติและมนสิการด้วยอุบายต่างๆ เพื่อให้เกิดสติปัญญา และธรรมสังเวชขึ้นแล้ว จึงบริกรรมภาวนาด้วยภาษาบาลี หรือไทยว่า

    มรณํ เม ภวิสฺสติ ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิชฺชิสฺสติ
    เราจะต้องตาย รูปชีวิต นามชีวิตจะต้องขาดจากกัน

    หรือ

    มรณํ เม ธุวํ ชีวิตํ เม อธุวํ
    ความตายเป็นของเที่ยง ความมีชีวิตอยู่เป็นของไม่เที่ยง

    ***ภาวนาอยู่ดังนี้เรื่อยๆ ไป ถ้าเป็นผู้มีปัญญินทรีย์แก่กล้า จะสามารถข่มนิวรณ์ธรรมต่างๆ เสียได้ มีมรณารมณ์ตั้งมั่น เข้าถึงอุปจารสมาธิโดยไม่ยาก นอกจากนั้นยังบังเกิดมรณสัญญาที่น่าปรารถนาถึง ๘ ประการ คือ เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับความตายขึ้นมาว่า
    ๑. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณแค่วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น
    ๒. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณแค่วันหนึ่ง คือ ๑๒ ชั่วโมงเท่านั้น
    ๓. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณเพียงครึ่งวัน คือ ๖ ชั่วโมงเท่านั้น
    ๔. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลาเพียงกินข้าวอิ่มหนึ่งเท่านั้น
    ๕. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วครึ่งเวลากินข้าวอิ่มเท่านั้น
    ๖. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อได้อีกชั่วเวลากินข้าวได้เพียง ๔ หรือ ๕ คำเท่านั้น
    ๗. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งเท่านั้น
    ๘. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วระยะเวลาหายใจเข้าออกเท่านั้น

    ---------------------------------------------------------------
    รวบรวมพระคาถาเกี่ยวกับความตายที่ควรทราบและจดจำไว้เตือนตนเอง เพื่อประกอบการ
    เจริญมรณานุสสติมีมีดังต่อไปนี้

    ๑) น โข อหญฺเญเวโก มรณธมฺโม มรณํ อนตีโต
    อถ โข ยาวตา สตฺตานํ อาคติ คติ จุติ อุปฺปตฺติ
    สพฺเพ สตฺตา มรณธมฺมา มรณํ อนตีตาฯ


    ***ความตายและการหนีความตายไม่พ้น ไม่ใช่มีแต่เราเพียงผู้เดียว แท้ที่จริงสัตว์ทั้งหลายที่มีสภาพเนื่องมาจากภพก่อนและเกิดขึ้นในภพนี้ แล้วย้ายจากภพนี้เกิดต่อไปในภพใหม่ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นย่อมมีความตาย และหนีไม่พ้นจากความตายด้วยกันทั้งสิ้น

    ๒) ยเมกรตฺตึ ปฐมํ คพฺเภ วสติ มาณโว
    อพฺภุฏฺฐิโตว โส ยาติ สคจฺฉํ น นิวตฺตติฯ


    ***ผู้ใดเกิดขึ้นในครรภ์มารดาครั้งแรกในคืนใดคืนหนึ่งนั้น ผู้นั้นย่อมบ่ายหน้าไปหาแต่ความตาย ผู้บ่ายหน้าไปหาความตายนี้ ไม่มีการกลับหลัง

    ๓) ทหรา จ หิ วุทฺธา จ เย พาลา เย จ ปณฺทิตา
    อคฺฆา เจว ทลิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายณา


    ***ผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสาวก็ดี วัยแก่ก็ดี ผู้ที่ไม่มีปัญญาความรู้ก็ดี ที่มีปัญญาความรู้ก็ดี ผู้ที่ร่ำรวยก็ดี ยากจนก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุด

    ๔) ผลานมิว ปกฺกานํ นิจจํ ปตนโต ภยํ
    เอวํ ชาตานมจฺจานํ นิจฺจํ มรณโต ภยํฯ


    ***สัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมประสบกับภัย คือความตายอย่างแน่นอน เสมือนหนึ่งผลไม้ที่สุกงอมต้องหล่นลงอย่างแน่แท้

    ๕) สายเมเก น ทิสฺสนฺติ ปาโต ทิฏฺฐา พหู ชนา
    ปาโต เอเก น ทิสฺสนฺติ สายํ
    ทิฏฺฐา พหุ ชนาฯ


    ***ชนทั้งหลายในยามเช้ายังเห็นกันอยู่ พอตกเวลาเย็นบางคนก็ไม่เห็นกัน ตายเสียแล้ว ชนทั้งหลายเมื่อตอนเย็นยังเห็นกันอยู่ พอถึงตอนเช้าบางคนก็ไม่เห็นกัน ตายเสียแล้ว

    ๖) อุสฺสาโวว ติณคฺคมฺหิ สุริยุคฺคมนํ ปติ
    เอวมายุ มนุสฺสานํ มา มํ อมฺม นิวารยฯ


    ***แม่จ๋า อายุของคนเรานี้น้อยเหลือเกิน เสมือนหนึ่งหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่บนใบหญ้า เมื่อถูกแสงอาทิตย์เข้า ก็เหือดแห้งหายไปพลัน ดังนั้น แม่อย่าได้ขัดขวางการบวชของลูกเลย

    ๗) สพฺเพ สตฺตา มรณา ธุวํ
    สพฺเพ สตฺตา มรณา นิจฺจํ
    สพฺเพ สตฺตา มรนฺติ จ มรึสุ จ มริสฺสเร
    ตเถวาหํ มริสฺสามิ นตฺถิ เม เอตฺถ สํสโยฯ


    ***สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้น มีความตายอย่างแน่นอน เป็นของเที่ยง สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้น จักตาย กำลังตาย และเคยตายมาแล้ว เราก็จักตายเช่นกัน อย่าได้สงสัยความตายนี้เลย
     
  7. ddman

    ddman เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    2,046
    ค่าพลัง:
    +11,941
    ขอนำข้อความนี้มาฝาก..เป็นของท่านใด ..จำไม่ได้..แต่ถ้ามีอานิสงจากการอ่านครั้งนี้ ก็ขอยก ให้กับท่านผู้เขียนบทธรรมนี้ ครับผม..อนุโมทนา มา ณ ที่นี้...

    การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ๆ ที่เรียกว่า “เจริญมรณานุสติ” เป็นประจำนั้น ย่อมมีประโยชน์หรือมีอานิสงส์มหาผล ยากที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ผู้ที่เจริญมรณานุสติเป็นนิตย์ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ในความเป็นหนุ่มสาวและในความไม่มีโรคในอดีตกาลนานมาแล้ว มีชาวนาอยู่ครอบครัวหนึ่งประกอบด้วย พ่อ, แม่, ลูกชาย,ลูกสะไภ้, ลูกสาว, และคนใช้ ทุกคนในครอบครัวนั้นเจริญมารานุสติอย่างเคร่งครัดเป็นประจำอยู่เสมอมามิได้ขาด วันหนึ่งสองพ่อลุกได้ไปไถนาแต่เช้าตามปรกติ พอตกสายลูกชายก็ถูกงูพิษกัดถึงแก่ความตายในทันที พ่อจึงอุ้มร่างลูกชายไปไว้บนคันนา เอาผ้าคลุมไว้ แล้วแกก็ไปไถนาตามปรกติเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างนั้นแหละ เมื่อมีเพื่อนบ้านผ่านมา และจะเข้าไปในหมู่บ้าน เขาจึงสั่งไปว่า “นี่พ่อคุณ! ช่วยกรุณาบอกแม่บ้านของผมด้วยว่า กลางวันช่วยจัดหาอาหารมาส่งผมเพียงคนเดียวและบอกคนในบ้านให้ออกมาทุกคน” พอสั่งเสร็จเขาก็ไปไถนาต่อไป
    -----------------------------------------------------------------------------------------------
    ฝ่ายแม่บ้านและทุกคนในครอบครัว เมื่อได้รับคำบอกเล่าเช่นนั้น ก็รู้ได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย ทุกคนจึงเตรียมนุ่งขาวห่มขาว แล้วเดินมายังทุ่งนาพร้อมกัน โดยไม่มีใครร้องไห้ เศร้าโศก และเมื่อมาถึงก็ช่วยกันหาฟืนมากองไว้ และยกศพทำการเผาอย่างง่าย ๆ โดยไม่มีพิธีรีตองอย่างใด
    -----------------------------------------------------------------------------------------------
    ขณะที่ไฟกำลังไหม้ศพอยู่นั้น มีชาวบ้านมามุงดูกันมาก และก็ต่างแปลกใจไปตาม ๆ กันว่า ชายคนที่ตายเป็นอะไรกับพวกที่กำลังทำการเผาอยู่ เพราะถ้าเป็นญาติก็ต้องร้องไห้เสี่ยใจกันบ้าง แต่นี่มิมีเลย ! บางคนอดใจไว้ไม่ได้จึงถามขึ้นว่า “ขอโทษเถอะ ! ชายผู้ตายเป็นอะไรกับท่านทั้งห้าหรือ?”
    -----------------------------------------------------------------------------------------------
    “เป็นลูกชายคนเดียวของผมรับ” ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตอบ ต่อมาแม่ของผู้ตายก็ตอบ ต่อมาเมีย, ต่อมาน้องสาว, และคนใช้ตอบกันตามลำดับ
    -----------------------------------------------------------------------------------------------
    “ก็เมื่อเป็นญาติของท่านแล้ว เหตุใดจึงไม่ร้องไห้อาลัย เศร้าโศกถึงเขาผู้จากไป เหมือนชาวบ้านทั่วไป ๆ เล่า”
    ------------------------------------------------------------------------------------------------
    “ท่านทั้งหลาย !” ผู้เป็นพ่อกล่าวด้วยเสียงปรกติ “อันว่า ลุกชายของผมเขาจากไปแล้วและทิ้งร่างไว้เหมือนงูทิ้งคราบ การร้องไห้คร่ำครวญถึงคราบงูไม่มีประโยชน์ฉันใด การเศร้าโศกถึงคนที่ตายไปแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดฉันนั้น”
    -----------------------------------------------------------------------------------------------
    “ท่านทั้งหลาย !” “ผู้เป็นแม่ของผู้ตายกล่าวขึ้น “ลูกชายของดิฉันนี้เมื่อเขาเกิดมาในท้องของฉันเขาก็มาเอง ไม่มีใครเชื้อเชิญ เมื่อจากไป เขาก็ไม่ได้บอกลา ดิฉันจึงไม่อาลัยถึงเขา”
    ------------------------------------------------------------------------------------------------
    “ท่านทั้งหลาย !” น้องสาวของผู้ตายกล่าว “ถ้าดิฉันร้องไห้ผ่ายผอมหรือร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด พี่ชายของดิฉันก็คนไม่ฟื้นกลับคืนาเป็นแน่”
    ------------------------------------------------------------------------------------------------
    “ท่านทั้งหลาย !” ภรรยาของผู้ตายกล่าว “ขึ้นชื่อว่าสามีที่ดีใคร ๆ ก็ย่อมรักและหวงแหนเป็นธรรมดา แต่เด็กแม้จะร้องไห้ เอาพระจันทร์บนท้องฟ้าย่อมไม่ได้ฉันใด การที่ดิฉันร้องไห้เพื่อให้ผัวกลับคืนมาก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน”
    ------------------------------------------------------------------------------------------------
    “ท่านทั้งหลาย !” คนใช้กล่าว “หม้อ (ดิน) ใส่น้ำที่แตกแล้วย่อมเชื่อมให้สนิทดังเดิมไม่ได้ฉันใด การที่ดิฉันจะเศร้าโศก ปริเทวนาการ ร่ำไห้ถึงนายที่จากไปแล้ว เพื่อให้ฟื้นกลับมาดั่งเดิมก็ย่อมไม่ได้ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกเสียใจ”
     
  8. AYACOOSHA

    AYACOOSHA เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +2,253
    ขอยกตัวอย่างที่พึ่งเกิดขึ้นกับตัวเองนะครับ...แค่ป่วยหนักลุกขึ้นไปไหนไม่รอดก็เป็นกรรมฐานได้แล้วครับไม่ต้องถึงขั้นมรณา เพราะเกิดความคิดขึ้นว่าคนเรานั้นจะทำอะไรก็ควรจะรีบทำอย่ารีรอ เมื่อยังมีโอกาส มีแรง มีกาย มีสติ ที่สมบรูณ์พร้อมอยู่ เดี๋ยวพอเจ็บป่วยไป แก่ชราหมดเรี่ยวหมดแรงไปแล้ว หรือไร้ร่างกายนี้ ก็หาได้เกิดประโยชน์อะไรไม่ถ้าเราคิดจะกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนที่พระพุทธองค์เคยสอนไว้ว่าอย่าได้ประมาท ในวัยทั้งสาม คือ ปฐมวัย มัฌฌิมวัย และ ปัจฉิมวัย อย่าคิดว่าวัยนี้ วัยนั้นเราถึงจะเร่งศึกษาธรรม เพราะเราไม่รู้ว่าวันไหนมัจจุราชคือความตายนั้นจะมาหาเราเมื่อไหร่ เพราะฉนั้นอย่าได้ประมาท ที่สำคัญอย่าทำให้การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ต้องเสียเปล่าไปโดยไร้ประโยชน์เลย ยิ่งเป็นมนุษย์ที่เกิดภายใต้ร่มเงาแห่งพระศาสนาของพระศาสดาด้วยแล้ว การศึกษาธรรมะจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ... แม้ไม่ถึงขั้นลึกซึ้งแต่ควรมีไว้ให้เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตก็ยังดี ดีกว่าไม่มี ไม่ได้อะไร เลยสักอย่างหนึ่งในการเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ สวัสดี...
     
  9. thepkere

    thepkere เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,018
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,449
    [๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อม
    เป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความ
    รู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร
    คือธัมมานุสสติ... สังฆานุสสติ...
    สีลานุสสติ... จาคานุสสติ...เทวตานุสสติ... อานาปานสติ... มรณสติ... กายคตาสติ...
    อุปสมานุสสติดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
    ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อ
    ความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

    จบวรรคที่ ๑
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
    หน้าที่ ๓๒/๒๙๐ ข้อที่ ๑๘๐

    เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกร
    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง พึง
    มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ

    ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ตลอดวันหนึ่ง พึงมนสิการถึง
    คำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ ภิกษุใด
    เจริญมรณสติอย่างนี้ว่าโอหนอ เราพึงเป็นอยู่ครึ่งวัน พึงมนสิการคำสอนของพระผู้มี
    พระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ
    ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
    โอหนอเราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตมื้อหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มี
    พระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
    โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตครึ่งหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค
    เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ
    และภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
    โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวได้ ๔-๕ คำแล้วกลืนกิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้
    เรากล่าวว่าเป็นผู้ประมาทอยู่ เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะช้า ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลา
    เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน
    พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอน
    ของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ และภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่
    ชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้าหรือหายใจเข้าแล้วหายใจออก


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้
    เรากล่าวว่าไม่ประมาทอยู่ ย่อมเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น
    แหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ประมาทอยู่ จักเจริญมรณสติเพื่อ
    ความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    จบสูตรที่ ๓
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
    หน้าที่ ๒๕๔/๓๗๙ ข้อที่ ๑๗๐
     
  10. marasri

    marasri เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    91
    ค่าพลัง:
    +293
    ขอบคุณมากๆ ค่ะ ยอมรับว่า ดิฉันไม่เคยอ่านคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกจริงๆ เลย มีได้อ่านบ้างแบบที่คนยกมาเป็นช่วงๆ ซึ่งพูดตรงๆ ว่าดิฉันอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ดิฉันไม่รู้ภาษาบาลี คำแปลสั้นๆ บางทีอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ต้องมีการอธิบายขยายความหมายให้อยู่ดี

    เนื้อหาที่กล่าวถึงในวิสุทธิมรรคนั้นมีการเขียนแบบภาษาทั่วไปไหมคะรบกวนแนะให้ด้วยดิฉันจะได้ไปศึกษาเพิ่มเติม
     
  11. สุมิตราจ๋า

    สุมิตราจ๋า เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มกราคม 2012
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +1,529
    เอ็งไม่จำเป็นต้องไปอ่านวิสุทธิมรรคดอก อีหนู ถ้าเอ็งไม่ได้ศึกษามันในลักษณะเป็นวิชาการมากนัก วิสุทธิมรรคคืออะไร? มันก็คือหนังสือสรุปย่อของพระไตรปิฏกนั้นเอง ผู้รู้ท่านก็จัด เอาไว้ในชั้นอรรถกถา(พระไตรปิฏก) นั้นแหละ ส่วนในส่วนที่กล่าวถึงมรณานุสตินั้น คัมภีร์จะกล่าวไว้ในปริจเฉกที่แปด ตำราเล่มนี้แต่งโดยเพราะเถระชาวอินเดียชื่อพุทธโฆษาในเกาะลังกา ชาวเถรวาทถือว่า เป็นตำราที่สำคัญเป็นอันดับสองรองมาจาก พระไตรปิฏกนั้นแหละ

    นี่คือเรื่องของมันอย่างคร่าวๆๆ

    เอาล่ะเรามาพูด เรื่องความตายและการปฏิบัติมรณานุสติดีกว่า ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษาท่านแนะนำ วิธีปฏิบัติไว้ให้ ถึงแปดประการ ดังนี้
    ลุงจะถอดความมาให้ ในวงเล็บคือถ้อยคำแปล ซึ่งเข้าใจยากใช่ไหมล่ะ ก็มันเป็นการแปลมาจากภาษาคนโบราณนี่อีหนู

    หนึ่งระลึกว่าความตายแนบชิดกับชีวิตตลอดเวลา(คัมภีร์เขียนว่าปรากฏเหมือนเพชฌฆาต)

    สอง ระลึกว่าความตายคือการพรากจากทุกสิ่งที่เราชอบ(คัมภีร์เขียนว่าปรากฏเหมือนวิบัติจากสมบัติ)

    สาม ระลึกว่าความตายไม่เคยยกเว้นให้ใคร(คัมภีร์เขียนว่าโดยนำมาเปรียบเทียบ)

    สี่ ระลึกความไม่เที่ยงของร่างกายเรา(คัมภีร์เขียนว่าโดยระลึกว่าสละกายแก่หมู่หนอนจำนวนมาก)

    ห้า ระลึกว่าชีวิตนั้นเปราะบางเหลือเกิน (คัมภีร์เขียนว่าโดยอายุทุพลภาพ)

    หก ระลึกถึงความตายทุกเวลา(คัมภีร์เขียนว่าปรากฏเหมือนไม่มีหมายเตือน)

    เจ็ด ระลึกว่าอายุขัยของเราสั้นลงเรื่อยๆ(คัมภีร์เขียนว่าปรากฏเหมือนไม่มีกำหนดระยะกาล)

    แปด ระลึกว่าได้ความจริงเราตายลงแล้วในทุกขณะจิต(คัมภีร์เขียนว่าปรากฏเหมือนมีขณะเพียงเล็กน้อย)


    ที่นี้ มรณานุสติสำคัญอย่างไร? องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าสรรเสริญ การเจริญมรณานุสติไว้ดังนี้ “ในบรรดารอยเท้าสัตว์ รอยเท้าคชสารนั้นใหญ่สุด เช่นไร ในบรรดากัมมัฏฐานทั้งหลาย มรณานุสติก็ประเสริฐสุดเช่นนั้น”

    เอ็งเห็นคุณประโยชน์ไหมล่ะอีหนู จริงๆๆมันไม่เกี่ยวกับคนมีปัญญามากปัญญาน้อยดอกนะ เราทุกคนควรที่จะเจริญมรณานุสติ ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ดั่งพระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกของพระองค์หมั่นสาธยายและเจรฺิญอภิณหปัจจเวกขญ์เสมอๆๆ ซึ่งในนั้นก็มีการรวมเอาการเจริญมรณานุสติเอาไว้ด้วย เห็นความสำคัญของมันไหมล่ะ

    ทีนี้เรามาดูกับเกี่ยวกับเรื่องความตาย กันว่าทำไมคนเราถึงรู้สึกไม่สบายใจกับมันนัก ในชีวิตประจำวัน เรามักเรียกเอาช่วงเวลาหนึ่งที่เราดำรงอยู่บนโลกว่า การมีชีวิต เรามักคิดว่าชีวิตคือตอนนี้ และ ความตายคือสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า อีก10 ปี 20 ปี หรือไม่กี่เดือน ในช่วง60ปี 70ปี 80 ปี นี้เรียกว่าช่วงที่ฉันมีชีวิตอยู่ ส่วนหลังจากนั้นในช่วงที่ฉันหมดลมไป นั้นแหละเรียกว่าตาย

    อันที่จริง เมื่อพูดถึงความตายนั้น มีไม่กี่คนที่มองเห็นความนัยของข้อเท็จจริงของความตายนี้ ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่เกือบไม่เคยมองดูโฉมหน้าของความตายและเข้าใจสิ่งพิเศษต่างๆ ที่เป็นความนัยของมันเลย ลองนึกดูคำว่า ความตาย ดูเราจะเห็นได้ชัดเลยล่ะว่า คำๆๆนี้เป็นคำที่เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อความหมายทั้งหมดของข้อเท็จจริง อันได้แก่ ความกลัว ความอาดูร ความรู้สึกอ้างว้างอย่างประหลาด ความว่างเปล่า ความกระจ้อยร่อยและโดดเดี่ยว สื่อถึงความสิ้นหวังในส่วนลึกที่คงอยู่ตลอดเวลา สรุปก็คือดูมืดมนไม่น่าอภิรมณ์เท่าไหร่ แล้วใครล่ะที่จะมาสนใจมันกันอย่างจริงๆๆจัง ก็ทัศนคติเริ่มแรกต่อมันก็ไม่ดีแล้วนี่

    แต่ประเด็นของเรานั้นก็อยู่ที่ว่า เราเคยตั้งคำถามกันไหม?ว่า ชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่แยกขาดจากความตายได้หรือ? หรือทันทีที่เราได้เริ่มต้นการมีชีวิต เราก็เริ่มต้นความตายมาด้วยแล้ว ล่ะ เคยสังเกตไหมว่าเพราะมีชีวิตจึ่งมีความตาย ดั้งนั้นความตายจึ่งเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ในการเป็นเครื่องยืนยันว่าเรานั้นมีชีวิตอยู่จริงๆๆนั้นแหละ

    เห็นไหม?ว่า ทุกๆๆลมหายใจเข้าออกย่อมมีกระบวณการแตกสลายของชีวิตร่วมอยู่ด้วยเสมอๆๆทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความตายอยู่ที่นั้น นั้นไง ที่ข้างขวาของมือเราและมันก็กำลังเอามือเข้ามาจับเราทุกๆๆคน และ วันหนึ่งมันก็จะจับเราได้ นี่คือความจริงที่เราควรที่จะสังวรเอาไว้ สมดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ไม่มีที่ใดบนโลกนี้ที่ความตายไม่อาจจะย่างการไปถึง ไม่ว่าบนห้วงนภา สุดขอบโลก หรือ ใต้ท้องมหาสมุทร"

    อันที่จริงนั้น ชีวิตไม่อาจจะแยกจากความตายได้มันเป็นหนึ่งเดียวกัน และ ถ้าหากเราไม่รู้ว่าการมีชีวิตอยู่คืออะไร เราก็จะไม่มีวันรู้ได้หรอกนะว่าความตายคืออะไร? และจากข้อเท็จจริงที่ว่านี้ ทำให้การที่เราไปแยกมันออกจากกัน นั้นแหละที่เป็นสาเหตุแห่งความเศร้าโศกความทุกข์อย่างใหญ่หลวงนะ การปฏิบัติมรณานุสติก็เพื่อจะทำให้ช่องว่างตรงนี้ที่เราไปแยกมันออกจากกันได้มีโอกาสได้แคบขึ้นมา หรือไม่ก็แนบสนิทกันเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเดิม แต่ก็นะ มนุษย์มักไม่พร้อมที่จะตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดอก พวกเขาแยกชีวิตออกจากความตาย ดังนั้นความตายจึ่งเป็นสิ่งที่เขากลัวยิ่ง เป็นสิ่งที่เขาไม่รู้จัก เป็นก้นเหวที่เขาไม่เคยสำรวจเลย เขารู้จักแต่เพียงการมีชีวิต เพียงแต่โลกที่แลเห็นและรับรู้ทางประสาทสัมผัส และ ไม่อยากแยกจากประสบการณ์ประหลาดๆๆ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างความสุขและความทุกข์ระทม ที่คุ้นเคยนี้

    แลสิ่งที่ยากที่สุดในโลกนี้ก็คือการเผชิญหน้ากับความจริง สิ่งนี้ยากเสียยิ่งกว่าการรู้เท่าทัน ความคิดปรุงแต่ง หรือ กลลวงของอัตตาด้วยเหตุที่ว่า เราไม่รู้วิธีที่จะรับมือกับมัน เมื่อสัจธรรมส่งสารตัดผ่าน ดูสิภาพคนตายนั้นอุจาดตา เมื่อเกิดอุบัติเหตุเราพยายามที่ขนย้ายศพไปไกลๆ ให้เราที่สุดเอาหนังสือพิมพ์มาปิดไว้แต่งศพด้วยดอกไม้ ฉีดยา ดองด้วยฟอร์มาลีนจัดแต่งหลุมศพด้วยหินสวยๆ เรานำเอาศพไปเก็บไว้ไกลๆ ในที่ที่ถ้าไม่จำเป็นเราจะไม่ไปเหยียบอย่างสุสานสิ่งนี้ไม่ต่างจากการ กวาดเอาขยะ ไปซุกใต้พรมซึ่งขยะยังอยู่ที่นั้น นั้นแหละพวกเราปฏิเสธที่จะรับรู้ความตาย


    ทั้งๆๆที่ เอาเข้าจริงถึงเราจะปฏิเสธมันเท่าไหร่ก็ตาม มันก็ยังเป็นสิ่งที่เราเองไม่อาจจะหนีพ้น และ มันมักจะมาเยือนเราโดยที่เราไม่ค่อยจะรู้ตัวหรอก เราไม่อาจจะยืนอยู่หน้าความตายแล้วสั่งมันว่า “แกจงไปให้พ้นฉันไม่ต้องการแก จงไปที่อื่น” ด้วยหวังว่าเมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วแล้วความตายจะหนีห่างออกไปจากเรา มันเป็นไปไม่ได้ ความตายไม่เคยโอนอ่อนให้ใคร นี่คือความจริง

    รู้อะไรไหม? มนุษย์เราไม่ได้กลัวความตายหรอก แต่พวกเขากลัวที่จะสูญเสียมัดรวมของความทรงจำบางอย่างที่รวมตัวกัน และสร้างความเป็นฉันขึ้นมา ฉันที่อยู่ตรงนี้ ฉันที่มีชีวิต และคุ้นเคยอยู่กับโลกใบนี้ นี่ต่างหาก และนี่แหละที่ทำให้ความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัวยิ่งสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ เพียงแค่คิดก็อยากจะหนีจากเสียแล้ว ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักพยายามที่บิดเบือนมัน ราวกับว่ามันไม่มีตัวตนอยู่จริง โดยหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับมัน หรือนึกถึงมัน เพราะมันนำมาซึ่งความไม่พอใจอย่างใหญ่หลวง นี่แหละคือสิ่งที่เอ็งเป็นล่ะอีหนู รู้อะไรไหมหนูที่ใดที่มีความกลัว ที่นั่นมีเจตจำนงที่จะหลบหนี เพราะความกลัวนั่นเองที่สร้างเจตจำนงขึ้นมา ตรงนี้ลุงนึก เรื่องของนกกระจอกเทศ เมื่อมันพบศัตรู แทนที่มันจะวิ่งหนี มันกลับเอาหัวมุดทรายเพื่อจะได้ไม่เห็นศัตรูอีก ราวกับว่า ศัตรูจะหายไป ถ้ามันทำเช่นนั้น แต่ทว่าศัตรูนั้นหาได้หายไปจริงๆๆไม่ หนำซ้ำมันยังถูกเล่นงานได้โดยง่ายเพราะการกระทำของมันเอง นี่ก็เป็นรูปแบบของการหลบหนีเช่นกัน ในกรณีความตายผู้คนสร้างรูปแบบของการหลบหนีมากมายเช่นไม่คิดถึงมัน ไม่ก็สร้างทฤษฏีว่าไม่มีชีวิตหลังความตาย หรือ มีชีวิตหลังความตาย มีสวรรค์ มีแดนสุขาวดี มีการเกิดใหม่ เหล่านี้แม้จะดูแตกต่างกัน แต่ก็เป็นรูปแบบของการหลบหนีทั้งสิ้น เป็นความพยายามจะสร้างความสบายใจ เพราะความตายเป็นสิ่งที่เราไม่รู้นั้นเอง มันจึ่งไม่มั่งคงยิ่ง และ มนุษย์ก็จะกลัวเมื่อพบกับความไม่มั่นคง


    แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่กลัวตายและพยายามจะหนีจากมันไม่คิดถึงมันนั้นเป็นคนที่ผิดปกติหรอกนะ คนทั่วๆๆไปก็เป็นแบบนี้แหละ ลองคิดดูสิ ทุกวันนี้มีคนสักกี่คนที่เขียนพินัยกรรมไว้แล้วบ้าง แน่นอนว่าจำนวนน้อยนิด และในจำนวนน้อยนิดนั้นก็เป็นคนที่มีอายุมากแล้ว คนที่กำลังป่วยในระยะสุดท้ายเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครสักคนที่เป็นคนหนุ่มสาว สุขภาพดี จะนึกถึงมัน สำหรับผู้คนการทำเช่นนี้ ถือว่า เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีใครทำกันเช่นนี้ เรายังเด็กเกินไป เห็นอะไรไหมล่ะ


    อย่างไรก็ตาม เมื่อเรายอมรับความจริงได้อย่างแท้จริง และไม่บิดเบือนมันอีก ไม่แยกชีวิตออกจากความตาย นี่แหละคือการบรรลุเป้าหมายของการเจริญมรณานุสติที่แท้จริงล่ะ สิ่งนี้จะทำให้การมีชีวิตของเรากลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า สดใหม่ยิ่ง และเราไม่อาจจะเรียนรู้เกี่ยวกับความตายได้ที่ไหนอีก นอกจากในการมีชีวิตของเรา นี่คือความเร้นลับของการมีชีวิตและความตาย หลังความตายย่อมมีชีวิต อีหนู เอ๋ยในขณะที่เอ็งเจริญมรณานุสติ เอ็งสามารถมองดูความตายอย่างหมดจดถ้วนทั่วได้ไหม? ซึ่งก็คือโดยไม่มีความกลัว เพราะความกลัวและเจตจำนงที่จะหลบหนีของมันนั่นเองที่สร้างตำนาน สัญลักษณ์และความเชื่อทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมา หากเอ็งสามารถที่จะเรียนรู้ที่จะมองดูมันอย่างถ้วนทั่ว ด้วยหัวจิตหัวใจทั้งหมดที่มี แล้วเอ็งจะเห็นว่า ความตายมีความหมายที่ต่างออกไป เพราะตอนนั้นไม่มีความกลัว ความกลัวนั่นเอง ที่ทำให้เราเรียกร้องต้องการรู้ว่า หลังความตายมีความสืบเนื่องต่อไปหรือไม่ และความกลัวก็พบการสนองตอบของมันเอง ในความเชื่อว่า หลังความตายมีหรือไม่มีความสืบเนื่องอยู่ แต่เมื่อเราสามารถมองอย่างเต็มที่ไปยังสิ่งที่เรียกว่าความตายได้ ก็จะไม่มีความเศร้า มีแต่ความสดใหม่และคมชัดเกิดขึ้น

    ใช่แล้ว ลุงกำลังพูดถึงความหมายที่แท้จริงของการตาย หรือก็คือการตายที่แท้จริง คือการตายจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นฉัน เพราะ ความตายไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การที่เราตายละลงหลุมไปเท่านั้น แต่ยังมีความตายในรูปแบบที่ชัดเจนยิ่งกว่าจริงแท้ยิ่งกว่า คือระดับของจิตใจด้วย เพื่อที่จะเข้าใจตรงนี้ เราจะต้องรู้ก่อนว่าการมีชีวิตอยู่คืออะไร? เพราะถ้าเอ็งถามว่า "ดิฉันอยากรู้จริงๆ ว่าอะไรคือความตาย" เอ็งจะไม่มีทางรู้คำตอบจนกว่าเอ็งจะรู้ว่าอะไรคือการมีชีวิตอยู่

    แล้วอะไรเล่าคือการมีชีวิตอยู่ของเรา? นับตั้งแต่วินาทีที่เราเกิดจนกระทั่งตาย การดิ้นรน ขัดแย้ง ความทุกข์ระทม ความกลัว ความกลัดกลุ้ม ความรู้สึกผิด ความอ้างว้าง และสิ้นหวัง นั่นแหละคือชีวิตของเรา นี้คือเหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึ่งตรัสว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ความทุกข์คือสัจจะข้อแรกของชีวิต(ในอรินชยสัจสี่) อย่างไรก็ตามถึงกระนั้นก็อาจมีความสุขอยู่บ้างในชั่วขณะหนึ่งเป็นครั้งคราว เป็นโอกาสที่ดวงตาได้ส่องประกาย ได้ยิม หัวเราะ เบิกบาน อารมณ์ดี แต่ประเด็นก็คือทั้งหมดนี้คือขอบข่ายทั้งหมดของชีวิตที่เรารู้ และเราก็ติดยึดกับชีวิตเช่นนี้ เพราะ อย่างน้อยมันก็เป็น สิ่งที่เรารู้จัก แทนที่จะอยู่โดยไม่มีอะไรเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงกลัวการมีชีวิตอยู่กัน และเราก็กลัวความตาย อันเป็นการสิ้นสุด และเมื่อความตายมาถึงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เราก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะมัน นั้นแหละ ชีวิตล่ะ เพราะ ชีวิตของเราเป็นการยุทธอย่างหนึ่งที่ปวดร้าวทรมานแสนยาวนาน เป็นการต่อสู้กับตัวเอง กับทุกสิ่งรอบตัว อยู่แล้วนี่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความพึงพอใจ เพิ่มพูนความปรารถนา พร้อมทั้งความสมปรารถนา ให้ได้มากที่สุด นี่คือชีวิต ทีนี้เราจะยุติสิ่งเหล่านี้ได้ไหม? เราจะจบมันลงได้ไหม และมีหนทางในการมีชีวิตที่ต่าง ออกไป เป็นการบังเกิดใหม่ ทางฝ่ายวิญญาณ ซึ่งก็คือการยุติความเศร้าโศก ยุติการต่อสู้ดิ้นรน ไม่สร้างสมรภูมิแห่งชีวิตขึ้นมา เราจะเห็นด้วยจิตใจภายในของเราเองว่า การมีชีวิตอยู่ก็คือการตายนั่นเอง ตายไปจากทุกสิ่ง ในทุกวัน ตายไปจากสรรพสิ่งที่เราสะสมรวบรวมไว้ แล้วแต่ละวันจิตใจจะใหม่ สดชื่น และไร้เดียงสา การทำเช่นนั้นได้ต้องมีความใส่ใจอย่างมหาศาล ทว่าไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้หากไม่มีการสิ้นสุดของความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งก็คือความกลัว รวมทั้งสิ้นสุดความคิด จากนั้นจิตใจจะสงบนิ่งเป็นที่สุด มีความแจ่มชัดและความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา นี่แหละคือการจบลงของสภาวะที่ ยึดติดเอาฉันเป็นศูนย์กลาง ซึ่งต้องกวาดทิ้งเสมอๆๆทุกๆๆครั้งจากการปฏิบัติมรณานุสติ นี่คือสิ่งสำคัญยิ่ง

    และในอีกแง่หนึ่งเมื่อเราปฏิบัติมรณานุสติอยู่เสมอๆๆ เราจะเห็นเองว่าแท้ที่จริงแล้ว ทั้งการมีชีวิตและความตายนั้นก็เป็นเพียงมายา เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะธรรมชาติที่แท้ของเรานั้นย่อมไม่เกิดและไม่ตาย นี่คือสัทธรรม ในพระสูตรชาวพุทธมักเปรียบเทียบ การเกิดตายเหมือนคลื่นกับน้ำ เมื่อคลื่นขึ้นสูงสุด และ เคลื่อนที่ลงมา มันก็จะหายไปในน้ำ คลื่นตายลงแล้ว? เปล่าเลย คลื่นก็คือน้ำ ไม่ได้แยกขาดจากกัน ในเมื่อน้ำยังอยู่ที่นั้น ในที่สุดคลื่นก็จะกลับมาอีกเมื่อเหตุปัจจัยเพียงพอ เราทุกคนก็คือ คลื่นในมหาสมุทรแห่งจักรวาล เมื่อเราแตกดับ นาม และ รูปที่เคยเป็นเราย่อมแยกออกจากกัน คืนสู่สรรพสิ่ง เหมือนคลื่นหายลับไปยังมหาสมุทร เช่นเดียวกันความเป็นเราก็เหมือนคลื่นซึ่งอาจจะปรากฏขึ้นมาได้อีกครั้ง ถ้ามีปัจจัยเพียงพอ ถ้าไม่เพียงพอก็อาจจะกลายมาเป็นสภาพอื่นเช่นต้นไม้? เป็นสรรพสัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นก้อนหิน เป็นดวงดาว เป็นพระพุทธเจ้า
    ดั้งนั้น ถึงแม้เราจะไม่ปรากกขึ้นมาอีกครั้ง เราก็ไม่ได้หายไปไหน เรายังอยู่ในสิ่งต่างๆๆเสมอๆๆ เป็นหนึ่งเดียวกับทุกๆๆสรรพสิ่ง ดังนั้นแท้จริงของทุกสิ่งจึ่งไม่มีเกิดไม่มีตาย การเห็นว่ามีเกิดมีตายเป็นเพียงผลมาจากอวิชชาของเรานั้นเอง เราจะเกิดและตายได้อย่างไร? ในเมื่อเรายังคงดำรงอยู่ในทุกๆๆสรรพสิ่งทุกๆๆเวลา แม้หลังจากในช่วงเวลาที่เราเรียกว่าตัวเองตายไปแล้ว เราจะตายได้อย่างไรในเมื่อไม่มีเราอยู่จริงๆๆมาตั้งแต่ต้น นี่คือสารอับประเสริฐของพุทธธรรม และ ใครที่เข้าใจความหมายของสิ่งนี้ เขาก็ย่อมเป็นอิสระจากการเกิดและตายได้

    เกี่ยวกับสิ่งนี้ ท่านติช นันท์ ฮัทท์ มักชอบยกตัวอย่างใบไม้ ท่านกล่าวว่า”เมื่อฉันมองดูใบไม้ ใบไม้นั้นหาได้เกิดในฤดูใบไม้ผลิไม่ ดังนั้นจึ่งไม่เคยร่วงโรยตายใบในฤดูใบไม้ร่วง มันเพียงแต่แค่แสร้งว่าเป็นอย่างนั้น ทั้งมันยังสามารถทำในสิ่งเดียวกับพระศากยมุนีคือ เรียกกายของมันทั้วทุกทิศ(ตรงนี้ท่านนันท์ ฮัทท์ ท่านเอามาจากสัทธรรมปรุณฑริกสูตร)ให้มาอยู่ที่ตรงนี้ได้”

    เมื่อเราเข้าใจสิ่งนี้ เราก็จะคลายการยึดติดในคนที่เรารักได้ เช่นสมมุติคนที่เอ็งรักตาย เอ็งก็จะเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วคนที่เอ็งรักนั้นยังไม่เคยตาย ความตายเป็นภาพลวงของความคิดแบบวิตกวิจารของเอ็งเอง เพราะธรรมชาติของเขาก็เหมือนกับเอ็งคือไม่เกิดไม่ตาย เขายังดำรงอยู่ในจิตใจเอ็ง ในทุกๆๆสรรพสิ่ง เพราะแท้ที่จริงแล้วเขาก็คือสรรพสิ่งมาตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกับเรา

    หากเราพร้อมที่จะตายลงในทุกๆขณะ แม้กระทั้งเวลานี้ การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้น อย่างแรกก็คือ มันนำความสดใหม่มาให้ชีวิต ไม่มีตะกอนตกค้างของอดีต และเราสามารถเป็นคนใหม่ได้ทุกๆๆวินาที เป็นอิสระยิ่ง ความกลัวจะหายไป ความทุกข์จากความรู้สึกไม่อยากจากโลกนี้ไป จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป นอกจากนี้การมีชีวิตของเราจะทรงพลังยิ่ง ลองดูสิลองใช้ชีวิตประหนึ่งว่าเอ็งจะมีวันนี้อีกเพียงวันเดียวลองดู แล้วเอ็งจะเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในแต่ล่ะนาทีของเอ็งให้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เอ็งจะไม่ใช้ชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะเต็มที่(หรือไม่ประมาท)ในทุกๆๆวินาทีหรือ รู้อะไรไหมอีหนู มีแต่คนที่เรียนรู้มาชีวิตมาทุกรสชาติ อย่างเต็มอิ่มแล้วเท่านั้นแหละที่จะไม่กลัวความตาย ตรงกันข้ามความตายเป็นสิ่งที่เขากระหายอยากจะเรียนรู้มันเสียด้วยซ้ำ

    เมื่อพิจารณาความตายอยู่เสมอๆๆ เอ็งย่อมเห็นว่าชีวิตเป็นสิ่งมีค่ายิ่งยวดเสมอๆ และเมื่อเอ็งสามารถเห็นคุณค่าของชีวิตของตัวเอง เอ็งก็ย่อมสามารถตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตของผู้อื่นรอบๆตัวเอ็งได้ เอ็งย่อมไม่เบียดเบียนใดๆๆทั้งสิ้นทั้งทางกาย วาจา ใจ อันมีผลกระทบกระเทือนต่อการมีชีวิตของผู้อื่น ศีลธรรมจึ่งปราศจากความหมายสำคัญเอ็งอีก และ ตรงข้ามกันนั้นเอ็งย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับกฏศีลธรรม เอ็งย่อมมีกำลังใจมากขึ้นที่จะแบ่งปัน สิ่งต่างโดยไม่หวงแหนอีก เพราะรู้ดีว่าไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเราอย่างแท้จริงแม้แต่ชีวิตของเอ็งเอง เอ็งพร้อมที่จะรักได้มากขึ้นเพราะเอ็งรู้ดีแล้วว่าในไม่ช้าเราต้องจากไปไม่มีประโยชน์ที่จะก่อให้เกิดความเกลียดชังขึ้น กับ ชีวิตที่สั้นแสนสั้นนี้ นี่แหละคือคุณประโยชน์ของการเจริญมรณานุสติอย่างคร่าวๆๆ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 1 มกราคม 2013
  12. บุญทรงพระเครื่อง

    บุญทรงพระเครื่อง ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    17,441
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +27,814

    :cool:โมทนาสาธุครับดีจริงๆ ที่ทำแบบนี้ คนมีปัญญาถึงทำได้ คนไม่มีปัญญามันทำไม่ไม่ได้คิดไม่ได้คิดไม่เป็นหรอกนะคุณ คนมีปัญญาเท่านั้นที่เขาคิดกัน คุณ ลุงอภิบาลท่านพูดถูกแล้ว การนึกถึงความตาย ทำได้ ทุกคนทุกเภททุกวัย ไม่จำกัดกาลสมัย คนที่จะเป็นพระอริยเจ้า ต้องผ่านขั้นตอนนี้ทั้งสิ้น ไม่มีพระอริยเจ้าองค์ไม่ผ่าน ขั้นตอนนี้ มันไม่มีเลยสักองค์เดียว นะจะบอกให้


    ผมไม่ขออธิบาย เพราะมีคนอธิบายไว้ดีแล้วหลายคน และตอนที่พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพระโพธิ สัตว์ ก็มีคนอธิบายแล้ว ในหัวข้อด้านบน ตายแล้วไม่โศกเศร้า ทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน แล้วปัญญา มันเกิดของมันเองแหละครับ ถ้าไม่เข้าใจ บางกรณี ก็หาผู้รู้ สนธนา ก็จะเข้าใจแล:cool:
     

แชร์หน้านี้

Loading...