จงทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่ปราศจาคอคติ ๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 เมษายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,405
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,534
    ค่าพลัง:
    +26,371
    717A3C7D-F872-4DE9-A443-61DF9AA3ADA2.jpeg

    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ มีฝนพรำลงมาซ้ำให้ร้อนยิ่งขึ้น ก็คือบ้านเราส่วนใหญ่แล้วอากาศชื้น ทำให้ร่างกายเราระบายความร้อนไม่ออก แล้วก็มักจะกลายเป็นเหงื่อท่วมตัว ถ้าที่ไหนอากาศแห้ง ร่างกายโดนดึงความชื้นไปเร็ว เราก็จะรู้สึกหนาว

    แต่คราวนี้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างที่ได้บอกกล่าวไปตอนก่อนทำวัตรค่ำรอบแรกว่า ถ้าเราทำใจให้ยอมรับไม่ได้ เราก็จะมีความทุกข์มาก เพราะว่าไปดิ้นรน ต่อต้าน ผลักไส แต่ถ้าเราทำใจยอมรับได้ ก็แก้ไขกันไปตามสถานการณ์

    การยอมรับในที่นี้เป็นการยอมรับอย่างบุคคลที่มีปัญญา ก็คือได้แก้ไขทุกวิถีทางแล้ว ไม่สามารถจะแก้ได้เราถึงได้ยอมรับสภาพ ไม่ใช่ว่ายังมีหนทางอยู่แล้วเราไม่ทำอะไรเลย โดยที่บอกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงอย่างนั้น ถ้าแบบนั้นก็ถือว่าขาดปัญญา เพราะว่าหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกส่วนลงท้ายด้วยปัญญา

    ใหญ่ ๆ เลยคือหลักไตรสิกขา "ศีล สมาธิ ปัญญา" ปัญญาในที่นี้เป็นปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งปัญญาทั้งสองส่วนนี้ความจริงไปด้วยกันได้ เพียงแต่ว่าพวกเรามักจะหาจุดพอเหมาะพอดีไม่พบ ก็เลยทำอยู่ในลักษณะของ "โลกช้ำธรรมเสีย"

    อย่างเช่นว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้นำองค์กร หรือว่าอยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราจะแก้ไขสภาพต่าง ๆ ขององค์กรให้ดีขึ้น เราก็ลงมือแบบไม่ไว้หน้าใคร ถือว่าเราเป็นผู้ยุติธรรม ถ้าในลักษณะแบบนั้น ก็แปลว่าเราขาดปัญญาเป็นอย่างมาก

    การแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ในองค์กรนั้น เราควรจะทำเฉพาะในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง สูงกว่านั้นอย่าไปแตะ ข้ามสายงานก็ไม่ยุ่งด้วย ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถ้าลักษณะอย่างนั้น ถึงจะเรียกว่ามีปัญญา ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะเป็นตัวปัญหาในองค์กรนั้น ๆ เสียเอง

    ดังนั้น..พวกเราจะเห็นว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งประการใดก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ก็คือ "ยุติธรรม" ความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า ยุติ คือ จบสิ้นลงด้วยหลักธรรม ไม่ใช่ยุติความเป็นธรรม..!

    ในเรื่องของความยุติธรรมนั้น ท่านต้องเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยอคติ ๔ ประการ

    "ไม่ลำเอียงเพราะรัก" คนนี้เป็นคนของเรา เราก็ผลักดันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู คนที่ไร้ความสามารถ ต่อให้เป็นคนของเราก็ไม่ควรใช้งาน ควรจะใช้งานบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ

    "ไม่ลำเอียงเพราะโกรธหรือเกลียด" ไม่ชอบขี้หน้าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็ไม่ปล่อยให้มีการเจริญเติบโตเลย

    "ไม่ลำเอียงเพราะกลัว" คนนี้เส้นใหญ่ ถ้าเราไม่ทำให้ดี เดี๋ยวโดน "ลูกพี่" เขาเล่นงาน

    "ไม่ลำเอียงเพราะหลง" ลูกน้องหลายคนสร้างภาพเก่งมาก แต่มีความสามารถในการสร้างภาพเท่านั้น ความสามารถในการงานที่แท้จริงไม่มี เราก็จะไปหลงผิดสนับสนุน จะพาให้องค์กรของเราไปไม่รอด

    ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าในเรื่องของหลักธรรม เข้าไปอยู่ที่ไหนก็ตาม มีแต่ดีโดยส่วนเดียว แต่อย่าเข้าใจผิด อย่าตีความผิด อย่างเช่น มีสำนักหนึ่งยกหลักธรรมขึ้นมาว่า "พระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ควรหากินด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นการปลุกเสกเลขยันต์ ทำน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก ฯลฯ" ชัดเจนมากเลย

    แต่ปรากฏว่าอ่านแล้วตีความไม่แตก พาให้คนหลงเข้าป่าเข้าดงไปอีก เราต้องเข้าใจคำว่า เลี้ยงชีพด้วยเดรัจฉานวิชา คือทำมาหากินแบบนั้น ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ทำมาหากินแบบนั้น แต่ทำเพื่อสงเคราะห์ญาติโยม "ก็ทำไปสิครับ" เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องที่เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีปัญญาเพียงพอ เรียกง่าย ๆ ว่า จะทำอะไรก็ตาม ต้องมีปัญญาพิจารณาก่อน

    ขณะเดียวกัน การงานทุกอย่าง ถ้าหากว่าเราทำไปแล้ว ต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนใหญ่เรามักจะ "รับชอบ" อย่างเดียว ไม่ยอม "รับผิด" ก็แปลว่าเป็นบุคคลที่ใช้ไม่ได้ ใครก็ตามที่ไม่เคยทำผิดพลาด โอกาสที่จะพาองค์กรล้มมีสูงมาก..! เพราะว่าถึงเวลาแล้วแก้ไขปัญหาไม่เป็น พลาดทีหนึ่งอาจจะเสียขวัญ ไม่เป็นผู้เป็นคนไปเลย

    จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักไว้ว่า ปุถุชนธรรมดาต้องมีความผิดพลาดเป็นปกติ แต่สำคัญที่ผิดแล้วต้องแก้ไขให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วความผิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็จะไปตรงกับที่โบราณกล่าวเอาไว้ว่า

    "ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า สามผิดเร่งคิดตรอง จงหนัก เพื่อนเอย ถึงสี่อีกทีห้า หกซ้ำอภัยไฉน"

    ก็แปลว่า ในเรื่องของการทำการทำงานนั้น ผิดแล้วแก้ไข ให้ความผิดนั้นเป็นครู เป็นบทเรียนแก่ทั้งตัวเราและผู้อื่น แต่ไม่ใช่ผิดซ้ำซากอยู่ในเรื่องเดียวกัน

    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖

    https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9426

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com

    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน #watthakhanun
    #ig: wat.thakhanun
    #tiktok: @watthakhanun
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนาช่วยโลก #พระสงฆ์ช่วยสังคม
    #พระครูวิลาศกาญจนธรรมดร #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #พระอาจารย์เล็ก #หลวงพ่อเล็ก
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...