เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 กรกฎาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ทางวัดท่าขนุนมีโครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" ซึ่งอาทิตย์นี้ต้องบอกว่าโชคดีมาก เนื่องจากว่าฝนฟ้าเว้นให้ในเวลาที่บิณฑบาต แล้วขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวก็ไปใส่บาตรกันเยอะมาก

    แต่ว่าส่วนหนึ่งที่เป็นห่วงก็คือ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย คงจะไม่ทราบว่าทางด้านอำเภอทองผาภูมิของเรา เชื้อไวรัสโควิด ๑๙ กำลังระบาดหนัก ถ้าหากว่าได้รางวัลใหญ่กลับบ้านไป ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีเป็นอย่างยิ่ง..!

    มาขนาดนั้นแล้ว เมื่อพระกลับไปถึงวัด ระหว่างที่ฉันเช้าอยู่จวนจะเสร็จเรียบร้อย ก็ยังมีนักท่องเที่ยวหลายท่านฝ่าเขี้ยวหมาวัด เพื่อที่จะเข้ามาถวายอาหารถึงในหอฉัน แถมยังตำหนิด้วยว่าพระออกบิณฑบาตเร็วเกินไป เขาตื่นไม่ทัน ตรงจุดนี้ทำเอาพระวัดท่าขนุนทำท่า "น้ำตาจิไหล..!"

    ญาติโยมทั้งหลายมักจะลืมไปว่า พระภิกษุสามเณรของเรานั้น งดอาหารหลังเวลาเที่ยงวันไปแล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นกระผม/อาตมภาพก็เหลือแต่น้ำร้อนอย่างเดียว ไม่ได้ฉันอย่างอื่นเลย เนื่องเพราะว่าไม่เคยรับน้ำปานะใด ๆ ที่เป็นของหวาน ทำให้อายุจนป่านนี้ย่างเข้า ๖๕ ปีแล้ว ยังไม่ได้เป็นโรคทันสมัย คือเบาหวานกับใคร กว่าที่จะไปถึงตอนช่วงเช้า ตีเสียว่าแค่ ๖ โมงเช้า ญาติโยมก็ต้องเข้าใจว่าเป็นระยะเวลา ๑๘ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ที่พระไม่มีอาหารตกถึงท้อง ซึ่งการออกบิณฑบาตก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้ตามใจตนเอง เนื่องจากต้องรอให้ "ได้อรุณ" เสียก่อน

    การ "ได้อรุณ" นั้น ถ้าถือตามแบบโบราณ ก็คือต้องให้ "แสงทองแสงเงิน" ขึ้นเสียก่อน แต่คนเราส่วนใหญ่มักจะไปใช้คำว่า "แสงเงินแสงทอง" เนื่องเพราะว่าแสงอาทิตย์แรกที่จับขอบฟ้ามักจะเป็นสีแดงหรือว่าสีเหลืองขึ้นมา จนกระทั่งท้องฟ้าเริ่มสว่าง จึงเป็นสีขาวหรือว่าสีเงิน ตอนนั้นถึงจะสามารถออกบิณฑบาตได้ตามพระวินัยที่ปฏิบัติกันมา หรือว่าครูบาอาจารย์บางท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า "ถ้ามองต้นไม้แล้ว สามารถแยกใบอ่อนใบแก่ได้ ก็แปลว่าได้เวลาที่จะออกบิณฑบาตแล้ว"

    เพียงแต่ว่าช่วงนี้เป็นฤดูฝน ถ้าหากเรารอที่จะให้ได้อรุณ หรือว่าแสงเงินขึ้นอย่างแท้จริง บางทีก็คงจะต้องรอไปจนตอนบ่ายเลย เนื่องเพราะว่าทองผาภูมินั้นก็อยู่ในลักษณะ "ฝนแปดแดดสี่" ก็คือมีหน้าฝนช่วงยาวมาก ทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้มอยู่ทั้งวัน หรือบางทีก็ฝนตกพรำอยู่ทั้งวัน จึงต้องกำหนดเวลาในการออกบิณฑบาตเอาไว้

    ซึ่งเวลาที่ช้าที่สุดในช่วงฤดูหนาวนั้น ทางวัดท่าขนุนของเราจะออกบิณฑบาตตอน ๐๖.๑๕ น. ถ้าหากว่าเป็นเวลาที่เร็วที่สุดในช่วงฤดูร้อน ก็ออกบิณฑบาตประมาณ ๐๕.๓๐ น. เป็นต้น ซึ่งกระผม/อาตมภาพได้พินิจพิจารณาแล้วว่า ระยะเวลา
    ในแต่ละช่วงฤดูนั้น เป็นเวลาที่ "ได้อรุณ" แล้วจริง ๆ ถึงได้ออกบิณฑบาตกัน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    แต่ว่าญาติโยม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนอนสบายอยู่ในห้องปรับอากาศ ตื่นขึ้นมาใส่บาตรไม่ทัน ก็ยังตามมาตำหนิพระอีกว่า "จะรีบบิณฑบาตไปถึงไหน ?" ถ้าหากว่ากระผม/อาตมภาพรับประทานอาหารในเวลาเที่ยงคืนตีหนึ่ง เหมือนกับญาติโยมนักเที่ยว ก็คงสามารถที่จะออกบิณฑบาตตอน ๑๐ โมงเช้าได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าการดำเนินชีวิตของเรานั้นต่างกัน กฎเกณฑ์กติกาในการยึดถือและปฏิบัติก็ต่างกัน

    ตรงจุดนี้ญาติโยมทั้งหลายโปรดศึกษาเรื่องราวของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาบ้าง จะได้ไม่สร้างกายกรรม วจีกรรม หรือว่ามโนกรรมให้เกิดแก่ตน แล้วการที่สร้างกรรมกับปูชนียบุคคลอย่างพระภิกษุสามเณร ก็เป็นกรรมที่ค่อนข้างจะหนักเสียด้วย..!

    ระยะนี้ฝนฟ้าทางทองผาภูมิก็ดี พื้นที่อื่น ๆ ก็ตาม ตกกระหน่ำอยู่ บางทีก็ทั้งวันทั้งคืน ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าปีนี้ของเรา ถ้าใครไม่ได้เตรียมตัว จะมีโอกาสอดน้ำกันได้ แต่วัดท่าขนุนนั้นไม่มีปัญหา เพราะว่าทำแหล่งเก็บน้ำสำรองเสร็จไปแล้วเป็นระยะเวลาปีกว่าเกือบสองปี ถ้าหากว่าที่ไหนขาดน้ำกัน อย่างน้อยวัดท่าขนุนก็ยังมีน้ำสำรองใช้ไปได้เป็นเดือน

    กระผม/อาตมภาพได้ตักเตือนญาติโยมทั้งหลาย
    มาเป็นระยะ ๆ แต่ว่าหลายท่านก็นิ่งดูดาย เนื่องเพราะว่าไม่เคยอยู่ในกรุงเทพมหานครยุคเดียวกับกระผม/อาตมภาพ ที่ถ้าต้องการซักผ้า ก็รองน้ำตั้งแต่หัวค่ำ แล้วก็ไปซักเอาตี ๒ ตี ๓ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ได้น้ำไม่พอที่จะซักผ้า หรือถ้าหากว่าจะหุงข้าวตอนตี ๕ ก็ต้องรองน้ำตั้งแต่ตอนตี ๔ ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่มีน้ำให้เราพอหุงข้าวได้..!

    แล้วท่านทั้งหลายก็คงไม่เคยเผชิญกับความอดอยากเหมือนที่กระผม/อาตมภาพเจอมา สมัยที่กระผม/อาตมภาพเด็ก ๆ นั้น เคยเกิดทุพภิกขภัย ก็คือข้าวยากหมากแพง ตอนเป็นเด็กก็ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าสภาพของอาหารการกินนั้นเปลี่ยนไป จากข้าวสวยที่เคยได้กินกันอย่างเต็มที่ ก็กลายเป็นข้าวปนกับมันเทศบ้าง ปนกับฟักทองบ้าง เพื่อให้มีจำนวนมากพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทุกคน
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    หลังจากที่กินข้าวขาวหมดแล้วก็มากินข้าวกล้อง ข้าวกล้องสมัยก่อนนั้นก็ไม่ใช่ข้าวกล้องสมัยนี้ที่สีด้วยเครื่อง ข้าวกล้องสมัยก่อนส่วนใหญ่ก็ใช้มือตำเอา ส่วนที่เป็นแกลบก็คือเปลือกข้าวนั้น หลุดหมดบ้าง ไม่หมดบ้าง เวลากินแต่ละทีรู้สึกฝืดคอเหมือนกับกลืนกรวดกลืนทราย ทำให้รู้สึกว่าการกินอาหารนั้นเป็นความทุกข์ทรมานอย่างหนึ่ง

    เมื่อกินข้าวกล้องจนหมดแล้ว ก็ต้องไปเอาข้าวโพดที่เก็บไว้ทำพันธุ์มากิน แล้วอย่าได้ไปฝันถึงข้าวโพดซูเปอร์สวีทอย่างสมัยนี้ ข้าวโพดสมัยก่อนเขาเรียกว่าข้าวโพดเทียน หรือว่าข้าวโพดม้า เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วทำเอาไว้ขายเพื่อเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ขนาดที่เอามานึ่งจนสุกแล้วก็ยังรู้สึกเหมือนกับเคี้ยวก้อนหิน รสชาติก็เหมือนกับกินกระดาษ เนื่องเพราะว่าเก็บเอาไว้ทำพันธุ์สำหรับปีหน้า แต่ข้าวปลาอาหารไม่มี ก็ต้องเอามานึ่งกินกันตายไปก่อน

    แม้ว่าจะไม่เคยลำบากขนาดรุ่นพ่อแม่ที่ต้องกิน "ขุยไผ่" ซึ่งเชื่อได้เลยว่ากลืนยากเย็นมากกว่านี้หลายเท่า เพราะว่ากระผม/อาตมภาพเคยไปกวาดขุยไผ่มาดูแล้ว ลักษณะของขุยไผ่ที่ว่าก็เหมือนอย่างกับเปลือกไม้แห้ง ๆ ดี ๆ นี่เอง เพียงแต่ว่ามีลักษณะเป็นเม็ด ๆ เท่านั้น แล้วนึ่งให้ตายก็คงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสภาพได้ เพียงแต่ว่าฝืนกินลงไปให้หนักท้องเท่านั้น

    แล้วก็ไม่เคยกินกลอยเหมือนอย่างกับรุ่นปู่ย่าตายาย บุคคลที่กินกลอยนั้นจะเป็นโรคขาดสารอาหารจนพุงโรก้นปอด ซี่โครงขึ้นเป็นลูกระนาดยังไม่พอ ถ้าหากว่าทำกลอยไม่เป็น ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเมารากเขียวรากเหลืองกันเลย..! เนื่องเพราะว่าวิธีการที่จะทำกลอยให้กินได้นั้น หลังจากที่เราปอกแล้วก็หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ นำใส่ตะกร้าไปแช่ในทางน้ำไหล สักประมาณชั่วโมงสองชั่วโมงก็ต้องไป "ย่ำ" กัน
    ทีหนึ่ง เพื่อให้น้ำเมาหมดไปจากเนื้อกลอย

    ถ้าหากว่าย่ำไม่หมด ท่านทั้งหลายก็จะเจอประสบการณ์ว่า
    เมาจนอ้วกเหลือแต่ลมแล้วก็ยังต้องอ้วกอยู่นั้นจะเป็นอย่างไร..!?

    กระผม/อาตมภาพมาเจอตอนสมัยหลังนี้เอง เนื่องจากมีผู้คิดนวัตกรรมใหม่ ก็คือเอาถั่วทอดผสมกับเนื้อกลอย เพียงแต่ว่าในระยะแรกนั้นคงจะทำไม่เป็น กระผม/อาตมภาพฉันลงไปแค่สองชิ้น เมาจนอ้วกเป็นถังเลย..! อย่างที่บอกเอาไว้แล้ว ก็คืออ้วกจนไม่เหลืออะไรแล้ว อ้วกแต่ลมเปล่า ๆ ก็ยังดี แล้วก็เมา เวียนหัวจนเดินไม่ได้..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ท่านทั้งหลายที่ทำกลอยไม่เป็น ในรุ่นปู่ย่าตายายก็คงจะเจอมาแบบเดียวกันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ถ้าหากว่าจะกินกลอยเป็นอาหาร ก็ต้องมีอย่างน้อย ๓ - ๔ ตะกร้า ก็คือหมักเรียงกันไว้ นี่ตะกร้าแรก หมักเอาไว้วันนี้ ตะกร้าที่สอง หมักเอาไว้พรุ่งนี้ ไล่ไปเรื่อย ไม่เช่นนั้นแล้วกลอยก็จะคายน้ำเมาออกไปไม่ทันให้เรากิน

    บุคคลที่มีประสบการณ์บอกว่า ให้สังเกตดู ถ้าเริ่มมีหอยไปไต่เกาะเนื้อกลอยในตะกร้า ก็แปลว่ากินได้แล้ว แต่ก็อย่างว่า เนื่องจากว่าขาดสารอาหาร กินลงไปแค่ถมท้องให้เต็มเท่านั้น ผู้ที่ต้องกินกลอยเป็นอาหาร จึงกลายเป็นบุคคลพุงโรก้นปอด

    แต่ว่ารุ่นของกระผม/อาตมภาพไม่ได้อดอยากขนาดนั้น เคยเจอแต่ "ข้าวโอชา" ในยุคที่โตเป็นวัยรุ่นแล้ว ราว ๆ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ถึงเวลาก็ต้องมี "บัตรปันส่วน" ในการซื้อข้าว ต้องไปเข้าแถวซื้อ บ้านนี้มีกี่ปากกี่ท้องต้องไปแจ้งทางเขตเขา ซึ่งจะได้บัตรปันส่วนตามจำนวนคนในครอบครัว จะต้องดูตามทะเบียนบ้านว่า บ้านนี้สามารถซื้อข้าวได้ครั้งละกี่ลิตร เป็นข้าวสารผสมข้าวเหนียว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาหุงแล้ว รสชาติก็เหมือนกับกินข้าวเหนียวนั่นเอง ทำให้อิ่มนานดี ทางรัฐบาลยุคนั้นเรียกว่า "ข้าวโอชา"

    ดังนั้น..ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอดน้ำอดข้าวอะไรก็ตาม กระผม/อาตมภาพล้วนแล้วแต่เผชิญมาโดยครบถ้วนแล้ว จึงค่อนข้างจะเป็นห่วงญาติโยมทั้งหลายที่ไม่ได้เตรียมการ เห็นว่าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลแล้วอาจจะประมาทได้

    ภัยแล้งที่จะมาถึงและมานานกว่าที่เราคิด ประกอบกับในเรื่องของภาวะสงครามที่เกิดอยู่ บางทีเราทั้งหลายก็อาจจะเดือดร้อน เพราะว่าผลผลิตก็ไม่มี ผลกระทบจากต่างประเทศก็มาก สิ่งที่เราเคยกินเคยใช้ก็อาจจะหมดไป

    เนื่องเพราะว่าถ้าแล้งนาน ๆ ก็ปลูกข้าวปลูกผักไม่ได้ ผลไม้ต่าง ๆ ก็อาจจะแกร็น ไม่มีดอกไม่มีผล พืชผักต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่เต็มท้องตลาดก็อาจจะลดน้อยถอยลง เรื่องพวกนี้ปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลเขาแก้ไขกันไปตามความสามารถ พวกเราทั้งหลายที่รู้ตัวล่วงหน้า ให้พยายามหาทางที่จะแก้ไขในครอบครัวของตนให้เต็มความสามารถก็แล้วกัน

    ส่วนทางวัดท่าขนุนนั้นมั่นใจว่ารอดตัว เพราะว่ากระผม/อาตมภาพได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองเอาไว้แล้ว ถ้าหากว่าใกล้ถึงระยะเวลานั้น ข้าวปลาอาหาร โดยเฉพาะข้าวสารอาหารแห้งที่เคยแจกให้กับสถานที่ต่าง ๆ ก็อาจจะต้องระงับเอาไว้ชั่วคราว เพื่อเลี้ยงพวกเรากันเองไปก่อน

    เรื่องพวกนี้พูดไปก็เป็นการฟุ้งซ่านล่วงหน้า แต่ถ้าท่านทั้งหลายรู้ว่าฤดูแล้งที่จะมาถึงนั้นยาวนานกว่าที่คิด ก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจกันแต่เนิ่น ๆ บุคคลที่มีความเตรียมพร้อมโดยไม่ประมาท ตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมประสบความเดือดร้อนน้อยกว่าคนอื่น ๆ

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...