เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 23 กันยายน 2016.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,458
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,011
    เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ
    (อารยวัฒิ)

    ธรรมดาพุทธศาสนิกชน เมื่อปฏิบัติธรรมก็ย่อมมุ่งหวังความเจริญก้าวหน้า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา เราก็ต้องปฏิบัติกันเรื่อยไป และในการปฏิบัตินั้น เราก็หวังว่าจะเจริญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะมีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า เราเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหรือไม่ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเคยตรัสหลักธรรมไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่า”วัฑฒิ” เรียกเต็มว่า อริย วัฑฒิ แปลว่า หลักความเจริญอย่างอริยะ หมายความว่าถ้ามีความเจริญอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ ก็แสดงว่าพุทธศาสนิกชนมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ และมีหวังว่าจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา หลักความเจริญที่ว่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี ๕ ประการคือ

    ๑. ศรัทธา แปลกันง่าย ๆ ว่า ความเชื่อ ถ้าขยายความออกไปก็คือ มีความเชื่อความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย หลักความเจริญข้อนี้ทำให้เราเอามาใช้ตรวจสอบตัวเอง เช่นถามตัวเองว่า เรามีศรัทธาแค่ไหน ศรัทธาของเราเจริญเพิ่มพูนขึ้นหรือไม่ เชื่อในคุณพระรัตนตรัย เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเท่าไร ถ้าหากเรามีความมั่นใจว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นพระสัมมาสัมพุทธจริง เราก็จะเชื่อฟังคำสอนของพระองค์ไปด้วย เมื่อเชื่อฟังเราก็สามารถปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ พระองค์สอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราก็จะทำความดี ละเว้นความชั่ว หลักที่จะทำให้เจริญก้าวหน้าอย่างแรกก็คือต้องมีความเชื่ออันนี้ เชื่อในพระคุณของพระพุทธเจ้าในปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ เชื่อในพระธรรมคำสอน เชื่อในพระสงฆ์ที่นำเอาธรรมเหล่านั้นมาสั่งสอนตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำไว้ เมื่อเราเชื่อ มีศรัทธาในพระศาสนาแล้ว เราก็มีความมั่นใจในกรรมดี มั่นใจในการทำความดี เว้นความชั่วได้ นี้คือข้อที่ ๑ “ศรัทธา”

    ๒. ศีล ได้แก่การเว้นความชั่ว ก็สืบเนื่องมาจากข้อหนึ่ง เพราะศรัทธานั่นแหละ เราจึงปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เบื้องต้นเราก็เว้นจากความชั่ว ความชั่วทั่ว ๆ ไป ก็คือการเบียดเบียนกัน งดเว้นจากการฆ่า การทำร้าย ประหัตประหารกัน งดเว้นจากการล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกัน งดเว้นจากการล่วงละเมิดในคู่ครองของท่านผู้อื่น งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือกล่าวเท็จ ตลอดจนเว้นจากสุราเมรัย สิ่งเสพติด อันนี้เป็นการประพฤติในขั้นที่เรียกว่า “ศีล” ถ้าเรามีความก้าวหน้าในเรื่องความประพฤติ ก็เรียกว่ามีความเจริญด้านที่สอง

    ๓. สุตะ แปลว่าสิ่งที่ได้สดับ สมัยปัจจุบันก็หมายถึงสิ่งที่ได้อ่านด้วย การอ่านก็เท่ากับการได้ฟังเหมือนกัน การอ่านหรือการฟังนี้ คืออ่านหรือฟังสิ่งที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือตรวจดูว่า เรานี้มีความรู้เกี่ยวกับคำสอน หลักธรรม ที่จะนำมาใช้ปฏิบัติพอหรือไม่ เรามีความรู้พอจะแนะนำผู้อื่นได้ไหม นอกเหนือจากที่จะนำไปใช้ด้วยตนเองแล้ว ยังสามารถนำไปแนะนำผู้อื่นได้ด้วย อันนี้เรียกว่า “สุตะ”

    ๔. จาคะ ได้แก่ความเสียสละ ความมีน้ำใจ ควรตรวจดูตนเองว่าเรามีน้ำใจต่อผู้อื่นแค่ไหน เพียงไร เราได้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่น เราได้เสียสละทัพย์สินส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อืนบ้างหรือไม่ อย่างน้อยก็สละกิเลสในใจของเรา ถ้าเราสละกิเลสได้ก็แสดงว่า เราชนะจิตใจตัวเอง มีความสามารถ มีจิตใจเข้มแข็ง รวมความว่า จาคะ นี้ มีทั้งภายนอกและภายใน สละภายในก็คือสละกิเลส ที่มันเข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จะเป็น ความโลภ โกรธ หลง สละภายนอก เช่นสละทรัพย์สิน เงินทองช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น

    ๕. ปัญญา หมายถึง ความรู้จัก เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ตั้งต้นแต่รู้ เข้าใจ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีความเข้าใจในคำสอนนั้นจริงหรือไม่ เราต้องมีปัญญา รู้เข้าใจด้วย แล้วก็เอาคำสอนนั้นมาใช้ในการปฏิบัติ รู้ดีรู้ชั่ว รู้เหตุรู้ผล รู้ว่าอะไรเป็นคุณ เป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ตลอดจนรู้เกี่ยวกับชีวิตของเรานี้ คือรู้เท่าทันโลก และชีวิต ว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อรู้เข้าใจแล้ว ก็จะทำให้จิตใจของเราเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส ได้..... ปัญญานี้เป็นหลักสำคัญ ซึ่งอย่างน้อยเราจะต้องตรวจสอบตัวเองว่า การดำเนินชีวิตของเรา ได้กระทำการต่าง ๆ โดยใช้ปัญญาหรือไม่ คนเรานี้มี ๒ ประเภท คือคนที่ทำตามอารมณ์พวกหนึ่ง กับ คนที่ทำด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล อีกพวกหนึ่ง เราก็เอาปัญญานี้ มาตรวจสอบตนเองว่า ในการกระทำของเรา หรือที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวันนี้ เราได้ใช้ปัญญาแค่ไหน ถ้าเราใช้ปัญญา ใช้เหตุใช้ผลมาก ก็แสดงว่าเราก้าวหน้าในธรรมมาก มีความเจริญงอกงามดี ก็เอาหลักอันนี้มาตรวจสอบ ...ปัญญานี้เป็นตัวคุมทั้งหมด เพราะว่าศรัทธาจะเชื่อถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องมีปัญญากำกับ สุตะที่เรียนรู้มาก็ต้องมีปัญญามาช่วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแต่เพียงว่าท่องจำอย่างนกแก้ว ศีลประพฤติต่าง ๆ ก็ต้องมีปัญญาช่วย มิฉะนั้นก็กลายเป็นอย่างที่เขาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส คือยึดถือการปฏิบัติตาม ศีลวัตร หรือ ศีลพรต อย่างงมงาย ความเสียสละ ก็ต้องมีปัญญากำกับ รู้ว่าอะไรควรเสียสละ อะไรไม่ควรเสียสละ ควรเสียสละอะไร แก่ใคร อย่างไร เป็นต้น ท่านจึงเอาปัญญาวางเป็นข้อสุดท้าย เพื่อควบคุมทั้งหมด

    ถ้ามีธรรมะทั้ง ๕ อย่างนี้ ท่านก็เรียกว่า เป็น อุบาสก อุบาสิกา ที่เจริญก้าวหน้าในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการเจริญด้วยหลักความเจริญที่เป็นอริยะ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็น อริยวัฒิ หรือ อริยา วัฑฒิ แปลว่า ความเจริญอย่างอริยะ คือหลัก ๕ ประการ ที่ใช้เป็นเครื่องตรวจสอบตนเองของพุทธบริษัท มีพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

    “อุบาสกหรืออุบาสิกา ซึ่งในที่นี้ท่านเรียกว่าอริยสาวก คือสาวกของพระอริยเจ้า ผู้ประกอบด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยความเจริญอันเป็นอริยะ และชื่อว่าเป็นผู้ถือเอาสาระ ยึดถือ เอาสิ่งที่ประเสริฐของชีวิตนี้ไว้ได้”

    ถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติตามนี้ ก็ควรจะมีปิติ ปลาบปลื้มใจว่า ตนได้ดำเนินถูกทางแล้ว เป็นผู้เจริญงอกงามในคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอเอาใจช่วยให้ทุกท่านเจริญด้วยอริยวัฒินี้ สมดั่งความปรารถนาโดยทั่วกันทุกท่าน ขออนุโมทนา

    [​IMG]

    (เล่าเรื่องให้โยมฟัง ชุดที่ ๑ ... เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ...พระพรหมคุณาภรณ์)

    แสดงกระทู้ - เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ • ลานธรรมจักร
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      27.8 KB
      เปิดดู:
      193
    • 1364701760-o.jpg
      1364701760-o.jpg
      ขนาดไฟล์:
      201.1 KB
      เปิดดู:
      815
  2. เป็นกลาง

    เป็นกลาง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2008
    โพสต์:
    40
    ค่าพลัง:
    +42

แชร์หน้านี้

Loading...