(๑๕) โพธิธรรมทีปนี:อานิสงส์การเห็นอริยสัจ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 13 ธันวาคม 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    บทที่ ๓
    อานิสงส์การเห็นอริยสัจ

    บัดนี้จักพรรณนาถึงอานิสงส์แห่งการเห็นพระจตุราริยสัจธรรม เพื่อจักชี้แจงให้ท่านผู้มีปัญญาได้ทราบว่า การรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจธรรม อันเป็นธรรมวิเศษที่องค์สมเด็จพระโลกเชษฐสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้นั้น จักมีคุณานิสงส์เป็นประการใดบ้าง ก็ในการกล่าวอ้างถึงอานิสงส์แห่งการเห็นพระจตุรารยิสัจนี้ ก่อนอื่นใคร่จักนำท่านทั้งหลายให้กลับไปพิจารณาเค้าโครงเรื่องที่กล่าวมาแล้วเสียก่อน คือในการพรรณนาพระจตุราริยสัจธรรมตามที่ปรากฏในโพธิธรรมทีปนีนี้นั้น ได้แบ่งการพรรณนาไว้เป็น ๒ ภาคคือ อริยสัจภาคปริยัติศึกษา ๑ อริยสัจภาคปฏิบัติการ ๑ เมื่อถึงคราวที่จะพรรณนาถึงอานิสงส์เข้าในบทนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งชี้แจงออกเป็น ๒ ภาคเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทราบชัดลงไปโดยเด็ดขาดว่า การรู้เห็นพระจตุราริยสัจในภาคปริยัติศึกษา กับการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจในภาคปฏิบัติการนั้น มีคุณานิสงส์แตกต่างกันอย่างไร ฉะนั้นในเบื้องต้นนี้จึงมีปัญหาขึ้นมาว่า การรู้เห็นพระจตุราริยสัจโดยการศึกษา มีอานิสงส์เป็นประการใดบ้าง?

    บุคคลผู้มีโชคดีได้เกิดมาเป็นมนนุษย์พบพระพุทธศาสนา มีศรัทธาเลื่อมใสสนใจในพระสัทธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสสัมพุทธเจ้า อุตส่าห์เล่าเรียนพระบาลีพุทธพจน์จดจำธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจไว้ได้ โดยเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งด้วยอำนาจแห่งสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา โดยนัยที่ว่า ทุกอริยสัจมีลักษณะเป็นอย่างนั้นๆ.. ทุกขสมุทัยอริยสัจมีลักษณะเป็นอย่างนั้นๆ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจมีลักษณะเป็นอย่างนั้นๆ.. ดังนี้เป็นต้น บุคคลผู้นี้ย่อมจะได้รับอานิสงส์คือได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ในธรรมวิเศษขององค์สมเด็จพระบรมครูเจ้า ต่อเมื่อเขานำเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก โดยแสดงให้ประชาชนทั้งหลายได้ทราบชัดถึงธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจนี้ เมื่อแสดงดีแสดงถูกต้องตามกระแสพระพุทธฎีกา ย่อมจะได้รับอานิสงส์ คือสิ้นโลก ได้รับความสรรเสริญยกย่องจากปวงชน ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ทรงจำธรรมและประกาศธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเอง! อานิสงส์ส่วนตัวของผู้รู้เห็นพระจตุราริยสัจโดยการศึกษาที่เห็นได้อย่างชัดๆ ก็มีอยู่แต่เพียงแค่นี้ จะไปหวังเอาอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลในชาติหน้าชาติโน้นนั้น มันเป็นความหวังที่เลือนลางเต็มที เพราะว่าความรู้เห็นพระจตุราริยสัจในขั้นปริยัติศึกษานี้จะเป็นความดีความประเสริฐสุดในพระบวรพุทธศาสนานั้นยังไม่ได้ ! หากว่าดีก็ดีไป แต่ถ้ามีอันเป็นเกิดเคราะห์หามยามร้าย เมื่อตายไปแล้วอาจจะไปเกิดในอบายยภูมิก็ได้ ทั้งๆ ที่มีความรู้ในพระจตุราริยสัจขั้นปริยัติศึกษาอย่างมากมาย ในกรณีนี้พึงเห็นตัวอย่างเช่นพระกปิลเถระแต่งปางบรรพ์ ซึ่งประวัติของท่านปรากฏมีดังต่อไปนี้

    พระกปิลเถระ

    ดังได้สดับมา ครั้งศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฏกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ ในภัทรกัปนี้ มีชายสองคนพี่น้องผู้มีนามว่า "โสธนะ" ส่วนชายผู้น้องมีนามว่า "กปิละ" ได้ศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้ว วันหนึ่งพากันเข้าทำวัตรปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ แล้วเรียนถามว่า

    "ข้าแต่พระอุปัชฌาย์! ธุรกิจในพระพุทธศาสนานี้มีกี่ประการเจ้าข้า?"
    พระอุปัชฌายมหาเถรจึงสอนเรื่องธุระในพระศาสนาว่า
    "ธุรกิจในพระพุทธศาสนาอันเป็นที่สุดเคารพบูชาแห่งเรานี้มีอยู่ ๒ ประการคือ คันถธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะปริยัติธรรม ๑ วิปัสสนาธุระ ได้แก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้ได้บรรลุธรรมวิเศษ ๑ ขอให้ท่านซึ่งบวชใหม่จงตั้งใจกระทำธุรกิจทั้ง ๒ ประการนี้ให้จงดีเถิด"

    พอได้คำสอนแห่งพระอุปัชฌาย์ดังนี้ พระโสธนะผู้พี่ก็เรียนเอาบทพระกรรมฐาน แล้วเข้าป่าไปปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในไม่ช้าก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันตอริยบุคคลบรรลุธรรมวิเศษชั้นสูงสุดในพระบวรพุทธศาสนา ฝ่ายพระกปิละผู้น้องนั้นคิดว่า ตนยังเป็นหนุ่มควรจะถือเอาคันถธุระ คือเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเสียก่อนจะดีกว่า ต่อเมื่อชราแก่แล้วจึงค่อยบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาก็ได้ เมื่อคิดดังนี้จึงอุตส่าห์พยายามเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนจบพระไตรปิฎก แตกฉานในธรรมะทุกหมวดทุกตอน แล้วตั้งตนเป็นพระอาจารย์สอนปริยัติศึกษา ในไม่ช้าก็มีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือ มีพระภิกษุสามเณรมาสมัครเป็นศิษย์มากมาย ธรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมะที่ตื้นหรือธรรมะที่ลึกซึ้งเช่นพระจตุราริยสัจธรรมนี้ ท่านก็มีความรู้และสอนคนอื่นได้ทั้งสิ้น ได้รับความสรรเสริญยกย่องจากปวงชนทั่วไป เมื่อได้รับความยกย่องหนักๆ เข้า ก็เลยเหลิงใจคิดไปไกลว่า ตัวท่านเป็นอติบัญฑิต" คือเป็นบัณฑิตชั้นยอดเยี่ยม ไม่มีใครจะมาเทียมทันได้

    ธรรมดาวิสัยแห่งปุถุชน แม้จะมีความรู้เพียงใด ก็ย่อมชื่อว่ายังโง่อยู่คือไม่สามารถที่จะรู้ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ได้อย่างถูกต้องตลอดหมด เพราะฉะนั้นในกาลบางคราวพระปิละผู้มีความรู้มาก เมื่อพูดมากไปสั่งสอนคนอื่นมากไป จึงตีความในพระธรรมวินัยผิดพลาดไปบางกรณี เหล่าพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงกล่าวตักเตือนด้วยความปรารถนาดีว่า พระปิลเถระพูดผิดกระแสพระพุทธฎีกา ขออย่าได้ตีความพระธรรมวินัยให้ผิดพลาดไปเช่นนั้น ท่านอติบัณฑิตปกิละก็พลันโกรธเคืองหาว่าพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่มีความรู้แล้วยังจะมาทำอวดดีขัดคอตนอีก ฉุนโกรธขึ้นมาก็เลยด่าและขู่ตะคอกพระภิกษุเหล่านั้น ออกไปหลายคำ

    พระภิกษุผู้ปรารถนาดีเหล่านั้น จึงพากันเดินทางเข้าไปในป่าใหญ่จนกระทั่งถึงกุฏิที่อยู่แห่งองค์อรหันต์ท่านพระโสธนมหาเถระ แล้วเล่าพฤติการณ์ของพระกปิละให้ท่านได้ทราบ และกราบเรียนขอร้องให้ไปช่วยตักเตือน พระโสธนะองค์อรหันต์ผู้พี่ชาย มีใจกรุณาจึงรีบเดินทางมายังสำนักของพระกปิละ แล้วให้โอวาทว่า

    "ดูกรอาวุโสกปิละ! พระภิกษุผุ้มีความรู้เช่นตัวท่านนี้ หากปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จักได้ชื่อว่าเป็นอายุแห่งพระศาสนา จักเป็นหลักใหญ่ช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพร เพราะฉะนั้นขอท่านจงปฏิบัติชอบเถิด อย่ามีทิฐิมานะ เมื่อเพื่อนพระสงฆ์กล่าวตักเตือนด้วยความปรารถนาดี ในกรณีที่ท่านตีความในปาพจน์คือพระธรรมวินัยของสมเด็จพระบรมครูเจ้าผิดพลาด ก็จงอย่ามีมานะ อย่าดื้อดึง อย่าโต้เถียงให้เป็นบาปกรรมแก่ตนไปเปล่าๆ เลย..."

    แม้จะได้สดับคำสอนจากองค์อรหันต์ผู้เป็นพี่ชายเช่นนี้ พระกปิละ ผู้มีความรู้มาก ก็หาได้เชื่อถือและปฏิบัติตามไม่ คราวใดที่ตนตีความในพระธรรมวินัยไปตามอำเภอใจและพระภิกษุทั้งหลายมาตักเตือนด้วยความปรารถนาดี ก็กล่าวคำโต้แย้งและกลับขู่ตะคอกพระภิกษุเหล่านั้นไปทุกครั้ง จนกระทั่งพระโสธนะองค์อรหันต์ต้องออกจากป่ามาตักเตือนเป็นครั้งที่ ๒-๓ ครั้นเห็นว่าพระกปิละไม่เชื่อฟังแน่แล้ว ในครั้งสุดท้ายองค์อรหันต์ท่านจึงกล่าวว่า

    "ดูกรอาวุโสกปิละ! เราสู้อุตสาหะมาตักเตือนท่านเองเป็นหลายครั้ง แต่ท่านก็หาเชื่อฟังไม่ ถ้าท่านขืนทำอย่างนี้ต่อไป กรรมก็จักตกอยู่แก่ตัวท่านเอง..."

    กล่าวดังนี้แล้ว ท่านก็มิกล่าวอะไรอีก ออกเดินทางเข้าป่าซึ่งเป็นสำนักของท่านตามอัธยาศัย ฝ่ายพระกปิละผู้มีทิฐิอันชั่วช้าก็หาได้สำนึกตัวไม่ เมื่อมีพระภิกษุมาว่ากล่าวตักเตือนตนคราวใด ก็กลับด่าสาปแช่งพระภิกษุเหล่านั้นด้วยวาจาอันชั่วร้ายให้หนีเตลิดกลับไปทุกครั้ง จนไม่มีภิกษุรูปใดกล้ามาตักเตือน กาลล่วงไป เมื่อถึงสมัยสิ้นอายุ พระโสธนะผู้พี่ชายเพราะค่าที่ท่านได้บรรลุธรรมวิเศษรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจได้สำเร็จเป็นองค์พระอรหันตอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่านจึงดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานอันเป็นแดนสันติสุขชั่วนิรันดร ฝ่ายว่าพระกปิละหัวรั้นผู้เป็นน้องชาย เพราะบาปกรรมที่ได้ด่าและขู่ตะคอกพระภิกษุสงฆ์โดยเข้าใจว่าตนเป็นคนมีความรู้มาก พอสิ้นอายุตายไป ก็ตรงดิ่งไปเกิดเป็นสัตว์นรก ณ แดงมหานรกขุมที่ ๘ อันมีชื่อว่า "อเวจีมหานรก" ซึ่งเป็นมหานรกขุมต่ำที่สุด ต้องถูกไฟในอเวจีมหานรกนั้นเผาไหม้กายตนอยู่ตลอดเวลาได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส

    ครั้นถึงกาลอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าแห่งเรานี้ สัตว์อเวจีมหานรกกปิละนั้นก็พลันพ้นจากทุกขโทษ แต่ว่าเศษบาปยังมีจึงมาเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจแาน เป็นปลามีสีเหลืองอร่ามตัวใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี คราวหนึ่งถูกพวกชาวประมงจับตัวได้และนำเอาไปทูลเกล้าถวายสมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์เห็นปลาตัวใหญ่มีสีกายประหลาด ก็ให้ทรงหลากพระทัยใคร่จักทรงทราบถึงบุรพกรรมของปลานั้น จึงรับสั่งให้นำไปยังพระเชตวันมหาวิหารเพื่อจักทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ปลาสีทองนั้นมีบุรพกรรมอย่างไรจึงมีกายแปลกประหลาดไม่เหมือนปลาธรรมดา ในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงบุรพกรรมอยู่นั้น ปลาเศษนรกกปิละมีความน้อยใจในความชั่วแต่หนหลังของตนเปํนอันมาก และด้วยความโกรธตนเองเป็นนักหนาจึงยกศีรษะขึ้นฟาดกับแคมเรือโครมใหญ่ เลยขาดใจตายกลับไปเป็นสัตว์นรก ณ แดนอเวจีมหานรกอีกตามเดิม! ทั้งนี้ก็เพราะว่าธรรมดาสัตว์บุคคลที่มากล้นไปด้วยโทสะ และขาดใจตายไปในขณะที่จิตมีโทสะนั้นย่อมต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เพราะโทสะนั้นมีอำนาจนำไปสู่นรกได้ถ่ายเดียว ด้วยประการ ฉะนี้

    ฮี! นี่อย่างไรกัน? ไหนว่าจะพรรณนาถึงอานิสงส์แห่งการเห็นพระจตุราริยสัจให้ฟังอย่างไรเล่า แต่นี่เหตุไฉนจึงว่าอะไรออกไปนอกเรื่องให้เปลืองเวลา ซึ่งฟังดูคล้ายๆ กับว่าเป็นการพรรณนาโทษการเห็นพระอริยสัจเสียมากกว่า จะเป็นการพรรณนาอานิสงส์?

    เปล่า! ไม่ใช่เป็นการกล่าวออกไปนอกเรื่อง นี่แหละเป็นวิธีแสดงอานิสงส์แห่งการเห็นอริยสัจอย่างแจ้งชัดทีเดียว คือแสดงให้เห็นว่าการรู้เห็นพระจตุราริยสัจในขั้นปริยัติศึกษานี้ มีอานิสงส์โดยประจักษ์ก็คือได้ความรู้ เมื่อศึกษาน้อยก็มีความรู้เรื่องอริยสัจน้อย เมื่อศึกษามากก็ย่อมมีความรู้ในเรื่ออริยสัจมากมายแตกฉาน เมื่อแตกฉานดีแล้ว นำเอาเรื่องที่ตนแตกฉานนี้ไปแสดงแก่ปวงชนเป็นที่ถูกใจ ย่อมได้รับความยกย่องสรรเสริญในความรู้เรื่องพระอริยสัจนั้นว่า

    "เอ้อเฮอ! ปราชญ์... ท่านผู้นี้ท่านเป็นนักปราชญ์ เพราะสามารถแสดงอริยสัจอันสุขุมลุ่มลึกได้อย่างอัศจรรย์..."

    อย่างมากก้ได้เพียงแต่คำสรรเสริญยกย่อง อันเป็นลมปากที่หลุดออกมาจากใจของคนทั้งหลายเท่านี้เอง! เหมือนเช่นพระกปิละเถระ อุตสาหะเล่าเรียนพระไตรปิฎกจนจบได้รับความยกย่องสรรเสริญจากเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย แต่ไม่สามารถที่จะประหารอวิชชา อันมีฤทธิ์ร้ายที่ครอบงำดวงใจอยู่เป็นนิรันดร์ได้ อย่าว่าถึงอานิสงส์ขั้นสามารถประหารอวิชชานี่เลย แม้แต่เพียงการช่วยตนเองไม่ให้ตกไปในอบายภูมิ การเห็นอริยสัจขั้นปริยัติศึกษา ก็ไม่มีอานิสงส์แรงพที่จะช่วยได้ ดูแต่พระกปิลภิกขุนั่นยังไง ทั้งๆ ที่มีความรู้พระจตุราริยสัจอยู่เต็มหัวใจ เมื่อตายไปแล้วยังต้องไปเกิดเป็นอบายสัตว์อยู่ในอเวจีมหานรก! และถ้าลงว่าชะตาเสียถึงขั้นเป็นสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉานได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนั้นแล้ว ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิตย่อมจักหมดไป พระจตุรารยิสัจที่เคยรู้ๆ ไว้ ก็ย่อมจะถึงภาวะเสื่อมสลายเลือนหายไปจนหมดสิ้นอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

    เท่าที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะทราบได้แล้วว่าการรู้เห็นพระจตุราริยสัจในภาคปริยัติศึกษา มีอานิสงส์ไม่แน่นอน มีอานิสงส์ไม่เด็ดขาด หรือพูดอย่างตรงๆ ก็ว่ามีอานิสงส์น้อยเหลือเกิน แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอานิสงส์เสียเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ก็เพราะการรู้เห็นขั้นนี้เป็นเพียงความรู้เห็นที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการศึกษาและปัญญาที่เกิดจากจินตนาการ ซึ่งยังเป็นโลกิยปัญญา

    เลยเกิดมีปัญหาขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้น การเห็นพระจตุราริยสัจในขั้นไหนเล่า จึงจะมีอานิสงส์! จงอธิบายเร็วๆ เถิดอย่ามัวชักช้าให้เสียเวลาอยู่เลย

    วิสัชนาว่า ช้าก่อนซี! จะรีบร้อนไปไหนกันเล่า ว่าแต่ว่าที่ชี้แจงมาเมื่อตะกี้นี้น่ะ เข้าใจดีแล้วหรือ? เอ้า! เมื่อเข้าใจดีแล้ว ต่อจากนี้ไป เราจักได้พากันเข้าไปดูอานิสงส์การเห็นพระจตุราริยสัจอย่างแท้จริงเสียที ของจงตั้งใจสดับตรับฟังให้ดี

    การเห็นพระจตุราริยสัจที่จักมีอานิสงส์ขั้นเด็ดขาดยิ่งใหญ่ไพศาลนั้นต้องเป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจในภาคปฏิบัติ จงจำไว้ให้มั่นว่า การรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจโดยการปฏิบัติเท่านั้นจึงจะมีอานิสงส์อย่างจริงแท้แน่นอน และอานิสงส์ที่ได้จากการรู้แจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจโดยการปฏิบัตินี้เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลสุดที่จักนับจักประมาณได้ ไม่มีอานิสงส์อื่นใดที่จะมาเทียมเทียบได้ในทุกกรณีเป็นอานิสงส์ที่มั่นคงยั่งยืนทั้งใชาตินี้และชาติหน้า เป็นอานิสงส์ผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป ดังนี้


    อ่านต่อ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 สิงหาคม 2011
  2. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    อนุโมทน สาธุ ๆ
    กับท่านที่ได้นำเอาพระธรรมมาเผยแพร่
    และบุญกุศลทุกอย่างทีได้ทำด้วยครับ
    นิพพานัง ปัจจโย โหตุ
     
  3. ชุนชิว

    ชุนชิว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    722
    ค่าพลัง:
    +780
    ทุกสิ่งทุกอย่างละครับ หากรู้ไม่จริงรู้ไม่ครบ แล้วนำไปใช้ ก็อาจเกิดโทษตามมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะนำเอาความรู้นั้นไปทำร้าย ไปเบียดเบียนผู้อื่น มันก็จะย้อนกลับมาหาตัวเองในที่สุด
     
  4. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    พระโสดาบันอริยบุคคล

    ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระบวรพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตคฤหัสถ์หญิงชาย มีศรัทธาเลื่อมใสใคร่จักได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจ จงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นเรื่อยไป เมื่อได้บรลุถึง พระโสดาปัตติมรรคญาณ เป็นมรรคที่ ๑ สามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจ กำจัดอวิชชาได้เป็นครั้งที่ ๑ แล้ว ท่านผู้นี้ย่อมมีนามปรากฏในพระบวรพุทธศาสนาว่า "พระโสดาบันอริยบุคคล" คือพระอริยบุคคลผู้ถึงกระแสพระนิพพาน

    ท่านพระโสดาบันอริยบุคคล ผู้ซึ่งตกถึงกระแสพระนิพพาน เพราะสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจได้เป็นครั้งที่ ๑ นี้ ย่อมมีคุณวิเศษมากมาย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงคุณวิเศษเฉพาะประการสำคัญ ที่เราท่านควรจักทราบไว้ ดังต่อไปนี้

    ปิดประตูอบายภูมิ
    บรรดาปุถุชนสมัญที่มีอวิชชาเข้าครอบงำดวงใจ พาให้ต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร อันมีอยู่หลายภูมิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่ง สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่ว่านี้ก็คือการไปเกิดเป็นอบายสัตว์ในอบายภูมิ เพราะการไปเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมินี้ มีแต่การเสวยทุกขโทษที่แสนสาหัสโดยส่วนเดียว ด้วยความรักตัวกลัวภัยในอบายภูมินี่เอง ปุถุชนทั้งหลายจึงพากันก่อสร้างคุณงามความดีอันเป็นบุญกุศลมีประการต่างๆ ด้วยหวังว่าจะยกตนให้พ้นภัยจากอบายภูมิ แต่เป็นที่น่าเสียใจ ที่จักขอกล่าวในที่นี้ว่าบรรดากองการกุศลที่ปุถุชนคนธรรมดาพากันสร้างนั้น ย่อมไม่มีอานิสงส์แรงพอที่จะเป็นเครื่องปิดกั้นประตูอบายภูมิได้อย่างแน่นอนเลย ไม่ว่าจะเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่เพียงไรก็ตาม


    ส่วนท่านผู้ปฏฺิบัติการ จนได้รู้แจ้งแทงตลอดธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจเป็นครั้งแรก ซึ่งได้นามว่าพระโสดาบันอริยบุคคลนี้ ท่านย่อมเป็นผู้ทรงคุณวิเศษสามารถปิดประตูอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาด คือท่านจักไม่ต้องไปเกิดเป็นอบายสัตว์ในอบายภูมิอันน่าสะพรึงกลัวนั้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะมีพระพุทธฎีกาตรัสรับประกันไว้ใน คิญชกาวสกสูตร ซึ่งจักนำมากล่าวไว้ดังนี้

    สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนทเถรได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ ที่พักอันก่อด้วยอิฐในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อถวายบังคมและนั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงทูลถามพระองค์ว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! อุบาสิกาชื่อว่า สุชาดา ได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว คติของอุบาสิกาสุชาดานั้นเป็นอย่างไร? สัมรายภพของอุบาสิกาสุชาดานั้นเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า?"

    สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
    "ดูกรอานนท์! อุบาสิกาชื่อว่าสุดชาดาเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลเพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ ประการ เมื่อกระทำกาลแล้วย่อมเป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งธรรมวิเศษต่อไปอีกในเบื้องหน้า

    "ดูกร อานนท์! กรณีที่บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ต้องถึงแก่กาลกิริยาตายไปนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อะไร แต่ในกรณีที่เมื่อมีผู้ถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว และเธอเข้ามาหารเราตถาคตแล้วสอบถามคติสัมปรายภพของคนเหล่านั้น ข้อนี้เป็นความลำบากของเราตถาคตที่จะต้องตอบอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นบัดนี้ เราตถาคตจักแสดงธรรมปริยายชื่อว่า ธรรมาทาส (แว่นส่องธรรม) ซึ่งเป็นธรรมที่มีอยู่ในพระอริยสาวกผู้ใด พระอริยสาวกผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า
    "ตัวเราเป็นผู้มีนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคตวินิบาต หมดสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาเป็นผู้เที่ยงที่จะได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งธรรมวิเศษต่อไปอีกเบื้องหน้า"
     
  5. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    แว่นส่องธรรม


    "ดูกรอานนท์ ก็ธรรมปริยายชื่อว่า "ธรรมาทาส" ซึ่งเป็นธรรมที่มีอยู่ในพระอริยสาวกผู้ใด พระอริยสาวกผู้นั้น ย่อมพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า "ตัวเราเป็นผู้มีนรก... หมดสิ้นแล้ว เป็นผู้เที่ยงที่จะได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งธรรมวิเศษต่อไปอีกในเบื้องหน้า" ดังนี้นั้น เป็นไฉน


    ๑. พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า

    ๒. พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม

    ๓.พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์

    ๔.พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญอันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ

    ทั้ง ๔ ประการนี้แล คือธรรมปริยายชื่อว่า ธรรมาทาส (ธรรมทั้ง ๔ ย่อมมีครบบริบูรณ์ในสันดานแห่งท่านพระโสดาบันอริยบุคคล ผู้เห็นแจ้งแทงตลอดธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้เป็นครั้งที่ ๑) ซึ่งเป็นธรรมที่มีอยู่ในพระอริยสาวกผู้ใด พระอริยสาวกผู้นั้น พึ่งพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า


    "ตัวเรานี้ เป็นผู้มีนรก กำเนิดเดียรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต หมดสิ้นแล้ว เราเป็นผู้เที่ยงที่จะได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งธรรมวิเศษต่อไปอีกเบื้องหน้า" ดังนี้
    โดยพระพุทธฎีกานี้ ท่านผู้มีปัญญาก็คงจักทราบได้แล้วว่า พระโสดาบันอริยบุคคล ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ ๑ ในพระบวรพุทธศาสนาท่านทรงคุณวิเศษสามารถปิดประตูอบายภูมิได้อย่างแน่นอน พูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่าเมื่อสิ้นชีวิตตายไปแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปลงนรกหรือไปเป็นเปรตอสุรกาย หรือเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ซึ่งเป็นสัตว์ในอบายภูมิต่อไปอีกแล้ว เพราะธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจที่ท่านได้มีโอกาสเห็นด้วยอำนาจแห่งภาวนามยปัญญานี้ เป็นโลกุตรธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีอานิสงส์หนักยิ่งนัก สามารถปิดกั้นประตูอบายได้อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวให้เป็นที่รักจักกันอยู่ในหมู่อริยบัณฑิตว่า ผู้ใดได้บรรลุโลกุตตรสมบัติชั้นแรก คือเป็นเพียงพระโสดาบันอริยบุคคลเท่านั้นก็ตาม ผู้นั้นย่อมได้เสวยสมบัติอันประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าสมบัติแห่งเจ้าจักรพรรดิราชเสียอีก คำกล่าวเช่นนี้ย่อมเป็นความจริง เพราะเป็คำกล่าวที่ถูกต้องตามกระแสพระพุทธฎีกาอันมีมาใน ราชาสูตร ซึ่งจักขออัญเชิญมาตั้งไว้ให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้พิจารณา ดังต่อไปนี้
     
  6. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ยิ่งกว่าจักรพรรดิสมบัติ

    สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถี คราวหนึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระมหากรุราตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์ให้มาประชุมกันแล้ว ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสในท่ามกลางแห่งที่ประชมุสงฆ์นั้นว่า
    "ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดีในทวีปทั้ง ๔ นั้น เมื่อพระองค์สวรรคตแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือได้ไปอุบัติเกิดในหมู่แห่งพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอแวดล้อมไปด้วยหมู่นางเทพอัปสร ทรงเอิบอิ่มเพราะทรงพรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องบำเรอ คือ กามคุณทั้ง ๕ ประการอันเป็นทิพย์ สถิตอยู่ ณ นันทวันอุทยาน บนดาวดึงส์พิภพนั้น ดังนี้ก็จริง ถึงกระนั่นท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก ยังไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ยังไม่พ้นจากเปรตวิสัย และยังไม่พ้นจากอบาย ทุคติวินิบาต

    "ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย อริยสาวกเยียวยาอัตภาพอยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มผ้าที่เศร้าหมอง แต่ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ อริยสาวกผู้นั้น ย่อมพ้นจากนรก ย่อมพ้นจากกำเนิดสัตว์เดียรัจแาน ย่อมพ้นจากเปรตวิสัย ย่อมพ้นจากอบาย ทุคติ วินิบาต"
    ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน?

    ธรรม ๔ ประการนั้นคือ


    ๑. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า


    "สมเด้จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองคืเองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม" ดังนี้

    ๒. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า


    "ธรรมที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เป็นสภาพอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน" ดังนี้
    ๓. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า


    "พระอริยสงฆ์สาวกแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร ซึ่งได้แก่คู่แห่งบุรุษ ๔ บุคคล ๘ นี้ พระอริยสงฆ์สาวกแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรแก่การคำนับ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่การทำบุญ ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญแห่งโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า" ดังนี้
    ๔. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบไปด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป้นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็ยไปเพื่อสมาธิ


    อริยสาวก (คือพระโสดาบันอริยบุคคล) ย่อมประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล

    ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฎสงสารทั้งหลาย! การได้ทวีปทั้ง ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชกับการได้ธรรม ๔ ประการ แห่งอริยสาวกในธรรมวินัยนี้นั้น การได้ทวีปทั้ง ๔ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้วได้ ๑๖ หน แห่งการได้ธรรม ๔ ประการนั้น
    นอกจากจะทรงสรรเสริญการได้เสวยโลกุตรสมบัติขั้นแรก คือ โสดาบันดลกุตรสมบัติว่าประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติแห่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชซึ่งทรงเป็นอิสราธิบดีเป็นใหญ่ยิ่งในทวีปทั้ง ๔ ตามพระบาลีที่ปรากฏในราชาสูตรดังกล่าวมาแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้ายังทรงสรรเสริญ โสดาบันดลกุตรสมบัตินี้ว่า เป็นสมบัติที่มีคุณค่าประเสริฐกว่าเทพสมบัติหรือพรหมสมบัติอีกด้วย ดังพระพุทธวจนะที่ปรากฏในพระธรรมบทบาลีว่า


    "สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ทรงบริบูรณ์ด้วยพระราชทรัพย์มหาศาล ทั้งทรงเป็นอิสราธิบดียิ่งใหญ่กว่าหมู่มนุษย์ทั้งสิ้นในแผ่นดินก็ดี สมเด็จท้าวโกสียอมรินทราธิราช ผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ก็ดี หรือแม้แต่ท่านท้าวมหาพรหม ผู้เจริญด้วยอิสระเป็นใหญ่ เสวยสมบัติในพรหมโลกก็ดี ถึงกระนั้นก็ประเสริฐสู้อริยบุคคลผู้ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลไม่ได้"
    เหตุไฉน พระองค์จึงทรงสรรเสริญพระโสดาบันโลกุตรสมบัติไว้ถึงเพียงนี้?


    ก็เพราะเหตุที่บรรดาสมบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมบัติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราช ซึ่งเป็นยอดสมบัติแห่งมนุษย์ก็ดี หรือสมบัติแห่งท่านท้าวโกสีย์ผู้เป็นประธานาธิบดีของพวกเทพเจ้าเหล่าชาวฟ้า ณ แดนสุขาวดีเทวโลกก็ดี หรือสมบัติแห่งท้าวมหาพรหม ซึ่งสถิตอยู่ ณ พรหมโลกก็ดี สมบัติเหล่านี้เป็นเพียงโลกียสมบัติ คือเป็นสมบัติโลกีย์ ไม่มีภาวะที่เที่ยงแท้แน่นอนและจิรังยั่งยืนอะไร จะครองอยู่ได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เฉพาะขณะที่มีสิทธิจะครอบครองอยู่ได้เท่านั้น ครั้นถึงกาลหมดบุญหรือเสื่อมจากฌานแล้ว ก็ย่อมถึงสภาวะเสื่อมสลายจะครอบครองอยู่ต่อไปไม่ได้
    ถ้าปรารถนาอยากจะได้อีก ก็ต้องแสวงหาด้วยการพยายามสร้างบุญสร้างกรรมกันต่อไปใหม่ ได้ประสบสุขบ้างทุกข์บ้างไปตามเรื่อง เป็นการสิ้นเปลืองเวลา พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฎสงสารอย่างไม่มีวันสิ้นสุดลงเลย และเมื่อมีการท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารแล้ว การที่จะแคล้วจากการไปเกิดในอบายภูมินั้น เป็นอันยากหนักหนา

    เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะตกลงใจได้ว่า บรรดาที่ผู้ที่เสวยสมบัติโลกีย์ทั้งหมดทุกประเภท ย่อมหาได้ชื่อว่าเป็นผู้พ้นจากอบายภูมิทั้งหลายไม่เลยซึ่งผิดกับผู้ที่เสวยโลกุตรสมบัติ เพราะผู้ที่เสวยโลกุตรสมบัติทั้งหลาย แม้จะได้เสวยโลกุตรสมบัติเพียงขั้นต้น กล่าวคือโสดาบันโลกุตรสมบัติเท่านั้นก็สามารถที่จะปิดกั้นประตูอบายภูมิได้อย่างเด็ดขา ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะต้องได้รับทุกข์ทรมานในอนาคตกาลชาติหน้า พูดอย่างตรงๆ อีกทีก็ว่าตายไปแล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าใครจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ตนหรือไม่ก็ได้ เพราะการไปเกิดเป็นอบายสัตว์ประเภทคอยรับส่วนบุญของผู้อื่น ซึ่งมีชื่อว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต นั้น ท่านผู้ได้โลกุตรสมบัติ ท่านตัดขาดเสียไกลสุดไกลแล้ว เพราะจิตสันดานของท่านทรงไว้ซึ่งคุณวิเศษที่สูงเยี่ยมและคุณวิเศษที่ประเสริฐมากมายเหลือประมาณ

    อีกประการหนึ่ง การที่องค์สมเด็จสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญโสดาบันโลกุตรสมบัติว่าประเสริฐกว่าจักรพรรดิสมบัติ เทวสมบัติ พรหมสมบัติ อันเป็นโลกียสมบัติทั้งหมด ก็เพราะว่าโสดาบันโลกุตรสมบัตินี้ เป็นสมบัติที่มั่นคงยั่งยืน ไม่เสื่อสลาย เที่ยงแท้อยู่ตลอดไป ใครได้บรรลุสมบัติชนิดนี้แล้ว ก็ย่อมไม่มีวันที่จะแคล้วคลาดจากโลกุตรสมบัติที่ตนได้ไปเลย ไม่ว่าจะเป็นชาติหน้าหรือชาติไหน เพราะโลกุตรสมบัตินี้ไซร้ เป็นสมบัติอมตะ ก็ภาวะที่โลกุตรสมบัติอมตะยั่งยืนไม่เสื่อมสลายหายไปนี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงทราบได้จากเรื่องอันปรากฎมีใน มหานามสูตร ซึ่งปรากฏโดยใจความ ดังต่อไปนี้

     
  7. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    น้ำมันย่อมไม่จมน้ำ

    สมัยหนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิดครธารามใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระองค์จนถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลถามความสงสัยแห่งตนขึ้นว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง มีผุ้คนมาก แออัดไปด้วยหมู่มนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระองค์ และนั่งใกล้พระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่เจริญใจแล้วเมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัศดุ์ในเพลาเย็นแต่ผู้เดียว โดยมิได้ไปพร้อมกับผู้ใดผู้หนึ่งเลย และหม่อมฉันก็ขาดสติลืมธรรมที่มีอยู่ไปเสียสิ้น ในกรณีเช่นนี้ หากว่าเป็นเวลาที่ต้องอุปัทวันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วถึงแก่ความตายลงไป คติของหม่อมฉันจักเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า?"

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพระพุทธฎีการตรัสว่า

    "ขอถวายพระพร มหาบพิตร! มหาบพิตรอย่างทรงกลัวเลย ในกรณีเช่นนี้ การสวรรคตอันเลวทรามจักไม่มีแก่มหาบพิตรเลย

    "ดูกรมหาบพิตร! จิตของผู้ใดผู้หนึ่ง อันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน (จิตของพระโสดาบันอริยบุคคล) ร่างกายของผู้นั้น มีรูปอันประกอบไปด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป้นแดนเกิดเจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสีนวดฟั้น และมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด จะพากันกัดกินกายนั้นก็๖าม แต่จิตของผุ้นั้นอันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน ย่อมเป็นธรรมชาติไปในเบื้องบนถึงคุณวิเศษโดยแท้

    "ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วยน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน สิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้น จะเป็นก้อนกรวดหรือกระเบื้องก็ตาม สิ่งนั้นย่อมจะจมน้ำลงไป สิ่งใดที่เป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นย่อมจะลอยขึ้นเป็นพิเศษ อุปมาข้อนี้ฉันใด

    "จิตของผู้ใดผู้หนึ่ง อันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน แม้ร่างกายของผู้นั้นซึ่งมีรูปอันประกอบไปด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี ต้องนวดฟั้นและมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมต้องถูกพวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด แทะกัดกินก็ตาม แต่จิตของผู้นั้น อันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบนถึงความวิเศษนั้นด้วยเหตุนี้ การสวรรคตอันเลวทรามจักไม่มีแก่มหาบิพิตร"

    อีกคราวหนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้าได้ทรงมีพระมหากรุณาตรัสพยากรณ์ถึงคุณวิเศษแห่งโสดาบันโลกุตรสมบัติแก่พระเจ้ามหานามศากยราช ในกรณีที่พระองค์ทูลถามปัญหาเดียวกันนี้ว่า

    "ดูกรมหาบพิตร ต้นไม้ที่น้อมโน้มโอนไปทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้วพึงล้มไปทางไหน?"

    "ต้นไม้นั้น ก็จะพึงล้มไปในทางที่มันน้อมโน้มโอนไป พระเจ้าข้า" พระเจ้ามหานามะ ทรงกราบบังคมทูล

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสว่า
    "ดูกรมหาบพิตร! อริยสาวกผู้ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการคือ
    ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ๑
    ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ๑
    ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ๑
    ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ๑ ก็ย่อมจะเป็นผู้น้อมไปสู่พระนิพพาน โน้มไปสู่พระนิพพาน โอนไปสู่พระนิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล" ดังนี้
    พระพุทธฎีกาที่อัญเชิญมานี้ ย่อมจักเป็นเครื่องชี้ให้พวกเราเห็นอย่างแจ้งชัดว่า โสดาบันโลกุตรสมบัตินี้เป็นสมบัติวิเศษประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติอื่นใดบรรดามี เป็นสมบัติที่จีรังยั่งยืนไม่เสื่อมสลาย มีแต่จะถึงความวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะท่านผู้ได้บรรลุโสดาบันโลกุตรสมบัติ สามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจ กำจัดอวิชชาได้เป็นครั้งที่ ๑ นี้ แม้ท่านจะถึงแก่ชีพิตักษัยตายไปแล้ว รูปกายของท่านเท่านั้นที่จะต้องมีอันแตกสลายไปเป็นธรรมดา ส่วนว่าธรรมวิเศษของท่าน หาได้แตกสลายไปดังเช่นรูปกายไม่ ยังคงดำรงคงอยู่และจักถึงความวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป โดยจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุถึงพระนิพพานในอวสานชาติที่สุด เปรียบประดุจหม้อน้ำมันที่จมน้ำจะจมลงไปในน้ำได้ ก็แต่ตัวหม้อซึ่งเป็นดินเป็นกระเบื้องเท่านั้น แต่น้ำมันซึ่งมีอยู่เต็มหม้อนั้น หาได้จมลงในน้ำตามหม้อไปด้วยไม่ โดยที่แท้น้ำมันนั้นย่อมจะลอยอยู่เหนือน้ำเป็นธรรมดา


    อ่านต่อ ทำลายทุกข์ในวัฏสงสาร
     
  8. สังวรคุณ

    สังวรคุณ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    148
    ค่าพลัง:
    +765
    ธรรม ๔ ประการนั้นคือ


    ๑. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า

    "สมเด้จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองคืเองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม" ดังนี้

    ๒. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า

    "ธรรมที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เป็นสภาพอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน" ดังนี้

    ๓. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า

    "พระอริยสงฆ์สาวกแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร ซึ่งได้แก่คู่แห่งบุรุษ ๔ บุคคล ๘ นี้ พระอริยสงฆ์สาวกแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรแก่การคำนับ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่การทำบุญ ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญแห่งโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า" ดังนี้

    ๔. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบไปด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป้นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ

    อริยสาวก (คือพระโสดาบันอริยบุคคล) ย่อมประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 ธันวาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...