เปิด โลกแห่งพรหม ของผู้สำเร็จ"ฌาน"

ในห้อง 'ภพภูมิ-สวรรค์ นรก' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 11 เมษายน 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,877
    พ ร ห ม ภู มิ

    [ ย่อและรวบรวมจาก 'ภูมิวิลาสินี' โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ]



    พ ร ห ม ภู มิ

    -พรหมอุบัติ-

    ท่านผู้มีความเพียรกล้า ทรงไว้ซึ่งปัญญาเกินสามัญญชน ปรารถนาจะพ้นจากกิเลสานุสัย เพราะเห็นว่ามีโทษพาให้ ยุ่งนัก ใคร่จักห้ามจิตมิให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลส จึงสู้ อุตสาหะพยายามบำเพ็ญสมถภาวนา ตามที่ท่านบุรพา จารย์สั่งสอนกันสืบๆ มา บางพวกเป็นชีป่าดาบส บางพวก ทรงพรตเป็นโยคี ฤาษี ในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ในโลก บางพวกก็เป็นพระภิกษุสามเณร ต่างบำเพ็ญ สมถภาวนา จนได้สำเร็จฌาน ครั้นถึงกาลกิริยาตายจาก มนุษย์โลก ก็ตรงไปอุบัติเกิดในพรหมวิมาน ณ พรหมโลก ตามอำนาจแห่งฌานที่ตนได้บรรลุ เป็นพระพรหมผู้วิเศษ ล้วนแต่บุรุษเพศทั้งสิ้น ไม่ต้องกินไม่ต้องบริโภคอาหาร เหมือนสัตว์ในภูมิอื่น ด้วยว่าแช่มชื่นอิ่มเอิบโดยมีฌาน สมาบัติเป็นอาหาร จึงไม่ต้องมีการถ่ายคูตรมูถคืออุจจาระ ปัสสาวะอันลามกเหม็นร้ายเลย

    สรีระร่างกายหน้าตาแห่งบรรดาพระพรหมนั้น มีสัณฐาน กลมเกลี้ยงสวยงามนัก มีรัศมีออกจากกายตัวเลื่อม ประภัสสรรุ่งเรืองกว่ารัศมีพระอาทิตย์และพระจันทร์ หลายพันเท่า เพียงแต่หัตถ์หนึ่งเล่าอันพระพรหมทั้งหลาย เหยียดยื่นออกไปหวังจะให้ส่องรัศมีไปทั่วห้วงจักรวาล ก็ย่อมจักทำได้ อวัยวะร่างกายที่ต่อกัน คือหัวเข่าก็ดี แขนก็ดี มีสัณฐานกลมเกลี้ยงเรียบงามนัก จักได้เห็นที่ ต่อกันนั้นหามิได้ เกศเกล้าแห่งองค์พระพรหมเจ้าทั้งหลาย นั้นงามนัก ปรากฏโดยมากมีศีรษะประดับด้วยชฎา เช่นเดียวกับชีป่าและโยคีฤาษีสิทธิ์ผู้มีฤทธิ์ สถิตย์เสวยสุข พรหมสมบัติอยู่ ณ พรหมโลกที่ตนอุบัติบังเกิดตราบจน กว่าจะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นเวลานานแสนนาน

    -ประเภทของพระพรหม-

    รูปพรหม

    ๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๑ พรหมปาริสัชชาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ผู้เป็นบริษัทท้าวมหาพรหมซึ่งสถิตย์อยู่ชั้นมหาพรหมาภูมิ เป็นพรหมโลกชั้นแรกคือชั้นต่ำที่สุด แต่ก็ตั้งอยู่เบื้องบน สูงกว่าปรนิมมิตวสวัตตีสวรรค์ขึ้นไปถึงห้าล้านห้าแสน แปดพันโยชน์ นับว่าไกลจากมนุษยโลกนักหนา ไม่สามารถ นับได้

    พระพรหมแต่ละองค์ ณ พรหมพิมานแห่งตนในที่นี้ล้วนแต่ มีคุณวิเศษ โดยเคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ปฐมฌาน อย่างสามัญมาแล้วทั้งสิ้น เสวยปณีตสุขอยู่ มีความเป็นอยู่อย่างแสนจะสุขนักหนา ตราบจนหมด พรหมายุขัย

    ๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๒ พรหมปุโรหิตาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลายผู้ทรงฐานะประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่าน มหาพรหม

    ความเป็นอยู่ทุกอย่างล้ำเลิศวิเศษกว่าพรหมโลกชั้นแรก รัศมีก็รุ่งเรืองกว่า รูปทรงร่างกายใหญ่กว่า สวยงามกว่า ทุกท่านล้วนมีคุณวิเศษ ได้เคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้ บรรลุ ปฐมฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลาง มาแล้วทั้งสิ้น

    ๓. มหาพรหมาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๓ มหาพรหมาภูมิ = ที่อยู่แห่งท่านพระพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย มีความเป็นอยู่และรูปกายประเสริฐยิ่งขึ้น ไปอีก ได้เคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมฌานขั้น ปณีตะคือขั้นประณีตสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น

    พรหมโลก ๓ ชั้นแรกนี้ ตั้งอยู่ ณ ระดับพื้นที่ระดับเดียวกัน
    แต่แยกเป็น ๓ เขต

    ๔. ปริตตาภาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๔ ปริตตาภาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลายผู้มีรัศมีน้อยกว่าพระพรหมที่มีศักดิ์สูงกว่าตน ล้วนมีคุณวิเศษ โดยได้เจริญภาวนากรรมบำเพ็ญ สมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปริตตะ คือ ขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น

    ๕. อัปปมาณาภาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๕ อัปปมาณาภาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลายผู้มีรัศมีรุ่งเรืองมากมายหาประมาณมิได้ ล้วนแต่ทรงคุณวิเศษ โดยได้เคยเจริญภาวนาการบำเพ็ญ สมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลางมาแล้วทั้งสิ้น

    ๖. อาภัสราภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๖ อาภัสสราภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลายผู้มีประกายรุ่งโรจน์แห่งรัศมีนานาแสง ล้วนมีคุณวิเศษ โดยได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญ สมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปณีตะ คือ ประณีตสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น

    อนึ่งพรหมโลกชั้นที่ ๔ - ๖ นี้ทั้งสามชั้น ความจริงตั้งอยู่
    ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น ๓ เขต

    ๗. ปริตตสุภาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๗ ปริตตสุภาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย คือน้อยกว่าพระพรหมในพรหมโลกที่สูงกว่าตนนั่นเอง ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวิเศษ โดยได้เคยเจริญภาวนากรรม บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นปริตตะ คือขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น

    ๘. อัปปมาณสุภาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๘ อัปปมาณสุภาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีมากมายไม่มี ประมาณ สง่าสวยงามแห่งรัศมีซึ่งซ่านออกจากกายตัว มากมายสุดประมาณ ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวิเศษ โดยได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลางมาแล้วทั้งสิ้น

    ๙. สุภกิณหาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๙ สุภกิณหาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมี ที่ออกสลับ ปะปนกันอยู่เสมอเป็นนิตย์ ทรงรัศมีนานาพรรณ เป็นที่น่าเพ่งพิศทัศนานักหนา ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวิเศษ โดยได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นปณีตะ คือขั้นประณีตสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น

    พรหมโลกชั้นที่ ๗ ชั้นที่ ๘ และชั้นที่ ๙ นี้ ความจริงตั้งอยู่
    ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น ๓ เขต

    ๑๐. เวหัปผลาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๑๐ เวหัปผลาภูมิ = ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลายผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์

    อนึ่ง ผลแห่งฌานกุศล ที่ส่งให้ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก ๙ ชั้นแรกนั้น ไม่เรียกว่ามีผลไพบูลย์เต็มที่ ทั้งนี้ก็โดยมี เหตุผลตามสภาพธรรมที่เป็นจริง ดังต่อไปนี้
    ก.
    เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยไฟ นั้น ๔ ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
    ข.
    เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยน้ำ นั้น ๖ ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
    ค.
    เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยลม นั้น ทั้ง ๙ ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วยไม่มีเหลือเลย

    ๑๑. อสัญญีสัตตาภูมิ

    พรหมโลกชั้นที่ ๑๑ อสัญญีสัตตาภูมิ = ที่อยู่ของ พระพรหมทั้งหลาย ผู้ไม่มีสัญญา พระพรหมไม่มีสัญญาทั้งหลาย ผู้อุบัติเกิดด้วยอำนาจ แห่งสัญญาวิราคภาวนาและสถิตย์อยู่ในพรหมโลกชั้นนี้ ย่อมมีแต่รูป ไม่มีนามคือจิตและเจตสิก เสวยสุขอัน ประณีตนักหนา ล้วนแต่มีคุณวิเศษยิ่งนัก โดย ได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุด มาแล้วทั้งสิ้น

    ทรงเพศเป็นพระพรหมผู้วิเศษ สถิตย์อยู่ในปราสาท แก้วพรหมวิมานอันมโหฬารกว้างขวางนักหนา มีบุปผชาติ ดอกไม้ประดับประดาเรียบเรียงเป็นระเบียบ ไม่รู้แห้งเหี่ยว โรยรา โดยรอบ ผู้ที่ไปอุบัติเกิดในพรหมภูมิชั้นนี้ มี มากมายนักหนาจนนับไม่ถ้วน ล้วนแต่มีหน้าตาเนื้อตัว สวยสง่ามีอุปมากังรูปพระปฏิมากรพุทธรูปทองคำขัดสี ใหม่ งามซึ้งตรึงใจสุดพรรณนา แต่มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางองค์นั่ง บางองค์นอน บางองค์ยืน มีอิริยาบถใดก็ เป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่เคลื่อนไม่ไหวติง จักษุทั้งสอง ก็มิได้กะพริบเลย สถิตย์เฉยเสวยสุขเป็นประดุจรูปปั้น อยู่อย่างนั้นชั่วกาลนานนักแล

    อนึ่ง เวหัปผลาภูมิและอสัญญีสัตตาภูมินี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่กันอยู่ และมีระยะ ห่างไกลกันมาก

    สุทธาวาสภูมิ

    เป็นพรหมโลกอีกชนิดหนึ่ง ต่างจากทั้ง ๑๑ ชั้นแรก ภูมินี้ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมอริยบุคคลในบวรพุทธศาสนา ชั้นพระพรหมอนาคามีอริยบุคคล ผู้มีความบริสุทธิ์ เท่านั้น ส่วนท่านที่ทรงคุณวิเศษอื่นๆ แม้จะได้สำเร็จฌาน วิเศษเพียงใด ก็ไปอุบัติเกิดในสุทธาวาสภูมินี้ไม่ได้ อย่างเด็ดขาด สุทธาวาสภูมินี้มีอยู่ ๕ ชั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ และตั้งอยู่เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ตามลำดับภูมิ หาได้ตั้งอยู่ในระดับเดียวกันไม่

    ๑๒. อวิหาสุทธาวาสภูมิ

    สูงขึ้นไปจากอสัญญีสัตตาภูมิประมาณ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ อวิหาสุทธาวาสภูมิ = ภูมิอันเป็นที่อยู่อัน บริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติของตน

    พระพรหมในพรหมโลกชั้นนี้ ย่อมไม่ละทิ้งสมบัติ กล่าวคือ สถานที่ของตนโดยเวลาเพียงเล็กน้อย เพราะว่าพระพรหม ที่อุบัติเกิดและสถิตย์อยู่ ณ ที่นี้ ท่านย่อมไม่จักจุติเสียก่อน จนกว่าจะสถิตย์อยู่นานถึงมีอายุครบกำหนด ซึ่งแปลก ออกไปจากพระพรหมในสุทธาวาสภูมิที่เหลืออยู่อีก ๔ ภูมิ คือพระพรหมในอีก ๔ สุทธาวาสภูมินั้นอาจไม่ได้อยู่ ครบกำหนดอายุก็มีการจุติหรือนิพพานเสียก่อน พระพรหมในอวิหาสุทธาวาสภูมินี้ แต่ละองค์นั้น ล้วนแต่ เป็นผู้มีวาสนาบารมี กิเลสธุลีเหลือติดอยู่ในจิตสันดาน น้อยนักหนา โดยได้เคยเป็นสาวกแห่งพระพุทธองค์ พบพระบวรพุทธศาสนาแล้วมีปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร อุตสาหะจำเริญ วิปัสสนากรรมฐาน จนยังตติยมรรคให้ เกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล มาแล้ว

    ๑๓. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ

    สูงขึ้นไปต่อจากอวิหาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ อตัปปาสุทธาวาสภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี อริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่มีความเดือดร้อน หมายความว่า ท่านเหล่านี้ย่อมไม่มีความเดือดร้อน ทั้งทางกาย วาจาและใจเลย ย่อมเข้าฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมซึ่งเป็นกิเลสอันทำให้ จิตเดือดร้อนไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นจิตใจของ ท่านเหล่านั้นจึงมีแต่สงบเยือกเย็น ท่านเหล่านี้เคยเป็น พระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนา กรรมฐานจนสามารถยังตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีวิริยินทรีย์ คือมี วิริยะแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น

    ๑๔. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ

    สูงขึ้นไปต่อจากอตัปปาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี อริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความแจ่มใส คือท่านเหล่านี้ ย่อมมีความเห็นอย่างชัดแจ้งแจ่มใส สามารถเห็น สภาวธรรมได้โดยแจ้งชัดเพราะเป็นพระพรหมที่บริบูรณ์ ด้วยประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ธัมมจักษุและปัญญาจักษุ จึงเห็นสภาวธรรมได้แจ่มใส ชัดเจน จิตใจสงบเยือกเย็น ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีสตินทรีย์ คือมี สติแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น

    ๑๕. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ

    สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี อริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า คือนอกจากธัมมจักษุที่มีกำลังเท่ากับพระพรหมในขั้น สุทัสสาสุทธาวาสภูมิแล้ว พระพรหมในสุทัสสีพรหมโลกนี้ ประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้ง ๓ นี้มีกำลังแก่ กล้ากว่าพระพรหมในสุทัสสาสุทธาวาสภูมิ ทำให้ท่านมีความเห็นในสภาวธรรมได้ชัดเจนแจ่มใสยิ่ง ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยังตติยมรรค ให้บังเกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล และในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มี สมาธินทรีย์ คือมีสมาธิแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น

    ๑๖. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ

    สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสีสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี อริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวิเศษโดยไม่มีความ เป็นรองกัน

    เบื้องอกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกนี้ มีพระเจดีย์เจ้าองค์ สำคัญ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แสดงว่าเป็นพรหมโลกที่ เคารพนับถือพระบวรพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ องค์หนึ่งมีนามว่า ทุสสะเจดีย์

    เหล่าพรหมทั้งปวงในที่นี้ ย่อมเป็นผู้ทรงคุณวิเศษโดย ไม่มีการเป็นรองกัน คือไม่ต่ำกว่ากันทั้งในด้านความ สุขและความรู้ ทั้งนี้เพราะทรงล้วนแต่เป็นผู้มีวาสนาบารมี ในจิตสันดานมีกิเลสธุลีเหลือติดอยู่น้อยนักหนา โดยท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน

    ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญินทรีย์ คือมี ปัญญาแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น

    ฉะนั้น ท่านพระพรหมอนาคามีบุคคลที่อุบัติเกิดใน อกนิฏฐพรหมโลกนี้ จึงมีคุณสมบัติวิเศษยิ่งกว่า บรรดาพระพรหมทั้งสิ้นในพรหมโลกทั้งหลายรวมทั้ง สุทธาวาสพรหมทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้วด้วยก็เทียบไม่ได้

    พระพรหมอนาคามีทั้งหลายในสุทธาวาสพรหมแรกทั้ง ๔ หากยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ พระปรินิพพานแล้ว ครั้นสิ้นพรหมายุขัย ก็จำต้องจุติจาก สุทธาวาสพรหมโลกที่ตนสถิตอยู่มาอุบัติเกิดใน อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกนี้ เมื่อมาอุบัติเกิดในที่นี้แล้วย่อมจะ ไม่ไปอุบัติเกิดเป็นอะไรและในที่ใดภูมิใดอีกเลย เพราะ จะต้องได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ พระปรินิพพานอยู่ในพรหมโลกชั้นอกนิฏฐพรหมโลก นี่เอง

    จึงอาจกล่าวได้ว่า อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกนี้ เป็นพรหมโลกที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ อยางประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพรหมโลกชั้นอื่นๆ ทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้

    พรหมโลกตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๑๖
    เป็น รูปพรหม คือพรหมที่มีรูปแต่เป็นรูปทิพย์ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถ มองเห็นได้ จักเห็นได้ก็โดยทิพยวิสัยเท่านั้น

    อรูปพรหม

    อรูปพรหม แปลว่า พระพรหมที่ไม่มีรูปร่าง เพราะเหตุที่จะ อรูปพรหม = พรหมไม่มีรูป เป็นพระพรหมผู้วิเศษ เพราะเหตุอุบัติขึ้นด้วยอำนาจ แห่งรูปวิราคภาวนา

    ๑๗. อากาสานัญจายตนภูมิ

    สมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนานั้น บรรดาโยคีฤาษีสิทธิ์ตลอดจนชีไพรดาบส ที่ประพฤติพรหมจรรย์บำเพ็ญตบะเดชะภาวนา ครั้นเขาผู้มีอำนาจฌานสูงรำพึงอยู่ดังนี้ ว่าอันว่าตัวตน กล่าวคืออัตภาพร่างกายนี้ไม่ดีเป็นนักหนา กอปรไปด้วย ทุกข์โทษหาประมาณมิได้ ควรที่ตูจะปรารถนากระทำตัว ให้หายไปเสียเถิด แล้วก็เกิดความพอใจเป็นนักหนา ในภาวะที่ไม่มีตัวตนไม่มีรูปกาย มิได้อาลัยในสรีระร่าง พลางออกจากจตุตถฌานแล้วก็มีใจผ่องแผ้ว ปรารถนา อยู่แต่ในความไม่มีรูป อุตส่าห์เจริญสมถกรรมฐาน ต่อไปจนได้สำเร็จ อรูปฌาน ครั้นถึงกาลกิริยา ตายแล้วก็ตรงแน่วมาอุบัติเกิดเป็นพระพรหมวิเศษ นาม อรูปพรหม จิตใจนั้นยังมีอยู่ แต่ว่าหัวหูตาตีนมือ แม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่มีเลย เสวยสุขอยู่ด้วยภาวะไม่มีรูป ตามจิตปรารถนา อากาสานัญจายตนภูมิ = ภูมิเป็นที่ตั้งอยู่แห่งพระพรหม ผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติซึ่ง ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ตั้งอยู่พ้นจากอกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์

    ๑๘. วิญญาณัญจายตนภูมิ

    พ้นจากอากาสัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ วิญญาณัญจายตนภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย วิญญาณบัญญัติ อันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป ซึ่งอุบัติเกิด ณ อรูปพรหมโลก แห่งนี้ เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยวิญญาณัญจายตน วิบากจิต

    ๑๙. อากิญจัญญายตนภูมิ

    พ้นจากวิญญานัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ อากิญจัญญายตนภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป อุบัติเกิด ณ อรูปพรหมโลก แห่งนี้ เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยอากิญจัญญายตน วิบากจิต

    ๒๐. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

    พ้นจากอากิญจัญญายตนภูมิขึ้นไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย ความประณีตเป็นอย่างยิ่ง มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

    พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป อุบัติเกิด ณ อรูปพรหมโลก แห่งนี้ เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยเนวสัญญานาสัญญา ยตนวิบากจิต มีอายุยืนนานเป็นที่สุดด้วยอำนาจแห่ง อรูปฌานกุศลอันสูงสุดที่ตนได้บำเพ็ญมา พระพรหมวิเศษแต่ละองค์ในชั้นสูงสุดนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สำเร็จยอดแห่งอรูปฌาน คืออรูปฌานที่ ๔ มาแล้วทั้งสิ้น

    -ปฏิปทาให้ถึงพรหมโลกและอายุแห่งพรหม-

    ปฏิปทาให้เกิดในพรหมโลก มิใช่เพราะอานิสงส์ แห่งบุญกุศลอย่างสามัญธรรมดา คืออานิสงส์แห่งทาน และศีลแต่เป็นอานิสงส์แห่งภาวนา

    อายุแห่งพรหม

    ๑. พรหมปาริสัชชาพรหมภูมิ อายุประมาณส่วนที่ ๓ แห่งมหากัป (๑ ใน ๓ แห่งมหากัป)

    ๒. พรหมปุโรหิตาพรหมภูมิ อายุประมาณครึ่งมหากัป

    ๓. มหาพรหมาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๑ มหากัป

    ๔. ปริตตาภาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๒ มหากัป

    ๕. อัปปมาณาภาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๔ มหากัป

    ๖.อาภัสราพรหมภูมิ อายุประมาณ ๘ มหากัป

    ๗. ปริตตสุภาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๑๖ มหากัป

    ๘. อัปปมาณสุภาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๓๒ มหากัป

    ๙. สุภกิณหาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๖๔ มหากัป

    ๑๐. เวหัปผลาพรหมภูมิ อายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป

    ๑๑. อสัญญีสัตตาภูมิ อายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป

    ๑๒. อวิหาสุทธาวาสพรหมภูมิอายุประมาณ ๑๐๐๐ มหากัป

    ๑๓. อตัปปาสุทธาวาสพรหมภูมิ อายุประมาณ ๒๐๐๐ มหากัป

    ๑๔. สุทัสสาสุทธาวาสพรหมภูมิ อายุประมาณ ๔๐๐๐ มหากัป

    ๑๕. สุทัสสีสุทธาวาสพรหมภูมิ อายุประมาณ ๘๐๐๐ มหากัป

    ๑๖. อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมิ อายุประมาณ ๑๖๐๐๐ มหากัป

    ๑๗. อากาสานัญจายตนพรหมภูมิ อายุประมาณ ๒๐๐๐๐ มหากัป

    ๑๘. วิญญาณัญจายตนพรหมภูมิ อายุประมาณ ๔๐๐๐๐ มหากัป

    ๑๙. อากิญจัญญายตนพรหมภูมิ อายุประมาณ ๖๐๐๐๐ มหากัป

    ๒๐. เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมภูมิ อายุประมาณ ๘๔๐๐๐ มหากัป



    จบ "พรหมภูมิ"
    ตอนต่อไป (ตอนสุดท้าย) "โลกุตตรภูมิ"

    *********************************************

    จาก "ภูมิวิลาสินี" โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

    อ้างอิง http://www.geocities.com/tanakorn_world/
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,877
    โ ล กุ ต ต ร ภู มิ

    [ ย่อและรวบรวมจาก 'ภูมิวิลาสินี' โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ]

    โ ล กุ ต ต ร ภู มิ

    บัดนี้ จักพรรณนาถึงโลกุตตรภูมิ พร้อมทั้ง ข้อปฏิบัติซึ่งเป็นหนทางนำไปถึงโลกุตตรภูมิคือพระนิพพาน อันเป็นอมตธรรมวิเศษประเสริฐสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเรา ผู้เป็นพุทธสาวกทั้งหลาย ควรจักทราบเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะสิ่งสำคัญสูงสุดในพระบวรพุทธศาสนาของเรา ก็อยู่ตรงนี้ คือ ตรงพระนิพพานนี่เอง เหตุไฉน จึงกล่าว อย่างนี้ ก็จะไม่ให้กล่าวเช่นนี้อย่างไรได้เล่า เพราะว่า การที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสัมพุทธศากยมุณีโคดมบรมครู เจ้าแห่งเราทั้งปวง ซึ่งทรงมีดวงพระหฤทัยมากไปด้วย พระอุตสาหะ ทรงก่อวิริยะสร้างพระบารมีมา เพื่อจักได้ ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ นับเป็นเวลานาน นักหนา คณนาได้ ๔ อสงไขยกับเศษอีก ๑๐๐๐๐๐ มหากัป ก็ดี และการที่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าผู้ทรงได้บรรลุพระ ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณสมตามพระหฤทัยประสงค์แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยนิกร โดยมิได้ทรงอนุสรณ์ถึงความยากลำบากแห่งพระวรกาย จนกระทั่งเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานก็ดี โดยพระ พุทธประสงค์ ก็เพื่อที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าไปสู่แดน พระนิพพานอมตสุขนี่เองเป็นประการสำคัญ

    ฉะนั้น ในบัดนี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ซึ่งเกิดมา ในชาตินี้เป็นผู้โชคดี โดยได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบบวรพุทธ ศาสนา จงอย่ามีความคิดไขว้เขวรวนเร ดูถูกดูหมิ่นตัว ของเราเองว่า

    "อันว่าตัวข้านี้ เป็นคนแย่เต็มที คือว่าเป็นคนมีวาสนา บารมีน้อย ยังเป็นคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ไม่ทราบ ไม่รู้พระบาลีพุทธวจนะ ไม่รู้ธรรมะอันลึกซึ้งแห่งองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เยียใดเล่า จึงจะไปบังอาจ รู้เรื่องพระนิพพานอันเป็นยอดธรรม เพราะฉะนั้น จง ปล่อยตัวเรานี้ไปตามบุญตามกรรมดีกว่า คือว่าอย่าฟัง อย่าอ่าน อย่าศึกษา อย่าไปแตะต้องเรื่องพระนิพพานเลย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของท่านผู้ทรงปัญญาบารมี สุดแต่ ท่านจะว่ากันไป เข้าใจไหมเล่า เจ้าโง่" ดังนี้

    อนึ่ง อย่าเป็นผู้มีความคิดอ่านฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิงไปด้วย อำนาจใจอันประกอบไปด้วยมานะอหังการ์ คิดไปตาม ประสาทิฐิอันโง่ๆ แห่งตนว่า

    "อโห! พระนิพพานที่ว่านี้น่ะรึ ตัวข้านี้รู้แล้ว ถึงแล้ว คือว่าเป็นสภาวะง่ายๆ เพียงแต่ทำใจให้สงบชั่วครู่ชั่วยาม ทำใจให้รู้เท่าทันธรรมชาติ ก็จัดว่าเป็นพระนิพพานแล้ว เพราะพระนิพพานนั้นเป็นสภาวะที่ง่ายจะตายไป ไม่ต้อง ประพฤติปฏิบัติอะไรให้มันเหนื่อยยากแลยุ่งไปเปล่าๆ พระนิพพานอยู่ที่ตัวเรานี่เอง ขอแต่ทำใจให้สงบเท่านั้น ก็อาจจะพลันได้พระนิพพานเอาง่ายๆ อ้าว! นี่…บัดนี้ …ข้าถึงพระนิพพานแล้วกระมังหว่า"

    เกียดกันทิฐิอันไม่เข้าท่าทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมานี้ ให้หลบหนีออกไปจากจิตสันดานเสียในกาลบัดนี้แล้ว จงทำใจให้ผ่องแผ้ว และมีมนสิการสดับตรับฟังเรื่อง พระนิพพาน ซึ่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้พวกเรา ได้มีโอกาสลิ้มรสสืบต่อไป

    -ลักษณะพระนิพพาน-

    ในนิพพานสูตร (ขุททกนิกาย อุทาน ข้อ ๑๕๙ หน้า ๒๐๗ บาลีฉบับสยามรัฐ) ปรากฏมีข้อความที่กล่าวถึงพระ พระนิพพานว่า วันหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงชี้แจงให้ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ได้ทราบ เรื่องพระนิพพานด้วยธรรมมีกถาอันปฏิสังยุตด้วย พระนิพพาน เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นได้เห็นอย่างจริงใจ มีจิตสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงในพระนิพพาน แล้วที่สุดสมเด็จพระพุทธองค์ได้ทรงมีพระมหากรุณา ตรัสว่า

    "ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก ไม่มีตัณหาชื่อว่านิพพาน! นิพพานนั้น เป็นธรรมจริงแท้ ตัณหาย่อมจะถูกบุคคลผู้ เห็นนิพพานแทงตลอดหมด กิเลสเครื่องกังวล ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้รู้ผู้เห็นพระนิพพาน" ดังนี้

    "ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ธรรมชาติ ไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ทั้งหลาย! หากว่า ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่มี แล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติ ที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏ ในโลกนี้เลย"
    (ขุททกนิกาย อุทาน นิพพานสูตร ข้อ ๑๖๐ หน้า ๒๐๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)

    "ความหวั่นไหว ย่อมมีแก่ผู้ที่ถูกตัณหาและทิฐิอาศัย ความไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ไม่ถูกตัณหาและทิฐิ อาศัย
    เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็ย่อมมีปัสสัทธิความสงบ
    เมื่อมีปัสสัทธิความสงบ ก็ย่อมไม่มีความยินดี
    เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป
    เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ย่อมไม่มีการจุติและอุปบัติ
    เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้ก็ไม่มี โลกหน้าก็ไม่มี
    ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี่แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์" ดังนี้
    (ขุททกนิกาย อุทาน นิพพานสูตร ข้อ ๑๖๑ หน้า ๒๐๙ บาลีฉบับสยามรัฐ)

    -ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน-
    (สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค ข้อ ๔๙๗ หน้า ๓๐๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)

    สมัยหนึ่ง ชัมพุขาทกปริพาชก ได้ไปเข้าหาองค์ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรมหาเถรเจ้า เรียนถามความ สงสัยที่ค้างใจของตนมานาน อย่างตรงไปตรงมาว่า

    "ดูกรท่านสารีบุตร! ที่เรียกว่าพระนิพพานๆ ดังนี้น่ะ พระนิพพานนั้นเป็นดังฤา"

    "ดูกรปริพาชก! ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี่แหละเรียกวว่าพระนิพพาน

    "ดูกรท่านสารีบุตร! ก็มรรคามีอยู่หรือ ปฏิปทามีอยู่ หรือ เพื่อที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้ง"

    "มีอยู่ ปริพาชก

    "ดูกรท่านสารีบุตร! ก็มรรคาเป็นไฉน ปฏิปทา เป็นไฉน ในการที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ขอท่าน จงกล่าวมาเถิด"

    เมื่อสดับปริพาชกชัมพุขาทกะมากกล่าวถามดังนี้ องค์พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกล่าวปฏิปทาเพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานว่า

    "ดูกรปริพาชก! อริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ประกาาร คือ

    ๑. สัมมาทิฏฐิ = ความเห็นชอบ
    ๒. สัมมาสังกัปปะ = ความดำริชอบ
    ๓. สัมมาวาจา = วาจาชอบ
    ๔. สัมมากัมมันตะ = การงานชอบ
    ๕. สัมมาอาชีวะ = เลี้ยงชีพชอบ
    ๖. สัมมาวายามะ = พยายามชอบ
    ๗. สัมมาสติ = ตั้งสติชอบ
    ๘. สัมมาสมาธิ = ตั้งใจชอบ
    อริยมรรคนี่แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเพื่อกระทำ พระนิพพานนั้นให้แจ้ง

    -วัฏสงสาร-

    การที่สัตว์ในโลกทั้งปวงทุกรูปทุกนาม ต้องท่องเที่ยว วนเวียนอยู่ในภูมิทั้งหลาย คือต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในโลกต่างๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุดนั้น ในทาง พระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า วัฏสงสาร = การท่อง เที่ยวเวียนตายเวียนเกิด เพราะวัฏฏะวนเวียน

    วัฏสงสารนี้ เมื่อจะจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้ จำได้ง่าย ก็มีอยู่ด้วยกัน ๓ ประเภท คือ

    ๑.
    เหมฐิมวัฏสงสาร
    การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในภูมิชั้นต่ำชั้นทราม อันมีความทุกข์มากหรือมีทุกข์ โดยส่วนเดียว กล่าวคือ นิรยภูมิ เปตติวิสยภูมิ อสุรกายภูมิ ติรัจฉานภูมิ
    ๒.
    มัชฌิมวัฏสงสาร
    การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในภูมิชั้นกลาง เป็นโลกชั้นดี มีโลกิยสุขพอประมาณ คือมีสุขบ้างทุกข์บ้าง หรือมีสุขโดยส่วนเดียวแต่เป็นสุข ชั้นโลกีย์ ซึ่งมีอยู่ ๗ ภูมิ คือ มนุสสภูมิ จาตุมหาราชิกาภูมิ ตาวติงสภูมิ ยามาภูมิ ตุสิตาภูมิ นิมมานรดีภูมิ ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ
    ๓.
    อุปริมวัฏสงสาร
    การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในภูมิชั้นสูง อันเป็นภูมิชั้นดีวิเศษมีสุขมาก แต่ยัง เป็นสามิสสสุข คือเป็นสุขเจือทุกข์ ซึ่งมีอยู่ ๒๐ ภูมิคือ รูปภูมิ ๑๖ ภูมิและอรูปภูมิ ๔ ภูมิ

    บรรดาภูมิทั้ง ๓๑ ภูมินี้ ยกเว้นสุทธาวาสภูมิทั้ง ๕ แล้ว ย่อมเป็นที่อุบัติเกิด เป็นที่อยู่และเป็นที่ตายแห่งสัตว์ ทั้งหลายทุกรูปทุกนาม สัตว์โลกทั้งหลายย่อมต้อง ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในภูมิเหล่านี้เรื่อยไป ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ ต้องอยู่ภายในวัฏสงสารนี้ มิภูมิใดก็ภูมิหนึ่งอย่างแน่นอน

    -อนุสัย-
    อนุเสนตีติ อนุสยา
    สภาพที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอนุสัย

    ก็เพราะเหตุใดเล่า สัตว์ทั้งหลายจึงต้องเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสาร ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่น่าเบื่อหน่ายนักหนา เช่นนี้เล่า

    ก็เพราะยังมีกิเลสตัณหาติดอยู่ในจิตสันดาน ตราบใด ที่ยังมีกิเลสตัณหาติดอยู่ในจิตสันดานแล้ว ก็จะถูกเจ้า กิเลสตัณหานี่แหละ พาให้หลงติดหลงเวียนว่ายอยู่ใน วัฏสงสารทะเลใหญ่โดยไม่หยุดหย่อน เมื่อพูดถึงกิเลส ตัณหาที่นอนนิ่งอยู่ในจิตสันดานของประชาสัตว์ ทั้งหลายนี้แล้ว แต่ละสัตว์แต่ละบุคคล ก็มีอยู่กันคนละ มากมายสุดที่จะพรรณนา ท่านย่อมว่า กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ ย่อมมีอยู่เป็นประจำสันดานของ แต่ละสัตว์แต่ละบุคคล การที่จะจับเอากิเลสตัณหามา จาระนัยทีละตัวนั้น ย่อมเป็นการยากนักหนา เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงขอกล่าวอย่างรวบรัดว่า กิเลสตัณหาอันมากมายเหล่านั้น รวมเรียกว่าเป็น สิ่งจัญไรสิ่งหนึ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนงูมีพิษร้าย แอบ อาศัยอยู่ในสันดานของประชาสัตว์ทั้งหลาย แล้วคอยคายพิษราดรดลงในดวงจิตให้กำซาบซ่าน ทำให้ประชาสัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมาน วิปริตพิกลพิการ ต้องสลึมสลือเวียนวนตายเกิด และเกิดตายอยู่ในวัฏสงสารคือโลกต่างๆ อยู่ ตลอดไป สั่งจัญไรที่เปรียบเสมืออนอสรพิษร้ายนี้ มีชื่อว่า อนุสัย

    อันว่าอนุสัยนี้ สมเด็จพระธรรมราชาธิบดีสัมมาสัมพุทธ เจ้าแห่งเราทั้งหลาย ได้ทรงพระกรุณาตรัสไว้ว่ามีอยู่ ๗ อย่าง คือ
    (อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๑๒ หน้า ๙ บาลีฉบับสยามรัฐ)

    ๑.
    ทิฏฐานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่ทิฏฐิเจตสิก ๒.
    วิจิกิจฉานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่วิจิกิจฉาเจตสิก ๓.
    กามราคานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่โลภเจตสิก ๔.
    ปฏิฆานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่โทสเจตสิก ๕.
    มานานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่มานเจตสิก ๖.
    ภวราคานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่โลภเจตสิก ๗.
    อวิชชานุสัย
    องค์ธรรมได้แก่โมหเจตสิก

    อนุสัยทั้ง ๗ ประการอย่างนี้ เป็นธรรมชาติที่ชั่วร้าย ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่เริ่ม ปฏิสนธิ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์จำพวกที่ปฏิสนธิด้วยรูปและ นามก็ดี หรือจะเป็นสัตว์จำพวกที่ปฏิสนธิด้วยรูปอย่าง เดียวก็ดี หรือจะเป็นสัตว์จำพวกที่ปฏิสนธิด้วยนามอย่าง เดียวก็ดี อนุสัยเหล่านี้ ย่อมปรากฏมีอยู่ในสันดานของ สัตว์เหล่านั้นตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิมาแล้วทั้งสิ้น และจะติด ประจำในสันดานของสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนั้นตลอดไป และตลอดไปเป็นนิตย์ ก็กิริยาที่อนุสัยนอนเนื่องอยู่ใน สันดานของสัตว์ทั้งหลายนั้น ในขณะที่ยังไม่มีอารมณ์ มากระทบก็ไม่อาจสังเกตได้ ว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ ต่อเมื่อใด มีอารมณ์มากระทบ จึงจะปรากฏอาการขึ้น อุปมาดุจงูพิษร้ายที่นอนหลับเฉยอยู่ ขณะที่ยังไม่มีสิ่งใด มากระทบ เจ้างูตัวนั้น ก็จะนอนหลับเฉยอยู่เรื่อยไป โดยไม่ปรากฏอาการใดๆ เลย ต่อเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ งูพิษร้ายนั้น ก็จะยกศีรษะขึ้นฉกจวักทันที อนุสัยก็เป็น เช่นนั้น นอนเนื่องอยู่ในสันดาน คอยรอเหตุการณ์ เมื่อมีเหตุการณ์มากระทบแล้วจึงจะมีปฏิกิริยา เช่น อย่างว่า ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ที่ได้ติดตามอ่าน ภูมิวิลาสินีนี้เรื่อยมาด้วยความสบายใจ โดยไม่มี เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทีนี้ พอมาถึงตอนนี้ คือตอนที่ว่า ด้วยอนุสัยนี่แหละ เห็นเนื้อความ ชักจะขัดๆ ไม่ค่อย กระจ่าง บางทีเลยทำให้เกิดอาการงงๆ

    "อนุสงอนุสัยอะไรกันเล่านี่ หือ! ไม่เข้าใจ จะเขียน อธิบายอะไรให้ง่ายกว่านี้สักหน่อยก็ไม่ได้ จะได้อ่านกัน อย่างสบายๆ ช่างไม่รู้อะไรเลยว่า โลกในปัจจุบันทุกวันนี้ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า จะว่าจะเขียนอะไร ก็ควรจะให้ง่ายๆ และรวบรัดสั้นๆ ไม่ต้องให้คนฟังคนอ่านเขาเสียเวลา พิจารณามากมาย นี่อะไร อ่านตั้งหลายครั้งหลายหน ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ อย่าอ่านต่อไปเลยดีกว่า…"

    เมื่อมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในจิตเช่นนี้ ก็ย่อมจักแสดงว่า บัดนี้ เจ้างูร้ายที่นอนเฉยมานาน คือ "ปฏิฆานุสัย" อันได้แก่ โทสเจตสิกความไม่พอใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดางูร้าย อนุสัยทั้ง ๗ มันได้เหตุการณ์คือมีอารมณ์มากระทบแล้ว และเริ่มปฏิกิริยาแสดงอาการขู่ฟ้อหรือยกศีรษะขึ้นฉกแล้ว เช่นนี้เป็นต้น

    ก็เพราะอนุสัยทั้ง ๗ นี้แหละ เป็นเหตุ และเพราะอนุสัย ทั้ง ๗ นี้เป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายในโลกต่างๆ จึงต้องมีอัน เป็นเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงทะเลใหญ่คือวัฏสงสาร อนุสัยทั้ง ๗ นี้เอง เป็นสิ่งดลบันดาลให้ไปเกิดในภูมินั้น ภูมินี้ ดีบ้างชั่วบ้าง ให้ต้องเสวยผลกรรมของตน เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง อย่างไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุด หยุดหย่อนเลย แม้แต่ชั่วขณะเล็กน้อยมาตรว่าชั่วแต่ เสี้ยววินาทีเดียว เมื่อเฉลียวใจพิจารณาดูด้วยปัญญา จึงจะเห็นว่าเป็นสภาวะที่น่าเบื่อหน่ายนักหนา ตราบใด ที่ยังฆ่าอนุสัยซึ่งเป็นเช่นงูร้ายที่แอบอาศัยอยู่ใน ขันธสันดานให้ตายไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่า จักได้หยุด การท่องเที่ยวไปอย่างเหน็ดเหนื่อยในวัฏสงสาร

    การที่ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ทำการประหารอนุสัยทั้ง ๗ ประการนั้น ให้ขาดออกไปจากสันดานแห่งตนได้นั้น มีสำนวนทางพระศาสนาอยู่ ๓ สำนวน คือ

    ๑.
    ตัดตัณหาได้
    ๒.
    เพิกถอนเครื่องผูกพันภพได้
    ๓.
    กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

    ทั้ง ๓ สำนวนนี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ซึ่งเป็น พุทธศาสนิกชนก็คงจะตอบได้กันแทบทุกคนว่า หมายถึง พระนิพพาน นั่นเอง เพราะ พระนิพพานอันเป็นยอดธรรมนั้น มีสภาวะตัดตัณหา เพิกถอนเครื่องผูกพันภพ และหมดทุกข์โดยตรง ฉะนั้น จึงต้องทำการตกลงให้เด็ดขาดในตอนนี้อย่างง่ายๆ ว่า เมื่อปรารถนาพระนิพพานก็ต้องประหารอนุสัย ทั้ง ๗ นี้

    -ปฏิปทาให้ถึงพระนิพพาน-

    วิธีการประหารอนุสัย เพื่อให้มีโอกาสบรรลุ พระนิพพานนั้น ต้องปฏิบัติการโดยวิธีดำเนินไป ตามปฏิปทาทางไปพระนิพพาน จึงจะเป็นการ ถูกต้อง

    ปฏิปทาทางไปพระนิพพานนั้น ไปทางไหน

    ไปทางเอกายนมรรค

    เอกายนมรรค หมายความว่าอย่างไร

    หมายความว่า ทางเอกทางเดียว ซึ่งนำไปสู่ธรรมเอก คือ พระนิพพานอย่างเดียว

    เอกายนมรรค ทางเอกอันประเสริฐที่ว่ามานั้น คืออะไรเล่า

    ทางเอกอันประเสริฐที่ว่ามานั้น คือธรรมวิเศษ หมวดหนึ่ง ซึ่งบอกวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ บรรลุพระนิพพาน

    ธรรมวิเศษอันประเสริฐนั้น มีชื่อว่าอย่างไร

    มหาสติปัฏฐาน ธรรมวิเศษอันประเสริฐนั้น มีชื่อว่า มหาสติปัฏฐาน

    มหาสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีการปฏิบัติอย่างรัดกุม เพื่อให้ ถึงพระนิพพาน พระพุทธฎีกามหาสติปัฏฐานนี้ หากว่า เป็นแต่อ่านผ่านๆ ไปโดยธรรมดา ดูเหมือนย่อมทำให้ รู้สึกว่าเป็นแต่เพียงพระพุทธพจน์บทหนึ่งเท่านั้นเอง มิค่อยจะวิเศษอะไรนัก แต่ความจริงแล้วทรงไว้ซึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์และความจริงอันประเสริฐเป็นที่สุด เพราะแนวปฏิบัติตามพระสติปัฏฐานนี้เท่านั้น เป็นหัวใจของการปฏิบัติ เป็นหนทางที่ตัดตรงไปสู่ แดนอมตมหานฤพานทีเดียว ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ว่า เมื่อปฏิบัติตามพระพุทธฎีกาสติปัฏฐานนี้ อย่างถูกวิธี และอย่างสมบูรณ์ ไม่บกพร่องแล้ว ย่อมจะเกิดดวงแก้ว ซึ่งได้แก่ภาวนามยปัญญาคือปัญญาอันประเสริฐ เกิดจากภาวนา ทำให้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง อย่างแน่แท้ที่สุด เห็นโดยวิเศษเป็นนักหนา ซี่งประเสริฐ กว่าการรู้การเห็นด้วยสุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิด จากการอ่านการเขียนการเรียนการศึกษา หรือ จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการจินตนาการ คิดเอาเป็นไหนๆ ฉะนั้นจึงได้มีการขนานนามการ กระทำตามสติปัฏฐาน อันเป็นเอกายนมรรค ทางสายเอกซึ่งพุ่งตรงไปสู่พระนิพพานนี้ว่า วิปัสสนากรรมฐาน = การกระทำเพื่อให้ เห็นสภาวธรรมโดยพิสดารวิเศษสุด (ฑีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๒๗๓ หน้า ๓๒๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)

    จะเห็นว่าพระสารีบุตรได้ตอบปัญหาเรื่องปฏิปทา ทางไปสู่พระนิพพานว่าเป็น "อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘" แต่มาตอนนี้เป็นคำตรัสของพระพุทธองค์ ว่าปฏิปทาทางไปพระนิพพานนั้น คือ "การบำเพ็ญ วิปัสสนากรรมฐาน โดยกระทำตามแนวพระสติ ปัฏฐาน" ฟังแล้วขัดแย้งกันอยู่ น่าสงสัยเป็นนักหนา

    คำวิสัชชนาก็มีว่า ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร จึงจะทำให้ เข้าใจแจ่มแจ้งได้ แต่ในกรณีนี้ขอยืนยันว่าคำก่อนกับ คำหลังนั้น ตรงกันไม่ผิดดอก เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง เพราะคำทั้งสองนั้นปรากฏมีในพระสูตรที่สำคัญยิ่ง คือ คำกล่าวว่าเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระสารีบุตรก็ดี คำกล่าวว่าเป็นพระสติปัฏฐาน ๔ ประการของพระพุทธ องค์ก็ดี ทั้งสองพระสูตรนี้ มีความถูกต้องตรงกัน ในทางปฏิบัติ คือหมายความว่า เมื่อผู้เห็นภัยใน วัฏสงสาร มีปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพานโดยนัยแห่ง พระสติปัฏฐาน ก็ย่อมเป็นอันปฏิบัติการตามนัยแห่ง พระอริยมรรคไปด้วยในตัว ทั้งนี้ ก็เพราะธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้มีสภาวะเป็นอันเดียวกันในขณะปฏิบัติเพื่อ บรรลุพระนิพพาน ซึ่งในเรื่องนี้ ท่านผู้ที่ปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุพระอริยมรรคญาณ เท่านั้น จึงจะทราบได้เป็นอย่างดีว่าไม่มีความ ขัดแย้งกันในวาทะแห่งองค์พระอรหันต์ผู้วิเศษนั้น แต่ประการใดเลย

    -มุ่งหน้าสู่พระนิพพาน-

    โลกุตตรภูมิ = ภูมิที่พ้นจากโลก อันเป็นผลวิบากแห่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ มีอยู่ทั้งหมด ๔ ภูมิ คือ
    ๑.
    โสดาปันนโลกุตรภูมิ
    ๒.
    สกิทาคามีโลกุตรภูมิ
    ๓.
    อนาคามีโลกุตรภูมิ
    ๔.
    อรหัตโลกุตรภูมิ

    โสดาปันนโลกุตรภูมิ

    โสดาปันนโลกุตรภูมิ = ภูมิที่พ้นจากโลกแห่งท่านผู้ถึง กระแสพระนิพพาน หมายความว่า ท่านผู้ใด บรรลุถึงภูมินี้ แล้ว ท่านผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าพระโสดาบันอริยบุคคล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ ๑ ในพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ได้ดื่มอมตรสคือพระนิพพาน ได้เห็นพระนิพพานแล้ว

    การจะได้มีโอกาสบรรลุถึงขั้นโลกุตรภูมินี้ มิใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็จะเกิด เอะอะตูมตามได้บรรลุขึ้นมาเองง่ายๆ โดยไม่ ต้องอาศัยการปฏิบัติอะไรเลย โดยที่แท้ ต้องเป็นผู้มีโชค อย่างประเสริฐสุด ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธ ศาสนา หรือเป็นเทวดาผู้สัมมาทิฐิมีความเลื่อมใสใน พระรัตนตรัยแล้วมีใจประกอบไปด้วยศรัทธากล้าหาญ มั่นคง ปลงปัญญาลงเห็นภัยในวัฏสงสาร ใคร่จะตาม รอยบาทพระพุทธองค์ มุ่งตรงต่อพระนิพพาน จึงอุตสาหะปฏิบัติธรรมบำเพ็ญกรรมฐาน และต้องเป็น วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นจึงจะได้ ต้องบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเป็นสัมมาปฏิบัติ คือ ปฏิบัติถูกต้องตามกระแสพระพุทธฎีกา เป็นวิปัสสนา อย่างแท้จริงจึงจะได้

    เมื่อได้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเป็นสัมมาปฏิบัติแล้ว และเมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำในขันธสันดาน ของสัตว์บุคคลทุกรูปทุกนามคือ สัทธินทรีย์ วีริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ อันเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานนี้ ถึงความพร้อมเพรียงสม่ำเสมอ กันเป็นอันดีแล้ว สภาวญาณก็จะเกิดขึ้น และก้าวหน้า ไปเรื่อยๆ ตามลำดับแห่งวิปัสสนาญาณ ๑๖ ญาณ ดังต่อไปนี้ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อท่านผู้ใด เกิดมีอุตสาหะ บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งได้ผ่าน โสฬสญาณ คือวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ มาโดยลำดับอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ท่านผู้นั้น ก็ได้ชื่อว่า บรรลุถึงโสตาปันนโลกุตรภูมิ และได้รับขนานนามว่า พระโสดาบันอริยบุคคล

    คุณวิเศษ

    ท่านพระโสดาบันอริยบุคคลนี้ ย่อมมีคุณวิเศษยิ่งกว่า ปุถุชนบุคคลมากมายสุดที่จะประมาณ

    ประการแรกคือสามารถประหารอนุสัยกิเลสให้ตาย ตกไปได้จากขันธสันดานของท่านได้ ๒ ตัวแล้ว คือ
    ๑.
    ทิฏฐานุสัย = อนุสัยคือทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นผิดใน รูปนามขันธ์ห้า
    ๒.
    วิจิกิจฉานุสัย = อนุสัยคือวิจิกิจฉา ได้แก่ความสงสัย ในพระรัตนตรัย

    ประการที่สอง ปิดประตูอบาย พระโสดบันอริยบุคคลนี้ มีดวงชีวิตผ่องแผ้ว ได้รับความเบาใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ประเสริฐกว่าเป็นพระราชาธิบดี พระจักรพรรดิ เพราะพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า ไม่ต้องไปเกิด ในอบายอีกแล้ว เพราะเป็นผู้ปิดประตูอบายได้อย่าง เด็ดขาดแล้ว มีกฏธรรมดาอยู่ว่า พระโสดาบันอริย บุคคลนี้ ท่านจะเวียนว่ายตายเกิดอีกอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติเท่านั้น ตามประเภทแห่งพระ โสดาบัน ๓ จำพวก คือ

    ๑.
    เอกพีชีโสดาบัน
    จักเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น แล้วก็จักได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อริยบุคคล แล้วก็จักได้ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน
    ๒.
    โกลังโกละโสดาบัน
    จักเกิดอีก ๒-๓ ชาติเป็นต้น แล้วก็จักได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อริยบุคคล แล้วก็จักได้ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน
    ๓.
    สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน
    จะเกิดอีกอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็จักได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็น พระอรหันต์อริยบุคคล แล้วก็จักได้ดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพาน

    สกิทาคามีโลกุตรภูมิ

    สกิทาคามีโลกุตรภูมิ = ภูมิที่พ้นจากโลกแห่งท่านผู้ที่ จะกลับมาเกิดอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจักได้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพานแดนอมตสุขชั่วนิรันดร์

    ปฏิปทาแห่งท่านผู้ได้บรรลุถึงโลกุตรภูมิชั้นนี้ คือ ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ผ่าน โสตาปันนโลกุตรภูมิมาแล้ว และเพียรปฏิบัติต่อไป เมื่ออินทรีย์ทั้งห้าถึงภาวะแก่กล้าสม่ำเสมอกันดีแล้ว สภาวญาณก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ จนถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่ว่าสภาวะพระวิปัสสนา ญาณเหล่านี้ จะปรากฏชัดเจนละเอียดแจ่มแจ้ง คือ ชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณชั้นโสตาปันนโลกุตรภูมิ ซึ่งตนได้เคยผ่านมาแล้ว ต่อจากนั้น อนุโลมญาณ ก็จะ เกิดขึ้น และติดตามด้วย โวทานะ (แทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยบุคคลแล้วมิใช่ปุถุชน ฉะนั้น ญาณ ที่ตัดโคตรปุถุชน คือ โคตรภูญาณ จึงไม่จำเป็นต้อง เกิดขึ้นอีก) ต่อจากโวทานะ ก็ถึงวาระที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ทุติยมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระ สกิทาคามิมรรคญาณ ก็จักพลันอุบัติขึ้น แล้วตามติดมาด้วย สกิทาคามีผลญาณ ซึ่งจะเป็น การเสวยพระนิพพานสมความปรารถนา

    พระสกิทาคามิมรรคญาณที่อุบัติขึ้นครั้งนี้ ไม่มีอำนาจ ที่จะประหารอนุสัยกิเลสที่เหลือไปอีกแม้แต่ตัวเดียว แต่ทว่า มีอำนาจสามารถกระทำกิเลสทั้งหลายให้เป็น ตนุกร คือ ทำให้เบาบางกว่าพระ โสดาปัตติมรรคญาณ และมีอำนาจบันดาลให้ผู้บรรลุ ได้สำเร็จเป็น พระสกิทาคามีอริยบุคคล

    คุณวิเศษ

    ท่านพระสกิทาคามีอริยบุคคลนี้ นอกจากกิเลสจะเบาบาง กว่าพระโสดาบันอริยบุคคลแล้ว ยังมีคุณวิเศษคือสามารถ เข้าสกิทาคามีผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ ตามจิตปรารถนาอีกด้วย แต่ที่นับว่าวิเศษสุดยอดก็คือ ท่านจะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จักได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์อริยบุคคลแล้วก็จักดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพาน

    พระสกิทาคามีอริยบุคคลมี ๕ จำพวก คือ

    ๑.
    เป็นมนุษย์
    สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคล ในมนุษยโลก แล้วจุติไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา ณ สวรรคเทวโลก แล้วจึงจุติจากสวรรคเทวโลก กลับมา เกิดในโลกมนุษย์ แล้วได้บรรลุพระอรหัตผล
    ๒.
    เป็นมนุษย์
    สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคลใน มนุษยโลก แล้วทำความเพียรต่อในโลก จนได้บรรลุ พระอรหัตผลในโลกมนุษย์นี้เอง
    ๓.
    เป็นมนุษย์
    สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคลใน มนุษยโลก แล้วไปจุติเป็นเทพยดาเจ้า แล้วเจริญ วิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุอรหัตผล ณ สวรรคเทวโลก
    ๔.
    เป็นเทพยดาเจ้า
    ได้สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคล ในสวรรคเทวโลกแล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐารต่อ จนได้ บรรลุพระอรหัตผล ณ สวรรคเทวโลกนั่นเอง ๕. เป็นเทพยดาเจ้า ได้สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคล ในสวรรคเทวโลก แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วได้บรรลุ อรหัตผล ณ มนุษยโลก

    อนาคามีโลกุตรภูมิ

    อนาคามีโลกุตรภูมิ = ภูมิที่พ้นจากโลกแห่งท่านผู้ที่ จะไม่กลับมาอีก ท่านจักไม่กลับมาในกามภูมิ คือ มนุษยโลกและเทวโลกอีกเลย

    ปฏิปทาแห่งท่านผู้ได้บรรลุถึงโลกุตรภูมิชั้นนี้ คือ ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ผ่าน สกิทาคามีโลกุตรภูมิมาแล้ว และเพียรปฏิบัติต่อไป เมื่อวาสนาบารมีที่สั่งสมอบรมมามีเพียงพอและ เมื่ออินทรีย์ทั้งห้าถึงภาวะแก่กล้าสม่ำเสมอกันดีแล้ว สภาวญาณก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ จนถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่ว่าสภาวะพระวิปัสสนา ญาณเหล่านี้ จะปรากฏชัดเจนละเอียดแจ่มแจ้ง คือ ชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณชั้นสกิทาคามีโลกุตรภูมิ ซึ่งตนได้เคยผ่านมาแล้ว ต่อจากนั้น อนุโลมญาณ ก็จะ เกิดขึ้น และติดตามด้วย โวทานะ จากนั้นก็ถึง ตติยมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระ อนาคามิมรรคญาณ ก็จักพลันอุบัติขึ้น และมีฤาธาศักดานุภาพ ทำการประหารฆ่าทำลายงู ดุร้ายคืออนสัยให้ตายขาดจากขันธสันดานลงไปได้อีก บางตัว ทันทีนั้นก็ตามติดมาด้วย อนาคามิผลญาณ

    ฟังดูเหมือนง่าย แต่ที่จริงแล้วเปล่าเลย เพราะในภาค ปฏิบัติแล้วย่อมเป็นการกระทำที่ยากนักหนา เพราะว่า บุคคลผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อให้พระอนาคามิมรรคญาณอุบัติ ขึ้นในขันธสันดานของตนนั้น ต้องเป็นผู้มีสมาธิดีเยี่ยม เต็มเปี่ยมสมบูรณ์เป็นที่สุด โดยมีกฏตายตัวอยู่ว่า

    -โยคี (หมายเหตุผู้พิมพ์ - โยคี แปลว่า ผูู้เพียรเพ่งเผากิเลส) บุคคล ที่สามารถจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้พระ โสดาปัตติมรรคญาณ พระสกิทาคามิมรรคญาณ อุบัติเกิดขึ้นในขันธสันดานแห่งตนได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ สมบูรณ์ด้วย ศีล กล่าวคือมีศีลบริสุทธิ์ อย่างยิ่ง -โยคีบุคคล ที่สามารถจะปฏิบัติวิปัสสนากรรรมฐานให้ พระอนาคามิมรรคญาณอุบัติเกิดขึ้นในขันธสันดานแห่ง ตนได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วย สมาธิ กล่าวคือต้องมีสมาธิดีเป็นยอดเยี่ยม

    คุณวิเศษ

    ท่านพระอนาคามีอริยบุคคลนี้ ตั้งแต่กาลที่พระ อนาคามิมรรคญาณบังเกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ย่อม ประหารอนุสัยไปได้อีก ๒ ตัว คือ
    ๑.
    กามราคานุสัย = อนุสัยคือกามราคะ
    ได้แก่ความ ยินดีพอใจในกามคุณารมณ์ต่างๆ
    ๒.
    ปฏิฆานุสัย = อนุสัยคือปฏิฆะ
    มีอรรถาธิบายว่า การติดอยู่ในความไม่พอใจในอารมณ์ทั้งหลายที่มา กระทบ ชื่อว่า ปฏิฆะ ความไม่พอใจในอารมณ์

    พระอนาคามีอริยบุคคล ยังสามารถที่จะเข้าพระ อนาคามิผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตาม จิตปรารถนาอีกด้วย แต่ที่วิเศษสุดก็คือ เมื่อท่านจุติ ไปแล้วย่อมจะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ คือ มนุษยโลกและเทวโลกอีกเลย ท่านย่อมจักไป อุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้ทรงคุณวิเศษบริสุทธิ์ ณ สุทธาวาสภูมิพรหมโลก แล้วก็จะได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน บนโน้นเลยทีเดียว

    ประเภทของพระอนาคามีอริยบุคคลมี ๕ คือ
    ๑.
    อันตราปรินิพพายี
    ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสภูมิ พรหมโลกที่ท่านสถิตย์อยู่ มีชื่อว่า อันตราปรินิพพายีอนาคามี
    ๒.
    อุปหัจจปรินิพพายี
    ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสภูมิ พรหมโลกที่ท่านสถิตย์อยู่ มีชื่อว่า อุปหัจจปรินิพพายีอนาคามี
    ๓.
    อสังขารปรินิพพายี
    ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพานในภูมินั้นอย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้ ความเพียรพยายามมาก แล้วก็ดับขันธ์เข้าสู่ พระปรินิพพาน ชื่อว่า อสังขารปรินิพพายีอนาคามี
    ๔.
    สสังขารปรินิพพายี
    ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้นโดยต้องใช้ ความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า แล้วดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพาน ชื่อว่า สสังขารปรินิพพายีอนาคามี
    ๕.
    อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
    ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกชั้นต่ำสุด คือชั้น อวิหาสุทธาวาสพรหมโลก แล้วจึงจุติไปอุบัติเกิดใน สุทธาวาสพรหมโลกชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ
    -อตัปปาสุทธาวาสพรหมโลก
    -สุทัสสาสุทธาวาสพรหมโลก
    -สุทัสสีสุทธาวาสพรหมโลก
    -อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลก
    แล้วจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วดับขันธ์เข้าสู่พระ ปรินิพพาน ณ อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลก ซึ่งเป็น สุทธาวาสพรหมโลกชั้นสูงสุดนี้ ชื่อว่า อุทธังโสโสอกนิฏฐคามีอนาคามี

    หากสมัยใด มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา อุบัติตรัสในโลกแล้ว พระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ซึ่งเป็นพระพรหมอนาคามีผู้วิเศษสถิตย์อยู่ ณ ปัญจสุทธาวาสพรหมโลกโพ้น ก็ย่อมจะจรดลมาสู่ มนุษยโลกเรานี้เพื่อจะได้ทอดทัศนา และได้สดับ พระสัทธรรมเทศนาแห่งองค์สมเด็จพระศาสดา บรมไตรโลกนาถเจ้าเป็นครั้งเป็นคราว เช่นนี้ก็มี อยู่บ้างเป็นธรรมดา

    อรหัตตโลกุตรภูมิ

    อรหัตตโลกุตรภูมิ = ภูมิที่พ้นจากโลกแห่งท่านผู้ สมควรแก่การบูชา สำเร็จเป็นพระอรหันต์อริยบุคคล ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ ๔ อันเป็นชั้นสูงสุดใน พระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้สมควรแก่การบูชา แห่งเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    ปฏิปทาแห่งท่านผู้ได้บรรลุถึงโลกุตรภูมิชั้นสูงสุดนี้คือ ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ผ่าน อนาคามีโลกุตรภูมิมาแล้ว และเพียรปฏิบัติต่อไป เมื่ออินทรีย์ทั้งห้าถึงภาวะแก่กล้าสม่ำเสมอกันดีแล้ว สภาวญาณก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ จนถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่ว่าสภาวะพระวิปัสสนา ญาณเหล่านี้ จะปรากฏชัดเจนละเอียดแจ่มแจ้งที่สุด ต่อจากนั้น อนุโลมญาณ ก็จะเกิดขึ้น และติดตามด้วย โวทานะ ต่อจากโวทานะ ก็ถึงวาระที่สำคัญที่สุด นั่นคือ จตุตถมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระ พระอรหัตตมรรคญาณ ก็จักพลันอุบัติขึ้น เป็นเสมือนดาบที่คมกล้าสามารถเข้าฟาดฟันประหาร หักบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลายซึ่งหมักดองอยู่ใน ขันธสันดานมานานนักหนา ให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง แล้วตามติดมาด้วย อรหัตตผลญาณ ให้ท่านพระอรหันต์องค์ใหม่นี้ ได้เสวยอารมณ์พระนิพพาน เป็นขันธวิมุตติ หลุดพ้นจากเบญจขันธ์ กล่าวคือ รูปนาม เป็นพระมหาขีณาสพเจ้า ถึงความบริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่ง กิเลสธุลีแม้แต่เท่ายองใย ก็ไม่มีเหลือติดอยู่ใน ขันธสันดานเลย

    ท่านผู้มีวาสนาบารมีที่จะสามารถปฏิบัติเพื่อให้ได้ อรหัตตมรรคญาณบังเกิดขึ้นในขันธสันดานแห่งตน ได้ ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัญญาเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ต้องมีปัญญาบารมีเต็มเปี่ยมสมบูรณ์เป็นที่สุด แล้วเท่านั้น กล่าวคือ จะบรรลุพระอรหัตตมรรคได้ด้วย อธิปัญญา คือมีปัญญาชั้นยอดเยี่ยมสมบูรณ์ ที่สุด

    ประเภทพระอรหันต์

    ๑.
    เจโตวิมุตติอรหันต์
    คือผู้ที่บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้สำเร็จฌานมาก่อนแล้ว ภายหลังจึงมาบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ หรือผู้ที่บำเพ็ญเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน อย่างเดียว แต่ว่าขณะที่พระอรหัตตมรรคจะอุบัติขึ้น นั้น ฌาน ก็พลันอุบัติขึ้นพร้อมกันในขณะ นั่นเอง เป็น ฌานลาภีบุคคล คือสำเร็จ ฌานสมาบัติ ได้บรรลุววิชชา ๓ อภิญญา ๖ มี คุณวิเศษในทางสำแดงฤทธิ์ได้
    ๒.
    ปัญญาวิมุตติอรหันต์
    คือผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ไม่ได้บำเพ็ญ สมถกรรมฐานมาก่อนเลย และเมื่อพระอรหัตตมรรคจัก อุบัติเกิดขึ้นนั้น ฌาน ก็ไม่ได้อุบัติเกิดขึ้นด้วย เพราะไม่มี บุรพาธิการ ท่านเหล่านี้ มีชื่อว่า สุขวิปัสสกบุคคล คือท่านผู้ปฏิบัติทำให้ฌานแห้ง ไม่สามารถสำแดงฤทธิ์ได้ พระอรหันต์สุกขวิปัสสกบุคคลเหล่านี้ ได้รับการสดุดีว่า เป็นพระปัญญาวิมุตติอรหันต์

    นอกจากนี้ พระอรหันต์อริยบุคคล ยังถูกแบ่งออกโดย ประเภทคุณวิเศษได้อีก ๒ ประเภท คือ
    ๑.
    ปฏิสัมภิทปัตตอรหันต์
    ได้แก่พระอรหันต์ผู้แตกฉานใน พระปฏิสัมภิทาญาณ คือ ในขณะที่ท่านได้บรรลุพระ อรหัตตมรรคญาณนั้น ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นี้ก็เกิดขึ้น พร้อมกันด้วยคือ
    ก. อรรถปฏิสัมภิทา = แตกฉานในอรรถ
    ข. ธรรมปฏิสัมภิทา = แตกฉานในธรรม
    ค. นิรุตติปฏิสัมภิทา = แตกฉานในภาษา
    ง. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา = แตกฉานในปฏิภาณ
    ๒.
    อัปปฏิสัมภิทปัตตอรหันต์
    พระอัปปฏิสัมภิทปัตต อรหันต์นี้ ได้แก่พระอรหันต์ผู้ซึ่งไม่แตกฉานในพระ ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ดังกล่าวมาแล้ว พระอรหันต์ ประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าพระมูคอรหันต์ คือ พระอรหันต์ผู้ไม่มีความรู้ในพระปริยัติธรรม

    การที่ท่านจักได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษ ประเภทฌานลาภีบุคคล คือ มีฌานกล้าสามารถสำแดง อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ก็ดี ทรงคุณวิเศษประเภทแตกฉาน ในพระปฏิสัมภิทาญาณต่างๆ ก็ดี ทั้งนี้ ก็ด้วยอำนาจ แห่งบุรพาธิการที่ท่านได้สร้างสมอบรมมาแต่อดีตชาติ กล่าวคือ เมื่อชาติปางก่อน ท่านประกอบกรรมอันเป็น กุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมได้เคยตั้งจิตอธิษฐาน ปรารถนาไว้ โดยนัยว่า
    "ต่อไปภายภาคหน้า เมื่อข้าพเจ้าได้บรรลุมรรคผล เป็นพระอรหันตสาวกแห่งองค์สมเด็จพระทศพลเจ้าแล้ว ไซร้ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษ คือขอให้มรรคสิทธิฌาน หรือพระปฏิสัมภิทาญาณ จงพลันบังเกิดขึ้น พร้อมกับการได้บรรลุมรรคผล นั้นด้วยเถิด"
    ด้วยเดชะอำนาจแห่งบุรพาธิการเช่นนี้ ท่านจึงได้สำเร็จ เป็นฌานลาภีอรหันต์หรือปฏิสัมภิทปัตตอรหันต์ดัง กล่าวมา ฝ่ายว่าท่านพระอรหันต์ผู้เป็นสุขวิปัสสกะ ไม่มีฌานหรือไม่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ก็เพราะไม่มี บุรพาธิการ กล่าวคือ ในอดีตชาติปางก่อน เมื่อท่าน ประกอบกองการกุศลใดๆ แล้ว ก็มีใจผ่องแผ้วตั้งความ ปรารถนาแต่เพียงอรหันตภาวะอย่างเดียว ไม่ตั้งความ ปรารถนาอย่างอื่นเลย ฉะนั้น คุณวิเศษดังกล่าว จึงไม่เกิดขึ้น

    คุณวิเศษ

    ท่านย่อมมีคุณวิเศษมากมายสุดพรรณนา แต่ที่จะกล่าว ในที่นี้คือ ท่านสามารถประหารอนุสัยที่ยังเหลือติดอยู่ ในขันธสันดานอีก ๓ ตัวให้ตายได้อย่างเด็ดขาด ดังต่อไปนี้

    ๑.
    มานานุสัย = อนุสัยคือมานะ
    มีอรรถาธิบายไว้ว่า มานะเป็นสภาพความรู้สึกประการหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าตน มีความสำคัญยิ่งกว่าผู้อื่น เพราะตราบใดที่ยังรู้สึก เช่นนี้ก็ย่อมยังเห็นรูปนามคือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราเป็นเขา อยู่ (พระโสดาบันบุคคล ท่านประหาร อยาถวมานะ คือ ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง พระสกิทาคามีอริยบุคคลและพระอนาคามีอริยบุคคล ไม่สามารถประหารมานะอะไรได้ แต่เพียงทำให้ เบาบางลง พระอรหันต์อริยบุคคล ท่านสามารถ ประหาร ยาถาวมานะ ความถือตัวที่เป็นไป ตามความเป็นจริงได้อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง)
    ๒.
    ภวราคานุสัย = อนุสัยคือภวราคะ
    มีอรรถาธิบาย ว่า ความยินดีพอใจในการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้รูปฌาน อรูปฌาน ด้วยมุ่ง หมายว่าเมื่อละจากโลกไปก็จักไปอุบัติเกิดเป็น พระพรหมผู้วิเศษ ณ พรหมภูมิ ประกอบไปด้วย โลภเจตสิก ดังนั้น จึงจัดเป็น ภวราคะ = ความยินดีพอใจในภพ
    ๓.
    อวิชชานุสัย = อนุสัยคืออวิชชา
    มีอรรถาธิบายว่า งูร้ายคืออนุสัยสำคัญตัวสุดท้าย มีพิษเหลือหลาย ทำให้ ดวงฤทัยของสัตว์โง่เขลามืดทึบอยู่ตลอดเวลา พาให้ ติดข่ายเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างมะงุมมะงาหรา ในมหาสมุทรทะเลใหญ่คือวัฏสงสารนี้ มีชื่อว่า อวิชชา = ความไม่รู้ คือไม่รู้ในสภาวะทั่วๆ ไป ถ้าจะอธิบายให้ตรงความหมาย ในที่นี้ว่า อวิชชาคือ ความไม่รู้ในพระจตุราริยสัจ ซึ่งได้แก่
    ๑.
    ไม่รู้ในทุกข์
    ๒.
    ไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์
    ๓.
    ไม่รู้ในความดับทุกข์
    ๔.
    ไม่รู้ในหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์

    -ปฏิปทา ๔ ประการ-

    พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสเล่าถึงความ แตกต่างแห่งปฏิปทาในการปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณวิเศษ คือ มรรค ผล นิพพาน ให้ภิกษุทั้งหลาย ได้สดับว่า (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๑๖๒ หน้า ๒๐๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)
    "ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ปฏิปทา ๔ ประการเป็นไฉน ปฏิปทา ๔ ประการคือ

    ๑.
    ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา = ปฏิบัติลำบากและบรรลุ ได้ยาก
    ๒.
    ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา = ปฏิบัติลำบากแต่บรรลุ ได้รวดเร็ว
    ๓.
    สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา = ปฏิบัติสะดวกแต่บรรลุ ได้ช้า
    ๔.
    สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา = ปฏิบัติสะดวกและ บรรลุได้เร็ว

    บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมเสวย ทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะนั้นเนืองๆ บ้าง โดยปกติมีโทสะ กล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะนั้นเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัส อันเกิดแต่โมหะนั้นเนืองๆ บ้าง และอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการ ได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ของเขานั้น ปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมบรรลุ คุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้นี้แลเรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา

    บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมเสวย ทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะนั้นเนืองๆ บ้าง โดยปกติมีโทสะ กล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะนั้นเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัส อันเกิดแต่โมหะนั้นเนืองๆ บ้าง และอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการ ได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ของเขานั้น ปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุ คุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้นี้แลเรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

    บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้ไม่มีราคะกล้า ไม่ได้ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะนั้นเนืองๆ บ้าง โดยปกติ ไม่มีโทสะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะนั้น เนืองๆบ้าง โดยปกติเป็นผู้ไม่มีโมหะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์ โทมนัสอันเกิดแต่โมหะนั้นเนืองๆ บ้าง และอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ของเขานั้น ปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมบรรลุ คุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้นี้แลเรียกว่า สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา

    บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้ไม่มีราคะกล้า ไม่ได้ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะนั้นเนืองๆ บ้าง โดยปกติ ไม่มีโทสะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะนั้น เนืองๆบ้าง โดยปกติเป็นผู้ไม่มีโมหะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์ โทมนัสอันเกิดแต่โมหะนั้นเนืองๆ บ้าง และอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ของเขานั้น ปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุ คุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้นี้แลเรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา"

    จบ "โลกุตตรภูมิ"
    อื่นๆ เพิ่มเติม
    "การจุติเป็นต่างๆ"
    "พระสูตรว่าด้วยความยาวของกัป"
    "พระสูตรว่าด้วยความยาวนานของสังสารวัฏ"

    *********************************************

    จาก "ภูมิวิลาสินี" โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

    *********************************************
    อ้างอิง http://www.geocities.com/tanakorn_world/lokuttara.html
     
  3. จรวดบุรีรัมย์

    จรวดบุรีรัมย์ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    10
    ค่าพลัง:
    +6
    พี่ผมอยู่บนชั้นที่ 6 ครับผม (ติง ) ๖. อาภัสราภูมิ
     
  4. ไห่เฉากุหลาบไฟ

    ไห่เฉากุหลาบไฟ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    896
    ค่าพลัง:
    +2,177
    แวะมาเก็บกระทู้
     
  5. ผู้หญิงธรรมดา

    ผู้หญิงธรรมดา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มกราคม 2008
    โพสต์:
    1,122
    ค่าพลัง:
    +535
    อยากรู้ว่าพรหมจะมาเกิดได้อย่างไรคะ เป็นหญิงรึชาย แล้วเลือกมาเกิดกับคนแบบไหน เกิดกับคนธรรมดาได้รึป่าวคะ
     
  6. ANUWART

    ANUWART เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2008
    โพสต์:
    2,669
    ค่าพลัง:
    +14,320
    โมทนาสาธุครับ
    เชิญทำบุญซื้อ อิฐ หิน ดิน ทราย เหล็ก ปูน สร้างศาลาแก้วถวายสมเด็จองค์ปฐม

    เชิญร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างพระประธานสมเด็จองค์ปฐมและศาลาแก้วพระจุฬามณี ที่ จ.นครศรีธรรมราช (สำนักสงฆ์ธรรมเจริญ)

    [​IMG]

    [​IMG]

    " บุญกุศลใดที่พึงจะได้รับ ก็ขอให้ทุกท่านได้รับเช่นเดียวกันถ้วนหน้าสถาพร ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ที่สุดถึงซึ่งพระนิพพานด้วยกันเทอญฯ สาธุ"
     
  7. แผ่นน้ำ

    แผ่นน้ำ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    27
    ค่าพลัง:
    +13
    อนุโมทนาค่ะ พรหมอสัญญีสัตตาภูมิ ไม่มีสัญญา แสดงว่าบนโน้นคงเงียบเหงาน่าดูเพราะปรากฏแต่รูป ไม่เคลื่อนไหว
     
  8. monaco

    monaco Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    6
    ค่าพลัง:
    +30
    ต้องรอสิ้นเดือนจะช่วยอีกแรง
     

แชร์หน้านี้

Loading...