เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 14 มกราคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเป็นพระอุปัชฌาย์บวชนาค ๒ รูปที่วัดวังปะโท่ แล้วก็น่าจะติดไข้หวัด หรือดีไม่ดีก็เป็นเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ มาเลย..! เพราะว่ารู้สึกไม่ดีตั้งแต่ออกจากโบสถ์มาแล้ว กลับมาถึงก็หมดสภาพ แม้แต่ท่านเจ้าคุณจันทร์ - พระจันทูปมญาณโสภณ (จันทร์ จนฺทูปโม ป.ธ.๗) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร มา ก็ยังออกมารับไม่ไหว ต้องปล่อยให้มหาจุก (พระมหาอินทรปกรณ์ ฐิตสุโภ ป.ธ.๔) ทำหน้าที่เจ้าของบ้านแทน

    ความจริงท่านเจ้าคุณจันทร์เป็นตัวอย่างที่ดีของบรรดาพระภิกษุในกรุงเทพฯ ก็คือท่านเป็นพระครูปลัดของหลวงปู่สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรนฺตโร ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร แล้วก็ลากยาวมา ไม่ได้สนใจใส่ใจอะไร ถ้าเป็นคนอื่น เป็นพระครูปลัดของสมเด็จพระราชาคณะปีนี้ ปีหน้าก็ต้องเป็นเจ้าคุณแล้ว แต่ท่านก็ทำตัวตามปกติ นิสัยเดียวกับกระผม/อาตมภาพ ก็คือถ้าเจ้านายจะให้ก็ให้มา แต่ถ้าให้ขอเองไม่เอา ดังนั้น..ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ท่านเองก็ยังเป็นแค่เจ้าคุณชั้นสามัญ ขณะที่คนอื่น ๆ ไปกันยันชั้นธรรม หรือว่ารองสมเด็จพระราชาคณะกันแล้ว..!

    ในเรื่องของยศศักดิ์ หรือว่าสมณศักดิ์ เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ ของพระภิกษุที่พระองค์ท่านมอบภาระให้กระทำหน้าที่นั้นแทน
    แต่ว่าส่วนหนึ่งก็ไปยึดติด ดังนั้น..ถ้าหากว่าบางท่านเข้าไปในวงสนทนาของบรรดาพระในเมือง ก็จะมีแต่เรื่องว่าใครจะตั้ง..!? ใครจะเลื่อน..!?

    กระผม/อาตมภาพจึงได้ดีใจว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ ของเรา การตั้งสมณศักดิ์ก็ดี พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ก็ตาม ผ่านการคัดกรองที่เข้มงวดมาก ใครที่ส่งประวัติเข้าไป บางทีก็ไม่รู้ตัวว่ามีสันติบาลแอบมาหาข้อมูลรอบวัดและภายในวัดหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน ถ้าไม่ใช่ว่าประวัติขาวสะอาดจริง ๆ ก็จะโดนดึงออก จนกระทั่งปีที่ผ่านมา พระผู้ใหญ่ท่านเตือนว่า "ถ้าใครขอพระราชทานตั้ง หรือว่าขอพระราชทานเลื่อนไป แล้วชื่อหล่นหายไปเฉย ๆ กรุณาอย่าทวงถาม ขอให้รู้ว่าประวัติของท่านไม่เคลียร์..!"

    เรื่องนี้กระผม/อาตมภาพก็เห็นด้วย เพราะว่าการพระราชทานตั้งหรือว่าพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์นั้น ควรที่จะเป็นไปโดยพระราชประสงค์ แต่มาระยะหลัง ของพวกเราเมื่อมีการพิจารณาผ่านทางคณะสงฆ์ ถือว่าจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานตั้งหรือพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ตามที่ทางคณะสงฆ์เสนอมา จนกระทั่งมีเรื่องของการซื้อยศซื้อตำแหน่งกันให้ยุ่งไปหมด ก็คือใครร่ำรวย หรือว่ามีเส้นมีสาย โอกาสที่จะเจริญทางสมณศักดิ์ก็มีเยอะมาก
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ประกอบกับตอนนั้นมีการกำหนดไว้ว่า ถ้าสร้างถาวรวัตถุเป็นจำนวนเงินเท่าไร สามารถขอสมณศักดิ์ชั้นไหนได้ ซึ่งถ้าหากว่ากระผม/อาตมภาพขอเสียตั้งแต่ตอนนั้น ป่านนี้ก็ไปไกลลิบแล้ว เนื่องเพราะว่าทำการก่อสร้างไป ๖ - ๗ วัด..! แต่คราวนี้ด้วยความที่เป็นคนถ้าขออะไรให้ตัวเอง จะไม่ทำ แต่ถ้าผู้ใหญ่ให้มา ก็ไม่ปฏิเสธเช่นกัน เพราะได้รับคำเตือนมาว่า ผู้ใหญ่เห็นสมควร ให้อะไรต้องรับไว้ก่อน เพราะว่าถ้าเราปฏิเสธความเมตตาของท่านไป ต่อไปอาจจะทำอะไรยากขึ้น..!

    เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน เรื่องของสมณศักดิ์ ยังมีกำหนดกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ที่ทางมหาเถรสมาคม โดยดำริของสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ออกมา อย่างเช่นว่า การขอสมณศักดิ์ต้องไปตามลำดับชั้น ถ้าเป็นเจ้าอาวาสชั้นตรี แล้วขอเลื่อนก็ให้เป็นเจ้าอาวาสชั้นโท จากนั้นถึงเลื่อนเป็นเจ้าอาวาสชั้นเอก เป็นต้น หรือไม่ก็ถ้าเจ้าคณะตำบลยังไม่ได้รับสมณศักดิ์ เจ้าอาวาสห้ามขอสมณศักดิ์ก่อน เพราะว่าจะกลายเป็นนั่งเหนือผู้บังคับบัญชาของตนเองไป

    ตลอดจนกระทั่งเจ้าคณะปกครอง ตั้งแต่เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอขึ้นไป ถ้าเกษียณอายุแล้ว ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา ให้ลดลงไปใช้สมณศักดิ์เจ้าอาวาส ซึ่งเรื่องแบบนี้ สำหรับบางคนก็จะรู้สึกเหมือนอย่างกับไม่ยุติธรรม เพราะสมมติว่าเป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ถึงเวลาต้องลดลงไปเป็นเจ้าอาวาสชั้นเอก ถ้าหากว่านับตามลำดับการนั่ง จะห่างกันประมาณ ๒๐ อาสนะ..! แต่ว่าก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าพอรู้ว่าเราอยู่ในตำแหน่งอะไร ก็จะได้รู้เลยว่าเราต้องถือพัดยศระดับไหน ?

    นี่เป็นการจัดการของทางคณะสงฆ์ ส่วนเมื่อคณะสงฆ์พิจารณาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย หรือว่าจะพินิจพิจารณาตัดผู้หนึ่งผู้ใดออก หรือว่าทรงพระราชทานตั้ง พระราชทานเลื่อนให้มากกว่าที่ขอไป ก็เป็นไปโดยพระราชอัธยาศัย

    แต่พวกเราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ก่อน อย่างเช่นคำว่า พระราชาคณะ ก็คือเป็นคณะทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็แปลว่าพระองค์ทรงมอบหมายให้เราทำงาน โดยมีสมณศักดิ์เป็นเกราะ หรือว่าเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้การทำงานนั้นง่ายขึ้น ไม่ใช่เอามา "เกทับ" กัน..!

    เนื่องเพราะว่าคณะสงฆ์ของเรานั้น ต้องว่ากันตามหลักธรรมวินัย ก็คือเคารพกันตามอาวุโสพรรษา ใครมีสมณศักดิ์สูงส่ง เราก็อนุโมทนาด้วย ท่านที่มีสมณศักดิ์สูง แต่ว่าพรรษาต่ำกว่า เมื่อเจอหน้าผู้ที่พรรษามากกว่า ก็เคารพนบไหว้ตามปกติ ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ ถึงจะสมกับคำว่าสมณะ คือผู้มีบาปอันลอยแล้ว ในการที่เราทำสิ่งต่าง ๆ
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    จุดมุ่งหมายของเราในการบวชตอนแรก อย่างที่วันนี้นาคได้กล่าวก็คือ นิพพานัสสะ สัจฉิกะระณัตถายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา ข้าพเจ้าขอรับเอาผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ไม่ใช่รับผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อสร้างความร่ำรวยรุ่งเรืองให้กับตนเอง

    ถ้าท่านทั้งหลายศึกษารายละเอียดในพระวินัยปิฎก เกี่ยวกับพระฉัพพัคคีย์ ก็คือคณะพระภิกษุ ๖ รูป ที่สร้างปัญหาใหญ่ และแทบจะเป็นต้นกำเนิดศีลสารพัดข้อ จะว่าไปแล้วทั้ง ๖ รูปนี้ มีการวางแผนการบวชที่สุดยอดมาก เพราะว่าท่านหาข้อมูลก่อนว่าบ้านนี้เมืองนี้มีประชากรเท่าไร มีบ้านกี่หลัง ถ้าหากว่าบิณฑบาต ชาวบ้านใส่บาตรสัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะได้รับภัตตาหารเท่าไร ? หรือว่าจะได้รับจีวรเท่าไร ? เป็นต้น

    เมื่อวางแผนกันแล้วก็บวช จากนั้นแยกย้ายกันไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ เหล่านั้น อย่างเช่นเมืองสาวัตถี แล้วก็ไปสร้างสารพัดวีรกรรม เพราะเจตนาในการบวชก็คือ มาเพื่อหาความสุขความเจริญให้กับตนเองในด้านโลก ๆ ไม่ได้ตั้งใจบวชเพื่อละกิเลส โดยเฉพาะเป็นต้นบัญญัติอาบัติหนัก ๆ หลายต่อหลายข้อด้วยกัน

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะเห็นว่าบุคคลประเภทนี้แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงต้องบัญญัติพระวินัยขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ก็คือเพื่อข่มบุคคลที่ควรข่ม เพื่อยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง โดยเฉพาะบุคคลที่ควรข่ม พระองค์ท่านใช้คำว่า ทุมฺมงฺกุ แปลตามศัพท์ว่า ผู้เก้อยาก ภาษาไทยปัจจุบันเขาเรียกว่าไอ้พวกหน้าด้าน..!

    อย่างเมื่อไม่กี่วันนี้มีพระเอารถเข้าไปเติมน้ำมันในปั๊ม แล้วก็ไปเที่ยวขอเงินญาติโยมที่มาเติมน้ำมัน ว่าให้ช่วยจ่ายค่าน้ำมันให้ด้วย พอญาติโยมไม่จ่าย ก็ไปด่าเขาเสีย ๆ หาย ๆ นี่คือไอ้พวกหน้าด้าน อาศัยพระศาสนาหากิน ไม่ได้คำนึงถึงสมณสารูปของตนเลย..!

    ดังนั้น..ตัวอย่างทั้งหลายเหล่านี้ เราจะเห็นอยู่เป็นปกติ ให้เอามาสอนใจตัวเราเอง และตอกย้ำไม่ให้เราลืมว่า เราบวชมาเพื่อ ลด ละ กิเลสของเราให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าสามารถตัดขาดไปได้เลยยิ่งดี แม้ว่าไม่สามารถเข้าถึงมรรคเข้าถึงผลได้ อย่างน้อยก็ชำระใจของเราให้เหลือกิเลสให้น้อยที่สุด เพื่อที่ญาติโยมบวชเรามาแล้ว สามารถที่จะไหว้ได้เต็มมือ ไม่ใช่ถึงเวลาเดินออกบิณฑบาต แล้วโยมยกขันข้าวหนี ถ้าลักษณะนั้นก็ต้องพิจารณาตนเองแล้ว ว่าเราสร้างวีรกรรมอะไรไว้บ้าง..!?

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...