เรื่องเด่น การปฏิบัติต้องตั้งเป้าหวังความหลุดพ้น

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 25 มกราคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    C1C53814-41C4-4429-8B90-E7931CAAE51D.jpeg
    วันนี้อยากจะบอกกล่าวกับพวกเราว่า การปฏิบัติธรรมของพวกเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหวังความหลุดพ้น เพราะถ้าไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้ เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทนทุกข์ทรมานอยู่ไม่รู้จบ ใน ๓๑ ภพภูมินั้น ไม่มีภพไหนภูมิไหนที่มีความสุขโดยส่วนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิที่อยู่เบื้องต่ำ ก็ยิ่งมีความทุกข์มากเป็นพิเศษ

    ถ้าเรามาดู ๕ ภพภูมิในส่วนของปุริมสงสาร ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และมนุษย์ สัตว์นรกนั้นประกอบไปด้วยความทุกข์เป็นปกติ โดนไฟแผดเผา โดนสรรพาวุธสับฟัน ทุกข์ทรมานเจ็บปวดขนาดไหนก็ไม่ตาย พอสิ้นใจลงไป โดนลมกัมมชวาตพัดมาก็เกิดมีกายขึ้นมาใหม่ โดนไฟแผดเผา โดนสรรพาวุธสับฟันต่อไป ไม่มีความสุขแม้แต่วินาทีเดียว มีแต่ความทุกข์ยาก เจ็บปวด เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา

    ในส่วนของเปรตซึ่งมีกรรมเบาบางลง มาชดใช้ในส่วนของเศษกรรม ก็ต้องทนอดอยาก หิวโหย ไม่สามารถที่จะหาอะไรกินให้อิ่มปากอิ่มท้องได้ เราอดข้าวแค่มื้อสองมื้อก็รู้สึกว่าหิวแย่แล้ว แต่เหล่าเปรตทั้งหลายนั้น ต้องอดอยากทุกข์ทรมานอยู่เป็นกัป ๆ

    ในส่วนของอสุรกาย ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว กินแต่เศษอาหารที่เขาทิ้งแล้ว หรือซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย ในส่วนของสัตว์เดรัจฉานนั้นก็อยู่ในสภาพของผู้แข็งแรงข่มเหงผู้อ่อนแอ ไม่สามารถที่จะหากินให้ได้ดั่งใจของตน ได้อาหารมาก็ต้องรีบกิน เพราะอาจจะโดนเขาแย่งไปเมื่อไรก็ได้ หรือตนเองอาจจะกลายเป็นเหยื่อ เป็นอาหารของสัตว์ที่แข็งแรงกว่าก็ได้

    ในส่วนของมนุษย์นั้น ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะมีความปรารถนาไม่สมหวังเป็นปกติ ดังนั้น..ในส่วนของภพภูมิเบื้องต้นทั้ง ๕ ภูมินี้ ก็ถือว่าเป็นส่วนของการที่ต้องได้รับการทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา ยิ่งต่ำลงไปมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

    ในส่วนของมัชฌิมสงสาร ประกอบไปด้วย ๖ ภพภูมิของอากาศเทวดา ไล่ตั้งแต่จาตุมหาราชิกา ไปสิ้นสุดที่ปรนิมมิตวสวัตตี ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความสุขเพียงชั่วคราว ถ้าผู้ใดเพลิดเพลินอยู่ในทิพยสมบัติ ไม่รู้จักสร้างบุญสร้างกุศลเพิ่มเติม พ้นจากสภาพไปเมื่อไร โอกาสที่จะลงอยู่ภพภูมิเบื้องต่ำก็มีสูงมาก ก็อาจจะตกลงไปสู่อบายภูมิ ได้รับความทุกข์ทรมานไม่รู้จบอีก ท่านใดรู้จักสร้างกุศลผลบุญเพิ่มเติม ก็ต้องทุกข์ยากในการขวนขวายหาแหล่งสร้างบุญสร้างกุศลของตน หรือพยายามประกอบกองบุญกองกุศลด้วยตนเอง ก็แปลว่าดำรงชีวิตอยู่ในความทุกข์เช่นกัน

    ในส่วนของเหฏฐิมสงสารคือภพเบื้องสูง ได้แก่รูปพรหม ๑๖ และอรูปพรหม ๔ นั้น ในส่วนของอรูปพรหมปราศจากอายตนะอื่น นอกจากสภาพของดวงจิต เมื่อเสวยความสุขที่เกิดจากการสร้างความดีมาหมดแล้ว ก็ต้องลงไปเสวยความทุกข์ทันที ในส่วนของรูปพรหมนั้นเสวยความสุขอยู่ก็จริง แต่ถ้าคล้อยเคลื่อนเลื่อนลงไปสู่ภูมิที่ต่ำกว่า ก็ต้องไปทุกข์ยากเดือดร้อนกันต่อ ในส่วนของสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ตั้งแต่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และ อกนิฏฐพรหม ก็ยังต้องมีความลำบากในการขวนขวายเพื่อความหลุดพ้น ต้องพากเพียรพยายามอย่างยิ่ง

    นับตั้งแต่เหล่าท่านทั้งหลายในอันตราปรินิพพายี เป็นพรหมที่จะต้องเข้าสู่พระนิพพานในระหว่างอายุของตน อุปหัจจปรินิพพานยี เป็นพรหมที่จะต้องเข้าสู่พระนิพพานในกึ่งอายุของตน สสังขาราปรินิพพานยี ลำบากมากเพราะต้องใช้ความขวนขวาย ความเพียรพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อการเข้าสู่พระนิพพาน อสังขาราปรินิพพานยี แม้ว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้จะไม่ลำบากเท่ากับอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็ต้องใช้ความพยายามในการปฏิบัติเพื่อล่วงพ้นจากกองทุกข์เช่นกัน จนถึงอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังมีอวิชชาหลงเหลืออยู่อย่างบางเบา จำเป็นที่จะต้องตัด ต้องละ ต้องสละออกไปจากใจของตนให้ได้

    ก็แปลว่าทุกท่าน ทุกภูมิ ก็ดำเนินอยู่ในกองทุกข์ ทุกข์ของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย บ้าง ทุกข์ของการที่ต้องย้อนกลับไปสู่ภูมิต่ำบ้าง ทุกข์ของการขวนขวายเพื่อความหลุดพ้นบ้าง ทั้ง ๓๑ ภพภูมินี้ ไม่มีภูมิใดภูมิหนึ่งเลยที่ปราศจากความทุกข์ ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ทั้งสิ้น ยิ่งอยู่ในภูมิต่ำก็ยิ่งมีความทุกข์มากขึ้น

    ดังนั้น..ในการที่เราจะเกิดมาอยู่ในภพภูมิทั้งหลายเหล่านี้ ก็แปลว่าจะต้องพบกับความทุกข์เหล่านี้เป็นปกติ จึงควรที่จะตั้งกำลังใจว่าขึ้นชื่อว่าการเกิดมาทุกข์ใน ๓๑ ภพภูมินี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย ถ้าตายลงไปเมื่อไรเราขอไปอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียว แล้วเอากำลังใจเกาะพระนิพพานหรือเกาะภาพพระของเราไว้ กำหนดการภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...