พระโพธิสัตว์บารมีสูง

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย สาวกพระโพธิสัตว์, 23 กุมภาพันธ์ 2005.

  1. สาวกพระโพธิสัตว์

    สาวกพระโพธิสัตว์ บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    " พระโพธิสัตว์" คือ ผู้ซึ่งจะได้มาตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต ท่านอธิษฐานจิตถึงพระพุทธภูมิ ทุ่มเทปฏิบัติธรรม ช่วยผู้อื่นทั้งทางโลกและทางธรรม สะสมบารมี ๑๐ ทัศ ทุกๆคนเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทั้งนั้น ถ้าหากว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้มีจิตเมตตาประจำใจ ทำแต่คุณประโยชน์ช่วยเหลือคนทุกข์ยาก ไม่ประพฤติเบียดเบียนสนับสนุนผู้อื่นในทางผิดศีลธรรม


    คุณธรรมหลักของผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ คือ "มหาเมตตา" แปลว่า ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข พระโพธิสัตว์จึงมีคุณธรรมอื่นๆต่อเนื่องกันคือ

    มหากรุณา คือความปราณีต่อสรรพสัตว์(หมายรวมมนุษย์) ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง สงสารผู้ยากลำบากทั้งหลาย เฝ้าตามช่วยแนะเพื่อความสุขของเขา เป็นความยินดีกรุณาของพระโพธิสัตว์ทั้งลาย

    มหาปัญญา คือเป็นผู้มีความรู้หรือศึกษาหาวิชาใส่ตัว ได้เป็นประโยชน์ส่วนตนเอง ส่วนผู้อื่นช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปให้รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

    มหาอุบาย คือรู้ในวิธีนำตนและผู้อื่นให้พ้นภัยและสัมฤทธิผลเข้าถึงในคุณธรรมต่างๆที่มีประโยชน์

    ความหมายของคำว่า
    "พระโพธิสัตว์"


    โพธิสัตว์ หรืออาจจะเขียนได้ว่า โพธิสัตต์ มาจากคำว่า โพธิ + สัตต

    "โพธิ" แปลว่า ความตรัสรู้หรือความรู้แจ้ง

    "สัตต" ตามบาลีไม่ได้หมายถึงสิ่งมีชีวิต (สัตวะ) หรือมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้ความหมายคล้ายคลึงกับ "สัตวัน" (Sattavan) ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ ซึ่งหมายถึง ผู้ทรงพลัง ผู้นำ นักรบ "สัตต" ในคำว่า "โพธิสัตต์" จึงหมายถึง ผู้นำ หรือผู้มีใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ องอาจ เยี่ยงนักรบ ซึ่งให้ความหมายเดียวกับคำว่า โพธิสัตต์ ในภาษาทิเบต คือ byan chub sems-dpah โดยคำว่า byan chub หมายถึง โพธิ (bodhi), sems หมายถึง จิต (mind) และ dpah หมายถึง วีรบุรุษ ผู้กล้า หรือผู้เข้มแข็ง

    "โพธิสัตต์" จึงแปลว่า ผู้มีใจยึดมั่นในสัมมาสัมโพธิญาณอย่างเด็ดเดี่ยว

    มหาปณิธานของพระโพธิสัตว์

    ๑. เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมด
    ๒. เราจะต้องตั้งใจศึกษาพระะรรมทั้งหลายให้เจนจบ
    ๓. เราจะไปโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
    ๔. เราจะบำเพ็ญตนให้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ทศภูมิของพระโพธิสัตว์

    ทศภูมิของพระโพธิสัตว์ คือภูมิจิตของพระโพธิสัตว์ มี ๑๐ ภูมิดังนี้
    ๑. มุทิตาภูมิ พระโพธิสัตว์มีความยินดีในความไร้ทุกข์ของสัตว์ (ภูมินี้บำเพ็ญหนักในทานบารมี)
    ๒. วิมลาภูมิ (ปราศจากมลทิน) พระโพธิสัตว์ละมิจฉาจริยาได้เด็ดขาด ปฏิบัติแต่ในสัมมาจริยา (ภูมินี้มีศีลบารมีเป็นใหญ่)
    ๓. ประภาการีภูมิ (มีความสว่าง) พระโพธิสัตว์ทำลายอวิชาได้เด็ดขาด มีความอดทนทุกประการ (ภูมินี้มีขันติบารมีเป็นใหญ่)
    ๔. อรรถจีสมดีภูมิ (รุ่งเรือง) พระโพธิสัตว์มีความเพียรในการบำเพ็ญธรรม (ภูมินี้มีวิริยะบารมีเป็นใหญ่)
    ๕. ทุรชยาภูมิ (ผู้อื่นชนะยาก) พระโพธิสัตว์ละสภาวะสาวกญาณ กับปัจเจกโพธิญาณ ซึ่งเป็นธรรมเครื่องกั้นพุทธภูมิ (ภูมินี้มีญาณบารมีเป็นใหญ่)
    ๖. อภิมุขีภูมิ (มุ่งหน้าต่อทางนิพพาน) พระโพธิสัตว์บำเพ็ญยิ่งในปัญญาบารมี เพื่อรู้แจ้งเห็นชัดในปฏิจจสมุปบาท (ภูมินี้มีปัญญาบารมีเป็นใหญ่)
    ๗. ทูรังคมาภูมิ (ไปไกล) พระโพธิสัตว์มีอุบายอันฉลาดแม้บำเพ็ญกุศลน้อย แต่ได้ผลแก่สรรพสัตว์มาก (ภูมินี้มีอุบายบารมีเป็นใหญ่)
    ๘. อจลาภูมิ (ไม่คลอนแคลน มั่นคง) พระโพธิสัตว์บำเพ็ญหนักในปณิธานบารมี
    ๙. สาธุบดีภูมิ พระโพธิสัตว์แตกฉานในอภิญญา และปฏิสัมภิทาญาณ (ภูมินี้บำเพ็ญหนักในพลบารมี)
    ๑๐. ธรรมเมฆภูมิ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญหนักในญาณบารมีมีจิตอิสระ ไม่ติดในรูปธรรม นามธรรม (บำเพ็ญหนักญาณบารมี)

    เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทศภูมิเต็มบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีพระคุณเทียบเท่าพระพุทธเจ้า เหลืออีกชาติเดียวก็จักตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับพระศรีอริยเมตตไตรยโพธิสัตว์

    จริยธรรมของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการ

    ๑. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
    ๒. พระโพธิสัตว์ ครองชีวิตโดยไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีภยันตราย
    ๓. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตให้บริสุทธิ์
    ๔. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารมาขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
    ๕. พระโพธิสัตว์ คิดว่าจะทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
    ๖. พระโพธิสัตว์ จะคบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผล
    ๗. พระโพธิสัตว์ จะไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอทุกอย่าง
    ๘. พระโพธิสัตว์ จะทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
    ๙. พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาจะมีหุ้นส่วนด้วย
    ๑๐ พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทาแล้ว ไม่ปรารถนาจะโต้ตอบ หรือฟ้องร้อง

    อุดมการณ์โพธิสัตว์ มีหน้าที่หลัก ๒ ประการ

    ๑. โพธิสัตว์นอกจากจะมุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์แล้ว ยังมุ่งในความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกนี้
    ๒. โพธิสัตว์ปรารถนาให้สรรพสัตว์ได้บรรลุนิพพาน โดยตนเองปฏิเสธการเข้าถึงนิพพานของตน เพื่อที่จะได้ยังมีโอกาสรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าจะต้องยังอยู่ในที่แห่งความทุกข์ยาก เพื่อสร้างคุณความดีช่วยเหลือสรรพสัตว์ ซึ่งนับว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่โดยตั้งปณิธานสำคัญว่า


    "ข้าฯจะไม่เข้าสู่ปรินิพพานจนกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจะพ้นทุกข์
    ข้าฯจะยังคงอยู่ที่นี่ตราบจนวัฏสงสารจะสิ้นสุดลง
    แม้ว่าข้าฯยังจะต้องอยู่ที่นี่อีก แม้เพียงชีวิตใดชีวิตเดียว"

    ยาน (yanas) หรือเส้นทางซึ่งนำไปสู่การบรรลุโพธิ แบ่งเป็น ๓ ประเภท

    ๑. สาวกยาน คือ ยานของพระสาวกที่มุ่งเพียงอรหันตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
    ๒. ปัจเจกยาน คือ ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้
    ๓. โพธิสัตวยาน คือ ยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีจิตใจเมตตา ใจคอกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหันตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวาง และเป็นรู้แจ้งในสุญญตธรรม

    โพธิสัตว์จะต้องมีจรรยา ๔ คือ

    ๑. โพธิปักขิยจรรยา คือ ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง อันประกอบด้วยคุณธรรม ๓๗ ประการ คือ
    ๑.๑ สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม
    ๑.๒ สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรอันบุคคลตั้งไว้ชอบ ได้แก่ สังวรปธาน(เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน), ปหาปธาน(เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว), ภาวนาปธาน(เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน) และอนุรักขนาปธาน(เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม)
    ๑.๓ อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
    ๑.๔ อินทรีย์ ๕
    ๑.๕ พละ ๕ ได้แก่ สัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ และปัญญา
    ๑.๖ โพชฌงค์ ๗ ได้แก่ สติ(ความระลึกได้), ธัมมวิจยะ(ความเฟ้นหาธรรม), วิริยะ(ความเพียร), ปีติ(ความอิ่มใจ), ปัสสัทธิ(ความสงบใจ), สมาธิ(ความมีใจตั้งมั่น), อุเบกขา(ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง)
    ๑.๗ มรรค ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ

    ๒. อภิญญาจรรยา คือ การปฏิบัติความรู้ทั้งมวล

    ๓. ปารมิจาจรรยา คือ ปฏิบัติเพื่อการสร้างสมบารมี ซึ่งในทางเถรวาทจะกล่าวถึงทศบารมี ๑๐ ประการ แต่ฝ่ายมหายานจะกล่าวถึงบารมีหรือปารมิตาที่สำคัญ ๖ ประการ ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา โดยสาระที่แท้จริงแล้วก็คือการพัฒนาหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ส่วนเนกขัมบารมี ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุไว้ในบารมีของฝ่ายมหายาน แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า ในการบำเพ็ญฌานบารมีนั้น เมื่อปฏิบัติในขั้นสูง ผู้ปฏิบัติจะรักษาพรหมจรรย์ ซึ่งใกล้เคียงกับการออกบวชในประเด็นที่เป็นผู้ออกจากกามเช่นกัน

    ๔. สัตตวปริปาจรรยา คือ การอบรมสั่งสอนสรรพสัตว์

    ประเภทของพระโพธิสัตว์

    ในทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แบ่งพระโพธิสัตว์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ

    ๑. พระฌานิโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งกำหนดไม่ได้ว่ามาเกิดในโลกมนุษย์เมื่อใด แต่เกิดขึ้นก่อนกาลแห่งพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งพระโพธิสัตว์เหล่านี้ ท่านได้บรรลุพุทธภูมิแล้ว แต่ทรงมีความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตั้งพระทัยไม่เข้าสู่พุทธภูมิ ประทับอยู่เพื่อโปรดสัตว์ในโลกนี้ต่อไป ดังเช่น

    - พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา ในหัตถ์ขวาทรงถือพระขันธ์เป็นสัญลักษณ์ในการทำลายล้างกิเลสตัณหาและอวิชาทั้งปวง และในหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์บนดอกบัว
    - พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่ทรงไว้ด้วยความกรุณา และได้ทรงตั้งปณิธานว่าจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากกิเลสความผูกพันทั้งปวง หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการรื้อสัตว์ ขนสัตว์จากนรก
    - พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา จะลงมาจุติในโลกมนุษย์เป็นครั้งคราว เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้พ้นภัย ความเมตตาของพระองค์แผ่ไปไกลและลึกแม้กระทั่งในดินแดนนรก ในประเทศจีนพระอวโลกิเตศวรเป็นที่รู้จักกันในปางสตรีคือ "เจ้าแม่กวนอิม" และชาวธิเบตเชื่อว่าองค์ประมุขทไลลามะ เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้
    - พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ ทรงปัญญาเป็นเยี่ยม และทรงใช้ปัญญานี้เป็นเครื่อง บั่นทอนอวิชา
    - พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ยาก และเจาะจงช่วยโดยเฉพาะแก่เด็กและมิจฉาชน
    - พระเมตไตรยโพธิสัตว์ (พระศรีอริยเมตไตรย มหาโพธิสัตว์) เชื่อว่าเป็นองค์อนาคตพุทธเจ้า และจะลงมาตรัสรู้ในกาลข้างหน้า เป็นผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา

    ๒. มนุษิโพธิสัตว์ คือ ผู้ปฏิบัติตนเพื่อบรรลุเป็นพระโพธิสัตว์ ปฏิบัติตนอยู่ในความบริสุทธิ์ ประกอบการบุญ เจริญศีล ทาน ภาวนา ทำประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ช่วยชีวิตคนและสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ กระทำกัลยาณวัตร และบำเพ็ญกุศลเพื่อบารมีแต่ละชาติไป โดยมุ่งหวังบรรลุพระโพธิญาณในขั้นสุดท้าย เช่น อดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นโพธิสัตว์ จึงเป็นอุดมการณ์ของชาวพุทธมหายาน ที่พยายามดำเนินรอยตามแนวทางพระยุคลบาทสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงเป็นมนุษิโพธิสัตว์ เพื่อให้ได้ถึงพุทธภูมิในที่สุด

    และอุดมการณ์โพธิสัตว์นี้ยังมีสมบัติเป็นตัวเชื่อมทำให้ไม่มีช่องว่างมากนักระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส เนื่องจากผู้ที่จะเป็นโพธิสัตว์ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบรรพชิต แม้ฆราวาสเองก็เป็นโพธิสัตว์ได้ (ไม่ใช่ด้วยความอยากจะเป็น) เช่นกัน โดยหัวใจของการเป็นโพธิสัตว์นั้นขั้นแรกต้องมี โพธิจิต คือจิตตั้งมั่น ยึดพุทธภูมิเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต มีศรัทธาในโพธิ หรือความรู้แจ้งว่าเป็นอุดมการณ์สูงสุด และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์
     

แชร์หน้านี้

Loading...