ปราชิกหรือไม่

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย พระกัน, 21 มิถุนายน 2016.

  1. พระกัน

    พระกัน สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +4
    ขอสอบถามหน่อยครับ พอดีบวชเป็นพระมาได้ สองสัปดาห์แล้วครับ เมื่อวันพระที่ผ่านมาทาง ทางวัดได้จัดเตรียมผลไม้ที่ญาติโยมนำมาทำบุญไว้เป็นถุง ๆ แล้วก็แจกจ่ายให้พระเป็นกลุ่มๆโดยที่ให้รวมๆ มาหลายถุงมาวางไว้ โดยไม่ได้ระบุว่าถุงนั้นถุงนี้เป็นของพระรูปใด และเมื่อเสร็จพิธี อาตมาก็ได้มาหยิบถุงผลไม้ซึ่งมีเหลืออยู่สองถุง เมื่อหยิบมาแล้วอาตมาก็เห็นว่าในถุงที่หยิบมามีเครื่องดื่มชูกำลัง และอีกหนึ่งถุงที่ยังไม่ได้มีพระมาหยิบมีน้ำผลไม้ อาตมาจึงเปลี่ยนสลับถุงกันเพื่อหวังจะได้ถุงที่มีน้ำผลไม้ เพราะอาตมาไม่ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง

    และเมื่อครู่นี้อาตมา ได้อ่านเกี่ยวกับการอาบัติปราชิก ในหนังสือวิชาวินัยมุขที่บอกเกี่ยวกับ อาการที่ถือเอาเป็นการลักทรัพย์ มีบอกไว้ว่า ดังนี้

    ลักสับ เวลาแจกของ ภิกษุมีไถยจิตสับสลาก ของชื่อตนและชื่อภิกษุอื่นในกองของ ด้วยหมายจะเอาลาภของภิกษุอื่นที่มีราคามากกว่าของตน พอสับเสร็จ ก็ต้องอาบัติถึงที่สุด
    อนึ่ง เอาของไม่ดี มาสับเปลี่ยนเอาของดี จัดเข้าในสิกขาบทนี้

    อยากทราบว่าการกระทำของอาตมานั้น เข้าข่ายข้อนี้หรือไม่
     
  2. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    กราบนมัสการ พระกันค่ะ

    ตามที่ท่านบอกกล่าวมาข้างต้น หากพิจารณาแล้วไม่เข้าข่ายอาบัติปราชิกค่ะ ทานที่ญาติโยมนำมาถวายพระในวันพระ หากถวายเป็นสังฆทาน เป็นทานที่ไม่ได้ระบุตัวตนบุคคล ถวายให้คณะสงฆ์ ซึ่งเป็นสงฆ์รูปใดก็ได้ สามารถรับทานนั้นค่ะ ทีนี้ตอนที่ท่านหยิบท่านไม่ได้มีเจตนาสับเปลี่ยนเพื่อกิเลสคือโลภะ หรือสับเพราะของนั้นมีราคามากกว่า จึงไม่ต้องอาบัติปราชิกค่ะ ส่วนอาบัติในข้ออื่นๆ ไม่ทราบค่ะ

    พิจารณาตามคำบอกเล่าของท่านนะคะ

    หากผิดพลาดประการใดขอขมากรรมฯ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ สาธุ
     
  3. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,813
    ค่าพลัง:
    +15,095
    ไม่รุนแรงขนาดนั้นหรอกครับ เพราะเป็นของแจกไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
    เพียงแต่ให้คุณประกาศบอกให้เพื่อนภิกษุด้วยกันทราบถึงเจตนา เมื่อเขารับทราบแล้วก็เป็นอันปลงตกไปได้ครับ (เช่น ประกาศบอกพระรูปใดรูปหนึ่งว่า "ผมขอเปลี่ยนเอาะถุงน้ำผลไม้แทนนะครับ" เมื่อรูปใดรับทราบและไม่คัดค้านก็เป็นอันยุติครับท่าน) ^_^
     
  4. นายฉิม

    นายฉิม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    2,105
    ค่าพลัง:
    +2,696
    ขึ้นอยู่กับเจตนา เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตน
     
  5. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,941
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    ของของสงฆ์ครับ คือส่วนกลางครับ เราไม่ได้ไปขโมยใครครับ ผมว่าไม่ผิดอะไรทั้งสิ้นครับ

    เราไม่ได้ไปไถยจิต ลักทรัพย์ใคร ครับ
     
  6. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,941
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    พระก็สงสัย
    พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

    ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗
    ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี



    ถาม : ข้อ ๑๕๘๐. เรื่อง "สงสัยว่าปาราชิกหรือไม่ครับ"

    เรื่องนี้มีว่าตอนนี้อาตมาอายุ ๒๒ เพิ่งบวชใหม่ ปกติไปบิณฑบาตทุกๆ เช้า เมื่อบิณฑบาตเสร็จพระภายในกุฏิจะเอาของที่โยมใส่บาตรมารวมกัน มีพระรุ่นพี่รูปหนึ่งแกไม่สบายเลยขึ้นไปนอนก่อน แกวางกล่องนมไว้หลายกล่อง อาตมาจึงหยิบนมตามพระรุ่นพี่ขึ้นไป ๒ กล่อง กะไว้ว่าจะเดินขึ้นไปขอฉัน แต่ปรากฏว่าหลวงพี่แกหลับไปแล้ว อาตมาเลยตัดสินใจเอานมวางไว้ข้างๆ หลวงพี่แก ไม่กล้าฉัน

    ๑. แบบนี้อาตมาต้องปาราชิกหรือเปล่า เพราะหยิบของราคาเกิน ๑ บาทให้เคลื่อนที่แล้ว อาตมายังไม่ได้ขอก่อนด้วย

    ๒. ถ้าหยิบนมกล่องมาแล้ว (ตอนแรกยังไม่ได้ขอ) มาขอหลวงพี่เพื่อฉันทีหลัง ซึ่งหลวงพี่แกก็ให้ แบบนี้จะเป็นอาบัติหรือไม่ (ปกติพระในกุฏิอาตมาจะฉันพวกนมหรือน้ำที่อยู่ในตู้เย็นของกันโดยไม่ค่อยขอกันก่อน คืออะไรอยู่ในตู้เย็นเหมือนของส่วนรวม) ถ้าเป็นแบบนี้ ถ้าหยิบน้ำหรือนมของพระรูปอื่นไปฉันโดยที่ไม่ได้ขอกันก่อน พระที่กุฏิอาตมาต้องปาราชิกทุกรูปหรือไม่

    ตอบ : นี่เป็นการถามของพระ พระรุ่นใหม่ พระเขาสงสัย เวลาบวชพระแล้ว ถ้าบวชพระทีแรก พระก็มาจากคน ถ้ามาจากคน เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่มีศรัทธาความเชื่อเขาก็แสวงหาของเขา ถ้าแสวงหาของเขา เขาก็ไปตามวัดตามวา ไปสืบเสาะหาครูบาอาจารย์ก่อน ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนเขาไว้ใจได้เขาก็ไปบวชกับองค์นั้น แต่ถ้าเราบวชตามประเพณี เราบวชตามที่ว่าพ่อแม่ต้องการ เราบวชแล้วเราบวชโดยที่ว่าก็รู้ดี รู้ชั่วนี่แหละอยากบวช แต่บวชโดยประเพณีไง บวชเข้าไปบวชพระเพื่อเอาบุญ บวชเพื่อเป็นทิด บวชเพื่อเป็นผู้ที่สุข บวชเพื่อศึกษาธรรมะ นี้ความเข้าใจไง แต่ความเข้าใจเป็นเข้าใจตามประเพณีวัฒนธรรม

    ถ้าเป็นประเพณีวัฒนธรรม เวลาคนที่เขาตั้งใจ เขาศึกษาก่อนที่เขาจะบวช ก่อนที่จะบวชนะเขาเป็นปะขาว ปะขาวเขาเข้าใจเรื่องพื้นฐานแบบนี้ ถ้าเรื่องพื้นฐานแบบนี้ นี่พระกรรมฐานเราก่อนบวช เวลาคนที่มาอยู่วัดเขาต้องฝึกหัด คนที่อุปัฏฐากพระเขาต้องฝึกหัด ต้องให้รู้ กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต พระควรอุปัฏฐากอย่างไร สิ่งใดพระที่จับต้องได้ พระจับต้องไม่ได้เขาจะฝึกหัดตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเป็นปะขาว เขาไปอยู่วัด เขาจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจ พอเราบวชเป็นพระไปแล้ว เราศรัทธาเราบวชเป็นพระไปแล้ว เราว่าเราบวชแล้วเราก็มีการศึกษา เราศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เราเข้าใจหมดแหละ แต่เวลาเหตุการณ์เฉพาะหน้าเราตัดสินใจไม่ถูก

    นี่เหมือนกับการศึกษา การศึกษาเขาศึกษาเสร็จแล้วเขาต้องไปฝึกงาน การฝึกงานของเขาก็เพื่อให้มีประสบการณ์ของเขา แต่นี้เราบวชมา เราบวชมาโดยสังคมเขาเป็นอยู่แบบนั้น แล้วเราบวชเข้าไปแล้วเราก็ใช้ชีวิตแบบนั้น เขาใช้ชีวิตกันอยู่แบบนั้นไง เขาใช้ชีวิตกันอยู่แบบนั้น แล้วเขาก็อยู่กัน ฉะนั้น เราเข้าไปแล้ว นี่ยังดีนะถ้าเราไปศึกษาแล้วเราเข้าไป เราไปเห็นเข้าเราก็จะไม่ทำตามเขา เราก็จะทำตามความเห็นของเรา พอตามความเห็นของเรามันก็บอกว่าเราเป็นแกะดำ เราเป็นแกะดำแล้ว เราไม่เหมือนเขาแล้ว เพราะเรามีความเห็นต่าง แต่ถ้าเราทำเหมือนเขา เราทำเหมือนเขา

    ถ้าเราไม่รู้ เราไม่รู้เพราะเราบวชใหม่ๆ เราก็ไม่รู้ใช่ไหม เราไม่รู้หรอก เห็นเขาทำอย่างไรก็ทำตามเขาไปก็คิดว่าอย่างนี้ถูก คิดว่าที่เขาทำอยู่นี่ถูก เพราะว่าเขาเป็นพระ เขาบวชมานานเขาต้องมีความชำนาญของเขา เราว่าเขาทำถูก แต่พอเราทำกับเขาไป เราไปเปิดตำราเรางงเลย เอ๊ะ เอ๊ะ ตำราทำไมบอกแบบนี้ เอ๊ะ ทำไมเขาทำกันแบบนั้นล่ะ? นี่เพราะเหตุนี้เวลาปฏิบัติไปแล้ว ดูสิยกหลวงตาอีกแล้ว หลวงตาท่านเป็นถึงมหา คำว่ามหาคือศึกษาจนแปลบาลีได้ แต่ไม่ถึง ๙ ประโยค เขายังบอกว่ามหาบัว ๓ ประโยคเท่านั้นเอง อวดรู้ๆ ต้อง ๙ ประโยคถึงจะรู้จริง แค่ ๓ ประโยคจะรู้อะไร? ๓ ประโยคคือว่าศึกษาบาลีได้ แปลบาลีได้ เข้าใจบาลีได้ แต่คนที่เขาใฝ่ศึกษานั้น ถ้านักธรรมเอกเขาก็ศึกษา เขาก็เข้าใจได้

    ฉะนั้น ศึกษาจนเป็นถึงมหา แต่เวลาจะปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมา เพราะหลักสูตรของมหานะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เวลาเขาแปลบาลี แปลธรรมกัน นี่มันเป็นข้อสอบของมหา เขาก็ศึกษากันมา ศึกษาเขาก็เข้าใจได้ นี่ขณะศึกษาถึงนิพพาน แต่เวลาจะปฏิบัติจริงๆ ก็งง ถึงตั้งสัจจะอธิษฐาน ถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งชี้บอกทางเราได้ ชี้แก้ความสงสัยเราได้ เราจะถวายชีวิตกับครูบาอาจารย์องค์นั้น เราจะให้ครูบาอาจารย์องค์นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

    นี่อธิษฐานขนาดนั้นนะ ทั้งอธิษฐาน ทั้งแสวงหา คนที่เขามีเป้าหมายเขาคิดอย่างนั้น เขาเอาความรู้จริง แต่ทางทฤษฎี ทางตำรามันก็เหมือนกฎหมาย เห็นไหม นี่ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความๆๆ ก็ตีความคนละมุม ก็ตีความกัน ต่างคนต่างตีความ ต่างคนต่างมีทิฐิต่างกัน ต่างคนมีความเห็น นี่ก็เหมือนกัน เวลาพระเราบวชเข้าไปแล้วเขาทำกันแบบนั้น ทำกันแบบนั้น ถ้าทำแบบนั้น ถ้าเรามีความรู้เราไม่ทำตามเขา โอ้โฮ บวชแล้วไม่ถือนิสัยอาจารย์เนาะ บวชแล้วเก่งกว่าอาจารย์นะ

    ในวงการพระจะมีเรื่องอย่างนี้มี แต่เพียงเราศึกษาของเรา เราศึกษาแล้วถ้ามีครูบาอาจารย์นะ กรณีอย่างนี้เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านจะอุปัฏฐากกัน คำว่าอุปัฏฐากขอนิสัย ขอนิสัยครูบาอาจารย์ เห็นไหม นี่พระที่บวชใหม่ยังไม่รู้นิสัย ต้องสรงน้ำ ต้องซักผ้า ต้องอะไรมันจะฝึกเรื่องอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้แล้วมันจะเข้าใจหมดเลย อะไรเคลมได้ อะไรเคลมไม่ได้ เพราะ เพราะเวลาครูบาอาจารย์นั่งอยู่ เวลาคนเขามาถวายของ พระต้องรับประเคน ดูสังเกตได้เวลาหลวงตาท่านไปไหนท่านจะมีพระรับประเคน ท่านจะคอยบอกเลย ประเคนได้ไม่ได้ ประเคนไม่ได้ ประเคนได้ ต้องได้หัตถบาส โอ๋ย ท่านจะจี้อย่างนี้เลย

    นี่ประสบการณ์ตรงเลย ถ้าประสบการณ์ตรงมันก็จะไม่มีปัญหาแบบที่ถามมานี้ แต่แบบที่ถามมานี้มันก็ถามมา ถามมานี้เพราะอะไร? เพราะว่าก็อยู่กันประสาพระในห้องอาตมา เขาว่านะ พระในห้องอาตมาบิณฑบาตกลับมา นี่คือว่าอายุพรรษามันไร่เรี่ยกัน ความรู้ความเห็นมันไร่เรี่ยกัน มันไม่มีใครสอนใครได้ไง มันไม่มีใครบอกใครได้ไง แล้วถ้าไม่มีใครบอกใครได้มันก็เป็นกันอยู่แบบนี้ นี่พูดถึงการบวชที่ไม่มีครูมีอาจารย์ หลวงตาท่านถึงบอกว่าผู้นำสำคัญมาก ครูบาอาจารย์นี้สำคัญมาก แล้วครูบาอาจารย์ต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องดีงาม แล้วพยายามชี้ทางให้เราถูกทางขึ้นไป ถ้าถูกทางขึ้นไปเราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นไปนี่พระบวชแล้วก็ยังสงสัย สงสัยเพราะอะไร? สงสัยเพราะมันไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านถูกต้องนะท่านชี้เลย แล้วอย่างกรรมฐานเรา เราทำส่งต่อๆ กันมาตั้งแต่หลวงปู่มั่น เรื่องกัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต นี่มาสำเร็จเอาสมัยหลวงปู่ฝั้น สมัยหลวงปู่มั่นท่านก็ทำของท่านนั่นแหละ ไม้เจีย ไม้สีฟัน ทุกอย่างถ้าเข้าทวารปากต้องประเคน เว้นไว้ไม้สีฟันกับน้ำ น้ำก็ต้องเป็นน้ำสาธารณะไม่ใช่น้ำจำกัดส่วน น้ำจำกัดส่วนคือน้ำในขวด น้ำที่เขามีราคา เขาซื้อขายของเขา เราจะไปหยิบฉวยของเขาไม่ได้ แต่ถ้าน้ำเป็นน้ำสาธารณะเรามีธมกรกเราก็ไปกรองเอา เรากรองน้ำสาธารณะ น้ำที่ไม่มีเจ้าของ ภิกษุกรองเอา เว้นไว้แต่น้ำกับไม้สีฟันที่ไม่ต้องประเคน แต่ถ้าเขาจำกัดส่วน

    คือน้ำขวดนี่ขวดกี่สตางค์ ขวดละกี่บาท ก็ไม่เคยซื้อเหมือนกัน น้ำขวดนี่ขวดกี่บาท ๗ บาทใช่ไหม ๗ บาท ถ้าเกินบาท เกินบาทปาราชิก หยิบฉวยของเขา นี่เว้นไว้แต่น้ำกับไม้สีฟัน แล้วไปหยิบเอาร้านค้าสิ เข้าไปเซเว่นแล้วหยิบออกมาเลย ก็ไม่ต้องประเคนไง นี่น้ำจำกัดส่วนคือน้ำบรรจุขวดที่มีสิทธิ มีลิขสิทธิ์ สิทธิ์ของใครเราต้องขอคนนั้น แต่ของเรา เห็นไหม ดูสิน้ำในแทงค์ น้ำสาธารณะเราต้องมีผ้ากรอง เพราะน้ำมีตัวสัตว์พระฉันไม่ได้ พระใช้ไม่ได้ น้ำมีตัวสัตว์ก็ใช้ไม่ได้ แต่เวลาอนุญาตในธรรมวินัย เว้นไว้ไม้สีฟัน เราทุบเอง เราหาเองไม้สีฟัน ไม้แคะฟันไม่ต้องประเคนกับน้ำ แต่น้ำต้องเป็นน้ำสาธารณะไม่ใช่น้ำจำกัดส่วน

    น้ำจำกัดส่วนคือเฉพาะส่วนที่เขามีลิขสิทธิ์ เขามีเจ้าของ หยิบของเขาไม่ได้ต้องประเคน แต่ในวินัยบอกว่าควรเคน น้ำจำกัดส่วนควรเคน ควร ต้องเคน เพราะไม่ประเคนแล้วเราก็กังวล ถ้ามันจะมีอยู่ ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านศึกษา ท่านค้นคว้าของท่าน หลวงตาท่านเล่าให้ฟังขนาดว่าหลวงปู่มั่นท่านเข้าสมาธิของท่าน ขนาดว่าถามเลยว่าสีจีวรห่มอย่างไร ทำอย่างไร ดูกันขนาดนั้น แล้วท่านก็วางรากฐานแล้วพวกเราทำตามกันมา มันเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นกันมา มันก็เลยเรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องเบสิก เรื่องพื้นฐาน

    ถ้าเรื่องพื้นฐานมันก็เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่คนที่ไม่เป็นเลยเป็นเรื่องใหญ่โต เรื่องใหญ่โต ใหญ่โตตรงไหน ใหญ่โตที่ว่าสงสัยว่าปาราชิกหรือเปล่า เวลาไม่สงสัยก็ทำได้เต็มไม้เต็มมือนะ ทำด้วยความมั่นใจเลย ถ้าทำไปแล้วสิ มาย้อนหลัง ที่ทำมานี่เราผิดหรือเปล่า พอผิดขึ้นมาร้อน ร้อน ร้อนเลยนะ พอร้อนขึ้นมานี่ทำอย่างไร? ทีนี้กรณีอย่างนี้นะ นี่พูดถึงพระเขาสงสัย ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสงสัยว่าปาราชิกหรือไม่ อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ปกติบิณฑบาตทุกเช้า นี่บิณฑบาตเสร็จแล้วพระในกุฏิก็เอามารวมกัน

    นี่เอามารวมกัน อย่างนี้ถ้าเอามารวมกันแล้ว ถ้าเราหยิบมาฉันไม่เป็นปาราชิกเด็ดขาด เพราะ เพราะเราบิณฑบาตมาด้วยกัน แล้วเราเอามารวมกัน แล้วเราก็ฉันร่วมกัน คือทุกคนมีสิทธิ์ไง สมมุติว่าเราบิณฑบาตมา บิณฑบาตมาใช่ไหม นี่กรรมฐานเราก็เหมือนกันเราบิณฑบาตมา บิณฑบาตมาเสร็จแล้ว ใครต้องการสิ่งใดในบาตรที่บิณฑบาตมาเฉพาะก็เอาไว้เฉพาะ ถ้าใครถือธุดงค์ก็เอาไว้เฉพาะแค่นั้น ที่เหลือ ที่เหลือก็เข้ากองกลาง เข้ากองกลางหมายถึงว่าเราก็ไว้บนโต๊ะนี่แหละ ไว้บนโต๊ะแล้ว ถ้าโดยธรรมชาติเราก็แบ่งกัน เห็นไหม แบ่งกัน

    คำว่าแบ่งกันคือว่าทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์ของฉัน เรามารวมกันแล้วเราก็แบ่งร่วมกัน คือไม่มีเจตนา แต่ถ้ามันเป็นของคนอื่น หรือของคนอื่น ของคนอื่น ของฉันก็ไม่เป็นไร ของฉันไม่ถึงปาราชิก แต่มันไปผิดนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ไง น้อมลาภสงฆ์มาสู่ตน เป็นของกองกลาง ของสงฆ์ แล้วเราไปเอาของเขามา แต่ถ้ากองกลางของสงฆ์ กองกลางนั้นอย่างเช่นในวัดใดก็แล้วแต่ ถ้าวัดกรรมฐานเรื่องนี้ไม่เกิด ไม่เกิดเพราะอะไร? ไม่เกิดเพราะกฎกติกาเขาทำอย่างนี้อยู่แล้ว คือบิณฑบาตมาแล้วมารวมเป็นกองกลาง รวมเป็นกองกลางแล้วก็แจกกันตามอาวุโส ภันเต

    ฉะนั้น ของฉัน เห็นไหม สิทธิเรามี คือว่าไม่มีเจตนาลักว่าอย่างนั้นเถอะ มันไม่ใช่ของๆ เรา เราไม่มีสิทธิ์แล้วเราไปหยิบฉวยมาเป็นเจตนา นี้มันขาดเจตนาไง เจตนาที่ว่าเราจะไปหยิบ ไปฉวย ไปลักนี่ไม่ใช่ ไม่เป็นแบบนั้น ถ้าไม่เป็นแบบนั้น ทีนี้เข้าสู่คำถาม คำถามนี่

    ถาม : ๑. แบบนี้อาตมาต้องปาราชิกหรือเปล่า เพราะหยิบของราคาเกิน ๑ บาทให้เคลื่อนที่แล้ว อาตมายังไม่ได้ขอก่อนด้วย

    ตอบ : นี่ใช่นมกล่องหนึ่งมันเกินบาท ค่าเกินบาท แต่ถ้าเป็นของคนอื่นใช่ไหม ของคนอื่น หรือของคนอื่นที่มันมีค่าเกินบาท แล้วเราเจตนาลัก เราเจตนาลัก เราเจตนาเอาของคนอื่นที่เขาไม่ได้ให้ เรามีเจตนาไง แล้วเราไปหยิบ แล้วเราปล่อย เห็นไหม มันไม่เคลื่อนที่ นี่คำว่าของที่เคลื่อนที่แสดงว่าในปาราชิกเขาอ่านอยู่เหมือนกัน

    ฉะนั้น เขาสงสัยแล้วเขาไปค้น ถ้ามีเจตนา พอจะไปจับ แต่เรายังไม่เคลื่อนที่มันยังไม่ขาด คือไม่ครบองค์ประกอบ แต่เราเจตนาแล้วเราก้าวไปแล้วเราจับ แล้วเคลื่อนที่ ของนั้นเคลื่อนไป เราหยิบของนั้นเคลื่อน องค์ประกอบครบเลย ปาราชิก ขาดจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ โดยอัตโนมัติเลย ขาดเลย ตาลยอดด้วน แต่ทีนี้ถ้าเป็นของฉัน นี่ของที่ว่าเราบิณฑบาตมา คำว่าบิณฑบาตมา บิณฑบาตมาด้วยกัน คือกติกาไง เราตั้งกติกากันไว้แบบนี้ เราบิณฑบาตมาร่วมกันในกุฏิหลังนี้ พอกุฏิหลังนี้เราบิณฑบาตมาแล้วเราก็มารวมกัน แล้วเราก็ฉันร่วมกัน ฉันร่วมกัน เห็นไหม มันไม่มีเจตนาลักไงก็ฉันร่วมกัน แต่ถ้าเราไม่มีสิทธิ์เลย เราไม่ทำอะไรเลย แต่ไม่ทำอะไรเลยเขาเรียกว่าวิสาสะนะ คนคุ้นเคยกัน คนอยู่ด้วยกันนี่เขาเรียกว่าวิสาสะ เราเคยหยิบใช้ของด้วยกัน

    มี มีพระบางองค์เหมือนกัน เราได้ยินข่าวอยู่ เขามาปรับกันว่าองค์นั้นเป็นปาราชิก องค์นี้เป็นปาราชิก ทำไมล่ะ? เพราะว่ามันเอาเงินกองกลางไป เอาเงินส่วนกลางไป อ้าว เงินส่วนกลาง เงินส่วนกลางหมายถึงว่าพระบางองค์นะเขาอยู่กัน ๔-๕ องค์เขาไปกิจนิมนต์มาอะไรมา เขาก็จะมารวมกันเป็นกองกลางเอาไว้ใช้ร่วมกัน เวลาดีกัน รักกันก็ใช้ร่วมกัน เวลาโกรธกัน เวลาโกรธกันบอกมันเป็นปาราชิก มันจะปาราชิกตรงไหนก็เอ็งก็บอกว่าใช้ร่วมกันอยู่แล้ว เวลาดีกันก็ไม่เป็นปาราชิก แต่เวลาโกรธกันไปปรับเขาปาราชิก เอ็งไปปรับเขาเอ็งเป็นสังฆาทิเสสนะ ไปปรับอาบัติหนักโดยที่ไม่มีมูลเป็นสังฆาทิเสสเชียวมึง

    ก็ของเราตั้งใจใช้ร่วมกันตอนที่เราดีกัน แต่ตอนเราโกรธกันเราไปเอาสิ่งที่เคยใช้เอามาปรับเขาปาราชิก มันไม่มีมูล ถ้ามันไม่มีมูลนะ พระที่ไปปรับเขาเป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพราะไปปรับอาบัติ โจทย์อาบัติเขาโดยที่ไม่มีมูล แต่ถ้าเราไม่ไปโจทย์เขาเรื่องก็ไม่เกิด แต่เรื่องมันเกิดเพราะอะไร? เพราะหงุดหงิด เพราะกิเลสมันคัน พอไม่พอใจมันคัน มันคันมันจะปรับเขาแล้ว มันจะปรับอาบัติเขา ไม่รู้เลยว่าปรับอาบัติเขาตัวเองเป็นอาบัติ เพราะเราไปปรับอาบัติเขาโดยที่ไม่มีมูล นั่นกรณีหนึ่ง

    นี้กรณีที่ว่าอาตมามันเป็นปาราชิกหรือเปล่า ไม่ ไม่เพราะเริ่มต้น เพราะพระเรา ในกุฏิเรา พระในที่ของเราบิณฑบาตมาร่วมกันแล้วมาเทไว้รวมกองกลาง แล้วใครจะฉันเท่าไรก็หยิบเอาเท่านั้น แล้วแต่อาวุโสหยิบก่อน แล้วก็รองลงมาก็หยิบๆ มา แล้วที่เหลือก็ให้เด็กวัด ที่เหลือก็ให้ประชาชน อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติหรอก ไม่มีมูล ไม่มีมูลเพราะว่าเริ่มต้นเป็นอย่างนั้น

    นี้เขาบอกว่าอาตมาไปหยิบของไม่ได้บอกก่อน แล้วของมันเคลื่อนที่ด้วย ก็เราเข้าใจผิดไง นี่ไงเวลาเป็นอาบัตินะ อาบัติในธรรมวินัย อาบัตินี่ต้องอาบัติเพราะสงสัย ต้องอาบัติเพราะความไม่แน่ใจนี่สงสัยเป็นอาบัติแล้ว แล้วต้องอาบัติเพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ทำครบองค์ประกอบนั้นก็เป็นอาบัติ เป็นอาบัติเพราะเราทำครบองค์ประกอบเป็นอาบัติจริงๆ นี่เป็นอาบัติ อาบัติเพราะอาบัติหนึ่ง อาบัติเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำก็เป็นอาบัติ แล้วความสงสัย

    โดยธรรมชาติของพระนะ ถ้าเริ่มสงสัยเขาไม่ทำเลย ถ้าเริ่มสงสัยนะ ถ้าไม่สงสัยแล้วไว้ก่อน ถ้าสงสัยแล้วขืนทำเป็นอาบัติเลย เพราะสงสัยแล้วทำ นี่พระพุทธเจ้าถึงตรัสตรงนี้ไว้ให้พระเรานี่สะอาดบริสุทธิ์ ให้พระเราภาวนาได้ง่าย ให้พระเราไม่มีตะกอนอะไรในใจ แล้วไปสงสัยแล้ว ไปสงสัย สงสัยอย่าทำสิ สงสัยขืนทำ ผลัวะ! เลย ผลัวะตรงไหน? ผลัวะตรงสงสัยนี่ เพราะเราสงสัย เราลังเล ลังเลนี่ขืนทำไป ขืนทำไปเป็นอาบัติเลย แต่ถ้ามันรู้จริงนะมันไม่เป็นอาบัติ เพราะเราทำร่วมกันมา ไม่เป็นอาบัติเราก็ทำของเราเต็มที่เลย แต่ถ้ามันสงสัย แต่อันนี้เขาทำกันแล้ว แล้วอาตมาถามอาตมา

    อาตมาเขาเขียนมาถามอาตมานะ อาตมาสงสัยแล้วถามอาตมา อาตมาโดยที่ว่าไม่มีส่วนร่วมอยู่ด้วย อาตมาโดยข้อมูลไม่เป็น ไม่เป็นหรอก เพราะอะไร? เพราะเราบิณฑบาตมาร่วมกัน แล้วเรามารวมกัน แล้วเราจะแบ่งกันฉัน ฉะนั้น แบ่งกันฉันเขาป่วยเราก็ขึ้นไปก่อน แล้วเจตนาของเรา เราไปหยิบโดยไม่ได้ขอ ก็มันของรวมกันแล้วจะแจก ก็เขามากินร่วมกันทำไมต้องไปขอล่ะ? ขอก็ได้ ไม่ขอก็ได้ ถ้าขอก็ดี เห็นไหม ถือว่ามีมรรยาท หลวงพี่อาวุโสขอเนาะ เราเป็นผู้น้อยขอผู้ใหญ่ เออ อย่างนี้เราก็ว่ามันเป็นมรรยาท แต่โดยที่ว่าไม่ได้ขอแล้วเราเจตนามาแบ่งกันแล้ว

    เราเจตนาแบ่งกันแล้วไง เราเจตนามารวมกองกลางแล้วเราแจกกัน รวมกองกลางแล้วแจกกันมันไม่มีอาบัติ ไม่มี เพียงแต่ว่าเพราะเราแบบว่ายังงูๆ ปลาๆ ยังงงๆ อยู่ไง ก็ไปอ่านในวินัยมุข อ่านมหาขันธ์ ไปอ่านมหาขันธ์ก็บอกว่ามันเคลื่อนที่ หยิบเคลื่อนที่ อันนั้นเขาบอกว่าของที่ว่าของคนอื่น สิทธิของคนอื่นแล้วเราไปจับของเขา เรามีเจตนา ต้องมีเจตนาลัก เจตนาจะเอาของที่มีเจ้าของโดยเจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีเจตนา แต่นี่มันไม่ได้เจตนา มันเจตนาคือวิสาสะกันอยู่แล้ว ของอยู่ร่วมกัน วิสาสะร่วมกัน เราก็หยิบใช้ด้วยกัน อันนี้เจตนามันก็เบาลงแล้ว มันไม่ครบองค์ประกอบแล้ว

    ฉะนั้น คำว่าปาราชิกไม่มี เรื่องนี้ไม่เป็น แต่เวลาที่เขาเป็นกันเขาไม่คิด แต่ไอ้เรื่องนี้ไอ้เรื่องดำรงชีวิต ไอ้เรื่องความเป็นอยู่เราไปห่วงเรื่องปาราชิก แต่ที่เขาทำกัน เจตนาที่ไปหลอกลวงกัน เจตนาที่ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ นี่จะไปให้คนเชื่อในฤทธิ์ ในเดช นั่นล่ะเป็นทำไมมันไม่คิด เวลาเขาไปโฆษณาชวนเชื่อกันไม่คิด แต่เวลาความสะอาดบริสุทธิ์เฉพาะตนของเราเรากลับคิด นี่ยังพระบวชใหม่ เพราะ เพราะตอนนี้อาตมาอายุ ๒๒ เพิ่งบวชใหม่ เพิ่งบวชใหม่มันยังสะอาดบริสุทธิ์ เวลาพระออกจากโบสถ์ทุกคนก็อยากทำบุญมากเลย เพราะถือว่าออกจากโบสถ์สดๆ ร้อนๆ มันสะอาดบริสุทธิ์ไง ใครๆ ก็อยากจะทำบุญกับพระที่สะอาดบริสุทธิ์ ตอนนี้อาตมาอายุ ๒๒ เพิ่งบวชใหม่มันก็เลยมีความคิดที่สะอาดบริสุทธิ์ มันก็มีความอย่างนั้น

    ฉะนั้น ข้อที่ ๑ ว่า

    ถาม : ๑. อาตมาต้องปาราชิกหรือเปล่า เพราะหยิบของราคาเกิน ๑ บาทให้เคลื่อนที่แล้ว อาตมายังไม่ได้ขอก่อนด้วย

    ตอบ : ของมีค่าเกินบาท แต่เป็นของที่บิณฑบาต เป็นของที่บิณฑบาตมาเลี้ยงชีพ ของที่บิณฑบาตมาขบฉัน ขบฉันร่วมกัน มันเริ่มต้นจากที่มา ที่มาเราบิณฑบาตมาร่วมกัน เราทำมาร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ทำอะไรกับเขาแล้วเราไปหยิบของเขา อันนั้นแหละมีส่วน แต่ถ้าอันนั้นเราไม่ได้บิณฑบาตกับเขา เราเจ็บไข้ได้ป่วยเขาบิณฑบาตมา แต่เราเคยบิณฑบาตร่วมกัน เราถือวิสาสะว่าเราเป็นหมู่คณะกัน วิสาสะว่าใช้ร่วมกันได้ มันก็มีวิสาสะอีก วิสาสะก็หยิบใช้ร่วมกัน อะไรร่วมกัน อย่างนี้ไม่มี แต่อย่าโกรธแล้วมาปรับทีหลังนะ ปรับทีหลังมันก็ไม่ใช่ มันคนละวาระ มันไม่เกี่ยวกันหรอก มันอยู่ที่คนมันอารมณ์บูดนั่นล่ะ เวลามันบูดแล้วมันก็จะไปล่อคนอื่นนั่นแหละ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

    ถาม : ๒. ถ้าหยิบนมมาก่อน (ตอนแรกยังไม่ได้ขอ) แล้วมาขอหลวงพี่เพื่อฉันทีหลัง ซึ่งหลวงพี่แกก็ให้ แบบนี้จะมีอาบัติหรือไม่

    ตอบ : มันไม่มีเหมือนข้อแรก มันไม่มีอยู่แล้ว เพราะว่าจะไปขอไง เพราะเราไปติดตรงนี้เองไง เราติดว่าสิทธิเป็นของหลวงพี่ที่บิณฑบาตมา แล้วท่านวางไว้ แล้วท่านป่วยท่านไปนอนก่อนใช่ไหม จิตใจเราติดว่าสิทธิอันนี้เป็นของเขา ใช่มันเป็นของเขาจริงๆ โดยมรรยาท แต่การที่เราดำรงชีวิตกันมา เราบิณฑบาตมารวมกัน แล้วปกติเราก็ฉันร่วมกัน ถ้าเขาไม่ไปนอน นมนั้นเขาก็ยกให้เรา ก็กินด้วยกันมันก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่เขาป่วยเขาไปนอน

    ฉะนั้น ไปนอนปั๊บ ตอนแรกยังไม่ได้ขอใช่ไหม นี่เขาไม่ได้ขอข้อแรก ข้อที่ ๒ แล้วถ้าไปขอทีหลังแล้วแกให้ล่ะ? เพราะไปขอทีหลัง หยิบไปก่อนแล้วเขามาอนุญาตทีหลังไง ข้อที่ ๒ เขาคิดอย่างนี้ไง คิดว่าเวลาไปหยิบก่อนแล้ว นมนี่มันเคลื่อนที่แล้ว แล้วไปขอแล้วถ้าเขาให้ เขาให้ ขณะเขาให้แล้วนี่ยังติดใจไง ถึงเขาให้เป็นอาบัติหรือเปล่า เออ ถ้าไปขอทีหลังแล้วเขาให้เป็นอาบัติหรือเปล่า เพราะว่าไปขออนุญาตทีหลังไง คือทำสำเร็จแล้วถึงไปขอเขา

    นี่ความคิดไง คือเหตุการณ์มันทำสำเร็จแล้วถึงไปขอเขา แล้วอย่างนี้เป็นอาบัติหรือเปล่า ถ้าอย่างนี้ตามกฎหมายผิด ผิดตามกฎหมาย เพราะความผิดมันสำเร็จแล้ว แต่อันนี้มันเริ่มต้นไง เริ่มต้นความผิดมันสำเร็จแล้ว สำเร็จแล้วอย่างไรล่ะ? ความผิดเริ่มต้นมันไม่มีความผิด เพราะเจตนาเรามารวมกันอยู่แล้ว เพราะเรามารวมกันแล้วฉันร่วมกันอยู่แล้ว ทีนี้กติกามันเป็นแบบนี้ไง แต่ถ้าเรายังเป็นสิทธิของเขา เราเก็บไว้ให้เขา เพียงแต่ว่าจิตใจของเรามันโลเลเอง มันสงสัยเอง สงสัยเพราะเราไปอ่านว่าถ้าหยิบของเคลื่อนที่ หยิบของเขาก่อน พอเคลื่อนที่แล้วโดยเจตนาลัก แต่นี้เรามีเจตนาลักหรือเปล่า

    ถ้าสมมุติว่ามันก็มีเหมือนกันเพราะอยากกิน มันอยากได้นมกล่องนี้ อันอื่นไม่เอาอยากได้อันนี้ มีเจตนาอยากได้อันนี้ ถึงมีเจตนาแต่มันก็มีที่มาว่าเราบิณฑบาตมาร่วมกัน มาฉันร่วมกันนี่ไง เพียงแต่ว่าเป็นสิทธิของเขา นี่เวลาเราไปบิณฑบาตมามันมีกรณีอย่างนี้ เวลาพระที่อยู่ด้วยกันมันจะมีแบบนี้ มีแบบนี้ นี่เวลาผู้นำถึงต้องเป็นธรรม อยู่กับหลวงตานะเวลาบิณฑบาตมาบางทีแจกจากข้างหน้าไปข้างหลัง บางทีแจกจากข้างหลังไปข้างหน้า คนเราไปอยู่ในป่าในเขานะ อดแล้วมันถึงอยาก ไม่อด ไม่อยาก ไม่ทุกข์ ไม่ยาก เวลามันอดมันอยากที่มันอัตคัดขาดแคลน อะไรๆ มันก็มีค่าไปหมด

    ถ้ามีค่าไปหมด ถ้าเราเป็นธรรมนะ มีน้ำใจต่อกันนะ ถ้ามีน้ำใจต่อกันทุกอย่างราบรื่นหมด แต่ถ้าใครเห็นแก่ตัวนะ ความเป็นอยู่ คนที่ด้อยกว่าเขาจะน้อยใจ พอคนน้อยใจความคิดมันร้อยแปด ความคิดมันปิดกั้นกันไม่ได้ ความคิด โอ้โฮ ร้ายกาจมากเลย แต่ถ้าเราเห็นว่าหัวหน้าเป็นธรรม ครูบาอาจารย์เราเป็นธรรม ท่านเสมอภาคมันภูมิใจ ถ้ามันเสมอภาคมันดีหมด แต่ถ้ามันไม่เสมอภาคนะมันคิดมาก

    ฉะนั้น กรณีนี้เหมือนกัน กรณีที่ว่าความผิดมันสำเร็จแล้ว ถ้าคิดทางกฎหมายมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทางกฎหมายเป็นเรื่องของกฎหมาย กฎหมายมันเป็นสิทธิทางวิทยาศาสตร์ ทางโลก แต่อย่างนี้มันเป็นเรื่องนิสัย เป็นพระขอนิสัย เป็นความอยู่ด้วยกัน คนอยู่ด้วยกัน คิดอยู่ด้วยกันนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

    ฉะนั้น กรณีนี้เราก็ยังบอกว่าไม่อยู่เหมือนเดิม ไม่เหมือนเดิมเพราะว่าที่มา ที่มาที่ว่าพระในกุฏิ ภายในกุฏินี้เอาของที่โยมใส่บาตรมารวมกัน นี่เขาถือกติกานี้ไง เราถือกติกานี้ว่าเราใช้ร่วมกัน พอใช้ร่วมกันแล้ว คนเคยทำอยู่ทุกวัน แล้ววันนี้พอดีท่านป่วยแล้วเราไปหยิบเข้า แต่เพราะเราไปศึกษามา ไปศึกษามาว่าหยิบของเคลื่อนที่แล้วเรากลัว เราคิดแง่เดียวไง แต่เราไม่คิดที่ว่ากติกาที่ตั้งไว้ กติกาที่ตั้งไว้มันเปิดหมดแล้ว พอมันเปิดหมดแล้วมันก็ไม่มีการทำผิด นี้เพียงแต่เราก็ยังติดใจอยู่ดี ติดใจนี่ให้ศึกษาแล้ววางใจให้ดี

    นี้มาข้อนี้ ข้อนี้มันถึงจะเป็นประเด็น ประเด็นอยู่ที่ข้อนี้ต่างหาก

    ถาม : (ปกติพระในกุฏิอาตมาจะฉันพวกนมและน้ำที่อยู่ในตู้เย็นของกันโดยไม่ค่อยขอกันก่อน คืออะไรอยู่ในตู้เย็นเหมือนของส่วนรวม) ถ้าเป็นแบบนี้การหยิบน้ำหรือนมของพระรูปอื่นมาฉันโดยที่ไม่ได้ขอก่อน พระในกุฏิอาตมาก็ต้องเป็นปาราชิกทุกรูปเลย

    ตอบ : นี่เขาคิดเลยเถิดไปเลย เรื่องปาราชิกเราไม่ฟันธงถึงปาราชิก แต่ แต่เราจะพูดถึงเรื่องสันนิธิ อาหารแรมคืน มีเรื่องสันนิธิ เรื่องสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เวลาพระเรานะมันจะมีเรื่องนี้ เรื่องกาลิก อันนี้มันจะยุ่ง มันยุ่งๆ เรื่องกาลิกมันก็เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์นี่มี แล้วมีเยอะด้วย มีเยอะเพราะอะไร? เพราะของมันสะสม สะสมไว้ในตู้เย็น กินแล้วมันมีอายุ น้ำปานะมันก็ชั่วเช้าถึงบ่าย แล้วถ้าเป็นพวกน้ำอัดลมมีน้ำตาลนี่ ๗ วัน อายุถ้าเกิน ๗ วัน ถ้าเกิน ๗ วันยังฉันอยู่มันก็เป็นอะไรนะ มันเป็นสันนิธิ ของหมดอายุไง กินของหมดอายุ ของที่พอหมดอายุแล้วพระฉันไม่ได้ ถ้าฉันแล้วเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน ถ้าเป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืนมันจะเป็นตรงนั้น

    แต่นี่ก็อีกแหละ เพราะนี่พูดตามพระไตรปิฎก ตามธรรมวินัย ทีนี้ตามธรรมวินัย เพราะว่าตามธรรมวินัยมันพูดแล้วนะ ถ้าพระปฏิบัติโดยทั่วๆ ไปอย่าว่าแต่ธรรมยุตเลย มหานิกายก็เหมือนกัน สายหลวงปู่ชายิ่งกว่านี้อีก สายหลวงปู่ชาก็มหานิกายนะ เดี๋ยวนี้พระมหานิกายเขาถือเคร่งเยอะแยะไป พระมหานิกายที่เขาไม่หยิบสตางค์เยอะแยะ อย่าอ้างว่ามหานิกาย ธรรมยุต ต้องอ้างเรื่องธรรมวินัย เพราะมหานิกายที่ว่าปฏิบัติเคร่งกว่าธรรมยุตเยอะแยะไป สายหลวงพ่อชาทั้งสายก็มหานิกายทั้งนั้นแหละ

    ฉะนั้น อ้างว่ามหานิกาย ธรรมยุตไม่ได้ ต้องอ้างว่าธรรมวินัยๆ นี้เพียงแต่ว่า เพียงแต่ว่าบางอย่าง บางข้อมหาเถรสมาคมเขาอะลุ่มอล่วยให้คือยกเว้น ยกเว้นเรื่องกฐินเขาก็ยกเว้นขึ้นมา เรื่องขบ เรื่องฉันบางอย่างเขายกเว้นๆ นี้ยกเว้นมันเรื่องที่เขายกเว้นที่เถรสมาคม แต่พระไตรปิฎกเขาไม่ได้ยกเว้น พระไตรปิฎกมันเป็นสากล สากลเพราะมันมีสมาคมบาลีไวยากรณ์ของโลก สมาคมบาลีไวยากรณ์ของโลก ทุกชนชาติในโลกนี้เขาดูบาลีไวยากรณ์ เขาดูคำบัญญัติในพระไตรปิฎก ในบาลี

    ฉะนั้น ในบาลีอย่างนั้นคือกฎหมายมันยังมีอยู่ กฎหมายมันยังบังคับใช้อยู่ แล้วใครจะยกเลิก ไม่ยกเลิก อย่างนี้มันถึงเป็น ดูสิมหายานทำตามครูบาอาจารย์ มหายาน เถรวาท หีนยาน แล้วในมหายานมันวัชรยาน มันยังมีแยกเข้าไปอีก ในวัชรยานทิเบตก็มีหมวกเหลือง หมวกแดง เห็นไหม หมวกเหลืองก็ถือไปอย่างหนึ่ง หมวกแดงก็ถือไปอย่างหนึ่งไง นี้อาจริยวาทถือปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ไง แล้วเราก็ชอบกันไง ปล่อยว่างไง โอ๋ย ลัดสั้นไง

    ลัดสั้นอย่างนั้น ดูสิใส่กางเกงอยู่นู่นลัดสั้น นี่ถ้าศึกษาไปๆ มันถึงจะเข้าใจไง ไอ้เรื่องธรรมวินัย แต่ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติบรรลุธรรมแล้วบรรลุธรรมเหมือนกัน ถ้าบรรลุธรรมได้นะ แต่เขาบรรลุธรรมได้จริงหรือเปล่าล่ะ? ถ้าบรรลุธรรมได้จริงหรือไม่จริงเราก็เอามาใช้กันไง พระเราเอามาใช้กันโดยฟั่นเฝือนไง เรามีสิทธิศึกษานะ การศึกษานี่เป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละ การศึกษา แล้วลัทธิความเชื่อเราควรศึกษา ศึกษาแล้ว ศึกษาแล้วเข้าใจ ศึกษาแล้วเราก็มาวิจัย วิเคราะห์วิจัยว่าอะไรมันถูกต้อง ถ้าอะไรมันถูกต้องแล้ว เราต้องเอาความถูกต้อง เอาความดีงามใช่ไหม ทุกคนเอาแต่ความจริง ทุกคนไม่เอาความผิดพลาด ทุกคนไม่เอาความไม่จริงหรอก

    ฉะนั้น สิ่งที่โลกเขาเป็นกันอยู่อย่างนี้ ถ้าพูดเรื่องนี้แล้วมันกระจายไปทั่วเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันเป็นทิฐิไง ทิฐิเสมอกัน นี่สัปปายะ ๔ ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน หลวงปู่มั่นท่านคัดกรองของท่าน ถ้าทิฐิไม่เสมอกันท่านขับออกจากวัดทั้งนั้นแหละ ถ้าจะเข้ามาปฏิบัติแล้วต้องทิฐิเสมอกัน มีความเห็นเสมอกัน มีความเข้าใจเสมอกัน ถ้าเสมอกันก็ถือวินัยอันเดียวกัน ถือกติกาอันเดียวกัน ความเป็นอยู่มันก็ร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าใครไม่ถืออย่างนี้

    ดูสิหลวงตาท่านเล่ามีพระองค์หนึ่ง หลวงปู่มั่นท่านบิณฑบาตกลับมา แล้วมันมีน้ำตาลมันอยู่ในถุง ท่านบอกว่าอันนี้เก็บไว้ฉันเป็นสัตตาหกาลิกได้ ทีนี้มันบิณฑบาตมาตอนเช้าไง แต่มันอยู่ในถุง คือมันส่วนแยกมันไม่คลุกเคล้ากัน กาลิกถ้ามันคลุกเคล้ากัน ถ้ามันคลุกเคล้ากันเขาให้นับอายุสั้นที่สุด อย่างเช่นถ้าเป็นกาแฟ กาแฟหรือกาแฟดำ ถ้ามามันมีส่วนผสมของน้ำตาล เขาก็ให้คิดว่าน้ำตาล ๗ วัน

    กาแฟเขาให้ตลอดชีวิต แต่ถ้ามีส่วนผสม กาแฟที่มีผสมนมมาฉันได้เฉพาะตอนเช้า เพราะนมถือว่าอาหาร ถ้ามันผสมกันเขาให้นับตัวอายุสั้นที่สุด ทีนี้พอสิ่งที่มันไม่ผสมกัน พอไม่ผสมกันท่านก็แยก มีพระคิดในใจเลยนะ นี่หลวงตาพูดบ่อย หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็เล่าให้ฟังว่าพระองค์นั้นก็คิดเลย โอ้โฮ หลวงปู่มั่นชื่อเสียงคับฟ้าเลย แค่เรื่องสันนิธิท่านยังไม่รู้อีกหรือ? ท่านยังไม่รู้อีกหรือว่าสันนิธิ ก็ศึกษามาอย่างนี้ นี่ที่ว่าในเมื่อฐานขยับแล้วมันต้องขาดปาราชิก

    นี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่มั่น อู้ฮู มีชื่อเสียงดังคับประเทศไทย อู๋ย ไม่รู้จักสันนิธิอีกหรือ? หลวงปู่มั่นกลางคืนท่านภาวนา ท่านกำหนดดูว่าพระนี่ใครเพ่งโทษท่าน พอเช้าขึ้นมาท่านก็พูดเลย ไหนมันมีไอ้นักปราชญ์มาจากไหน? ไอ้ที่มีความรู้มากมาดูถูกผู้เฒ่า ว่าผู้เฒ่าไม่รู้จักสันนิธิ องค์ไหน? องค์ไหน? แล้วท่านก็ยังขู่อีกนะ เดี๋ยวคืนนี้เอาให้ชัดอีกองค์ไหน ท่านรู้แล้วแหละ คือท่านจะให้คนนั้นสำนึกตัว นี่ไงทิฐิเสมอกัน พอรุ่งขึ้นเอาอีก ซัดเข้าไปอีก พระองค์นั้นต้องมาขอขมา

    ถ้าทิฐิมันไม่เสมอกัน เพราะว่าอะไร? เพราะว่ามันไม่ได้คลุกเคล้ากัน มันใส่ถุงมา พอใส่ถุงมา ถุงนี่นะมันใส่ถุงมามันไม่ได้คลุกเคล้ากัน แต่มันได้มาตอนเช้าคือบิณฑบาตมาเป็นอาหาร แต่สิ่งนี้มันไม่มีส่วนผสม มันไม่มีส่วนของอาหารปนไง มันก็เลยเป็นสัตตาหกาลิกได้ ท่านก็เอาให้แยกไว้ ถ้าใครจะแยกไว้ฉันน้ำอ้อย ใครจะแยกไว้ฉันเป็นสัตตาหกาลิกก็ได้ ไอ้พระที่มันคิดแบบรวบรัดมันก็บอกว่า อู้ฮู ขนาดนี้เนาะ มีชื่อเสียงขนาดนี้ยังไม่รู้จักสันนิธิอีกเนาะ เราไปคิดกันเอง เราไปจินตนาการ เราไปคาดหมาย แต่เราไม่รู้เหตุผลข้อเท็จจริงว่ามันเป็นหรือไม่เป็น มันจริงหรือไม่จริง เพราะเราไม่มีประสบการณ์ไง

    นี่ถ้ามันเป็นมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นคือเป็นสันนิธิ คือมันหมดอายุ เห็นไหม ของที่อยู่ในกุฏิ โดยปกติกุฏิอาตมาจะฉันนม น้ำ ของอยู่ในตู้เย็นโดยที่ไม่ได้บอกกันก่อน คืออะไรอยู่ในตู้เย็นเหมือนของส่วนรวมก็ฉันกันไป ไอ้ของส่วนรวม ไอ้ฉันที่ว่าสิทธิของคนอื่น ถ้าเราวิสาสะก็จบ แต่นี้พอมันวิสาสะแล้วสิ่งที่เก็บไว้ในตู้เย็น ถ้าเราเป็นเจ้าของหรือใครเป็นเจ้าของเขาก็จะรู้ว่าเอาเข้าเมื่อไหร่ เอาออกเมื่อไหร่ ถ้าเขายังเคารพธรรมวินัยอยู่นะ ถ้าเขาไม่เคารพธรรมวินัยเขาก็มั่วของเขาไปเรื่อย พอมั่วไปเรื่อยมันก็เศร้าหมอง

    วินัยนี่นะมันมีเศร้าหมอง มันมีเศร้าหมอง มันมีทะลุ แล้วมันก็ขาด เริ่มต้นถ้าความสำเร็จเราไม่สำเร็จมันก็เศร้าหมอง ของที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ของที่มันดีงามมันก็เริ่มเศร้าหมอง พอเศร้าหมองปั๊บ พอศีลเราเศร้าหมองความรู้สึกเรามันก็เฉา พอเราเศร้าหมอง การทำสิ่งใดมันทำแล้วมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าศีลเราบริสุทธิ์ใช่ไหม เราองอาจกล้าหาญ เราทำสิ่งใดมันก็แจ่มแจ้งใช่ไหม แต่ถ้ามันเศร้าหมอง ดูสิเรานั่งสมาธิกัน เราสงสัยในพฤติกรรมของเรา เราสงสัยในตัวเรานี่ภาวนาลงไหม? ไม่ลงหรอก เราต้องสะอาดบริสุทธิ์ไง

    ฉะนั้น ของอย่างนี้กรรมฐานเขาไม่มี หลวงตาท่านไม่ให้มีไฟ ไม่ให้มีไฟฟ้า ไม่ให้มีตู้เย็น ท่านบอกมีตู้เย็นแล้วมันจะอ่อนแอ ต่อไปพระจะฉันน้ำธรรมดาไม่ได้ต้องฉันน้ำในตู้เย็น ฉันน้ำธรรมดาไม่ได้เพราะมันไม่ชื่นใจ ต้องฉันน้ำเย็นมันถึงชื่นใจ อย่างนี้มันก็ออกธุดงค์ไม่ได้ เพราะไม่มีใครเอาตู้เย็นไปตั้งไว้ข้างหน้า พอไปกลางแดด กลางฝนแล้วมันไม่มีตู้เย็น นี่เหตุผลของหลวงตาที่ท่านไม่ให้มีไฟฟ้า ไม่ให้มีตู้เย็น เพราะอะไร? ท่านกลัวพระอ่อนแอ พระเรานี่จะอ่อนแอ จะไม่มีความมุมานะ จะไม่มีความจริงจัง แล้วพออ่อนแอไปมันก็จะเสียหาย

    ฉะนั้น ข้อนี้ต่างหากที่เรามองนะ ฉะนั้น บอกว่า

    ถาม : ปกติพระในกุฏิอาตมาจะฉันพวกนมและน้ำที่อยู่ในตู้เย็นของกันและกันโดยที่ไม่ต้องขอกันก่อน คืออะไรอยู่ในตู้เย็นเหมือนของส่วนรวม ถ้าเป็นแบบนี้ ถ้าหยิบน้ำหรือนมของพระรูปอื่นไปฉันโดยที่ไม่ได้ขอก่อน พระที่กุฏิอาตมาต้องเป็นปาราชิกทุกรูปเลยหรือ?

    ตอบ : นี่ความเห็น เขาไปมองที่ปาราชิก ไปดูที่โทษหนัก แต่เขาไม่ได้มองที่ ปาราชิกแล้วนะมันมีอาบัติหนัก อาบัติเบา อาบัติที่เบาๆ นี่แหละ แม้แต่ทุกกฏ ทุกกฏคือความชั่วหยาบ ทุกกฏ เห็นไหม ทุกกฏปาจิตตีย์ แล้วก็นิสสัคคิยปาจิตตีย์ สังฆาทิเสส อนิยศ ๒ สังฆาทิเสส แล้วก็ปาราชิก นี่เวลาวินัยหนัก วินัยเบา

    ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นปาราชิกเราว่าไม่เป็น แต่สิ่งที่ว่าเป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ของที่หมดอายุ แล้วอย่างที่ว่าของที่ประเคนหรือไม่ได้ประเคน ของที่ประเคนแล้วเวลาคนเอาเข้าตู้เย็น แล้วตู้เย็นนะใครไปจับต้องเข้า หรือว่าถ้าเป็นอนุปสัมบัน มาจับต้องเข้า แล้วรู้หรือไม่รู้ ของที่ไม่ได้ประเคน ของไม่ได้ประเคนแล้วเราฉันเข้าลำคอแต่ละคำกลืนเป็นอาบัติทุกคำกลืน นี่มันเป็นการดำรงชีวิต พระที่ดำรงชีวิตแบบนี้แบบมีตู้เย็น แบบมีของกลางอะไรนี่ มันที่รักษาไว้ ถ้ามันเป็นส่วนรวมแล้วมีโยมอุปัฏฐากดูแลนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่นี้มันเป็นของเรา เวลาเราหยิบใช้โดยที่อายุเรารู้ ไม่รู้ เพราะของมันเยอะไง ของมันเยอะบอกว่าพระทุกรูป โดยอย่างนี้ไม่ขอกัน พระในกุฏิอาตมาต้องปาราชิกทุกรูปเลยหรือ?

    ฉะนั้น ถ้าเขามีความเชื่ออย่างนั้น เขามีความเห็นอย่างนั้น นี่ก็สังคมอย่างนั้น นี่พูดถึงสังคมนะ แต่เวลาเราพูดถึงกรรมฐาน กรรมฐานเราไม่ได้ทำอย่างนั้น นี้กรรมฐานเรา ตอนนี้เราก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่ากรรมฐานไม่ทำแบบนั้น ตอนนี้ไม่กล้าพูดว่ากรรมฐานไม่ทำแบบนั้น แต่สมัยที่เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ท่านไม่พาทำแบบนั้น สมัยนี้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ สมัยหลวงตานะท่านบอกว่าถนนหนทางมันแทบไม่มีเลย ไปไหนต้องเดินทั้งนั้น ก้าวออกถนนไปคือป่าทั้งนั้น มันมีแต่ป่ากับเขา มันไม่มีของอย่างนี้มาอยู่แล้ว แล้วพอต้องการสิ่งใดมันต้องแสวงหาเอาในป่าในเขานั่นแหละ มันไม่มี มันไม่มีมันก็ตัดความกังวล

    แต่ในปัจจุบันนี้มันมีถนนหนทาง มันมีผู้นับถือศรัทธา เขาส่งไปรษณีย์เข้าไป เขาส่งของอะไรเข้าไป เขาส่งเข้าไป ถ้าผู้ที่เป็นธรรมเขาก็บริหารจัดการ เห็นไหม บริหารจัดการคือว่ามันเป็นธรรมไง เป็นธรรมที่ว่ามีอายุขัยเท่าไร มีเท่าไร นี่เขาแยกแยะของเขา มันเป็นของส่วนรวม เป็นของกลาง นี่ถ้าเป็นกองกลางนะแล้วเขาก็ใช้สอยไปในความถูกต้องดีงาม แต่ถ้าคนเราอ่อนแอมันก็จะแสวงหาเพื่อคิดว่ามันจะเป็นความสะดวก แต่ไม่สะดวกหรอก มันคิดว่าเป็นความสะดวก เพราะต้องไปบริหารจัดการมันยิ่งยุ่งใหญ่ แต่ถ้ามันไม่ต้องบริหารจัดการมันไม่มี

    เช้าบิณฑบาตมา มีอย่างไรฉันอย่างนั้น จบ สบาย แล้วภาวนาดีด้วย เช้าขึ้นมาข้าวเปล่าก็คือข้าวเปล่า สบาย เช้าขึ้นมาได้อะไร ก็แค่นั้นแหละจบ แต่จิตใจเราอ่อนแอเราทำกันไม่ได้ พอทำไม่ได้มันก็เป็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นแบบนี้ถึงบอกว่าไม่กล้าพูดว่ากรรมฐานจะไม่ทำกันแบบนั้น ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดไง มีผู้ศรัทธาไปหาหลวงตาบอกว่าได้ศึกษาว่าลูกศิษย์หลวงปู่มั่นน่าเคารพศรัทธามาก หลวงตาท่านพูด เราเชื่อมั่น นี่คำพูดของหลวงตานะ เราเชื่อมั่นมากว่าในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่ว รวมทั้งลูกศิษย์หลวงปู่มั่นด้วยมีทั้งดีและชั่ว ไม่ใช่ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นแล้วมันจะดีไปหมด ติดยี่ห้อไปแล้วมันจะเป็นคนดีไปหมดไม่ใช่ ยี่ห้อคือยี่ห้อ แต่ความดี ความชั่วคือพฤติกรรม การกระทำ

    ฉะนั้น สังคมพระมันเยอะขึ้นมามันก็ต้องมีดีและชั่วปนกัน ถ้าองค์ไหนทำดี สาธุเขาขอให้ดีๆ ขอให้เจริญรุ่งเรืองไป ถ้าองค์ไหนชั่วเขาก็แสวงหาบาปกรรมของเขา นี้เราพูดเป็นกลาง เราพูดเป็นสัจจะ เราพูดเป็นความจริง ฉะนั้น เราตอบพระที่สงสัย ถ้าพระสงสัย เราก็เคยสงสัยอย่างนี้มาก่อน บวชใหม่ๆ นี่งงมาก พอบวชใหม่ๆ มา เพราะอะไร? คฤหัสถ์ไง ฆราวาสธรรม เราศึกษาธรรมมานี่ธรรมของฆราวาส แค่ความเป็นอยู่ของเราเรายังอึดอัดเต็มที่เลย

    นี่ธรรมของฆราวาสนะ ไม่ใช่ธรรมของนักบวชนะ แล้วธรรมของนักบวชเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วธรรมของพระอริยเจ้า ธรรมของพระอริยเจ้านี่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบ ไม่คลำ ไม่ลูบ ไม่คลำในศีล ในธรรมเลย สีลัพพตปรามาส มันละเอียดขึ้นไปแล้วใครจะไม่สงสัย เราก็สงสัย ใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้แหละ เราบวชพรรษาแรกก็เป็นอย่างนี้แหละ หัวปั่นเลย ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านบวชพรรษาแรก นี่ไปสูบบุหรี่ โอ๋ย สูบบุหรี่ได้อย่างไรเป็นอาบัติ มันยังไม่พินทุอธิษฐาน สูบบุหรี่ แล้วอธิษฐานอย่างไรล่ะ? ควันถมดั้ง อธิษฐานอะไร คือบุหรี่มันไม่ต้องอธิษฐานไง

    นี่เวลาพระที่เขาหยอกกัน เขาเล่นกัน เขาหยอกเล่นกันในวงการพระ นี่ความหยอกเล่นก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงคนที่ไม่รู้มันก็ทำให้สงสัยอย่างนี้ เราก็เคยเป็นแบบนี้ นี่หญ้าปากคอก ฉะนั้น กรณีนี้มันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเราศึกษาแล้วเราค้นคว้า เราใฝ่ดีไง ฉะนั้น เขาถามมามันก็เป็นโอกาสที่ได้พูด ถ้าเขาไม่ถามมาก็เป็นโอกาสที่ไม่ได้พูด เพราะพระผู้ใหญ่ทุกๆ องค์มาเขาก็เป็นแบบพระองค์นี้มาเหมือนกัน

    พอบวชใหม่ๆ ขึ้นมามันก็บวชมาจากฆราวาส บวชมาจากมนุษย์ บวชมาจากคน มันจะไปรู้เรื่องอะไรของพระได้อย่างไร? แต่มันขอนิสัยจน ๕ พรรษาขึ้นไปเขาเรียกว่าได้นิสัย พอพ้นขึ้นไป พอได้นิสัยแล้วมันก็รู้เรื่องธรรมวินัยขึ้นไป มันก็เป็นครูบาอาจารย์เป็นหลักให้สอนคนต่อไป แล้วถ้าปฏิบัติได้เป็นจริงขึ้นมา มีคุณธรรมในหัวใจมันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้หมดเลย เข้าใจเรื่องทิฐิมานะ เข้าใจเรื่องจริตของใจ เข้าใจเรื่องกิเลส เข้าใจเรื่องต่างๆ แล้วก็ดูจริตนิสัยของคน แล้วเราพยายามแนะนำชี้นำเพื่อให้ทุกๆ คนเป็นคนดี เพราะเราปรารถนาดี เราแสวงหาความดี เราต้องการความดี เราพูดเพื่อความดี เราไม่ได้พูดเพื่อยกตนข่มท่าน ไม่ได้พูดเพื่อเหยียบย่ำใคร ไม่ได้พูดเพื่อใดๆ ทั้งสิ้น พูดเพื่อสัจธรรม เอวัง



    กดฟังเสียงเทศน์ครับ
    http://www.sa-ngob.com/media/audio/y57/05/a11-05-57am.mp3
     

แชร์หน้านี้

Loading...